Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

หมอชนบทไม่ร่วมประชุม สธ.ตั้งคณะแก้ P4P รอดูท่าทีรัฐบาล

$
0
0

 

สืบเนื่องจากนายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงจัดประชุมตัวแทนกลุ่มวิชาชีพในหน่วยบริการทุกระดับ ในวันนี้ (12 มิ.ย. 56) เวลา 16.00 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยเชิญผู้แทนจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้แทนจากทุกวิชาชีพ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง เข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานพัฒนาระบบค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือP4P และตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการนั้น

นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า แพทย์ชนบทมีจุดยืนที่ไม่เปลี่ยน และผลการเจรจาก็ตรงกันและได้มีการระบุไว้ชัดเจนว่า

1. ยืนยันการมีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเช่นเดิมมีความสำคัญในการคงวิชาชีพสุขภาพในชนบท ดังนั้นชมรมแพทย์ชนบทขอคงอัตราและแนวทางเดิมในประกาศฉบับ 4,6 ไว้ทุกประการ

2.สนับสนุนให้มีการปรับอัตราเพิ่มของวิชาชีพอื่นๆ ให้เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ต้องคงหลักการนี้ไว้โดยไม่ปรับลดก่อน 

3.ระหว่างการร่างประกาศเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่ใน 60 วัน กระทรวงสาธารณสุขจะมีการเยียวยาทุกคนให้ได้ค่าตอบแทนเหมือนการใช้ประกาศฉบับ 4,6

4. กรณี P4P จะต้องเป็นการทำโดยสมัครใจไม่ใช่บังคับ ข่มขืน  ณ 1 ต.ค.56 หากการปรับแต่งเกณฑ์การวัด P4P ใหม่ออกมาไม่น่าทำยังเป็นการเก็บแต้มรายกิจกรรม ก็เป็นสิทธิของ รพ.ที่จะไม่ทำต่อไป

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สถานการณ์วันนี้ ต้องติดตามการประชุมชิงการนำจากผลการเจรจาที่มีข้อสรุปให้ตั้งกรรมการมาทบทวนเรื่องเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย การเยียวยา และการปรับเกณฑ์ P4P เชิญคนมาเต็มห้องประชุมก็เปล่าประโยชน์ ประเด็นไม่ใช่การรีบจัดประชุมหารือ แต่ประเด็นคือ รมต.ยังแถลงบิดเบือนเอาแต่ความคิดตนเองมาเป็นมติว่า จะไม่เยียวยาคนค้าน P4P ไม่ยืนยันการคงอยู่ของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แถมยังจะบังคับทำ P4P ตั้งแต่ 1 ต.ค.56 โดยไม่กล้าให้ทำโดยสมัครใจ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า P4P เป็นของไม่ดีมีปัญหามาก หากสมัครใจก็คงไม่มีใครทำ เช่นนี้แล้วแพทย์ชนบทจะเข้าไปร่วมประชุมพูดคุยไปทำไม ทำงานในพื้นที่ไม่ดีกว่าหรือ

นพ.อารักษ์กล่าวต่อว่า แพทย์ชนบทไม่เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ และจะไม่เข้าจนกว่าทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีท่าทีที่ถูกต้องเสียก่อน อยากให้ทุกฝ่ายจับตาดูว่าเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมจะได้ใครมาเป็นประธานกรรมการ เป็นกรรมการ และมีบทบาทหน้าที่แค่ไหน กรรมการที่ไม่มีกรอบจุดยืนการทำงานที่ชัดเจนก็เป็นแค่ฝักถั่วตรายาง และการตั้งกรรมการชุดดังกล่าว หากให้มีความเหมาะสมต้องตั้งโดยสำนักนายกรัฐมนตรี มีคนนอกเป็นประธาน เพราะกระทรวงสาธารณสุขโดยรัฐมนตรีและปลัดเป็นคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกับแพทย์ชนบท จะมาตั้งตนเป็นประธานและควบคุมทิศทางการประชุมซึ่งคงไม่ใช่ และยอมรับไม่ได้”

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าในการประชุม ครม.ที่กำแพงเพชรนั้น กระทรวงสาธารณสุขนำผลการหารือฉบับกระทรวงเข้า ครม.เพื่อแจ้งให้ทราบในวาระที่ 6 และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนำเรื่องเข้าในวาระที่ 17 ซึ่งวาระที่ 17 นี้มีสาระตรงกับความเห็นของเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ทำให้ ครม.รับทราบผลจากการนำเสนอของทั้งสองฝ่าย จึงเกิดความคลุมเครือในทางปฏิบัติ เช่นปลัดกระทรวงก็ยังดื้อดึงที่จะไม่ให้กลับไปใช้สาระของประกาศฉบับที่ 4,6 ยังจะบังคับทำ P4P ในเดือนตุลาคม 56 ทั้งๆที่การเจรจามีการสรุปจากฝั่งชมรมแพทย์ชนบทด้วยว่า จะต้องเป็นไปโดยสมัครใจภายใต้ฐานการมีอยู่ของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามประกาศฉบับที่ 4,6  

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ขอให้พี่น้องชาวโรงพยาบาลชุมชนจะยังไม่ไปชุมนุมที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี แต่จะมาร่วมประชุมกันเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน แสดงจุดยืนและกำหนดท่าทีที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร ส่วนจะไปที่ไหนต่อหรือไม่ขอรอดูความคืบหน้าจากฝั่งรัฐบาล เป็นการให้เวลาอีกเล็กน้อยในการดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อ ที่ ครม.รับทราบแล้ว  อย่างไรก็ตาม ชมรมแพทย์ชนบทหวังว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีสัญญาณที่ดีจากรัฐบาลในการดำเนินการตามผลการเจรจาฉบับสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles