เลขา สมช.ยันมีแผนโรดแมพพูดคุยกับBRN ภาคประชาสังคมระดมสมองทำแผนนำสู่สันติภาพเริ่มจากพูดคุยสู่การเจรจาจนถึงการจัดทำข้อตกลง ทำโพลสำรวจความเห็นเงื่อนไข5ข้อBRB-2ข้อฝ่ายไทย นักศึกษารับได้ข้อเดียวแค่ให้มาเลเซียเป็นตัวกลาง
เลขาฯสมช.ยันมีแผนโร้ดแมพพูดคุยเพื่อสันติภาพ
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 8 มิถุนายน 2556 ที่ห้องประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับจังหวัดยะลาจัดเสวนาหัวข้อ “รู้การพูดคุยอย่างเสรี สู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ เพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน” โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พล.อ.นิพัทธิ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ร่วมเสวนา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. เปิดเผยก่อนเข้าร่วมเสวนาว่า วัตถุประสงค์ของวันนี้เพื่อให้คณะพูดคุยมาทำความเข้าใจกับส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคมบางส่วน ให้เข้าใจถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะพูดคุยว่ามีความก้าวหน้า และวัตถุประสงค์อย่างไร รวมทั้งมารับฟังข้อเสนอแนะเพื่อที่จะนำข้อมูลไปดำเนินการ
“การพูดคุยกับฝ่ายตัวแทนกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 นี้ น้ำหนักของการพูดคุยหลักๆ คงจะเป็นเรื่องเดิม คือลดเหตุความรุนแรง แต่เนื้อหาก็คงจะต้องกระจายออกไปในความเกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย” พล.ท.ภราดร กล่าว
“ส่วนข้อมูลของฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น เชื่อว่าฝ่ายเขาคงยืนยันข้อเสนอ 5 ข้อตามที่เป็นข่าว เพียงแต่น้ำหนักของการพูดคุยก็จะขึ้นอยู่กับบรรยากาศในการพูดคุยวันนั้น ในวันนี้ทางคณะพูดคุยได้จัดทำโรดแมพ ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายสถาบันการศึกษาและสันติวิธี และฝ่ายภาคประชาสังคมได้ทำโร้ดแมพมาแล้วมาให้คณะพูดคุย ซึ่งทางคณะพูดคุยได้นำมาปรับให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน และรับไปดำเนินการอยู่แล้ว” พล.ท.ภราดร กล่าว
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ในเวทีนี้เข้าใจว่าเป็นเวทีให้บรรดาผู้นำท้องถิ่น ผู้นำภาคประชาชน และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่ ให้มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดี ที่จะเตรียมไปสู่การพูดคุยในวันที่ 13 มิถุนายนนี้
ทำโพลสำรวจความเห็น5ข้อBRB-2ข้อฝ่ายไทย
ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา CSCD ได้ทำการสำรวจความเห็นหรือโพลต่อการพูดคุยในรอบที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพ ทาง CSCD จึงอยากจะตรวจสอบอีกครั้ง จึงได้จัดทำโพลอีกครั้งในขณะนี้ โดยมีประเด็นหลักๆ คือทัศนคติต่างๆหลังจากการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้งให้ประชาชนตอบคำถามต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น รวมทั้งข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาล 2 ข้อ ในเรื่องความเชื่อมั่นไว้วางใจ และการลดความรุนแรง รวมทั้งข้อเรียกร้องอื่นๆที่มีการเสนอมาในพื้นที่ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
ทำโรดแมพเริ่มจากพูดคุยสู่เจรจาถึงข้อตกลง
ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ที่ห้องมะเดื่อ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานีจะมีการระดมความคิดเห็นครั้งใหญ่เพื่อสร้างโรดแมพสันติภาพที่จะหาทางออกในข้อเสนอที่ฝ่ายรัฐบาลไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็นเสนอ และจะมีทางออกร่วมกันอย่างไร
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า โรดแมพดังกล่าว จะเป็นข้อเสนอของภาคประชาสังคม ที่จะเป็นโรดแมพการแก้ปัญหาในระยะยาวที่เกิดจากกระบวนการพูดคุย ไปสู่กระบวนการเจรจาและนำไปสู่กรอบข้อตกลงต่างๆ ที่เราพยายามให้ถึงจุดนั้น
นักศึกษาถก 5 ข้อBRN รับได้แค่ให้มาเลเซียเป็นตัวกลาง
ต่อมาเวลา 14.30 น. วันเดียวกัน ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี พล.ท.ภราดร พร้อมด้วย พล.อ.นิพัทธ์ พ.ต.อ.ทวี และพล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ร่วมรับฟังข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวแทนนักศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ ในนามกลุ่มดรีมเซาท์ (Dream South) ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาจากม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
ทั้งนี้นักศึกษากลุ่มนี้ได้ร่วมประชุมเพื่อหารือถึงข้อเสนอ 5 ข้อของขบวนการBRN ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ก่อนที่จะมีการสรุปและนำเสนอต่อพล.ท.ภราดรและคณะ ซึ่งเป้นคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็น
นายดันย้าล อับดุลเลาะ นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เป็นตัวแทนกลุ่มนักศึกษาขึ้นอ่านสรุปผลการประชุม พร้อมเสนอ 5 ประเด็น สะท้อนความเห็น และมุมมองของการเจรจาในด้านต่างๆ ต่อคณะตัวแทนเจรจาฝ่ายรัฐบาลไทย
นายดันย้าล เปิดเผยหลังการประชุมว่า สำหรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.รับได้ที่จะให้มาเลเซียมีบทบาทเป็นคนกลาง เนื่องจากมาเลเซียไม่มีปัญหาความขัดแย้งกับประเทศไทยที่รุนแรง มาเลเซียเคยมีบทบาทเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพมาแล้ว เช่น เป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มต่อสู้ทางภาคใต้ของประเทศ ส่วนในเวทีระดับโลกมาเลเซียเป็นประเทศที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ตึงเกินไป
2.ในประเด็นความเป็นตัวแทนคนในพื้นที่นั้น ยังไม่สามารถยอมรับได้ว่า BRN จะเป็นตัวแทนคนในพื้นที่ได้ เพราะนักศึกษาเห็นว่ายังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้อยู่ และไม่รู้ว่าเป็นตัวแทนใคร จึงต้องมีการรับฟังความเห็นในเรื่องนี้ก่อน โดยเฉพาะจากประชาชนมลายูในพื้นที่
3.ประเด็นบทบาทขององค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ประชาคมอาเซียนหรือองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) นั้น ยังมีความหมายที่ไม่ตกผลึก เพราะมีการแปลความหมายของคำว่า “Saksi” ที่BRN ใช้ใน 2 ความหมาย คือผู้สังเกตการณ์ และสักขีพยาน จึงยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นนี้
4.ประเด็นการปล่อยนักทางการเมือง ยอมรับในบางส่วนคือ สำหรับผู้ที่ทำผิดจริงๆ ก็ต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีความผิดจริง อันเนื่องจากความไม่เป็นธรรม ตามกระบวนการยุติธรรม สามารถปลดปล่อยได้ และได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม
5.ส่วนประเด็นที่ให้เรียกว่าผู้ปลดแอก ไม่ใช่ผู้แบ่งแยกนั้น เรารู้ว่าธงที่แท้จริงของขบวนการ BRN คืออะไร แต่ไม่พูดออกมาตรงๆ และความว่าปลดแอกนั้นเป็นคำที่มีนัยยะในทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนในเรื่องการปกครอง ดังนั้นต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า คำว่าองค์การปลดแอกและแบ่งแยกดินแดนนั้น แต่ละคำมีความหมายอย่างไร
“เราอยากรู้ว่า ขบวนการ BRN มีรูปแบบการปกครองพื้นที่อย่างไร ถ้ามีก็ขอให้เปิดเผยออกมา เราก็จะได้พูดคุยกันได้ชัดเจนว่า เราจะดำเนินการต่อไปอย่างไร แต่เมื่อไม่ชัดเจนเราก็ไม่มีข้อสรุปอะไร”
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า วันนี้มาเพื่อรับข้อเสนอจากเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก และจะนำข้อเสนอนี้มาพิจารณาในการพูดคุยหารือในวันที่ 13 มิถุนายนนี้กับกลุ่มขบวนการต่อไป
“ฝ่ายขบวนการบอกว่ารับฟังมาจากประชาชน เราก็จะได้บอกว่าข้อเสนอมาจากการรับฟังจากประชาชนเช่นกัน และจะนำมาปรับเพื่อพัฒนากันต่อไป” พล.ท.ภราดร กล่าว
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ข้อพิจารณาต่างๆ จะต้องได้รับการกลั่นกรองอย่างเป็นขั้นตอนผ่านความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาที่ตกลงกันไว้ จึงจะออกไปได้ เราจะไม่คิดเองทำเอง