สรุปผลการศึกษาพบสปอตวิทยุโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม สร้างความเสี่ยงต่อประชาชน ให้ "เสียรู้- เสียทรัพย์- เสียสุขภาพ -เสียชีวิต"มีเดียมอนิเตอร์และ กพย. เสนอ กสทช. อย. สตช. ดำเนินการอย่างเข้มงวด จริงจัง ฉับพลัน
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมาที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้แทนจากโครงการมีเดียมอนิเตอร์ และ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) นำโดย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ร่วมกับ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. และภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะ ได้นำเอกสารสรุปผลการศึกษา เรื่องการศึกษาวิเคราะห์ สปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามทางวิทยุกระจายเสียงที่ปรากฏในเว็บไซต์ พร้อมข้อเสนอแนะ ไปเสนอต่อ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ .พร้อมด้วย ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
จุดมุ่งหมายของการศึกษา ครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ของผลการศึกษา พร้อมข้อเสนอแนะ ให้หน่วยงานกำกับดูแลสื่อ และ เนื้อหาการโฆษณา มีมาตรการการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจริงจัง เพื่อการปกป้องคุ้มครองดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการโฆษณาขายผ่านสื่อ จนอยู่ในภาวะความเสี่ยงอย่างรุนแรง ทั้งเสี่ยงต่อการเสียทรัพย์ เสียสุขภาพ ไปจนถึงเสียชีวิต การศึกษาครั้งนี้ได้สุ่มเลือกหน่วยการศึกษา เพื่อการวิเคราะห์เนื้อหา โดยไม่คำนึงถึงช่องทางและความถี่ในการเผยแพร่ ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การโฆษณาขายทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ปรากฎมากมายในท้องถิ่นทั่วประเทศ จนมีการร้องเรียนมาที่ กสทช. เป็นระยะ
การศึกษาครั้งนี้ ได้สุ่มเลือกสปอตวิทยุกระจายเสียง โดยสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ google.co.th, youtube.com และ4shared.com ในช่วงวันที่ 11-15 มี.ค.2556 ด้วยการกำหนดคำสำคัญ คือ สปอตวิทยุ และ ชื่อผลิตภัณฑ์จากรายงานการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ในสื่อเคเบิ้ลทีวีและวิทยุชุมชนของ กพย. ที่ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ เมื่อปี 2554 พบไฟล์เสียงสปอตวิทยุที่เผยแพร่ในช่วงปี 2555-2556 จำนวน 71 ชิ้นสปอต จาก 52 ผลิตภัณฑ์ ที่ส่วนใหญ่เป็นสปอตวิทยุโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อแตกต่างจากชื่อที่ใช้ค้นหา จากนั้นถอดความจากไฟล์เสียงเพื่อทำการวิเคราะห์ โดยจำแนกประเภทผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายเป็น “ยา” และ “อาหาร” ด้วยการเปรียบเทียบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2551 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.2556 คู่มือการตรวจสอบโฆษณาสำหรับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ร่วมกับการวิเคราะห์เนื้อหาการโฆษณา
จากสปอตวิทยุที่เป็นหน่วยการศึกษา
จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์ยาได้ 26 ชิ้นสปอต ของ 18 ผลิตภัณฑ์ จำนวนนี้มี 12 ผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียน อย. ได้แก่ ยาสมุนไพรเกร็กคู ยาสตรีเด่นเจริญ ยากษัยเส้นพลังภูผา ยาบรรเทาริดสีดวงทวารตราภูหลวง ยาน้ำสมุนไพรวัยทองยาดองมะกรูด ยาสมุนไพรเก้ายอด ยาน้ำสมุนไพรสตรีวรรณภา สมุนไพร BL99 สมุนไพรโบโบถิ่น สมุนไพรลิลลี่ ยาสมุนไพรไทยทิพย์โอสถ ยาสตรีสมุนไพรฟลอร่า ส่วนอีก 6 ผลิตภัณฑ์ ไม่พบเลขทะเบียน อย. ได้แก่ ยาบำรุงเลือดพลังภูผา ยามดลูกกาโน่ ยาบรรเทาริดสีดวงทวารหนักตรา 3 ก๊ก ยาป๊อกตรามือรับเหรียญทอง ยาสมุนไพรวี 888 ยาสตรีอนาริช
ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าผลิตภัณฑ์ยาทั้งหมด 26 ชิ้นสปอตไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณา (พ.ร.บ.ยา 2510 มาตรา 88ทวิ)
จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ได้จำนวน 41 ชิ้นสปอต ของ 30 ผลิตภัณฑ์ จำนวนนี้มีเพียง 10 ผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียน อย. ได้แก่ ซันคลารา เจนิฟู้ด คาวตองพลัส Galaxy ออไรท์ ไมก้า เมอรินด้า กาแฟอชิ น้ำผลไม้ดีเจพลัสโกลด์ มีเลิฟคอลลาเจน ที่เหลือ 20 ผลิตภัณฑ์ ไม่พบเลขทะเบียน อย. ได้แก่ เอ็นไซม์น้ำย่านาง โกลด์สตาร์เอนไซม์ กาแฟคอฟฟี่วิล กาแฟออกาโน่โกลด์ กาแฟรีเฟรชคอฟฟี่ กาแฟวันแฟน กาแฟลิลลี่ น้ำมังคุดแซนสยาม เคน่าพลัส เควันพลัสและเคโอพลัส ไลโป 8 เบิร์นสลิม เอ็นไซม์เอนซี่ คาวตองแมกซ์ คาวตองเทวดล บีลิฟว์เฮิร์บ เคลซีทีพลัสพลูคาวตอง นิวไลฟ์ คาวตองคาลินก้า เคลพลูคาวตอง สพาร์ค
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมด 41 ชิ้นสปอตไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณา (พ.ร.บ.อาหาร 2522 มาตรา 41)
จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้จำนวน 4 ชิ้นสปอต ของ 4 ผลิตภัณฑ์ จำนวนนี้มี 2 ผลิตภัณฑ์ คือ มะมาสมุนไพร และ สบู่ธิดาทิพย์ ที่มีการจดทะเบียนหลายชื่อ จนไม่สามารถระบุได้ว่า มีเลขทะเบียน อย.หรือไม่ ส่วนอีก 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ไอด้ามิราเคิล และ เพอร์เฟคแฮร์เซรั่ม ไม่พบเลขทะเบียน อย.
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่า เครื่องสำอางทั้ง 4 รายการ ไม่พบการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม และพบข้อความโฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญอันเกี่ยวกับเครื่องสำอางจำนวน 1 รายการ คือเครื่องสำอางสมุนไพรแก้ผมร่วงมะมา
ผลการศึกษาวิเคราะห์ในมิติด้านกฎหมาย
ผลิตภัณฑ์ประเภทยา จากจำนวน 26 สปอต ของ 18 ผลิตภัณฑ์ เนื้อหาที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามทางกฎหมาย ที่พบมากที่สุด คือ การโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด(พ.ร.บ.ยา 2510 มาตรา88(1)) ทั้งหมด 12 ชิ้นสปอต จาก 7ผลิตภัณฑ์ ด้วยข้อความ เช่น ไม่มีผลข้างเคียงปลอดภัยสูงสุด(ยาสมุนไพรเกร็กคู) ช่วยฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ(สมุนไพรBL99) คืนความสวยตัวช่วยดีๆ ไม่มีอันตราย (ยาสตรีอนาริช) สมุนไพรมหัศจรรย์ 14 ชนิดเกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาล(ยาสตรีอนาริช)
รองลงมา คือ การแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง (พ.ร.บ.ยา 2510 มาตรา88(2))พบ 11 ชิ้นสปอต จาก 9 ผลิตภัณฑ์ เช่น มีพลังอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในการขับไล่เลือดเน่าเลือดเสียที่คอยจะจับกันเป็นลิ่มเลือด(ยาบำรุงเลือดพลังภูผา) ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ตึงกระชับ บรรเทาอาการเจ็บปีกมดลูก ช่วยวัยสาวกลับคืนมา(สมุนไพรฟลอร่า ชนิดน้ำ) นี่เป็นเสียงของสมุนไพรลิลลี่ที่กำลังไล่จับไขมันส่วนเกินที่ร่างกายคุณไม่ต้องการ(สมุนไพรลิลลี่)
นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมายในมาตราอื่นๆ อีกเช่น
- มาตรา 89 ห้ามมิให้ขายยาโดยไม่สุภาพ หรือโดยการร้องรำทำเพลง หรือแสดงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย พบ 4 ชิ้นสปอตจาก 4 ผลิตภัณฑ์
- มาตรา 88(5)การให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกามหรือยาคุมกำเนิด พบ 3 ชิ้นสปอต จาก 2 ผลิตภัณฑ์
- มาตรา 88(6)การแสดงสรรพคุณยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษพบ 3 ชิ้นสปอตจาก 2 ผลิตภัณฑ์
- มาตรา 88(7)การรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น พบ 2 ชิ้นสปอตจาก 2 ผลิตภัณฑ์
- มาตรา 88(8)การโฆษณาว่า สามารถบำบัดบรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค หรืออาการของโรคที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 77 (ได้แก่ โรคเบาหวาน มะเร็ง อัมพาต วัณโรค โรคเรื้อน โรคหรืออาการของโรคของสมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต) พบ 2 ชิ้นสปอต จาก 2 ผลิตภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร จากจำนวน 41 ชิ้นสปอต ของ 30 ผลิตภัณฑ์ พบว่า เกือบทั้งหมด คือ 39 ชิ้นสปอต จาก 29 ผลิตภัณฑ์ (ยกเว้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซันคลาร่า เฉพาะสปอตตัวที่ 4 จากจำนวนทั้งหมด 5 สปอต และกาแฟออกาโน่โกลด์) มีการนำเสนอข้อความโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร(พ.ร.บ.อาหาร 2522 มาตรา 40) ได้แก่ การโฆษณาในลักษณะสรรพคุณทางยา เช่น ช่วยในการบำบัดโรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคเอดส์ โรคไขข้ออักเสบ โรคเก๊าท์ โรคไต โรคผิวหนัง โรคตับ โรคหอบหืด โรคโลหิตจาง โรคความดันสูง ความดันต่ำ ไขมันอุดตัน โรคไมเกรน โรคไซนัส...(สมุนไพรคาวตองเทวดล) สุดยอดงานวิจัยระดับโลก....ดื่มแล้วได้ผลเร็วตั้งแต่ขวดแรก....ช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง เซลล์เนื้องอก ไขมัน ความดัน เบาหวาน และช่วยขับล้างสารพิษ สารเคมีออกจากร่างกาย ผิวหน้าใสไร้ฝ้า (สมุนไพรเคลซีทีพลัส พลูคาวตอง)
การโฆษณาสรรพคุณด้านความงามและสุขภาพเพศหญิง ส่วนใหญ่พบการโฆษณาสรรพคุณที่เน้นความงามทางสรีระ และ สื่อถึงความสัมพันธ์ทางเพศที่ดีขึ้น เช่น ขาวอมชมพูดูมีออร่า กระจ่างใสทันตาใน 7 วัน(มีเลิฟ คอลลาเจน) ผิวสวยหน้าใส ไร้ริ้วรอย ภายในฟิตกระชับ หน้าอกเต่งตึง(เคน่าพลัส) ฟิตเฟิร์ม กระชับ ช่วยให้ระบบภายในสะอาด มั่นใจไร้กลิ่น(ซันคลาร่า) สุขภาพเพศชาย พบสรรพคุณส่วนใหญ่เน้นสมรรถภาพทางเพศ เช่น ทั้งใหญ่ ทั้งแข็งดี ทนนาน ไมก้าทำให้คุณเป็นชายเหนือชายได้อีกครั้ง(ไมก้า) นกเขาที่ไม่เคยขัน จะกลับมาขันถี่ๆ ตีปีกอีกครั้ง (กาแฟวันแฟน)
ผลการศึกษาวิเคราะห์ในมิติการใช้และการผลิตซ้ำค่านิยมทางสุขภาพ ความงาม เพศ
พบว่า มักมีการใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่แสดงสรรพคุณที่เป็นสำนวนซึ่งสะท้อนค่านิยมในเรื่องสุขภาพและความงาม เช่น “ดูสวยใส เปล่งปลั่ง หน้าตามีราศีขึ้นเยอะ” “ผิวพรรณสวยงามมีน้ำมีนวล” “ทำให้หน้าใสมีเลือดฝาด” “ขับไล่เลือดเน่าเลือดเสีย” รวมทั้งค่านิยมทางสุขภาพ ความงาม ที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น “ขาวเด้งเปล่งออร่ากว่าใคร” “หุ่นฟิตเฟิร์ม” “ฟิตกระชับ หุ่นเฟิร์ม” “หุ่นเซี๊ย” และยังพบว่า มีการผลิตซ้ำความคิดในมิติทางเพศ และ ความสัมพันธ์ของหญิง-ชาย โดยเน้นการสร้างความสนใจ หรือ ความกังวล เช่น “มั่นใจไร้กลิ่น” “ภายในกระชับดับกลิ่น” “สำหรับคุณผู้ชายที่มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ล่มปากอ่าว” กับการชี้สู่ผลที่พึงประสงค์ เช่น “สามีรักสามีหลงไปไหนไม่รอด” “ทั้งใหญ่ ทั้งแข็งดี ทนนาน” “เพิ่มความเป็นชายได้ทุกสนาม” นอกจากนั้นยังมีการอ้างอิงธรรมชาติ เช่น “ผลิตจากยาสมุนไพรตำรับดั้งเดิม” “สกัดจากธรรมชาติ” และ การกล่าวอ้างข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น “ไม่มีสเตียรอยด์ล้านเปอร์เซ็นต์” “ช่วยต้านอนุมูลอิสระ” และ สปอตโฆษณาจำนวนไม่น้อย ที่ระบุสรรพคุณหลากหลายในลักษณะครอบจักรวาล ทั้งยังพบการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ให้มีนัยยะของสรรพคุณยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ เช่น ยาสมุนไพรเก้ายอด ยาสมุนไพรไทยทิพย์โอสถ ยาบำรุงเลือดพลังภูผา ยามดลูกกาโน่
ส่วนใหญ่ของสปอตที่ทำการศึกษา จะเน้นในเรื่อง ความงาม สุขภาพและสมรรถภาพทางเพศ
สุขภาพเพศหญิง เช่น ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล(ยาสตรีเด่นเจริญ,ยาสตรีฟลอร่า) ฟิตกระชับหุ่นเฟิร์ม”(ซันคลาร่า,ยาสตรีอนาริช) หน้าอกเต่งตึง (เคน่าพลัส,ออไรท์,เมอรินด้า) ช่วยให้ระบบภายในสะอาด มั่นใจไร้กลิ่น (ซันคลาร่า)
สุขภาพเพศชาย เช่น มั่นใจกลับคืนสู่ความเป็นชายได้อีกครั้ง นกเขาไม่ขันจะกลับมาขันถี่ๆ ตีปีกอีกครั้ง(กาแฟวันแฟน) ทั้งใหญ่ ทั้งแข็งดี ทนนาน บำรุงระบบสืบพันธุ์ (ไมก้า)
เปรียบเทียบกับผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ เรื่อง สินค้า/บริการด้านสุขภาพและความงามในทีวีดาวเทียม ที่ศึกษาระหว่างวันที่ 11-26 พฤศจิกายน 2554 พบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือ ไม่มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ ยังคงมีการนำเสนอที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น รักษาหายทุกโรคราวปาฏิหาริย์ และสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้เป็นอย่างดี โฆษณาอาหารในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเป็นยา ยังคงมีการใช้ถ้อยคำแสดงสรรพคุณ ในลักษณะการผลิตซ้ำค่านิยมทางเพศ คือ เพศหญิง ถูกนำเสนอในความหมายเชิงรูปลักษณ์เพื่อดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม เช่น ผิวขาวอมชมพู สดใสเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ไร้ริ้วรอย อกโตเต่งตึง รูปร่างผอมเพรียวฟิตกระชับ คืนความสาว เพศชาย ถูกนำเสนออย่างเน้นในเรื่องสมรรถภาพทางเพศ ทำให้สมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมถอยกลับมาสมบูรณ์เหมือนเป็นหนุ่มอีกครั้ง
ข้อห่วงใย
1.จากหน่วยการศึกษาที่ใช้วิธีการสุ่มเลือกจากไฟล์เสียงในเว็บไซต์ ที่พบสปอตโฆษณาฯ จำนวน 71 ชิ้นสปอต จาก 52 ผลิตภัณฑ์ นับเป็นเพียงส่วนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสถานีวิทยุเพื่อธุรกิจในท้องถิ่นและชุมชน ที่มีจำนวนมากกว่า 7,000 สถานี และส่วนใหญ่ไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติของ กสทช. จะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้จับกุมฐานประกอบกิจการโดยไม่มีใบอนุญาต แต่จะไม่ดำเนินการด้านเนื้อหา โดยเฉพาะกรณีการใช้สื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ เพื่อโฆษณาโน้มน้าวเชิญชวนให้มีการซื้อผลิตภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่เป็นการขายตรงส่งถึงบ้าน ทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะเสี่ยงในการ “เสียรู้ เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ ไปจนถึงเสียชีวิต” อย่างไร้การปกป้องคุ้มครองที่จริงจัง ด้วยความรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. การโฆษณาทางสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ เน้นการใช้ถ้อยคำเพื่อการโน้มน้าวเชิญชวน ซึ่งเมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ฯลฯ พบว่า สาระในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องถ้อยคำและภาษา มีการกำหนดไว้อย่างกว้าง ซึ่งอาจเปิดช่องให้มีการตีความ ทั้งโดยผู้กำกับดูแลการโฆษณา และโดยผู้ผลิตสื่อโฆษณา อีกทั้ง สาระสำคัญในกฎหมายยังไม่เท่าทันการใช้ภาษาโฆษณาของธุรกิจการค้าและการโฆษณา เช่น ที่ระบุว่า “แนวทางการโฆษณายาจะต้องไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม” (แนวการโฆษณาขายยาต่อประชาชนทั่วไป ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าด้วยหลักเกณฑ์การโฆษณขายยา พ.ศ. 2545) “ห้ามมิให้โฆษณาขายยาโดยไม่สุภาพ หรือโดยการร้องรำทำเพลง หรือแสดงความทุกขฺทรมานของผู้ป่วย”( มาตรา 89 พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510) “ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ” (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 )
ข้อเสนอแนะจากมีเดียมอนิเตอร์ และ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.)
1. ข้อเสนอแนะต่อ กสทช.
เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วประเทศ กสทช. ควร
มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเฝ้าระวัง ในระดับภูมิภาค เช่น กสทช. เขต และควรร่วมมือกับหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญและรับผิดชอบด้านเนื้อหาการโฆษณาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหน่วยงานที่รับผิดชอบการปราบปรามผู้กระทำความผิด เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเพื่อให้มีการระงับการเผยแพร่อย่างฉับพลันทันเหตุการณ์ เมื่อพบโฆษณาที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย
กสทช. ควรเร่งให้มีมาตรการหรือหลักเกณฑ์ ในทางจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองของสื่อในด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์รวมทั้งบริการด้าน อาหาร ยา สุขภาพ ความงาม โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกำกับดูแลเนื้อหาการโฆษณา ทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน รวมทั้ง หน่วยงานวิชาการ และ องค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของสื่อ และคู่มือให้คำแนะนำ ในด้านการใช้ภาษา ข้อความ ภาพ เสียง รวมทั้งการนำเสนอทางสื่อ ที่ถูกต้อง ที่ไม่ถูกต้อง ที่เหมาะสม ที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ เพื่อเผยแพร่ให้สื่อมวลชนทุกประเภทและระดับ ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ กำกับดูแลกันเอง และเพื่อให้เครือข่ายผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ใช้ในการตรวจสอบการนำเสนอของสื่อ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการขจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์ อาหาร ยา สุขภาพ ความงาม ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือ ทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะความเสี่ยง ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด
2. ข้อเสนอแนะในการบังคับใช้กฎหมาย
(1) ควรดำเนินคดีโฆษณายาและอาหาร นอกจากการดำเนินคดีเรื่องโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายยาและอาหาร สำหรับอาหารควรต้องดำเนินคดีในประเด็นโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ตามมาตรา 40 ด้วย เนื่องจากมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุก
(2) ควรพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบการที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย
(3) ควรมีฐานข้อมูลเพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจสามารถตรวจสอบการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา ได้แก่ ฐานข้อมูลเลขที่อนุญาตโฆษณา และฐานข้อมูลความผิดผลิตภัณฑ์ยาและอาหาร
(4) ควรเพิ่มการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายระหว่าง อย.กับกสทช. เช่น การขอหลักฐานบันทึกรายการที่ได้ออกอากาศไปแล้ว โดยให้ กสทช.เรียกผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ส่งหลักฐานให้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ออกอากาศแล้วพบโฆษณาที่ผิดกฎหมาย
3. ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการ
หากผู้ประกอบการพบว่า หากมีผู้แอบอ้างโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตน โดยผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการควรดำเนินคดีกับผู้แอบอ้างนั้น เพื่อยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการโฆษณานั้นแต่อย่างใด
4. ข้อเสนอแนะต่อประชาชน
ควรงดการฟังวิทยุ และการรับชมโทรทัศน์ ที่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ผิดกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลจากการถูกกล่อมจนเกิดความหลงเชื่อในโฆษณานั้น ควรมีความรู้เท่าทันการโฆษณา ควรร่วมมือกันเป็นพลเมืองเฝ้าระวัง เป็นนักร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการปัญหา เช่น ร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. หมายเลข 1556 หรือร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช.หมายเลข 1200
5. ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย
(1) ควรเร่งให้เกิดมาตรการการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ โดยไม่ให้มีการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ในลักษณะโอ้อวดเกินจริง ซึ่งสามารถใช้สื่อสารในการโฆษณาได้ และไม่ให้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ชื่อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถโฆษณาได้
(2) ควรปรับปรุงบทลงโทษในส่วนของการโฆษณาให้มีโทษหนักขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบทลงโทษโดยเฉพาะค่าปรับต่ำมาก มีความคุ้มค่าที่จะดำเนินการกระทำผิดกฎหมาย
(3) ควรเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … (ฉบับประชาชน) ให้มีผลบังคับใช้จริง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai