ส่วนวงเจรจาร่วมรัฐบาล ผลตั้ง ‘ดร.คณิต แสงสุพรรณ’ เป็นประธานออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนใหม่ ชมรมแพทย์ชนบทรอดูท่าทีเคลื่อนไหว จากมติ ครม.อังคารหน้า ขณะที่เรื่องปลด รมว.สธ.อยู่ที่ดุลพินิจของนายกฯ
วันที่ 6 มิ.ย.56 ชมรมแพทย์ชนบทเผยแพร่เอกสาร ‘เหตุผลที่เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพขอให้นายกรัฐมนตรี ปลด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข’ ในการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแพทย์ชนบท นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท จากปัญหาความขัดแย้งประเด็นการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) กับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) โดยมีนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นคนกลางในการเจรจาหาทางออก วันนี้ (6 มิ.ย.56)
เอกสารดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
เหตุผลที่เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพขอให้นายกรัฐมนตรี
ปลด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
1.ไม่มีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารภาครัฐ บริหารกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่ตนเองดูแลเป็นบริษัทส่วนตัว สั่งการตามอำเภอใจ ทำให้เกิดปัญหาและความเสียหายมากมาย ตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการบริหารตามอำเภอใจก็เช่น การมีนโยบายสั่งการบังคับให้โรงพยาบาลทุกแห่งทำ P4P และลดและเลิกระบบแรงจูงใจเดิมในการทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานในชนบทอย่างเช่นมาตรการเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย คิดว่าข้าราชการเป็นเหมือนพนักงานบริษัท บังคับให้ทำก็ต้องทำ ทำให้เกิดแรงต้านอย่างกว้างขวาง
2.กรณีของนโยบาย P4P นั้น เป็นการนำแนวทาง P4P มาใช้อย่างผิดๆ ไม่มีความเข้าใจต่อเรื่อง P4P อย่างแท้จริง ไม่มีการเตรียมการและไม่มีการศึกษาผลดีผลเสียอย่างถ่องแท้แล้วจึงมาดำเนินการ เมื่อนำมาดำเนินการแล้วเกิดแรงต้านคัดค้านกว้างขวางทั่วประเทศก็ยังดันทุรังเดินหน้า ไม่คิดจะทบทวนยอมรับผิด แนวคิด P4P ที่สำคัญคือต้อง win win win กล่าวคือ ผู้ป่วยได้ วิชาชีพสุขภาพได้ และองค์กรก็ได้ประโยชน์ แต่กรณีกลับตรงกันข้าม ไม่มีใครได้ มีผลเสียมากกว่าผลดี และที่สำคัญ สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขผลักดันนั้นไม่ใช่ P4P แต่เป็น workpoint ซึ่งไม่สามารถนำมาทดแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายได้ คนละหลักการกัน แต่กระทรวงนำมาปะปนกันจนเลอะเทอะ และหากมีการนำ P4P มาใช้ในโรงพยาบาลชุมชน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในชนบทจะรุนแรงขึ้น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะได้รับความเสียหาย เป็นการทำลายระบบสุขภาพที่สำคัญยิ่งโดยเฉพาะในเขตชนบท
3.เมื่อเกิดแรงค้าน อารยะขัดขืนจากโรงพยาบาลชุมชนเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ แทนที่ รมต.ประดิษฐจะตรวจสอบนโยบายตนเอง ตรวจสอบแนวปฏิบัติในนโยบายที่มีปัญหามากมาย ทำหน้าที่หาทางออก สร้างการมีส่วนร่วม ชวนผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยอย่างเป็นมิตรอย่างพี่อย่างน้อง (ไม่ใช่อย่างเจ้านายลูกน้อง) รมต.ประดิษฐ กลับทำในสิ่งที่ตรงข้ามคือ สั่งการให้มีการจัดเวทีชี้แจง P4P ทั่วประเทศแบบชี้แจงฝ่ายเดียว เสี้ยมหรือส่งสัญญาณให้เกิดการชนกันระหว่างโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กับโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่แย่มาก ทั้งๆที่ชมรมแพทย์ชนบทก็พูดไว้ชัดเจนแล้วว่า ข้อเสนอคือหนึ่งกระทรวงสองระบบ รพศ./รพท.ก็ทำ P4P ไป ส่วน รพช.ขอกลับไปใช้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิม แต่ รมต.ประดิษฐ ปลัดณรงค์ และรองปลัดสุพรรณ กลับจงใจเจตนาทำให้เกิดการเข้าใจผิดและผิดใจกันระหว่าง รพศ./รพท.กับ โรงพยาบาลชุมชน ทำให้ระบบส่งต่อผู้ป่วยที่เดิมเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมีปัญหาและความแตกแยกมากขึ้น ผู้ป่วยคือคนที่รับเคราะห์กรรม
4.กรณีองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จสูงยิ่ง ในปี 2550 ที่คุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล เข้ามาเป็นผู้อำนวยการนั้นมียอดขายปีละ 5,449 ล้านบาท และเพิ่มปีละนับพันล้านจนปี 2554 เพิ่มขึ้นมาเป็น 11,455 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าในเวลาเพียง 5 ปี การที่บอร์ดสั่งปลดคุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล ซึ่งเป็นคนดี มีประสิทธิภาพนั้นสะท้อนชัดเจนว่าองค์กรเภสัชกรรมกำลังโดนแทรกแซง เพราะผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคือคุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นคนเก่งบริหารที่ซื่อตรงและไม่สยบยอมต่อคนคด ปฏิบัติการจึงเริ่มด้วยการที่รัฐมนตรีประดิษฐสั่งตรงให้ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สาธารณสุข แจ้งความส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) เพื่อสอบสวนข้อมูลโรงงานวัคซีนสร้างล่าช้าและวัตถุดิบยาพาราเซตามอล เพื่อดิสเครดิตคุณหมอวิทิต และหาเหตุปลดให้ได้ การปลดคุณหมอวิทิตอย่างไม่เป็นธรรม คือฟางเส้นท้ายๆที่สะท้อนความไม่มีธรรมาภิบาลของ รมต.ประดิษฐ
5.กรณี สปสช. ได้ถูกแทรกแซง โดย รมต.ประดิษฐมีการบังคับให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เป็นผู้ขอตั้งรองเลขาธิการเพิ่มเองอีก 2 ตำแหน่ง เพื่อเอาคนขอตนเข้าไปเสียบ เพราะเดิมรองเลขาธิการที่มีอยู่แล้วทั้ง 3 ตำแหน่งนั้นการเมืองสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้ เมื่อบีบจนหมอวินัยหน้าเขียวจนยอมทำตามที่การเมืองขอ รมต.ประดิษฐก็ส่งคนของตนเข้ามา เป็นรองเลขาธิการ 2 คน แต่งตัวคอยท่า รอเวลาขึ้นตำแหน่งเลขาธิการในอนาคต รองเลขาธิการใหม่หนึ่งในสองคนชื่อ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีต สส.พรรคไทยรักไทยนั่นเอง ที่แต่งตัวรอท่าจะได้ทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช.คนต่อไป
6.การจัดซื้อเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดกว่า 80,000 เครื่อง แจก อสม.เพื่อให้ไปคัดกรองเบาหวานนั้น ก็มีกลิ่นผิดปกติ ส่อทุจริตหลายประการ ทั้งในเรื่องของการจัดซื้อเครื่องซึ่งมีราคาแพง แทนที่จะจัดซื้อแถบตรวจน้ำตาลแล้วแถมเครื่อง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทำโดยทั่วไปและได้แถบในราคาที่ถูกกว่า อีกทั้งจำนวนเครื่องที่มีเป้าหมายจัดซื้อ 80,000 เครื่องก็เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมาก ทั้งๆที่ความจริงอาจจัดซื้อเพิ่มเพียง 8,000 เครื่องก็อาจจะเพียงพอต่อการคัดกรองตามโครงการและตามหลักวิชาการ
รัฐมนตรีประดิษฐเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับการต่อต้านมากที่สุดในประวัติศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ความแตกแยกในกระทรวงจะเพิ่มขึ้นหาก รมต.ประดิษฐยังอยู่ ความไร้ประสิทธิภาพจากการสั่งการบังคับบัญชาไม่ได้จะเกิดขึ้นต่อไปจากวิกฤตศรัทธาต่อผู้นำองค์กร วันนี้น่าจะสามารถกล่าวอย่างเต็มปากว่า “30 บาทรักษาทุกโรค ทักษิณสร้าง ประดิษฐทำลาย” ขอให้นายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการเดินต่อไปข้างหน้าได้ของระบบสุขภาพไทย
สงบศึกชั่วคราว ให้เยียวยา รพ.กระทบจาก P4P
ในวันเดียวกัน ไทยโพสต์รายงานผลการการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแพทย์ชนบท หลังจากเคยมีการเจรจารอบแรกเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ในวันนี้ (6 มิ.ย.56) จึงมีการเจาจาอีกครั้งว่า ในช่วงเช้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ จนนายสุรนันท์ต้องสั่งหยุดพักการเจรจา ให้แต่ละฝ่ายรับประทานอาหารกลางวันพร้อมพูดคุยในวงเล็ก ก่อนจะมาแถลงข้อสรุปในเวลา 14.00 น. รวมใช้เวลาพูดคุยกว่า 4 ชั่วโมง
นายสุรนันทน์แถลงว่า ดีใจที่มีการคุยกัน ซึ่งคงไม่จบในวันเดียว เพราะไม่ได้แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่มีเรื่องศักดิ์ศรีอยู่ด้วย ส่วนรายละเอียดอื่นขอให้ไปคุยนอกรอบ เวทีนี้ยังเปิดอยู่หากจำเป็นก็ยินดีเปิดเวทีให้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้ นพ.ประดิษฐต้องไปทำงานต่อโดยคณะทำงานหรือคณะกรรมการแล้วมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนมาคุยกันด้วยบรรยากาศแบบนี้ และมีการกำหนดระยะเวลา ซึ่งนายกฯ ไม่อยากให้ใช้เวลานาน ซึ่งอะไรที่เยียวยา ชดเชย ทาง รมว.สธ.จะไปดำเนินและมีการรายงานให้ ครม.รับทราบในการประชุมสัปดาห์หน้า
นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ข้อสรุปจากการเจรจาในวันนี้จะมีการเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งทุกเห็นฝ่ายด้วยกับความสำคัญในการดึงบุคลากรให้อยู่ในชนบท ผ่านมาตรการสำคัญคือด้านการเงิน เพื่อลดความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำรายได้บุคลากรทางการแพทย์ โดยในการทำ P4P เป็นเรื่องที่ต้องมีบริบทการทำงานของแต่ในละพื้นที่ ในระดับสถานพยาบาลที่แตกต่างกัน
นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า ได้พูดแต่ต้นแล้วว่าการทำ P4P ต้องมีกติกากลางเพื่อให้แต่ละหน่วยงานทำร่วมกันได้ จึงมีข้อตกลงกันว่าจะมีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยแพทย์จาก รพ.ทุกระดับ สัดส่วนแพทย์ชนบทอาจมากหน่อย มาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และระหว่างให้มีการเยียวยา หน่วยบริการที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการและที่ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบ P4P หวังว่าต่อจากนี้จะคุยกันด้วยเหตุผลพัฒนา P4P ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ โดยไม่มีทิฐิ
เผยตั้ง ดร.คณิต แสงสุพรรณ เป็นประธานออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนใหม่
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ประเด็นหลักคือเรื่องแรงจูงใจให้แพทย์ยังทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน โดยยึดหลักการในระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนฉบับที่ 4 และฉบับที่ 6 และใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2556 ให้มีการเยียวยาความเสียหายย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่จะสามารถออกระเบียบฉบับใหม่ในวันที่ 1 ต.ค.2556 ตามที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน โดยมี ดร.คณิต แสงสุพรรณ ประธานอนุกรรมการการเงินการคลัง สปสช. เป็นประธานคณะ ทั้งนี้ ในส่วนของรายระเบียบการจ่ายเงินที่จะออกใหม่นั้นต้องเหมือนกับฉบับที่ 4 และ 6
“เรื่องระเบียบ P4P นั้น ทาง สธ.เข้าใจว่าเกิดจากความไม่พร้อมของโรงพยาบาล จึงได้สั่งให้ชะลอการบังคับใช้ ส่วนจะนำการจะนำกลับมาใช้ได้นั้นก็อยู่ที่ว่า สธ.จะมีวิธีการทำให้โรงพยาบาลชุมชนใช้ในวันที่ 1 ต.ค. ได้อย่างไร ส่วนจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อหรือไม่นั้นขอดูมติ ครม.ในวันอังคารหน้าก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ถ้า ดร.คณิตมีความจริงใจ รัฐบาลไม่หักหลังเรา ก็จะยุติการเคลื่อนไหว” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่าใน ส่วนข้อเรียกร้องให้ปลด นพ.ประดิษฐออกจากตำแหน่งนั้นได้ยื่นข้อเสนอให้กับนายกฯ ไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ดุลพินิจของนายกฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการเจรจาสิ้นสุดลงพร้อมกับแถลงมติการเจรจาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ทั้งฝ่ายเครือข่ายผู้บริหาร สธ. และฝ่ายเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ต่างล้อมวงของตัวเองเพื่อปรึกษาหารือกันต่อ โดยในฝั่งของเครือข่ายฯ เกิดความไม่เข้าใจในมติที่ออกมา ซึ่ง นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า เป็นการคุยกันเนื่องจากยังมีความไม่เข้าใจในบางคำพูดเท่านั้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai