นายสม รังสี นักการเมืองฝ่ายค้านชาวกัมพูชา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองได้พบปะผู้สนับสนุนของเขาที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ 2 มิ.ย. ล่าสุดเขาถูกห้ามเข้าประเทศไทยและถูกส่งกลับ หลังมีกำหนดจะเข้ามาเสวนาและเปิดตัวหนังสือ "We Didn't Start the Fire: My Struggle for Democracy in Cambodia"ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เวลา 19.00 น. วันนี้ (5 มิ.ย.) โดยต้องเปลี่ยนเป็นการเสวนาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาในที่ประชุมแทน (ที่มา: เฟซบุค Sam Rainsy)
ป้ายพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่หน้าสำนักงานสาขาพรรคย่านบึงกัก กรุงพนมเปญ ภาพนี้ถ่ายในเดือนพฤศจิกายนปี 2555 ทั้งนี้ พรรคประชาชนกัมพูชาเป็นพรรครัฐบาลที่ครองอำนาจในกัมพูชามาอย่างยาวนานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ขณะที่นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประกาศว่าจะครองอำนาจไปอีก 30 ปี (ที่มา: ประชาไท)
นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา พรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งมีกำหนดเสวนาและเปิดตัวหนังสือ "เราไม่ใช่ตัวปัญหา: การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกัมพูชาของข้าพเจ้า" (We Didn't Start the Fire: My Struggle for Democracy in Cambodia) ในเวลา 19.00 น. วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCTนั้น มีรายงานว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ไทยห้ามไม่ให้เข้าประเทศและถูกส่งกลับ
โดยนายสม รังสี ให้สัมภาษณ์ พนมเปญโพสต์จากสิงคโปร์เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.) ว่าเขาถูกส่งกลับโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง "พวกเขาบอกผมว่า ผมสามารถเข้ามาได้ภายหลังการเลือกตั้ง (ของกัมพูชา)"อย่างไรก็ตาม นายสม รังสี ไม่ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมโดยระบุว่ากำลังยุ่ง
ทั้งนี้ในเว็บของ FCCT ระบุว่า กิจกรรมเสวนาและเปิดตัวหนังสือดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้สนับสนุนให้จัดโดย FCCT แต่ผู้จัดกิจกรรมเป็นผู้เช่าสถานที่ และขณะนี้ยังไม่มีการเผยแพร่แถลงการณ์ใดๆ ออกมาจาก FCCT ขณะที่ผู้สื่อข่าวซึ่งโทรศัพท์ไปสอบถาม ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ FCCT ว่ากำหนดการเสวนาและเปิดตัวหนังสือยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม แต่เปลี่ยนเป็นการเสวนาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาในที่ประชุมแทน
ด้านนายจอร์จ แมคคลาวด์ กรรมการบริหาร FCCT ระบุว่า ทางสมาคมได้รับแจ้งว่าการปฏิเสธดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมทางการเมืองของชาวต่างประเทศภายในประเทศ
ทั้งนี้ตามกำหนดการเดิม ประเด็นที่นายสม รังสีกับเสวนาจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความยากจนในประเทศ การคอรัปชั่น ความไม่ยุติธรรมในประเทศ และถกเถียงในเรื่องการปฏิรูปด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจอย่างแท้จริงในกัมพูชา
โดยขณะนี้นายสม รังสี อยู่ระหว่างลี้ภัยที่ฝรั่งเศส หลังถูกเล่นงานทางการเมือง จนทำให้เขาถูกศาลตัดสินจำคุก 12 ปี และถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปกัมพูชาที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะเดียวกันเขาได้เดินทางไปในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เพื่อทำการอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในกัมพูชา และเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา เขาเพิ่มเดินทางไปปราศรัยกับผู้สนับสนุนของเขาที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
ทั้งนี้การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา มีกำหนดจัดในวันที่ 28 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ โดยปัจจุบัน พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) นำโดยนายฮุน เซ็น ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาโดยมี ส.ส. 90 คน ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ที่มีนายสม รังสี เป็นผู้นำ ขณะนี้มีเสียงในสภา 26 ที่นั่ง
สำหรับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เดิมชื่อพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2524 โดยนายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี และประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 30 ปี ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) เกิดจากการรวมกันของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา 2 พรรคคือพรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนตั้งแต่กลางปี 2555 และจะร่วมกันแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมนี้
ส่วนปฏิกิริยาของนักการทูตนั้น พนมเปญโพสต์ รายงานว่า นางยู ออย เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำกรุงเทพมหานคร ได้หัวเราะและวางสายโทรศัพท์ หลังผู้สื่อข่าวพนมเปญโพสต์โทรศัพท์ไปสอบถาม ขณะที่นายนายธัชชยุติ ภักดี เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญระบุว่าเขาไม่ทราบเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น
โดย พนมเปญโพสต์ ได้สัมภาษณ์ความเห็นของเคม เล นักวิเคราะห์การเมืองชาวกัมพูชา ซึ่งเห็นว่าปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินของไทยน่าจะรวมถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน และอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ยังมีเรื่องความตึงเครียดตามแนวชายแดน รวมทั้งความพยายามล่าสุดของรัฐบาลกัมพูชาที่พยายามเชื่อมโยงกลุ่มของนายสม รังสีกับกลุ่มก่อการร้าย
ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า อนึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายนปี 2553องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส คือ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Federation for Human Rights: FIDH) และคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนาม (the Vietnam Committee on Human Rights: VCHR) ได้จองห้องของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เพื่อจัดการแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน "จากวิสัยทัศน์สู่ความเป็นจริง: สิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ภายใต้การเป็นประธานอาเซียน 2010"
อย่างไรก็ตาม นายธานี ทองภักดี รักษาการอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นได้ขอให้ FCCT ยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว และขอให้ FCCT สื่อสารกับองค์กรผู้จัดงานว่าประเทศไทยตั้งใจจะระงับการออกวีซ่าให้แก่ผู้ร่วมแถลงข่าว แต่ทาง FCCT ปฏิเสธที่และว่าการแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการเช่าสถานที่ FCCT ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุน และออกแถลงการณ์ที่หน้าเว็บด้วยว่า FCCT เองก็ให้ความสำคัญกับหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและความหลากหลายทางความคิด และขอให้รัฐบาลไทยทบทวนวิธีการ อย่างไรก็ตามองค์กรผู้จัดงานก็ได้ยกเลิกการแถลงข่าว โดยให้เหตุผลกับ FCCTว่า ทางการไทยปฏิเสธที่จะออกวิซ่าให้ผู้แถลงข่าว