Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

นายกฯ ตุรกีกร้าว ประณามฝ่ายค้านและสื่อโซเชียลมีเดียยุยงให้เกิดการประท้วง

$
0
0

เรเซป ตอย์ยิป เออร์โดแกน นายกรัฐมนตรีตุรกีที่ถูกประชาชนประท้วงขับไล่ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว กล่าวหาฝ่ายค้านฯ และสื่อโซเชียลมีเดียทำให้คนประท้วง 

เรเซป ตอย์ยิป เออร์โดแกน นายกรัฐมนตรีตุรกีที่ถูกประชาชนประท้วงขับไล่ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว กล่าวหาฝ่ายค้านฯ และสื่อโซเชียลมีเดียทำให้คนประท้วง ด้านนักรัฐศาสตร์เผยการประท้วงเป็นสัญญาณให้นายกฯ เลิกดำเนินนโยบายแบบอำนาจนิยม หันมาฟังเสียวิพากษ์วิจารณ์บ้าง ขณะที่หน่วยแพทย์รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงแล้วหนึ่งราย


3 มิ.ย. 2013 ผู้ประท้วงหนึ่งหมื่นคนยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่จัตุรัสใจกลางเมืองอิสตันบูลประเทศตุรกี แม้จะมีการปะทะกันและการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงจากฝ่ายตำรวจปราบจลาจล ขณะที่นายกรัฐมนตรีของตุรกียังคงยืนยันเดินหน้ารื้อสวนสาธารณะทักซิมต่อไป ซึ่งการรื้อสวนสาธารณะแห่งนี้ถือเป็นประเด็นเริ่มแรกที่ทำให้ที่ทำให้มีผู้ชุมนุมรวมตัวกันประท้วง

นายกรัฐมนตรี เรเซป ตอย์ยิป เออร์โดแกน บอกว่าผู้ประท้วงที่ก่อการจลาจลเป็น "พวกสุดโต่ง"อีกทั้งยังกล่าวหาว่าพรรคฝ่ายค้านรีพับลิคพีเพิลปาร์ตีเป็นผู้ยุยงให้เกิดการประท้วงในครั้งนี้ โดยที่การประท้วงล่าสุดมีผู้ประท้วงราว 10,000 เข้ามาในพื้นที่ พากันโบกธงและยกระดับการประท้วงกลายเป็นการขับไล่รัฐบาล

นอกจากนี้นายกเออร์โดแกนยังได้กล่าวหาว่าสื่อโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์กลายเป็นแหล่งข้อมูลเท็จและเป็นภัยต่อสังคม

"ตอนนี้เรามีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าทวิตเตอร์"เออร์โดแกนกล่าว "สามารถพบคำโกหกหลอกลวงที่แย่ที่สุดได้ในนั้น สำหรับข้าพเจ้าแล้วโซเชียลมีเดียถือเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม"

เออร์โดแกนกล่าวอีกว่าเขากำลังมอบหมายให้หน่วยข่าวกรองสืบหาว่าต่างชาติมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงในจัตุรัสทักซิมเมืองอิสตันบูลครั้งล่าสุดหรือไม่

"ผู้ที่เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ในสื่อว่าเป็น 'ตุรกีสปริง'ไม่ได้รู้จักประเทศตุรกีจริง"เออร์โดแกนกล่าว


บรรยากาศการประท้วง

ในเมืองท่าอิชเมียร์ทางภาคตะวันตกของตุรกี มีผู้ชุมนุมบางส่วนใช้ระเบิดเพลิงขว้างใส่ที่ทำการพรรครัฐบาลเอเคปาร์ตี้ โดยภาพข่าวทางโทรทัศน์แสดงให้เห็นบางส่วนของอาคารลุกไหม้

ขณะที่ในเมืองอิสตันบูล ศาลารอรถประจำทาง, ทางเท้า และป้ายตามท้องถนนก็ถูกผู้ประท้วงรื้อนำมาตั้งเป็นแนวกั้นตามถนนใหญ่ๆ ซึ่งมีการปะทะกันอย่างหนักตลอดคืนวันอาทิตย์ (2 มิ.ย.) ที่ผ่านมา โดยหลังจากนั้นจัตุรัสทักซิมอยู่ในภาวะเงียบสงบ

มีการกั้นถนนโดยรอบที่ทำการของนายกฯ ขณะที่บนถนนสายหลักใกล้ๆ กัน มีผู้ประท้วงรายหนึ่งขับรถขุดดินฝ่าทะลวงเส้นกั้นของตำรวจโดนมีผู้ประท้วงหลายคนตามหลังมา

ในกรุงอังการาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ากวาดล้างในย่านศูนย์การค้าที่เชื่อว่ามีผู้ชุมนุมหลบซ่อนอยู่ และสามารถจับกุมประชาชนได้หลายร้อยคน ขณะที่ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก็สน้ำตาและปืนแรงดันน้ำใส่ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา

โดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของตุรกีเปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่แล้วมีคนถูกจับกุมในตอนนี้รวมแล้ว 1,750 คน ทางด้านสมาคมแพทย์ตุรกีเปิดเผยตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บในเมืองอิสตันบูล 1,000 คน และในอังการา 700 คน

ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 2 มิ.ย. สมาคมแพทย์ได้รายงานว่ามี ผู้เสียชีวิตหนึ่งรายเป็นชายวัย 20 ปี ซึ่งเสียชีวิตหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่มีรถแท็กซี่ขับพุ่งเข้าชนกลุ่มผู้ชุมนุมบนถนนทางหลวงอิสตันบูลเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา


เหตุที่การชุมนุมถึงลุกลามจากการประท้วงเล็ก

การชุมนุมเริ่มต้นจากผู้ชุมนุมกลุ่มเล็กๆ ชุมนุมประท้วงอย่างสงบเพื่อปกป้องสวนสาธารณะทักซิมซึ่งกำลังจะถูกรัฐบาลรื้อเพื่อฟื้นฟูอาคารทหารในสมัยปี 1940 พร้อมทั้งปรับปรุงพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแหล่งที่อยู่และศูนย์การค้า แต่ต่อมาการประท้วงก็ถูกยกระดับกลายเป็นการประท้วงรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดของตุรกีในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยการประท้วงลุกลามไปยัง 81 จังหวัดทั่วตุรกีในวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา

โดยที่นักวิเคราะห์มองว่ากรณีการประท้วงลุกลามไม่ใช่แค่เรื่องการปกป้องสวนสาธารณะแต่เป็นเรื่องความไม่พอใจที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น โคเรย์ คาลิสกาน นักรัฐศาสตร์กล่าวว่า นายกฯ เออร์โดแกนไม่ฟังใครเลยแม้แต่สมาชิกพรรคของตนเอง แต่หลังจากการประท้วงในครั้งนี้เขาจะต้องยอมรับว่าตัวเขาเป็นนายกรัฐมนตรีในประเทศประชาธิปไตยและเขาไม่สามารถปกครองประเทศคนเดียวได้

ทางด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็แสดงความกังวลในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นในตุรกีที่มีน้อยลง โดยที่เออร์โดแกนกล่าววิจารณ์สื่อและนักข่าวที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเขาและพรรครัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่เรื่องการประท้วงในตุรกีก็ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อของตุรกีมากเท่าที่ควร เนื่องจากรัฐบาลมีอำนาจควบคุมสื่อกระแสหลัก

โดยนอกจากเรื่องสวนสาธารณะแล้วประชาชนยังมีความไม่พอใจโครงการเมกะโปรเจกท์ของรัฐบาล ทั้งการสร้างสะพาน สนามบิน และมัสยิดขนาดใหญ่ โดยคาลิสกานเสนอว่าหลังจากมีการประท้วงรัฐบาลควรยุบโครงการเหล่านี้ รวมถึงแผนการเคร่งครัดเรื่องการบริโภคแอลกอฮอล์, การสั่งห้ามการทำแทงค์ และพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนระบอบของรัฐบาลจากแบบรัฐสภามาเป็นแบบประธานาธิบดี

การสั่งห้ามดังกล่าวทำเขาถูกวิจารณ์ว่าเป็นพวกอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยมทางศาสนาที่พยายามแทรกแซงชีวิตส่วนตัวของผู้คนในประเทศฆราวาสนิยม

สำนักข่าว The Guardian กล่าวว่า นายกฯ เออร์โดแกนซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาเป็นเวลา 10 ปี มีจุดมุ่งหมายต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งคนแรกที่มีอำนาจบริหารเข้มแข็ง แต่นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่าการประท้วงครั้งล่าสุดก็ทำให้ภาพลักษณ์ของเขาที่คิดว่าตนมีอำนาจเสียหายไปแม้ว่าเขาจะยังเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุด แต่คาลิสกานกล่าวว่าการประท้วงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเออร์โดแกนไม่ใช่คนที่แตะต้องไม่ได้

"เหตุการณ์เมื่อห้าวันที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเขา (เออร์โดแกน) ไม่สามารถละเลยประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์เขาได้"คาลิสกานกล่าว


เรียบเรียงจาก

Turkish PM: social media and opposition to blame for protests, The Guardian, 03-06-2013

Erdogan blames 'extremists' for Turkey riots, Aljazeera, 03-06-2013

Aljazeera : Turkey Protest Live Blog
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles