Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

วงนักการเมืองใต้ จี้ 2 ทีมเจรจาตกลงให้ชัดเรื่องคนกลาง-ความยุติธรรม

$
0
0
อดีต ส.ส.ปัตตานี เผยผลการเสวนานักการเมืองชายแดนใต้ จี้ 2 ทีมเจรจาตกลงให้ชัดเอาคนกลางหรือไม่ ชี้ใครก็ได้ที่เป็นกลางและมีทักษะ ไม่จำเป็นต้องมาเลเซียเท่านั้น เร่งตกลงหาทางสร้างความเป็นธรรมที่พอใจทั้งสองฝ่าย แนะรัฐรีบคว้าโอกาสแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ เพราะยิ่งเพิ่มทหารและทุ่มงบมหาศาลก็ไม่ได้ผล 

 
 
มุข สุไลมาน
 
นายมุข สุไลมาน สมาชิกกลุ่มวาดะห์และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปัตตานี เปิดเผยผลการสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 12 ณ โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีนักการเมืองจากพรรคต่างๆ ได้แก่ เพื่อไทย มาตุภูมิ ความหวังใหม่ เพื่อนเกษตรไทย ดำรงไทย ชาติไทย ภูมิใจไทย และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค 
 
นายมุข เปิดเผยว่า การสานเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
นายมุข เปิดเผยว่า ในเวทีสานเสวนาครั้งนี้ มีการพูดถึงข้อเสนอ 5 ข้อของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งในวงเสวนาเห็นว่ามี 2 ประเด็นใหญ่ ประเด็นแรก คือ คนกลางในการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการ ซึ่งในวงเสวนาเห็นว่า จำเป็นต้องมีคนกลาง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศมาเลเซียเท่านั้น หากฝ่ายรัฐไทยไม่เห็นด้วย 
 
นายมุข เปิดเผยต่อไปว่า ในวงเสวนาเห็นว่า ตัวกลางอาจเป็นตัวแทนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (OIC) เพราะที่มีหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ของพี่น้องมุสลิมทั้งในประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม รวมทั้งมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมานาน
 
นายมุข เปิดเผยอีกว่า ประเด็นที่ 2 ความยุติธรรมในพื้นที่ จำเป็นต้องมีการพูดคุยเจรจาในเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกฝ่าย ทั้งประชาชนพื้นที่ ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นและฝ่ายรัฐบาลไทย ได้หาจุดร่วมด้านความยุติธรรมที่ทุกฝ่ายต่างพึงพอใจ
 
นายมุข กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว เห็นว่ารัฐบาลไทยแก้ปัญหาความไม่สงบยังไม่เต็มที่เท่าที่ควร เห็นได้จากการใช้วิธีการเดิมๆ เหมือนกับรัฐบาลสมัยก่อน เพียงแต่มีความคืบหน้าในส่วนที่ยอมเปิดให้มีการเจรจากับขบวนการบีอาร์เอ็นเท่านั้น 
 
“วิธีการเดิมๆ เช่น การส่งกำลังทหารเพิ่ม หรือการทุ่มงบประมาณทำโครงการต่างๆ แต่ไม่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ ทำให้บางครั้งอาจก่อให้เกิดจากความไม่เข้าใจ เพราะรัฐไม่ได้รับรู้ปัญหาอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสังคมมุสลิมในพื้นที่ เช่น อัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิม วิถีชีวิตความเป็น กระทั่งภาษา จนเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมของคนในพื้นที่” นายมุข กล่าว
 
นายมุข กล่าวด้วยว่า หากการเจรจาครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลไทยควรให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ อาจเป็นการทดลองใช้ก่อน เพื่อประเมินว่าความไม่สงบจะลดลงหรือไม่ เพราะอย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย
 
นายมุข กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายขบวนการได้เปิดช่องให้มีการพูดคุยเจรจากันแล้ว เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาข้อตกลงระหว่างกันในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญและคิดอย่างละเอียดรอบคอบกับโอกาสที่ได้มา เพื่อให้รัฐบาลได้แสดงถึงความจริงใจ และความร่วมมือกับขบวนการบีอาร์เอ็นในการหาข้อตกลงต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ให้สงบลง
 
“ในขณะเดียวกัน มุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีและไม่มีอำนาจต่อรอง ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาและสนับสนุนสังคมของตนเองให้เหมือนสังคมอื่นๆได้ จึงจำเป็นที่คนในพื้นที่ต้องเข้าสู่การเมืองเพื่อให้เข้าถึงอำนาจและสามารถต่อรองให้สังคมอื่นๆ ได้รับรู้และเข้าใจถึงความต้องการของคนในพื้นที่ได้” นายมุข กล่าว
 
นายมุข กล่าวอีกว่า ประชาชนในพื้นที่มีความสำคัญในการสนับสนุนนักการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนในการเข้าถึงอำนาจ เพราะไม่มีทางอื่นที่จะเข้าไปถึงอำนาจได้ ดังนั้น ต้องให้คนในพื้นที่ทำหน้าที่ของตนให้ดีและสมบูรณ์ที่สุดในการให้ความรู้ความเข้าใจว่า ประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรในการส่งตัวแทนให้เข้าถึงอำนาจ เพราะถ้าตัวแทนคนในพื้นที่เข้าถึงอำนาจได้ ก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้
 
สำหรับผลการเสวนาครั้งนี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สรุปข้อเสนอและความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม ทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้
 
1.วงเสวนาสนับสนุนการสานเสวนาหรือพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งในการสานเสวนาสันติภาพควรให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย ตลอดจนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ทั้งในประเทศมาเลเซียและในประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
 
อย่างไรก็ดี การสานเสวนาสันติภาพเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่จะต้องพัฒนาไปสู่ขั้นตอนการเจรจาสันติภาพต่อไป
 
2.ในขั้นตอนการเจรจาสันติภาพนั้น วงเสวนายืนยันให้ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ หาข้อตกลงในเบื้องต้นว่า จะหาประเทศหรือองค์กรที่มีความเป็นกลาง มีทักษะและได้รับความไว้วางใจจากทั้งสองฝ่ายมาทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา
 
”ทั้งรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น ควรพิจารณาข้อเสนอของบีอาร์เอ็น ที่ขอให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา โดยพิจารณาจากคุณลักษณะของความเป็นคนกลางว่า มาเลเซียหรือองค์กรอื่นใดบ้างที่มีความเหมาะสมหรือไม่ โดยที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ”
 
3.ความไม่เป็นธรรม เป็นต้นเหตุหนึ่งของความขัดแย้ง ความเป็นธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ขณะนี้ในประเทศไทยกำลังมีการโหยหาความเป็นธรรมอยู่อย่างกว้างขวาง 
 
ในเรื่องนี้ในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ข้อ 2 (3) ความว่า “เร่งรัดการคลี่คลายเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยของประชาชน และต่างประเทศให้กระจ่างชัด โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริง มีการเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ และนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว เพื่อขจัดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด ปลดเงื่อนไขของความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม”
 
ดังนั้น รัฐบาลพึงดำเนินการตามนโยบายนี้เห็นเกิดผลโดยเร่งด่วนด้วย
 
4.ในวงเสวนาขอสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เป็นความพยายามเข้าถึงและรับฟังเสียงของประชาชนทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและลดความหวาดระแวงในพื้นที่
 
5.การสานเสวนา/พูดคุยสันติภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สังคมไทยโดยรวมตลอดจนสังคมในพื้นที่ ควรได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน ในการนี้ควรมีพื้นที่ในการแสดงออก โดยผ่านสื่อสารมวลชนและการจัดเวทีสาธารณะทั้งในพื้นที่และในส่วนกลาง โดยเฉพาะเวทีสำหรับชาวมุสลิมและชาวพุทธในพื้นที่ ได้นำเสนอปัญหา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ อย่างต่อเนื่อง 
 
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 6 ของนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ความว่า “ให้สังคมไทยเกิดการรับรู้มีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles