กลุ่มญาติเหยื่อเมษา-พ.ค.53 ร่วมญาติพฤษภาทมิฬ ประกาศค้านร่างปรองดองเฉลิม-นิรโทษฯ ฉบับวรชัย ดันร่างปรองดองฉบับประชาชน พร้อมจี้ให้ย้าย 'ธาริต'ออกจากพนักงานสอบสวน ชี้ 3 ปีหลายคดีไม่คืบหน้า แม่น้องเกดฉะ ‘นปช.’ อึกอักค้านนิรโทษคนสั่งฆ่า
วันที่ 30 พ.ค.56 เวลา 14.00 น.ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง เม.ย.-พ.ค.2553 กว่า 20 คน นำโดย นางพะเยาว์และนายณัทพัช อัคฮาด มารดาและน้องชายของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ที่วัดปทุมวนาราม พร้อมด้วยนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรต์ วอตช์ ประจำประเทศไทย และนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาประชาธรรม 35 ร่วมกันแถลงจุดยืนคัดค้านการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ฉบับนายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย
เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิมนิรโทษแกนนำ คนสั่งการ และทหาร ส่วนร่าง พ.ร.บ.ของนายวรชัย แม้เป็นการนิรโทษประชาชนที่ถูกจำคุก แต่พบว่าล้างความผิดให้แก่ทหารผู้ปฏิบัติการด้วย
แถลงจุดยืนกลุ่มญาติฯ โอกาสครบรอบ 3 ปีของเหตุการณ์
นางพะเยา แถลงจุดยืนอย่างเป็นทางการของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง เม.ย.-พ.ค. เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีของเหตุการณ์ โดยระบุว่า เนื่องด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค.2553 ที่ผ่านมาเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บร่วม 2,000 คน กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ส่วนหนึ่งในครั้งนั้น ได้ร่วมประชุมและหารือกันแล้ว โดยมีจุดยืน คือ 1.ทางกลุ่มญาติไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังตามเรือนจำต่างๆ
ทางญาติได้ตกลงและเห็นต้องกันว่าทางกลุ่มญาติจะสนับสนุนให้มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่เกี่ยวกับแกน คนสั่งการ และทหาร ซึ่งจะเป็นการนิรโทษเฉพาะประชาชนโดยไม่เกี่ยวกับฝ่ายการเมืองและผู้สั่งการให้ฆ่าประชาชน เพราะประชาชนต่างเป็นเหยื่อทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อสีอะไร แต่ทุกคนก็คือประชาชน พวกเราจึงสนับสนุนให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาโดยเร็ว เพื่อช่วยประชาชนที่ถูกจองจำจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ออกมา พบญาติพี้น้องและแสดงสิทธิของความเป็นประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ
2.ขอให้ดำเนินการเร่งสอบสวนสืบสวนคดีที่ยังคงติดค้างอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้มีการก้าวไปสู่การดำเนินการในชั้นศาล เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดโดยเร็ว เนื่องจากผ่านมาเป็นเวลา 3 ปีเต็มแล้ว หลายๆ คดียังไม่คืบหน้าไปไหน จึงขอให้เร่งรัดในการดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวนเพื่อความจริงจะได้ปรากฏเร็วขึ้น โดยการย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกจากตำแหน่งเจ้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ เพราะความจริงแล้วนายธาริต ก็เป็นหนึ่งในคณะที่สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์เช่นเดียวกัน
พวกเราเชื่ออย่างยิ่งว่าฆาตกรไม่มีวันจะทำความจริงให้ปรากฏเพื่อให้ตัวเองติดคุกอย่างแน่นอน หวังว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตอบรับข้อเสนอของทางกลุ่มญาติฯ อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ขอเป็นของขวัญให้กลุ่มญาติในวาระครบ 3 ปีของเหตุการณ์ เพราะทุกคนต่างมีความหวังว่าญาติพี่น้องของพวกเราที่เสียชีวิตไปจะได้ตายตาหลับ ถ้าได้รับรู้ว่าผู้ที่สั่งฆ่าพวกเขาได้รับโทษทัณฑ์จากการสั่งฆ่าประชาชนตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด ถ้าไม่เช่นนั้นชีวิตของญาติพี่น้องที่สูญเสียไปรวมถึงชีวิตของพวกเราก็ไม่ต่างอะไรกับเศษเนื้อทางการเมืองชิ้นหนึ่ง ที่มีไว้เพื่อเซ่นสังเวยให้กับผู้ที่กระหายอำนาจและแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเท่านั้นเอง
แม่น้องเกดฉะ"นปช."อึกอักค้านนิรโทษคนสั่งฆ่า
“รัฐบาล พรรคเพื่อไทย รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สไกป์มายังเวทีราชประสงค์ว่าต้องนิรโทษประชาชนก่อนนั้น ขอให้ผลักดันอย่างจริงใจ และอย่าลืมประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ทุกวันนี้แม้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องอาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่ภรรยาและลูกยังสามารถเดินทางไปพบปะได้ แต่พ่อแม่ที่ลูกเสียชีวิต วันนี้ไม่รู้จะตามไปเจอลูกที่ไหน”นางพะเยาว์กล่าว
นางพะเยาว์ กล่าวด้วยว่า ทางกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะองค์กรของคนเสื้อแดงควรออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเหมาเข่งที่นิรโทษแกนนำ ผู้สั่งการ ทหารอย่างเต็มที่ ทางเราไม่ได้มีปัญหาที่เเกนนำรับตำเเหน่งทางการเมือง ขอเพียงอย่าลืมประชาชน อย่าลืมผู้เสียชีวิต แต่ขณะนี้ปรากฎว่าทาง นปช.กลับคัดค้านร่างที่นิรโทษผู้สั่งฆ่าไม่เต็มปากเต็มคำ ได้แต่พึมพำอยู่ในลำคอ”
ด้านณัทพัช กล่าวว่า ในส่วนของผู้สูญเสียทั้ง 2 ฝ่ายคือทั้งประชาชนและทหาร ต้องการให้ทำความจริงให้ปรากฏ โดยทางนางนิชา ธุวธรรม ภรรยาพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตก็เชื่อว่าทาง นปช.เป็นฝ่ายกระทำ ส่วนทาง นปช.ก็เชื่อว่าทางเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายปราบปรามประชาชน วันนี้กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตมีเป้าหมายเดียวกันคือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตอบคำถามนี้
นอกจากนั้นขอฝากไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึง ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ ส.ส. 163 คนที่ร่วมลงชื่อ โดยอ้างว่าต้องการนำท่านกลับประเทศไทยนั้น เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีวุฒิภาวะมากพอที่จะพิจารณาในเรื่องนี้ และขอถามว่าพวกเขาต้องการให้ท่านกลับมาจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการนำมาอ้างเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น
ญาติพฤษภาทมิฬชี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตีโจทย์ผิดให้ประชาชนกลายเป็นผู้ต้องหา
ขณะที่นายอดุลย์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัยนั้น เป็นการตีโจทย์ผิดให้ประชาชนกลายเป็นผู้ต้องหา พร้อมยืนยันว่าการจะให้ทุกฝ่ายเกิดความปรองดองได้ต้องนำความจริงมาเปิดเผยก่อน ดังนั้นการให้นายธาริตออกจากหน้าที่พนักงานสืบสวนคือทางออก ซึ่งหากทำให้ความจริงปรากฏได้ว่าใครเป็นคนสั่งปราบปรามประชาชน ชายชุดดำมีจริงหรือไม่ และนำคนเหล่านั้นมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมรับผิดที่ทำไปทุกคนก็พร้อมที่จะนิรโทษกรรมยกโทษให้
ทั้งนี้ ขอฝากไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าควรทบทวนการเดินหน้านิรโทษกรรม เพราะการกระทำตัดตอนความจริงก็ไม่ต่างอะไรจากสมัย รสช. อีกทั้งหากออกกฎหมายได้ แต่ปัญหาความขัดแย้งยังมีอยู่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมาได้หรือไม่
ที่ปรึกษาฮิวเมนไรต์วอตช์ไทย ชี้ร่างเฉลิมไม่ต่างจาก “บิ๊กบัง” ลดความเชื่อถือกระบวนการยุติธรรม
ด้านนายสุนัยกล่าวว่า กระบวนการปรองดองที่จะเป็นประโยชน์ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ใครมีส่วนรับผิดชอบตามกระบวนการยุติธรรมบ้าง เมื่อนั้นทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริงและออกมาขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหลังการพิพากษาไปแล้วก็ควรให้สังคมไทยตัดสินว่าสมควรล้างผิดหรือไม่ เพราะการล้างผิดเพื่อสนองความต้องการทางการเมืองไม่ควรเกิดขึ้น
ส่วนการยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม นั้นก็ไม่ต่างจากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. เพราะมีหลักการที่คล้ายกัน และชัดเจนว่าเป็นการนิรโทษกรรมเหมารวม ทั้งนี้ ตนมีโอกาสพูดคุยกับน้องสาวของช่างภาพอิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเหตุการณ์ 19 พ.ค.53 หลังจากที่ศาลวินิจฉัยแล้วว่าช่างภาพอิตาลีถูกกระสุนของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งน้องสาวของช่างภาพอิตาลีที่เสียชีวิตยังมองว่าการนิรโทษกรรมนั้นสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่ชัดเจนว่าใครทำผิดก็สามารถนิรโทษกรรมโดยไม่ต้องรับโทษได้ ซึ่งถือเป็นการลดความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai