‘กรมเจ้าท่า’ ลุย EHIA ปากบาราหลังพ.ร.บ. 2 ล้านล้านประกาศบังคับ
“กรมเจ้าท่าเตรียมจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ระยะที่ 1 ภายหลังร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... (ร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท)”
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมในการลุยทำ EHIA ท่าเรือน้ำลึกปากบารา หลังพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย
นายศรศักดิ์ คาดว่า การจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จะใช้เวลาเร็วสุดไม่ต่ำกว่า 1 ปี อย่างช้าไม่เกิน 2 ปี จากนั้นจะประกวดราคาหาผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้าง โดยได้จัดรายละเอียดการจ้างที่ปรึกษาแล้ว พร้อมเดินหน้าทันทีเมื่อได้รับงบประมาณ ส่วนการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยร่วมมือกับจังหวัดสตูลจัดประชุมสร้างความเข้าใจไปแล้วครั้งที่ 1 โดยอ้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในเวทีที่นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล บอกว่าเป็นงบประมาณของจังหวัดสตูลเอง มาจัดเสวนา “แนวทางการพัฒนาจังหวัดสตูลภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล
“ในการประชุมสร้างความเข้าใจครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กลุ่มคัดค้านได้เข้ามามีส่วนร่วมและรับฟังการดำเนินโครงการ จากที่ไม่เคยมีกลุ่มคัดค้านเข้าร่วมฟัง ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี หากมาคุยกันแบบนี้จะได้หาทางออกร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรมเจ้าท่าจะยังทำประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง” นายศรศักดิ์ ย้ำถึงการเดินหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา
ทั้งหมดเป็นเนื้อหาจากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมเจ้าท่า จากพาดหัวข่าว “มั่นใจอีก2ปีท่าเรือปากบาราเกิด สัญญาณดีกลุ่มต้านร่วมประชุม เตรียมจ้างที่ปรึกษาทำอีเอชไอเอ” ของ ‘หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน’ ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 2556
แถลง-เครือข่ายสตูลแถลงข่าวจัดเวทีวิพากษ์กระบวนการทำ EIA-EHIA เพื่อความชอบธรรมในการสร้าง หรือป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ร่วมกับจังหวัดกระทบเมกะโปรเจ็กต์ใต้ (เครดิตภาพ: ชายแดน บินตำมะหงง)
‘เครือข่ายเมกะโปรเจ็กต์ใต้’ จัดการทำ EHIA
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ที่อุทยานเขตพญาวัง (สวนสาธารณะเขาโต๊ะพญาวัง) ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล แถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนจังหวัดสตูลในการร่วมจัดเวทีเสวนา “วิพากษ์กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA)” ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ พร้อมการให้ข้อมูล ‘ชำแหละ! ท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา หายนะหรือความเจริญ’ ในวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ที่จุดชมวิวลาน 18 ล้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล
โดยมีกลุ่มประชาชนในตัวอำเภอเมืองสตูลประมาณ 5 คน ที่รับรู้รายละเอียดข้อมูลท่าเรือน้ำลึกปากบารามากขึ้น จากเวที “แนวทางการพัฒนาจังหวัดสตูลภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 ซึ่งกำลังก่อตั้งกลุ่มขึ้นเป็นเครือข่ายภาคี ให้ความสนใจ
ร่างกำหนดการของงานเวลา 10.00 – 12.00 น. มีมินิคอนเสิร์ตจากศิลปิน ประกอบด้วย พจนาถ พจนาพิทักษ์ อรัญ เหมรา วงกัวลาบารา และวสันต์ สิทธิเขต ในงานมีการจัดนิทรรศการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน (CHIA) ของแต่ละจังหวัดที่มีปัญหากับเมกะโปรเจ็กต์
13.00 – 15.30 น. เสวนา “ บทเรียนจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) ในภาคใต้” ประกอบด้วยรศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นางสาวภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ตัวแทนพื้นที่ปัญหากรณีท่าเรือเชฟรอน โรงไฟฟ้าถ่านหินท่าศาลา โรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
กรณีโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เหมืองหินเขาคูหา ของจังหวัดสงขลา กรณีท่าเรือน้ำลึกชุมพร ท่าเรือของสหวิริยา โรงไฟฟ้าถ่านและนิวเคลียร์ละแม-ปะทิว ของจังหวัดชุมพร กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกันตัง ของจังหวัดตรัง กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนส่งถ่านหินกระบี่ ของจังหวัดกระบี่ กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา และเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ของจังหวัดสตูล และกรณีขุดเจาะน้ำมันริมเกาะ สมุย พะงัน เต่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ท่าชนะ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
16.00-17.30 น. มีการบันทึกเทปรายการ “เวทีสาธารณะ” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีนางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล อาจารย์และนักวิจัยจากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันไทยคดีศึกษา ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคม
ดร. ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และผู้แทนพื้นที่ได้รับผลกระทบโครงการขนาดใหญ่ จากจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา กระบี่ สตูล และสุราษฎร์ธานี
EIA ‘ท่อก๊าซไทย-มาเลย์’ ไม่ชอบกฎหมาย ?
พาดหัว “‘ตุลาการผู้แถลงคดี’ ชี้ EIA ท่อก๊าซฯ ไทย-มาเลฯ มิชอบ แต่ซ่อมได้!” ของสำนักข่าวประชาไท
รายงานว่าเมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 26 มีนาคม 2556 ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองสูงสุด กรุงเทพฯ ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 43/2547 คดีเพิกถอนมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ (คชก.) และใบอนุญาตก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ที่ 1 กับพวกรวม 17 คน ฟ้องกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่า) คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นจำเลยที่ 1-3
นายภานุพันธ์ ชัยรัตน์ ตุลาการผู้แถลงคดี มีความเห็นประเด็นที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซฯ เฉพาะในประเด็นเทคนิควิชาการแต่ยกเว้นด้านสังคม ถือเป็นการให้ความเห็นชอบต่อเนื้อหาในรายงาน EIA ดังกล่าวโดยครบถ้วนตามที่กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดไว้ ดังนั้น มติคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในการประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2544 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การเพิกถอนมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในสำนวนคดียังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการกระทำของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้เกิดจากการบิดเบือนข้อเท็จจริงในการปฏิบัติราชการหรือโดยทุจริต แต่เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่โดยไม่พิจารณารายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซฯ ในประเด็นด้านสังคม ถือเป็นการใช้ดุลพินิจที่ผิดพลาด ทำให้รายงาน EIA ดังกล่าวมีข้อบกพร่องเนื้อหาไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่กรณีดังกล่าวสามารถแก้ไขข้อบกพร่องให้ครบถ้วนได้
สำหรับประเด็นที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่า) นำรายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งเนื้อหาไม่ครบถ้วนไปพิจารณาออกใบอนุญาตเลขที่ 09/2546 ลงวันที่ 13 มี.ค.46 ให้บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซียฯ ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำประเภทวางท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้น ถือเป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเกิดจากข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการตัดสินใจมีข้อบกพร่อง และข้อเท็จจริงดังกล่าวดำเนินการโดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเห็นชอบตามกฎหมาย และกฎหมายกำหนดให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีนำไปประกอบการออกคำสั่ง ไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้มีอำนาจออกคำสั่งโดยตรง
สั่งยกเลิก EIAโรงไฟฟ้าประจวบเหตุบิดเบือน
นายภานุพันธ์ ชัยรัตน์ ตุลาการผู้แถลงคดี กล่าวว่า รายงาน EIA ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการฯ แล้วอาจเป็นรายงานที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงซึ่งหากนำไปอ้างอิงหรือนำไปประกอบการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการโครงการใดๆ จะส่งผลเสียหายต่อประโยชน์ส่วนรวมได้
นายภานุพันธ์ ได้ยกตัวอย่าง กรณีรายงาน EIA ของโครงการโรงไฟฟ้าที่ขออนุญาตก่อสร้างบริเวณชายฝั่งทะเลของ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่ง EIA ฉบับดังกล่าวที่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการชำนาญการฯได้ระบุข้อมูลบริเวณอ่าวที่ทำการศึกษาว่าไม่มีแนวปะการัง และในท้องทะเลแถบนั้นไม่มีสัตว์ทะเลหายาก ไม่มีสัตว์เศรษฐกิจ และมีความสมบูรณ์ไม่มากนัก แต่กลับถูกโต้แย้งข้อเท็จจริงโดยผู้เชียวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและชาวชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณอ่าวดังกล่าว จึงนำมาสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยตั้งคณะทำงานศึกษาและรวบรวมข้อมูลใหม่ ผลคือรายงาน EIA ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้มีคำสั่งยกเลิกรายงาน EIA ของโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว และเพิกถอนใบอนุญาตผู้ได้รับใบอนุญาตทำการศึกษารายงาน EIA ที่จัดทำรายงานฉบับดังกล่าว
นักวิชาการทะเล สับ EIA ท่าเรือปากบาราสุดชุ่ย
โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ของกรมเจ้าท่า ได้มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ทว่าการต่อสู้ด้วยการชุมนุม และข้อมูลทางวิชาการของคนสตูล สามารถล้ม EIA ท่าเรือน้ำลึกปากบาราลงได้
โดยเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีหนังสือถึงกรมเจ้าท่า และเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เรื่องขอให้ยกเลิกรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรค 2 เนื่องจากเข้าข่าย 1 ใน 11 โครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรง หากกรมเจ้าท่าจะดำเนินการโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราต่อ จะต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA)
ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำเอกสารนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันจังหวัดสตูล เสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้วิพากษ์ถึงจำนวนสัตว์หน้าดิน ที่แสดงตามตารางผลการสำรวจนิเวศวิทยาทางน้ำ ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ(EIA) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราและถมทะเล ระยะที่ 1 มีน้อยกว่าความเป็นจริง จำนวนชนิดที่พบในแต่ละสถานีน้อยกว่าความเป็นจริงมาก
ดร.ศักดิ์อนันต์ เห็นว่า อาจมีการวางแผนในการศึกษาไม่ดีพอ ทำให้พบน้อยกว่าความเป็นจริง แม้จะเป็นการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างฤดูกาล ก็ยังพบตัวเลขแสดงจำนวนชนิดน้อยด้วยกันทั้งคู่ เช่น พบเพียง 4 ชนิดหรือ 7 ชนิด ต่อตารางเมตร
“ผมว่าน้อยกว่าความเป็นจริง ความชุกชุม หมายถึงจำนวนตัวที่พบต่อตารางเมตรก็น้อยกว่าความเป็นจริงด้วย” ดร.ศักดิ์อนันต์ ประหลาดใจที่ข้อมูลใน EIA ขัดแย้งกับความสมบูรณ์ของบริเวณจะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่ตัวเองได้ศึกษา
ดร.ศักดิ์อนันต์ บอกว่า ถ้ามีการออกแบบการศึกษาให้ดี หรือเหมาะสม จะไม่ทำให้ได้ผลการศึกษาจำนวนสัตว์หน้าดินที่น้อยกว่าความเป็นจริง เช่น ไส้เดือนทะเล หรือสัตว์จำพวกไส้เดือนทะเล สัตว์จำพวกกุ้ง ปู มันเยอะกว่านี้ ถ้าดูจากสภาพแวดล้อมแถวนั้น
ดร.ศักดิ์อนันต์ พบข้อมูลใน EIA ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระบุถึงความหลากหลายของสัตว์หน้าดินน้อย ตัวเลขแสดงค่าดัชนีความหลากพันธุ์ควรจะอยู่ที่ 2 กว่าๆ ถึง 3 ตัวนี้มีสูตรคำนวณ ตัวเลขอย่างนี้ทำให้คนมองภาพว่า ทะเลที่นี่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ดูแล้วขัดแย้งกับที่ชาวบ้านจับสัตว์น้ำแถวนั้นได้เยอะ ยิ่งเป็นบริเวณปากแม่น้ำด้วยแล้ว ตัวเลขมันต้องเยอะกว่านี้
“ตัวเลขออกมาอย่างนี้ ถ้าคนอื่นมาดูคิดว่า โอ้โห ที่นี่ความหลากหลายต่ำมาก เป็นพื้นที่ที่ไม่มีคุณค่าอะไรเลย” ดร.ศักดิ์อนันต์ อุทานด้วยความงง แล้วอธิบายต่อไปว่า ค่าดัชนีมันต้อง 2.5 ขึ้นไป ที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลได้ค่าดัชนีความหลากพันธุ์ที่ 2 ขึ้นไปทั้งนั้น แต่ค่าดัชนีที่แสดงในตารางต่ำเกินไป บางสถานีเก็บข้อมูลได้ค่าดัชนีความหลากพันธุ์แค่ 1.39 ต่ำมาก
“ในความเห็นของผม ผลการศึกษาในเรื่องสัตว์หน้าดิน ได้ตัวเลขที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ข้อมูลออกมาแบบนี้ คนจะแปลผลว่า ทะเลที่นี่ไม่สมบูรณ์และไม่มีคุณค่า สัตว์หน้าดินบริเวณนี้มีเยอะ หลายพันธุ์ชนิด มันควรจะได้ตัวเลขเยอะกว่านี้ ดูยังไงก็น้อยเกินไป เคยมีนักวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงไปเก็บข้อมูลที่เกาะลิดี ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เมื่อหลายปีมาแล้ว มันเยอะกว่านี้”
ดร.ศักดิ์อนันต์บอกถึงความชุ่ยของ EIA ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผ่านการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาไท ในพาดหัว “สัมภาษณ์ : ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ‘EIAท่าเรือตีค่าทะเลปากบาราเสื่อมโทรม’”
ตรรกะย้อนแย้งของกระบวนการ EHIA ท่าเรือเชฟรอน
11 กันยายน 2555 คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ภายใต้ฝ่ายเลขาคือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุมัติรายงาน EHIA ให้บริษัทเชฟรอนสร้างท่าเรือฯ
22 พฤศจิกายน 2555 สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ได้ทำหนังสือขอให้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการทบทวนมติการอนุมัติ EHIA ท่าเรือเชฟรอน ให้เหตุผลว่าพบข้อบกพร่องหลายประการ
7 ธันวาคม 2555 บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด ได้ประกาศยุติโครงการท่าเรือฯ แต่ สผ. ส่ง EHIA ไปยังสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) และกรมเจ้าท่า
12 ธันวาคม 2555 บริษัทเชฟรอนฯ ส่งหนังสือมายัง เลขาธิการ สผ.เพื่อขอแจ้งยุติโครงการสร้างท่าเรือฯ อย่างเป็นทางการ แต่ยังคงขอส่งรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์มายัง สผ.เพื่อดำเนินการต่อ ในขณะที่บริษัทประกาศยุติโครงการ
25 มกราคม 2556 สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ส่งหนังสือไปยังเลขาธิการสผ. ขอให้ชี้แจงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น เนื่องจากสับสนกระบวนการอนุมัติ EHIA จนถึงการขอใบอนุญาต
5 ก.พ. 2556 สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ส่งหนังสือไปสอบถามเพื่อขอความชัดเจนกรณียุติโครงการฯ และขอให้ยกเลิก EHIA
6 กุมภาพันธ์ 2556 สผ. ทำหนังสือตอบยังสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ว่า บริษัทเชฟรอนยังไม่ส่งข้อมูลมายัง สผ.เพื่อประกอบการพิจารณาครั้งใหม่ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ตามการร้องขอของ สผ.ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 ส่งรายงาน EHIA กลับมายัง สผ.เพื่อดำเนินการต่อ
สผ. มีความเห็นว่าแม้บริษัทประกาศยุติโครงการฯ จะไม่มีผลต่อการเห็นชอบรายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ หากคณะกรรมการผู้ชำนาญการยืนยันมติเห็นชอบ EHIA สผ.จะส่งรายงานไปยังกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานอนุญาตเพื่อจัดทำกระบวนการต่อ รวมทั้งส่งให้ กอสส.เพื่อให้ความเห็นประกอบต่อไป
20 กุมภาพันธ์ 2556 บริษัทเชฟรอนฯ มีหนังสือตอบยังสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา บริษัทยืนยันไม่ขอยกเลิกรายงาน EHIA ให้เหตุผลว่าจะเป็นประโยชน์กับสาธารณะ
บริษัทเชฟรอนฯ และสผ.อาจยังคงยืนยันดำเนินการส่ง EHIA ไปสู่กระบวนการขอใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่า
ถอดจากแก่นเนื้อหาของแถลงการณ์ “สผ.กับเชฟรอนต้องหยุดเกมลวงโลก
ถอนรายงาน อีเอชไอเอ เชฟร่อน ทันที!!!” ของสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา-เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา-เครือข่ายลูกหลานท่าศาลาและภาคีติดตามกรณีเชฟรอน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556