ดร.โนเบร์ต โรเปอร์ส บรรยายพิเศษ เรียนรู้ขั้นตอนกระบวนการสันติภาพ ชี้ความสำคัญของแผนที่นำทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง ย้ำภาคประชาสังคมชายแดนใต้ต้องมี Road Map นำทางสันติภาพ
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโสสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) บรรยายการทำความเข้าใจกระบวนการสันติภาพ ในการจัดประชุม “ทำความเข้าใจกระบวนการสันติภาพร่วมกับ IPP เพื่อออกแบบและจัดทำกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” จัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ที่คณะมนุษย์ศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส เป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพเบอร์คอฟ ประเทศเยอรมัน และมีประสบการณ์การศึกษาและเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพมากกว่า 20 ปี ในกระบวนการสันติภาพกว่า 40 แห่งทั่วโลก
.......................................................................
ขอบคุณทุกท่านนะครับ ที่เชิญผมมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวันนี้ และขอบคุณอาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ที่เชิญมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสถานบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ที่ มอ.ปัตตานี ทำให้ผมได้มาอยู่ในดินแดนที่สวยงามแห่งนี้ หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่ง เป็นส่วนเล็กๆ ในการสร้างสันติภาพและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่นี้
การศึกษากระบวนการสันติภาพถือเป็นเรื่องใหม่และยังมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษากระบวนการสันติภาพ 40 แห่งทั่วโลกจะเห็นได้ว่า แต่ละกระบวนการสันติภาพจะมีความน่าสนใจของมันเองอยู่แต่ละประเทศ แต่ละที่จะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่เหมือนที่ไหนในโลก แต่จะมีปัจจัยบางอย่าง บทเรียนบางอย่างที่คล้ายๆ กันที่เราสามารถเรียนรู้ สามารถนำมาปรับใช้ในปาตานี อย่างที่กล่าวไว้ว่า ทุกๆ ความขัดแย้งจะมีอัตลักษณ์ มีลักษณะเฉพาะของตัวเองที่สามารถปรับใช้ได้
เหตุผลที่จำเป็นต้องมี Road Map
1. เมื่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรัง ต้องใช้ระยะเวลายาวนานมากกว่าจะจบ เมื่อความขัดแย้งกินเวลานานมาก จะทำให้มองไม่เห็นทางออกว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จำเป็นจะต้องมีถนนหรือเส้นทางที่ทำให้เห็นทางออก ว่าความขัดแย้งจะเดินไปสู่ที่ไหนอย่างไร
ซึ่งการมี Road Map จะทำให้เห็นว่า กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนั้นจะเดินไปในทิศทางไหน ใครจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ในหนทางที่ใช้ระยะเวลาขนาดนั้น ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนจะมีข้อตกลงสันติภาพ
2. เมื่อมีข้อตกลง หรือการเซ็นสัญญาสันติภาพไปแล้ว จะเดินอย่างไรต่อ สิ่งนี้ที่ทำให้มีความจำเป็นในการมี Road Map เพื่อให้เห็นว่า จะมีการเดินหน้าต่ออย่างไรให้เป็นรูปธรรม
3. ในสถานการณ์ที่มีการพูดคุยในลักษณะนี้ ในระหว่างการเจรจาของทั้งสองฝ่าย จะมีการช่วงชิงการนำอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ถ้าฝ่ายหนึ่งชิงนำเสนอ Road Map ก่อนอีกฝ่ายหนึ่ง จะทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายรุก ควบคุมเกมได้ ตัวอย่างเช่นกรณีความขัดแย้งในเมียนมาร์ ที่มีการพูดคุยเจรจากับชนกลุ่มน้อยในพม่า ที่แต่ละฝ่ายต่างเสนอ Road Map ของตัวเองเข้าไปคุยกันบนโต๊ะเจรจา
ใครเป็นผู้ริเริ่มสร้าง Road Map
แบบแรก ตัวอย่างในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ จะมีคนนอกหรือคนที่สามมาริเริ่มในการสร้าง Road Map ในกรณีนี้คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหประชาชาติ และสหภาพยุโรป ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งเป็นคนเสนอ แต่เป็นคนที่สามเป็นคนเสนอ
แบบที่สองเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคู่ขัดแย้งเป็นฝ่ายเสนอ Road Map มีตัวอย่างเช่นกรณีรัสเซีย เสนอ Road Map ในความพยายามแก้ปัญหาขัดแย้งในคอเคซัส ซึ่งอยู่ใกล้ๆ เชชเนีย รัสเซียที่เป็นฝ่ายรัฐเสนอ Road Map เข้าไป ตัวอย่างในส่วนที่เป็นกลุ่มต่อต้านที่เริ่มเสนอ Road Map ก่อนอย่างเช่น Euskadi Ta Askatasuna (ETA) ในประเทศสเปน เป็นผู้เสนอก่อน ซึ่งในกรณีนี้ มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการเสนอก่อน
แบบที่สามคือภาคประชาสังคมในพื้นที่เป็นคนเสนอ ซึ่งในปาตานี กำลังเข้าสู่หมวดนี้คือ ภาคประชาสังคมชายแดนใต้กำลังจะร่าง Road Map เพื่อเสนอในกระบวนการพูดคุย
กรณีที่สามที่เป็นการเสนอ Road Map โดยภาคประชาสังคมที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ กรณีที่หัวหน้าภาคประชาสังคมจากอิสราเอลร่วมกันกับภาคประชาสังคมปาเลสไตน์ ร่วมกันร่าง Road Map แล้วเสนอสู่กระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป้าหมายคือรวมสองรัฐเหมือนกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกัน เนื่องจากเป็นความขัดแย้งที่หาทางออกยากมาก จึงยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าล้มเหลว เพราะ Road Map นี้ ยังไม่ได้ถูกนำไปสู่การปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม Road Map นี้ยังอยู่ในการผลักดันขับเคลื่อนอยู่จากทั้งสองฝ่ายและได้รับการพิจารณาจริงจังจากคู่กรณีที่ใช้ความรุนแรงทั้งสองฝ่ายด้วย และเป็น Road Map ที่ได้รับการยอมรับอันหนึ่งของตะวันออกกลาง
สถิติพื้นที่ความขัดแย้งและการร่าง Road Map
จากการศึกษาพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 104 แห่ง พบว่าพื้นที่ความขัดแย้ง 41 แห่งยุติลงได้ด้วยข้อตกลงสันติภาพ คิดเป็นร้อยละ 39.4 โดยในจำนวนนี้พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของ 41 แห่ง มีการใช้ Road Map เพื่อนำไปสู่กระบวนการเกิดข้อตกลงสันติภาพ
ในจำนวนนี้ พื้นที่ความขัดแย้ง 4 แห่งที่กำลังพยายามสู่การแก้ไขปัญหา 9 แห่งยุติด้วยชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยวิธีการทางการทหาร และพื้นที่ความขัดแย้งอีก 50 แห่งที่เป็นพื้นที่ยังไม่มีทางออกสู่สันติภาพ โดยความขัดแย้งที่ปาตานี ในภาคใต้ของไทยอยู่ 1 ใน 50 แห่งนี้
สันติภาพเชิงบวกและสันติภาพเชิงลบ
จากการศึกษาและเป็นข้อค้นพบ พบว่าพื้นที่ที่สามารถยุติความขัดแย้งที่ใช้ Road Map ในกระบวนการสันติภาพ เนื่องจากว่าเป็นพื้นที่ความขัดแย้งที่มีความต้องการหาจุดลงตัว ระหว่างการสันติภาพเชิงลบและสันติภาพเชิงบวก
สันติภาพเชิงลบคือ ข้อเสนอหรือการมองสถานการณ์สันติภาพคือ การไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ส่วนสันติภาพเชิงบวก คือ การมองสถานการณ์การการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่สังคมที่เป็นมีความธรรมหรือมีความความยุติธรรมในสังคม
ในกรณีพื้นที่ขัดแย้งที่มี Road Map เป็นส่วนสำคัญในการยุติความขัดแย้งและเกิดสันติภาพได้นั้น ส่วนใหญ่เป็นกรณีที่ความขัดแย้งต้องการให้มีความลงตัวระหว่างสองข้อนี้ อีกฝ่ายต้องการยุติความรุนแรง แต่อีกฝ่ายต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม ความยุติธรรม การมีสิทธิเสรีภาพในสังคมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นข้อขัดแย้งในเป้าหมายของทั้งสองฝ่าย การหาจุดตรงกลางเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าไปด้วยกันได้ จึงต้องมี Road Map เพื่อให้เห็นทางออกของทั้งสองความต้องการ
ข้อสังเกตจากการศึกษากระบวนการสันติภาพทั่วโลก
จากกรณีศึกษาพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลกพบว่า เมื่อกระบวนการสันติภาพเริ่มต้นขึ้น ความรุนแรงในพื้นที่จะเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยๆ คือ ไม่มีการลดความรุนแรงให้น้อยลงกว่าเดิม ตัวอย่างในแอฟริกาใต้ ซึ่งในขณะที่มีกระบวนการสันติภาพเดินหน้าอยู่ในช่วง 3 ปีแรกนั้น ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจากเดิม แต่คู่กรณีทั้งสองก็ยังอยู่ในกระบวนการดังกล่าว อดทนและยืนหยัดอยู่ในกระบวนการตาม Road Map เป็นเวลา 3 ปี และความรุนแรงลดลงจริงในปีที่ 4 ของกระบวนการสันติภาพ
ดังนั้น การคาดหวังว่าเมื่อมีกระบวนการสันติภาพเริ่มต้นขึ้น ความรุนแรงจะลดลงอาจจะไม่เป็นจริง เป็นความคาดหวังที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงเมื่อเทียบกับประสบการณ์จากทั่วโลก
กระบวนการสันติภาพที่มีอยู่ทั่วโลก ใช้เวลาในการแก้ปัญหาโดยเฉลี่ยประมาณ 5-6 ปี แต่จะมีช่วงเวลาที่กระบวนการสันติภาพมีความสำคัญและมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาที่อาจล้มเหลวได้คือช่วงต้น และช่วงปลายของกระบวนการสันติภาพ เปรียบเทียบความเสี่ยงของกระบวนการสันติภาพ คือ เหมือนกับการขับเครื่องบิน ซึ่งจังหวะที่อันตรายหรือเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการบินมากที่สุดคือ ช่วงเครื่องบินขึ้นและร่อนลง
ช่วงแรกอันตราย เนื่องจากในการเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพนั้น จะมีความหวาดระแวงระหว่างกันและความเป็นศัตรูค่อนข้างมากของคู่ขัดแย้ง ไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายจริงใจหรือไม่ และต่างฝ่ายต่างพยายามจะทำให้อีกฝ่ายยอมรับข้อเสนอของตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งบรรยากาศดังกล่าว ที่ดูเหมือนจะเอาชนะกันของทั้งสองฝ่าย
ในช่วง 2-3 เดือนแรกของกระบวนการสันติภาพจะมีความเสี่ยงสูงและวุ่นวาย การมี Road Map ในช่วงที่กระบวนการสันติภาพไม่มั่นคง มีความเสี่ยงในช่วงก่อตัวมีความสำคัญมาก เหมือนการมีนักบินสองคนที่มีความขัดแย้งกัน และกำลังจะขับเครื่องบินลำเดียวกัน ถ้าทั้งสองยังไม่สามารถตกลงได้ว่า จะขับเครื่องบินไปสู่เป้าหมายใด อย่างไร อาจจะวุ่นวายและเครื่องอาจจะไม่สามารถทะยานขึ้นด้วยซ้ำหรืออาจจะขึ้นได้ไม่เท่าไหร่ เครื่องก็อาจจะตกลงมาได้
ความเสี่ยงช่วงท้าย หน้าที่ของ Road Map ในช่วงท้ายคือ การวางแผนว่า ใครจะทำอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ หลังจากที่มีการตกลงสันติภาพไปแล้ว
องค์ประกอบของ Road Map
1.Timeline (ห้วงเวลา) เส้นเวลาจะกำหนดว่า อะไรต้องทำเมื่อไหร่ ซึ่งในระยะแรกของข้อตกลงสันติภาพจะเน้นเรื่องกระบวนการ ขั้นตอน เป็นหลัก ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เน้นเรื่องขั้นตอนการเจรจาอย่างเดียว ยังไม่มีเนื้อหาในการคุยแต่อย่างใด เมื่อมีการเข้าสู่กระบวนการกำหนดไทม์ไลน์ ซึ่งจะมีการกำหนดว่า อะไรจะเริ่มทำเมื่อไหร่ ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการเจรจา ที่ต้องมีเนื้อหาสู่ทางออกของกระบวนการสันติภาพ
2. สถาปัตยกรรมสันติภาพ (Architecture) หมายถึง โครงสร้างหรือพิมพ์เขียวของกระบวนการสันติภาพที่เป็นการตกลงของทั้งสองฝ่าย ว่าบุคคลที่พูดคุยเป็นใคร มีบทบาทหน้าที่ในกระบวนการต่างๆ อย่างไร ใครสื่อสารกับสาธารณะ มีโครงสร้างของภารกิจชัดเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก
3. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นคู่กรณีตรง ซึ่งอยู่นอกโต๊ะเจรจา ความสัมพันธ์ระหว่างคนในโต๊ะ หรือกระบวนการเจรจาบนโต๊ะ กับกระบวนการสันติภาพข้างนอกโต๊ะ อาจจะหมายถึงภาคประชาสังคมข้างนอก ประชาชนในพื้นที่จะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพเดินหน้าไปได้อย่างไร
Road Map กระบวนการสันติภาพปาตานี
จากสามเหลี่ยมที่อธิบายความสัมพันธ์ของ 3 Track ได้ชัดเจนมากที่สุด
Tract I หมายถึงชั้นผู้นำทั้งสองฝ่าย ที่มีอำนาจการตัดสินใจของทั้งสองฝ่าย
Tract II หมายถึง ภาคประชาสังคม นักวิชาการ
Tract III หมายถึงประชาชน เป็นส่วนใหญ่
ความจริงแล้ว ก่อนกระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ประเทศมาเลเซียนั้น กระบวนการในลักษณะนี้ได้เคยเริ่มมาแล้วในทางลับ ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และก่อนจะมีการพูดคุยครั้งนั้น ได้มีความเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกระบวนการสันติภาพจากภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้ง Tract II, III มาก่อนด้วย โดยการขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ เช่น การศึกษา อัตลักษณ์ ภาษา กฎหมาย สิทธิมนุษยชน การบริหารปกครอง และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพและการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ทางที่ดีขึ้น
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นเหมือนการเปิดหน้าใหม่ของการแก้ปัญหา โดยการนำคู่ขัดแย้งมานั่งคุยกันอย่างเป็นทางการ และมีการพูดคุยกันอีกสองครั้งในสองเดือนที่ผ่านมา และกำลังรอการพูดคุยครั้งต่อไปในเดือนหน้า (มิถุนายน)
กระบวนการสันติภาพของปาตานีในขณะนี้ กำลังเพิ่มความเป็นทางการ โดยเข้าสู่การพูดคุยและกำลังจะยกระดับสู่การเจรจา ซึ่งหมายถึง Negotiation
ความแตกต่างระหว่างการพูดคุยกับการเจรจาคือ การพูดคุย (Dialogue) จะเป็นการพูดคุยลองเชิง ดูท่าทีของอีกฝ่าย ว่าจะสามารถคุยกันได้หรือไม่ และมีแนวโน้มว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ และสร้างความไว้วางใจกันได้หรือไม่
จุดท้าทายของกระบวนการสันติภาพ
กระบวนการสันติภาพที่ปาตานี ได้ผ่านจุดท้าทายที่หนึ่งมาแล้วคือ การยกระดับจากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในทางลับ สู่การพูดคุยอย่างเป็นทางการที่เปิดเผยต่อหน้าสาธารณะ แต่จุดท้าทายที่สองคือ การยกระดับจากการพูดคุย (Dialogue) สู่การเจรจา (Negotiation) ซึ่งจะมีเงื่อนไขสำคัญๆ ที่ต้องคำนึงถึง
การขยับจากการพูดคุย (Dialogue) สู่การเจรจา (Negotiation) ซึ่งการเจรจาจะหมายถึง จะต้องเผชิญกับข้อผูกมัดเนื่องจากต้องมีข้อตกลงร่วม การจะขยับสู่เจรจานั้น รัฐไทยได้เสนอให้มีการสร้างความไว้ใจระหว่างกันโดยการขอให้หยุดใช้ความรุนแรงก่อน และอาจจะเสนอขอให้ฝ่าย BRN ริเริ่มแสดงออกให้เห็นความจริงใจในการจะเดินหน้าการเจรจาก่อน
ในขณะที่ฝ่าย BRN ได้เสนอ 5 ข้อเรียกร้องสู่สาธารณะ ซึ่งหวังให้รัฐบาลไทยตอบสนองต่อข้อเสนอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กำลังวางกรอบเพื่อเข้าสู่การเจรจาต่อไป และยืนยันว่าต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเสนอ 5 ข้อนี้ก่อน
ซึ่งกรณีข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของ BRN เป็นสิ่งที่รัฐไทยตอบสนองได้ยาก จากประสบการณ์ความขัดแย้งทั่วโลก พบว่า กระบวนการสันติภาพจะเจอจุดท้าทายลักษณะนี้เป็นปกติ ตัวอย่างเช่น กรณีมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ปีที่แล้ว ก็พบสภาวะแบบนี้
ในสภาวะแบบนี้ เป็นโอกาสของภาคประชาสังคมที่ต้องเข้าไปมีส่วนในการทำให้ทั้งสองฝ่ายเชื่อมกันได้ และต้องเข้าใจว่า ทำไมแต่ละฝ่ายต้องคิดแบบนี้และเสนอข้อเสนอแบบนี้
การแก้ไขทางตันในลักษณะนี้ คือ การไม่มองว่าอีกฝ่ายผิด และข้อเสนอของฝ่ายตัวเองเท่านั้นที่ถูกต้อง ต้องมองหาจุดที่ทำให้การพูดคุยครั้งนี้เดินหน้าต่อไปได้
นอกเหนือจากนี้ เมื่อภาวะดังกล่าวผ่านพ้นไปแล้ว ยังต้องคำนึงถึงโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่จะตามมา ซึ่งขณะนี้เราได้เห็นแล้วว่า มีบุคคลที่กำลังดำเนินการพูดคุยอยู่ชัดเจนแล้วในปัจจุบันคือ ตัวแทนของรัฐบาลไทย กับ ตัวแทนของ BRN โดยมีมาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยการประชุม"
แต่โดยธรรมชาติของกระบวนการสันติภาพยังจะมีกลุ่มคนที่สนับสนุน และกลุ่มคนที่คัดค้านหรือยังลังเลไม่เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่ายเสมอ ไม่มีกระบวนการสันติภาพใดในโลกที่มีแต่คนสนับสนุนหรือคัดค้านทั้งหมด ซึ่งจะเกิดกับทั้งสองฝ่ายด้วย เมื่อกระบวนการได้เดินไปได้ ก็จะเกิดกลุ่มทั้งสองกลุ่มดังกล่าวแสดงตัวออกมา
นอกเหนือจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีคณะที่ปรึกษาของฝ่ายตนที่อาจจะไม่เป็นทางการหรือเป็นทางการในลักษณะเป็นองค์กรก็เป็นไปได้ เพื่อทำการสนับสนุนด้านข้อมูลในระหว่างการเจรจาให้ฝ่ายตน
กระบวนการสันติภาพยังต้องมีการจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะประเด็น ซึ่งต้องทำงานเฉพาะประเด็นสำคัญๆในระหว่างการเจรจาอย่างเช่น ประเด็นความมั่นคง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การหยุดยิง การศึกษาวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ซึ่งแต่ละคณะทำงานต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางมาช่วยด้านข้อมูลและให้คำปรึกษาด้วย
ในกรณีที่การเจรจาที่ไปสู่ทางตัน หรือไม่มีทางออกในสภาวะหนึ่ง จำเป็นต้องมีช่องทางหลังบ้านเพื่อร่วมกันหาทางออก อาจจะเป็นคณะที่ปรึกษาที่อาจจะไม่เปิดเผยซึ่งมาทำงานเพื่อหาทางออกจากทางตันที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้
เคยมีบางกรณีที่ทีมเจรจาทั้งสองฝ่ายทำความรู้จักเพิ่มเติมเป็นการส่วนตัว โดยการนัดแนะออกไปทำกิจกรรมคลายเครียดข้างนอกด้วยกัน เพื่อหาทางออกของทางตัน การทำความรู้จักกันมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทางลับไม่บอกใครในทีมเจรจาด้วยกันก็ได้
บทบาทภาคประชาสังคม
ในการหนุนเสริมกระบวนการเจรจา ภาคประชาสังคมจะต้องมีสองบทบาทหลักที่ต้องทำ คือ
ประการแรก ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเอง ให้มีพลังในการเสนอแนะ โดยไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการเจรจาเลยก็ได้ และประการที่สอง การเข้าไปนั่งในโต๊ะเจรจา อาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในการเจรจา โดยขอเข้าไปเจรจาด้วย หรือเพียงเข้าไปฟังการเจรจาก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ส่วนใหญ่ของประสบการณ์การเจรจาในต่างประเทศ ในช่วงแรกๆ ของกระบวนการ คู่เจรจาจะไม่อนุญาตให้คนนอกเข้ามามีส่วนในกระบวนการ เนื่องจากยังลังเล ไม่แน่ใจที่จะให้มีฝ่ายที่สามในการเข้าไปสู่โต๊ะเจรจา
โดยสรุปจากประสบการณ์ที่ได้ศึกษารูปแบบของทั่วโลก พบว่า น่าจะต้องมีบทบาทที่รวมๆ กันระหว่างสองแบบดังกล่าว ไม่มุ่งในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อการเจรจาเกิดขึ้น ภาคประชาสังคมอาจจะเข้าไปเป็นคณะทำงานในกระบวนการเจรจา และในทางหนึ่งก็รณรงค์หรือสร้างกระแส เพื่อผลักดันเพื่อกระบวนการสันติภาพ โดยทำกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นเอกเทศจากการเจรจา
ตัวอย่างประสบการณ์จากความขัดแย้งในเมียนมาร์ ที่มีความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศ ภาคประชาสังคมของแต่ละชาติพันธุ์หาทางออกโดยการมานั่งคุยกันเพื่อออกแบบการอยู่ร่วมกันอย่างที่ทุกฝ่ายรับได้ โดยไม่ได้สนใจคู่ขัดแย้งหลักเลย เมื่อออกแบบเรียบร้อยแล้ว ก็ยื่นเสนอให้ทางคู่ขัดแย้งหลักทั้งสอง
หรืออีกวิธีคือ การเปิดเวทีสาธารณะในพื้นที่ประชาสังคมเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในโต๊ะเจรจามานั่งร่วมเวทีเพื่อประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นว่าถึงไหนแล้ว และยื่นข้อเสนอที่ตัวเองทำงานอยู่ขึ้นไป
นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมอาจจะสามารถตั้งกลไกพิเศษขึ้นมา เช่น ตั้งศูนย์ทรัพยากรสันติภาพขึ้นมาเป็นพื้นที่กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ตั้งคณะกรรมการสันติภาพระดับท้องถิ่นขึ้นมาในพื้นที่ หรือตั้งคณะกรรมการติดตามกระบวนการสันติภาพ ตั้งกลุ่มเพื่อกระบวนการสันติภาพ เพื่อเฝ้าดูกระบวนการสันติภาพก็ได้ โดยเป็นการทำงานของภาคประชาสังคมที่อาจจะต้องร่วมมือกับคนที่อยู่บนโต๊ะเจรจา เช่น การจัดอบรมทักษะที่จำเป็นในกระบวนการสันติภาพ อย่างเช่น ทักษะการเจรจาให้ทุกฝ่าย หรืออาจจะเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนที่มีประสบการณ์การเจรจาจากที่อื่นมานั่งแลกเปลี่ยนก็ได้
สร้างกลไกผ่านทางตัน
หากการเจรจาถึงทางตัน ซึ่งในการเจรจาสันติภาพอาจจะดำเนินสู่ทางตัน ซึ่งจำเป็นต้องมีกลไกบางส่วนเพื่อเข้ามาหาทางอื่นเมื่อเกิดทางตัน อาจจะประกอบด้วยสมาชิกของทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาประมาณ 5-6 คน มานั่งคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อหาทางออกเมื่อถึงสภาวะที่ถึงทางตัน เมื่อได้ข้อเสนอแล้วก็ส่งไปยังโต๊ะเจรจาที่เป็นทางการ
แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรายงานเรื่องสันติภาพของสื่อ ซึ่งในบางกระบวนการสันติภาพ สื่อจะมาคุยกันและตกลงเป็นแนวปฏิบัติการสื่อสาร ว่าจะเลือกสื่อสารอะไร อย่างไร ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพ ต้องมาตกลงกันเพื่อร่วมรับผิดกระบวนการสันติภาพที่อาจจะล้มเหลวเนื่องจากการรายงานของสื่อ
การสร้างสมดุลระหว่าง สันติภาพ “เชิงลบ” และ “เชิงบวก”
ตัวแทนที่ร่วมโต๊ะเจรจาของทั้งสองฝ่าย จะมีความคาดหวังในผลของการเจรจาต่างกัน เนื่องจากทั้งคู่มีจุดสนใจหรือความต้องการที่แตกต่างกันชัดเจนเป็นปกติ ถ้าจะพยุงกระบวนการเจรจาให้เป็นไปได้และดำเนินอยู่ได้ ต้องทำให้จุดสนใจของทั้งสองฝ่ายที่แตกต่างกันนี้ เป็นไปได้ นั้นคือการทำให้เห็นภาพในอนาคตของการพูดคุยกัน มีประโยชน์และต้องทำให้ต่อเนื่อง
ตัวอย่างกรณีของกระบวนการสันติภาพของปาตานี คือ ฝ่ายรัฐไทยต้องการหยุดความรุนแรงทั้งหมด แต่ฝ่าย BRN มีจุดสนใจคือต้องการเห็นแนวทางสู่สันติภาพเชิงบวก คือ การสร้างสังคมที่มีความยุติธรรมเป็นธรรม ซึ่งต้องทำสิ่งนี้ให้ได้คือการหาจุดลงตัวระหว่างสองข้อนี้ให้มีความสมดุล กระบวนการสันติภาพจึงจะเดินหน้าต่อไปได้
แต่ละฝ่ายที่จะเข้าสู่โต๊ะเจรจาจะมีความต้องการพื้นฐานของตัวเองเป็นหลักอยู่ ซึ่งจะต้องหาทางให้ความต้องการดังกล่าวเกิดความสมดุลเพื่อให้สามารถมีข้อตกลงเบื้องต้นได้ ซึ่งข้อตกลงนี้จะตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตัวเองก่อนสู่การเจรจา และจะทำให้เห็นว่า การเจรจามีประโยชน์ที่ต้องมีต่อไป
เทคนิคหนึ่งที่จะทำให้คู่เจรจาจะต้องพยายามหาความสมดุลคือ “การไม่ตกลงอะไรกันก่อน จนกว่าทุกๆ อย่างได้ตกลงกันแล้ว” ตัวอย่างเช่น การยกประเด็นกฎหมาย แล้วสามารถตกลงกันได้ แต่หากเรื่องอื่นๆ ยังไม่ตกลงกัน ก็ยังถือว่าไม่มีการตกลงใดๆ กล่าวคือ การตกลงจะต้องตัดสินเป็นแพ็คเกจ (Package) จะไม่ตกลงแยกเป็นเรื่องๆ เนื่องจากการตกลงหนึ่งเรื่องแต่ยังไม่ตกลงอีกเรื่องเหมือนจะเอาชนะเป็นเรื่องๆไป ทำให้การพูดคุยเป็นเพียงการประนีประนอมเป็นเรื่องๆ ไป อาจส่งผลให้อีกฝ่ายที่ไม่ชนะหลายเรื่องจะไม่พอใจได้
ไม่แทรกแซงและสร้างกลไกร่วม
หลักการเจรจาอีกข้อหนึ่งคือ ในระหว่างการถกเถียงอย่างหนักภายในของอีกฝ่าย อย่าแทรกแซงหรือแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นการแสดงถึงการให้เกียรติกับอีกฝ่าย
ระหว่างการเจรจา ทั้งสองฝ่ายยังมีทางเลือกอื่นอีกมากมายเพื่อให้กระบวนการสันติภาพเดินไปได้ ตัวอย่างเช่นการเสนอกลไกร่วม เมื่อถึงสภาวะที่การเจรจาถึงทางตัน ซึ่งอาจจะเป็นการริเริ่มโดยฝ่ายเดียวก่อน เริ่มทำในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ เพื่อสร้างความไว้ใจให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ข้อตกลงเบื้องต้นอย่างข้อตกลงหยุดยิงหรือการมีข้อตกลงด้านอัตลักษณ์ ภาษา การปกครอง ในเบื้องต้น ที่นำไปสู่การเจรจามากขึ้น และนำไปสู่ข้อตกลงสุดท้ายที่ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญของสันติภาพ ซึ่งสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการนำข้อตกลงสู่การปฏิบัติ อาจจะต้องมีการปรับข้อกฎหมายในบางกรณีที่ยังปฏิบัติไม่ได้เนื่องจากขัดกับกฎหมายเดิม ความยุติธรรมในช่วงการเปลี่ยนผ่านของสังคม ต้องมีการวางแผนจะการเยียวยาผู้กระทำและผู้ถูกกระทำอย่างไรในสังคม และจะสร้างความสมานฉันท์อย่างไรให้สังคม
กระบวนการสันติภาพจะสำเร็จ จะต้องมีความพยายามอย่างมากและทะเยอทะยานมากและยากมาก ขึ้นอยู่กับว่า ภาคประชาสังคมจะหยิบมาทำทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งจากนี้ไปใน 2-3 เดือนต้องคิดว่า ภาคประชาสังคมปาตานีจะมีส่วนให้กระบวนการสันติภาพดำเนินการได้ต่อไปหรือไม่ ซึ่งการตั้งคณะทำงานสร้าง Road Map เพื่อการทำงานร่วมกับคณะเจรจา ต้องคิดให้ครอบคลุมไปถึงหากมีการเจรจาเกิดขึ้นจริงแล้ว จะทำอะไรต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้จะคิดหรือวางแผนอย่างไร