สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดสัมมนา ‘แนวทางการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ’ วางแผนรับสังคมผู้สูงอายุ รวบรวมความคิดเห็นจัดทำข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.56 คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จัดสัมมนาเรื่อง “แนวทางการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญที่ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบและเริ่มดำเนินการล่วงหน้า โดยเฉพาะการจัดสวัสดิการด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะทำงานฯ ได้ดำเนินการศึกษาและพัฒนาความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง แนวทางการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า การสัมมนาครั้งนี้จำเป็นต้องวางข้อเสนอทางนโยบายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายในการจัดตั้งบำนาญให้แก่ผู้สูงอายุ โดยร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ จะทำหน้าที่รวบรวมและกลั่นกรองเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า ความมั่นคงของชีวิตหรือระบบบำนาญเป็นสิ่งสำคัญ ที่หน่วยงานภาครัฐ ควรบริหารจัดการในเรื่องนี้ เพื่อมาเสนอเป็นแนวทางในการแก้ไข ให้สามารถขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งต้องทำให้ระบบบำนาญนั้นมีการใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย
นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า การจัดตั้งระบบบำนาญนั้น จะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่ได้จัดตั้งไว้ โดยดูผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งโลกของเราจะมีแนวโน้มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัตราการเกิดและการตายน้อยลง จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ซึ่งแยกประเด็นปัญหาเป็น 3 ประเด็น คือ 1.ปัญหาด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุจะมีสุขภาพที่เสื่อมโทรม ซึ่งมากหรือน้อยเพียงใดนั้นจะขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของแต่ละบุคคล
2.ปัญหาด้านความยากจน คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักการออม จนทำให้เกิดปัญหากับผู้สูงอายุในด้านของความยากจน เนื่องจากการมีอายุที่เพิ่มขึ้น สุขภาพร่างกายก็เริ่มเสื่อมโทรม การทำงานและการหารายได้จึงน้อยลง รัฐบาลจึงควรมีแนวทางส่งเสริมคนไทยให้รู้จักการออม และการให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุลำบาก และ 3.ปัญหาด้านความรู้สึก ซึ่งผู้สูงอายุจะเกิดอาการเหงา เนื่องจากสุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม ทำมาหากินไม่ได้ กิจกรรมในชีวิตประจำวันลดน้อยลง ทำให้เกิดภาวะความเศร้าซึมได้
ทั้งนี้ ในด้านของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) การจัดตั้งระบบบำนาญควรที่จะเดินหน้าได้แล้ว เพื่อให้เกิดสิทธิประโยชน์แก่สมาชิกบำนาญ รัฐบาลควรเสนอให้มีการตั้งระบบบำนาญ และควรศึกษา กอช.ให้ชัดเจน
นายประดิษฐ์ เอี่ยมสำอาง กรรมการพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายสภาทนายความ ได้ให้ความเห็นว่า ในการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งระบบบำนาญ รัฐบาลควรมีการวางแผนเพื่อรองรับในเรื่องของสิทธิและการดำเนินการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้กฎหมายเป็นจริงได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตั้งหัวข้อการศึกษา กลั่นกรองข้อกฎหมาย และควรพิจารณากำหนดขอบข่ายให้สภาทนายความพิจารณากลั่นกรองต่อไป และเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายของ กอช.ให้แก่ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง
นางสาวสุปาณี จันทรมาศ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการออม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาพรวมของระบบการออมแบบระยะยาวของไทยนั้น มีการจัดสวัสดิการด้านการชราภาพให้แก่แรงงานนอกระบบ ควรมีการบูรณาการระหว่าง กอช.และกองทุนประกันสังคมในส่วนของแรงงานนอกระบบ โดยโอนงานของ กอช.ให้มาอยู่ภายใต้การดำเนินการของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งส่งเสริมการออมเพื่อการชราภาพ และเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิก หากมองในระยะยาวจะทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณในการจัดตั้งสำนักงานใหม่และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ กอช.
นายอารักษ์ พรหมมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ควรมีนโยบายกึ่งบังคับกึ่งสมัครใจในเรื่องของการออม ซึ่งแนวทางหลักเป็นเรื่องของการออมแห่งชาติ และการออมของแต่ละบุคคล จึงควรมีแนวทางในการสนับสนุนกองทุนการออม มองในแง่ของการบริหารจัดการของด้านประกันสังคม และรูปแบบการออมในลักษณะการจ่ายแบบบำนาญ โดยมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอสนับสนุนในเรื่องของเงิน บุคลากร และความชัดเจนในลักษณะการจ่ายเงินระบบบำนาญของไทยด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมมนา คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ได้รวบรวมความคิดเห็นที่ได้ไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ในการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อแนวทางการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai