เอ็นจีโอแฉ รมว.สาธารณสุข ตกหลุมพราง บ.ยาข้ามชาติ หลังยอมรับระบบแบ่งปันการใช้สิทธิบัตรในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก แจงเงื่อนไขสุดยิบย่อยทำไทยเสียเปรียบ เผย สธ.เคยมีมติไม่ยอมรับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะเห็นร่วมกันว่าทำไทยเสียประโยชน์ ชี้รัฐมนตรีไม่เข้าใจระบบสิทธิบัตรยา ข้องใจทำไมยอมรับข้อเสนอ
ตามที่นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในที่ประชุมขององค์การอนามัยโลกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาโดยยอมรับและส่งเสริมระบบ Patent Pool (ระบบแบ่งปันการใช้สิทธิบัตร) นั้น
(23 พ.ค.56) นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานการรณรงค์เข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การที่รัฐมนตรีพูดเช่นนี้สะท้อนว่าไม่มีความเข้าใจเรื่องระบบสิทธิบัตรยาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเข้าถึงยาของประชาชน เนื่องจากเงื่อนไขของระบบแบ่งปันการใช้สิทธิบัตรหรือ patent tool นั้น ทำให้ไทยเสียเปรียบเป็นอย่างมาก อาทิ การผลิตก็ต้องแค่บริษัทในอินเดียผลิต ยาบางตัวไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับปานกลาง เช่น ไทย จีน บราซิล หรือยาบางตัวแม้ในประเทศไทยไม่มีสิทธิบัตร แต่ในสัญญาของ patent tool จะผลิตได้ต้องไปขออนุญาตก่อน ซึ่งไม่มีความจำเป็นสำหรับไทย ในเมื่อไม่มีสิทธิบัตรในไทยทำไมเราจะต้องไปขออนุญาตผลิตอีก หรือยาบางชนิดเราอยากได้แต่ไม่ให้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขยิบย่อยแบบนี้ คือการทำตามความต้องการของบริษัทยาทั้งหมด จึงเท่ากับเป็นสัญญาลูกไล่ของบริษัทยา
นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของ medicine patent tool เคยประชุมกับภาคประชาสังคมไทยและหน่วยงานสาธารณสุขของไทยเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน เพื่อชักชวนให้ประเทศเข้าร่วมโครงการนี้ ในที่ประชุมร่วมทั้งสามฝ่ายมีข้อสรุปว่าไม่สามารถยอมรับข้อเสนอขององค์กร Medicine Patent Pool เพราะไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่บรรษัทยาข้ามชาติมีเงื่อนไขที่จะเลือกให้หรือไม่ให้ใครใช้สิทธิจากระบบการแบ่งปันการใช้สิทธิบัตรได้ตามอำเภอใจ ดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในการเข้าถึงยานวัตกรรมใหม่ ซึ่งไทยจะยอมพิจารณาอีกครั้งเมื่อข้อบกพร่องดังกล่าวได้ถูกแก้ไขแล้ว บริษัทยากิลิแอด เป็นบริษัทยาต้นแบบแรกๆ ที่เข้าร่วมโครงการของ Medicine Patent Pool และร่วมผลักดันอย่างจริงจัง โดยยอมแบ่งปันสิทธิบัตรยาต้านไวรัส 4 ชนิดในระบบ Patent Pool เพื่อให้บริษัทยาชื่อสามัญนำไปวิจัยและผลิตยาสูตรผสมรวมเม็ด แต่มีเงื่อนไขอนุญาตให้บริษัทยาชื่อสามัญบางแห่งในอินเดียเท่านั้นที่จะผลิตได้ และไม่อนุญาตให้จำหน่ายยาดังกล่าวให้กับบางประเทศ รวมถึงประเทศไทย
“ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการที่มีเงื่อนไขเช่นนี้ การยอมรับเรื่อง Patent Pool เท่ากับเป็นการตกหลุมพรางของบรรษัทยาข้ามชาติที่พยายามใช้ระบบนี้เป็นเครื่องมือการตลาดและสร้างภาพ มากกว่าจะร่วมผลักดันให้เกิดระบบที่ส่งเสริมการเข้าถึงยาอย่างแท้จริง น่าสงสัยว่าการที่ นพ.ประดิษฐ รมว.สธ.ไปยอมรับข้อเสนอนี้ เป็นการจงใจที่จะผลักการเข้าถึงยาของไทยเข้าไปในหลุมพรางของบริษัทยาข้ามชาติหรือไม่ อยากให้รัฐมนตรีไขความกระจ่างนี้” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว