Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

แรงงานเตรียมชุมนุม 3 เม.ย.นี้ ยันหนุนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉ.คนงานที่ถูกปัดตก

$
0
0

'สมานฉันท์แรงงานไทยเตรียมชุมนุมหน้ารัฐสภา 3 เม.ย. ยืนยันหนุนร่าง พรบ.ประกันสังคมฉบับคนงานที่ถูกปัดตกไปเมื่อพฤ. ถามรัฐบาลไหนว่าจะฟังเสียงประชาชน ชี้ร่างใหม่เน้นความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม หวังแก้ปัญหาผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิ



สืบเนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติในวาระที่ 1 ไม่รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ....ของวิไลวรรณ แซ่เตีย ร่วมกับประชาชนจำนวน 14,264 คน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มี.ค. ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตกไปจากการพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติไทย

(26 มี.ค.56) ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โดยวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. แถลงข่าวประณามการไม่รับร่างฯ ครั้งนี้ พร้อมระบุว่า คสรท.จะชุมนุมในวันพุธที่ 3 เม.ย.นี้หน้ารัฐสภา ตั้งแต่เวลา 9.00น. เพื่อยืนยันสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว  ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้เป็นกฎหมายแรงงานฉบับแรกของประเทศที่เสนอสู่รัฐสภา หลังจากรัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากประชาธิปไตยทางอ้อม กลับใช้อำนาจของตัวทำลายอำนาจของประชาชน สะท้อนว่าหากกฎหมายฉบับใดที่ประชาชนร่างขึ้นแล้ว ส.ส.ไม่ถูกใจ กฎหมายดังกล่าวก็จะไม่ถูกพิจารณาในรัฐสภาทันที ถือเป็นการกีดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน

รองประธาน คสรท. กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอนั้น ถูกบรรจุในวาระการพิจารณาในสภาผู้แทนฯ ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.54 ขณะที่ร่างฉบับคณะรัฐมนตรีและร่างที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรงนั้น เพิ่งบรรจุวาระเมื่อ ม.ค.และ มี.ค.ที่ผ่านมาตามลำดับ แต่นับแต่ ธ.ค.54 คสรท.ต้องเป็นฝ่ายติดตามความก้าวหน้าของกระบวนการนิติบัญญัติด้วยตัวเอง ภาครัฐขาดการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการนิติบัญญัติอย่างโปร่งใส  ในการจัดทำร่างกฎหมาย มีการดึงถ่วงขั้นตอน ไม่เอาใจใส่ และอ้างความล่าช้าอยู่ตลอดเวลา แสดงถึงเจตนาแอบแฝงในการไม่ให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้ยังเห็นถึงข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีการบัญญัติให้ร่างที่เสนอโดยภาคประชาชนต้องได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมสภาฯ ในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่ชักช้าด้วย

วิไลวรรณ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับดังกล่าว อยู่ที่ความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม โดยให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมมาจากการเลือกตั้งจากคณะกรรมการ ไม่ใช่ข้าราชการอย่างในปัจจุบัน พร้อมเปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นมืออาชีพ มีความเป็นอิสระ ปราศจากกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งยังเสนอให้มีการเลือกตัวแทนแรงงาน โดยครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เพื่อแก้ปัญหาผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ การปฏิเสธร่างดังกล่าวของ ส.ส. จึงแสดงถึงความไม่เข้าใจความทุกข์ยากของผู้ประกันตน รวมถึงไม่พยายามแก้ปัญหาที่มีมายาวนานด้วย

วิไลวรรณ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวขอปฏิเสธการเข้าร่วมเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายในส่วนภาคประชาชนตามที่มีการเสนอชื่อ เนื่องจากไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับรัฐสภาเผด็จการเสียงข้างมาก ซึ่งฉ้อฉลและไม่สนใจกฎหมายประชาชน นอกจากนี้ เสนอด้วยว่าในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ขอให้คนงานเลือกผู้แทนฯ ที่เห็นหัวคนจน คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

ยงยุทธ เม่นตะเภา กล่าวว่า คนงานพยายามเรียกร้องเรื่องการมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้บริหารกองทุนประกันสังคมมาโดยตลอด เวลาที่ไปยื่นหนังสือร้องเรียน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานก็ออกมารับ ให้ความหวังว่าข้อเรียกร้องคนงานจะได้รับการพิจารณา รัฐบาลเองก็บอกว่าจะฟังเสียงประชาชน แต่สุดท้าย ร่างกฎหมายของประชาชนกลับถูกปัดตก

สัมพันธ์ ฉลองวรกร เลขานุการเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวถึงข้อดีของร่างกฎหมายที่ตกไปว่า ที่ผ่านมา แม้แรงงานนอกระบบจะมีนายจ้างที่ชัดเจน แต่กลับไม่สามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคมที่ใช้อยู่ได้ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของคนงานนี้ นับรวมแรงงานนอกระบบให้เข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ด้วยเพราะถือว่ามีนายจ้างจริง ซึ่งจะช่วยให้แรงงานนอกระบบได้สิทธิประโยชน์เหมือนกับแรงงานคนอื่นๆ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles