Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

3 ปีผ่านไป เสื้อแดง-ขบวนการประชาธิปไตย อยู่ตรงไหนหลังสลายการชุมนุม

$
0
0

ครบรอบ 3 ปีแห่งการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเริ่มเคลื่อนขบวนชุมนุม 12 มีนาคม และต่อเนื่องมาถึงเดือนพ.ค. 2553 การชุมนุมเกิดความรุนแรงขึ้นหลายครั้ง จนกระทั่งจบลงด้วยการถูกกระชับพื้นที่ในวันที่ 19 พ.ค. 2553 ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม(ศปช.) ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตรวม 95คน บาดเจ็บนับพันคน ทั้งฝ่ายประชาชน และทหาร

ประเด็นที่คนเสื้อแดงชูขึ้นเป็นข้อเรียกร้องคือประชาธิปไตย และต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แน่นอนว่า แนวคิดและจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารอาจจะยังเป็นจุดยืนร่วมกัน แต่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองเสียงข้างมากคือพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากคนเสื้อแดง ปัญหาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย และปัญหานักโทษทางการเมืองอันยืดเยื้อต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อนหน้ากลับยังไม่ได้แก้ไข บรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยน การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหลายครั้งถูกตอบโต้ว่าเป็นการบ่อนทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ความท้าทายในรูปแบบของคำถามต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงก็เพิ่มมากขึ้น

ประชาไทรวมรวมความคิดเห็นจากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักวิชาการที่มีบทบาททั้งต่อประเด็นการเรียกร้องประชาธิปไตย และบทบาทในการแสดงการคัดค้านการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ร่วมทบทวนและตั้งคำถามถึงขบวนการทางการเมืองที่เรียกว่าคนเสื้อแดงที่ภายหลังได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งแล้ว ก็มีคำถามที่ท้าทายตามมามากมายถึงความเข้มแข็งต่อข้อเรียกร้องของตนเองเมื่อ 3 ปีก่อน --ต้านรัฐประหาร สู้เพื่อประชาธิปไตย!?

ต่อไปนี้ คือการตั้งข้อสังเกต และคำถามจากพวกเขาเหล่านั้น

"พลังเสื้อแดงยังห่างไกลจากความสำเร็จในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงการสร้างเมืองแบบเดิม"

ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ผู้ริเริ่มรณรงค์แคมเปญก้าวข้ามความกลัว หรือ “ฝ่ามืออากง” และมีบทความในเว็บไซต์วิชาการต่างประเทศวิพากษ์การรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันระยะหลัง เขาก็วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึงความจริงใจในการแก้ปัญหานักโทษการเมือง และนักโทษทางความคิด:

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ร่วมชุมนุมเสื้อแดงเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นความเลวร้ายทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่ด้อยไปกว่าเหตุการณ์สังหารนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์เมื่อปี 2516 และ 2519 แต่การต่อสู้ของเสื้อแดงในยุคนี้มีความแตกต่างจากกลุ่มเคลื่อนไหวที่ต่อต้านระบบเผด็จการในอดีตอย่างมาก กลุ่มเสื้อแดงนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรวมตัวของพลังประชาสังคม (ที่มีความหลากหลายและมีสมาชิกที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน) ที่มาจากฐานล่างของปีระมิดโครงสร้างอำนาจของไทย เป็นพลังที่ผลักดันมาจากระดับล่างของสังคม เพื่อจะเรียกร้องและกดดันให้ชนชั้นปกครองที่ครอบงำโครงสร้างการเมืองไทยมานาน ได้ยอมรับในกฏกติกาทางการเมืองที่มีความยุติธรรมมากขึ้น นับว่าเป็นพลังจาก bottom-up (จากล่างขึ้นบน) ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย

อย่างไรก็ดี พลังเสื้อแดงยังห่างไกลจากความสำเร็จในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงการสร้างเมืองแบบเดิม ปัญหามีอยู่หลายประการ นับตั้งแต่การขาดผู้นำที่น่าเชื่อถือในกลุ่มคนเสื้อแดง อุดมการณ์ส่งเสริมประชาธิปไตยที่ยังไม่เด่นชัด การขาดการวางโครงสร้างองค์กรและจัดระบบสมาชิกภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ พลังเคลื่อนไหวเสื้อแดงต้องมีจุดยืนทางการเมืองที่แน่ชัด จะต้องไม่ถูก compromise (ประนีประนอม)ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่เกิดจากการนำเอาขบวนการเสื้อแดงไปผูกยึดโยงกับพรรคเพื่อไทยอย่างเหนียวแน่น จนถึงจุดที่เสื้อแดงไม่กล้าที่จะคัดค้าน/วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายที่อาจส่งผลในทางลบต่อขบวนการเสื้อแดงเอง หรือต่อหลักการทางประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

"คนเสื้อแดงที่บอกว่าสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น ที่ผ่านมายังพิสูจน์ตัวเองไม่ได้"

สุริยะใส กตะศิลา อดีตเลขาธิการ ครป และเป็นอดีตผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีบทบาทสูงในการขับไล่รัฐบาลทักษิณต่อเนื่องนับจากปี 2548 เป็นต้นมา เขาคือผู้อ่านแถลงการณ์ของพธม. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2553 เรียกร้องให้รัฐบาลใช้กฎหมายอย่างเต็มที่กับผู้ชุมนุมเพื่อป้องปรามความรุนแรงทุกรูปแบบ ปัจจุบันเขาเป็นผู้ประสานงานกลุ่มกรีนการเมือง:

เสียดายโอกาสของคนเสื้อแดง ที่ไม่สามารถยกระดับพลังการต่อสู้ เพื่อให้ไปไกลกว่าเรื่องของลัทธิการเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยที่ยกระดับไปไกลกว่าการเอารัฐสภาเป็นศูนย์กลาง คนเสื้อแดงทำลายโอกาสโดยเฉพาะการที่พรรคเพื่้อไทยได้เป็นรัฐบาล แทนที่จะได้ออกนโยบายเพื่อคนจน หรือปฏิรูปโครงสร้างทางสังคม-การเมือง ซึ่งที่ผ่านมาวาทกรรมเรื่อง "ไพร่/อำมาตย์"ทำให้คนเสื้อแดงย่ำอยู่กับที่ หนำซ้ำวาทกรรมนี้ยังกลายเป็นการกัดกินตัวเอง

ทั้งนี้ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ที่แกนนำคนเสื้อแดงที่ร่วมกับการต่อสู้กับคนเสื้อแดงได้มีตำแหน่งแห่งที่ทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้ใช้ตำแหน่งแห่งที่นั้นขับเคลื่อนหรือปฏิรูปทางการเมืองใดๆ ส่วนมวลชนก็ถูกมอมเมาด้วยประชานิยม จนทำให้ขบวนออนเปลี้ยเพลียแรง คำว่า "ประชาธิปไตย"ถูกย่อส่วนลงกลายเป็นเรื่องชะตากรรมของทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปนโยบายใหม่ๆ ทั้งที่ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวใหญ่ก็ชูธงเรื่องความเสมอภาค ต่อต้านความเหลื่อมล้ำ แต่พอมีอำนาจก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้น

ในแง่ตำแหน่งแห่งที่ มีคำถามว่า คนเสื้อแดงจะอยู่ในฐานะใด จะเป็นหางเครื่อง กองเชียร์ หรือเจ้าของพรรคเพื่อไทย? แต่ที่ผ่านมาคนเสื้อแดงตกอยู่ในฐานะหางเครื่อง ด้วยเงื่อนไขเพื่อทักษิณ ชินวัตร

ส่วนคนเสื้อแดงที่บอกว่าสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น ที่ผ่านมายังพิสูจน์ตัวเองไม่ได้ ว่าจะเอาทักษิณเป็นธงนำ หรือเอาการเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาธิปไตยเป็นธงนำ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่คิดต่างออกไปเช่น กลุ่มแดงก้าวหน้า แม้บางประเด็นจะยังก้าวไม่พ้นประเด็นทักษิณ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีเพราะกลุ่มแดงก้าวหน้า มีข้อเสนอเรื่องปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรม และข้อเสนอเรื่องประชาธิปไตยกินได้

ทั้งนี้สำหรับคนเสื้อแดงก้าวหน้าที่ปวารณาตนว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า ก็ต้องระมัดระวังท่วงทำนองเคลื่อนไหว ทั้งนี้บางข้อเสนอเช่น ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้น หลายฝ่ายที่ไม่ใช่คนเสื้อแดงก็เห็นด้วย แต่การเคลื่อนไหวบางอย่างที่ไปคุกคามศาล หรือข่มขู่จะเอาชีวิต หมิ่นศาล ก็อาจกลายเป็นการทำลายแนวร่วม หรือแม้แต่ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พูดกันตรงๆ คนกลางๆ แม้ไม่ใช่เสื้อแดงเขาก็เงี่ยหูฟัง หรือคนเสื้อเหลืองอย่าง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ หรือ ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ บางเรื่องเขาก็เห็นด้วย แต่พอคนเสื้อแดงมีท่วงทำนองกระทบสถาบัน หมิ่นสถาบัน ก็อาจกลายเป็นการทำลายแนวร่วม

โดยการเคลื่อนไหวของแกนนำคนเสื้อแดงเองก็ต้องออกแบบขบวนการเคลื่อนไหวให้สร้างสรรค์ ไม่ทำลายแนวร่วม ถ้ากลุ่มแดงก้าวหน้าจะก่อรูป จะขยายมวลชน ก็คงต้องขบคิดว่าจะเคลื่อนไหวให้ข้ามสี ข้ามกลุ่มได้อย่างไร

"ผมอยากเห็นเสื้อแดงเรียกร้องอะไรที่เป็นเนื้อนาบุญของชีวิต"

น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสีซึ่งมีกิจกรรมการชุมนุมต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดงทั้งในโซเชียลมีเดียและพื้นที่ออฟไลน์ รวมถึงการเดินทางไปชุมนุมให้กำลังใจทหารที่ราบ 11 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2553 อย่างไรก็ตาม เขาเป็นนักกิจกรรมที่ไม่ปฏิเสธการเข้าร่วมเวทีที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด:

ไม่ว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือเสื้อฟ้า เหมือนกับทุกคนถูกชี้นำโดยสื่อที่ตัวเองชอบ ซึ่งปัจจุบัน สื่อเป็นสื่อเลือกข้างเยอะ และมีลักษณะชี้นำ  ทำให้บางครั้งข้อเท็จจริง ความเป็นจริงของประเด็นที่กำลังต่อสู้อยู่มันไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่าง แม้กระทั่ง ส.ส. โดยในแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ข้อมูลต่างๆ บางทีก็ผิด เช่น ข้อ 4 ที่บอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญรีบรับคำร้อง ขณะที่กรณี เสธ.อ้ายรอจนครบ บอกได้ว่าเสธ.อ้ายไม่ได้ร้องศาลรัฐธรรมนูญและไม่มีสิทธิร้องศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะไม่ใช่มาตรา 68 ขนาดคนเป็น ส.ส. ส.ว.ยังไม่รู้เลย ทางเดียวที่จะลดความขัดแย้งได้ คือคุณศึกษาคำพิพากษาบ้าง ไม่ใช่ฟังจากที่สื่อที่ตัวเองชอบ ย่อมาให้ และมีสแตมป์มาเสร็จว่ามันถูกหรือมันผิดยังไง แล้วเราก็บอกความผิดความถูกตามนั้น โดยที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องน่ากลัว

การรับสื่อเป็นที่มาของทั้งหมด ขบวนการอย่างเสื้อแดงเป็นขบวนการที่มีพลังมาก เพราะมีจำนวนมาก ถ้าเขามีข้อมูลข้อคิดในทางที่ถูกต้อง ก็จะพุ่งเป้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง

สอง อยากให้เรียกร้องสิ่งที่มันเป็นปัญหาชีวิตจริงๆ ดีกว่ามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ตั้งแต่ปี 53 จน 56 สามปีที่ผ่านมา ผมแทบไม่เคยเห็นเสื้อแดงเรียกร้องเพื่อปากท้องเขาจริงๆ เลย เสื้อแดงเรียกร้องเพื่อการเมืองของพรรคที่เขาชื่นชอบอยู่ โดยหวังว่าถ้าเกิดทักษิณได้กลับมาแล้ว ชีวิตเขาจะดีขึ้น ผมอยากเห็นเสื้อแดงเรียกร้องอะไรที่เป็นเนื้อนาบุญของชีวิต ผมเชื่อว่า 80-90% ของเสื้อแดง เป็นเกษตรกร ซึ่งน่าจะอยากให้ลูกหลานมีการศึกษา มีน้ำ มีปุ๋ย มีเงินกู้ 

ยิ่งตอนนี้เป็นรัฐบาลของคุณ คุณควรจะเรียกร้องเรื่องปากท้องมากกว่าการเมือง

นอกจากนี้ กรณีเหตุการณ์ปี 53 เรื่องความขุ่นข้องหมองใจควรรอให้ศาลเคลียร์ ไม่ใช่กล่าวหาว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นฆาตกรหรือตนเองเรียกร้องให้มีการฆ่า อยากเรียกร้องให้เสื้อแดงทำความเข้าใจ ไม่อยากให้เข้าใจว่าคนนั้นฆ่าคนนี้ฆ่า โดยยังไม่ได้ผลสรุปที่แน่นอน ว่าใครเป็นตัวจริง เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ว่า เราเกลียดชัง เราแตกแยกกันไปแล้ว และเรียกร้องให้ศาลรีบไต่สวน และหาความเป็นจริงของปี 53 ให้เร็วที่สุด

"สร้างแนวร่วมคนชั้นกลาง-ส่งสารประโยชน์ของประชาธิปไตยต่อคนกลุ่มอื่น"

สมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางสังคมคนสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของการสวมเสื้อแดงในวันอาทิตย์เพื่อต่อต้านการการรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และหลังการสลายการชุมนุมซึ่งบรรยากาศการแสดงออกทางการเมืองขณะนั้นอยู่ในภาวะตึงเครียดและหวาดกลัว เขาเป็นผู้เริ่มกิจกรรมแกนนอนโดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ระดมพลเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ออฟไลน์ :

สิ่งที่เสื้อแดงต้องเรียนรู้คือ อย่าเข้าไปอยู่ในทุ่งสังหาร คนกุมอำนาจรัฐพร้อมที่จะใช้มาตราการทางการทหารเสมอ 6 ต.ค. โมเดล ยังมีใครใช้อยู่ และเขาคิดว่ามันยังใช้ได้ เพียงแต่ครั้งล่าสุดใช้แล้วมันไม่สำเร็จ มันฟื้นขึ้นมาได้

ที่สำคัญอีกเรื่องคือ การเคลื่อนไหวในปี 53 เสื้อแดงได้ละเลยแนวร่วมคนชั้นกลาง และทำให้คนกลุ่มนี้ไปเข้ากับอภิสิทธิ์ ซึ่งน่าเสียดายมาก ดังนั้นการเคลื่อนไหวใดๆ ต้องพิจารณาประเด็นแนวร่วม และลดผลกระทบถึงคนกลุ่มต่างๆ ด้วย

เราต้องยอมรับว่ามันมีอาการต่อต้านมาจากในปีกชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เพราะว่าการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในปี 52-53 เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เขายังไม่อินกับเสื้อแดง แต่เราปิดเมืองประท้วงกัน ดังนั้น แนวร่วมกลุ่มนี้มันจึงเป็นการผลักคนกลุ่มนี้ไปร่วมหรือไปหนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ในเวลานั้น

ผ่านมาสามปี มันค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ไม่แน่ใจว่ามันเกิดจากการเข้าใจว่าต้องไม่สร้างผลกระทบหรือเปล่า คือกระทบได้บ้าง แต่การออกแบบนั้นได้คำนึงการลดผลกระทบ พิจารณาจากปัจจัยว่ามันอาจทำให้คนในเมืองที่ไม่ค่อยชอบวิธีการขับเคลื่อนแบบชุมนุมปิดถนนเขาสบายใจ แต่ส่วนหนึ่งมองว่ากิจกรรมการเมืองมันลดลงเพราะมันมีการเปลี่ยนฟากรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังสำคัญมาก เพราะสุดท้ายยังเชื่อว่าเราสามารถดึงคนชั้นกลางเข้ามาเป็นแนวร่วมได้ ดังนั้น ต้องทำสองเรื่อง หนึ่ง เสื้อแดงต้องไม่ทำให้คนเสื้อแดงรู้สึกว่าเสื้อแดงเป็นภัยกับคนชั้นกลาง สอง ต้องสื่อสารประเด็นเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยกับคนชั้นกลางให้เป็นรูปธรรมกว่านี้ เมสเสทของเสื้อแดงมักบอกว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้ว คนจนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าไม่ใช่คนจนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไรจากการมีประชาธิปไตยหรือการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง สารแบบนี้ไม่ได้ถูกส่งออกมา

"เสื้อแดงได้เรียนรู้ถึงความซับซ้อน และล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม"

รศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นนักวิชาการที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อในการรายงานการชุมนุม ปัจจุบัน นอกเหนือจากงานวิชาการแล้ว เขาเป็นผู้ดำเนินรายการเวคอัพ ไทยแลนด์ ทางสถานีวอยซ์ทีวี:

เสื้อแดงได้เรียนรู้ถึงความซับซ้อน และล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง เรียนรู้ว่าการเคลื่อนไหวตามท้องถนนยังไม่เพียงพอ ต้องผลักดันทั้งเรื่องการดำเนินคดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปรองดอง สัญญาณเชิงบวกของคนเสื้อแดงคือมีการเอาจริงเอาจังในการหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาเช่น 14 และ 6 ตุลาฯ นอกจากเรื่องการเคลื่อนไหว เสื้อแดงยังเรียนรู้ว่าการดำเนินการทางการเมืองและการจัดการองค์กรมีความสำคัญ เนื่องเนื่องจากทุกวันนี้เสื้อแดงเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นภายในขบวนการ รวมทั้งความเชื่อมโยงที่มีกับพรรคการเมืองเช่นพรรคเพื่อไทยเอง ดังนั้นจึงต้องหมั่นสรุปบทเรียนให้มากขึ้น

"กล่าวได้ว่ามีความก้าวหน้าแต่ยังก้าวไปไม่สุด เพราะติดที่ความหลากหลายทางชนชั้นนั่นเอง"

จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงานซึ่งต่อต้านการรัฐประหารและเรียกร้องสิทธิในการแสดงความเห็น เธอเข้าร่วมชุมนุมในเวทีรอบราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุติการสลายการชุมนุม และอยู่ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิช่วงค่ำของวันที่ 19 พ.ค. 2553 หลังเวทีหลักที่ราชประสงค์ถูกสลายในช่วงบ่าย เธอกล่าวถึงขบวนการเสื้อแดงและขบวนการประชาธิปไตยหลังการสลายการชุมนุม:

หลังสลายการชุมนุมในปี2553 ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นเวลาที่ไม่มีประชาธิปไตย คนแสดงความคิดเห็นต่างไม่ได้ มีการฆ่า การถูกจับกุมคุมขังมากมาย แต่หากเปรียบเทียบกันความรุนแรงที่มีมาในอดีต ความสูญเสียครั้งนี้ก็ทำให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อต้านได้ดีที่สุด เรียกร้องและตอบโต้กลับได้อย่างรวดเร็วกว่าครั้งก่อนๆ รวมไปถึงสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลความสูญเสียไว้ได้ ภาคประชาชนไม่ได้เงียบไปหลังมีอาชญากรรมที่กระทำโดยรัฐ

ที่ผ่านมาต้องเข้าใจว่าเสื้อแดงเป็นกลุ่มที่มีหลายชนชั้น ตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดา ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง การรวมตัวของหลายชนชั้น แม้ว่าจะทำไปโดยมีจุดประสงค์เดียวกัน คือต้องการประชาธิปไตยและต้านรัฐประหาร แต่ก็จะมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ในบางครั้งก็อาจทำให้ข้อเรียกร้องต่างๆไม่ตรงกัน ความขัดแย้งแบบนี้ดำรงอยู่ตลอดท่ามกลางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง และเป็นเรื่องยากที่จะยุติ ทำให้เราเห็นว่าขบวนการเสื้อแดงไม่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมได้จริง เพราะยังเป็นเพียงการต่อสู้เหตุการณ์เฉพาะหน้า เมื่อต่อสู้ไปครั้งหนึ่ง ก็ถูกทำลายลงครั้งหนึ่ง ฉะนั้นต้องหาทางที่จะทำให้มวลชนเข้าไปสู่กลไกทางการเมืองด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอพึ่งพาพรรคการเมืองอย่างเดียว เพราะทราบกันดีว่าเอาเข้าจริงแล้ว พรรคเพื่อไทยซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคของเสื้อแดงก็ยังมีนโยบายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเกี่ยวกับคนจน กรรมกร แม้จะมีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านโยบายด้านอื่นจะดี เช่น เรื่องสิทธิการรวมตัวของแรงงาน นอกจากนี้นักการเมืองเองก็เป็นนายทุนด้วย

การจะเรียกร้องประชาธิปไตยให้สำเร็จ คนงานจะต้องมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง แต่ก่อนอื่นก็ต้องมีกลไกการต่อสู้ร่วมกันก่อน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้คนงานก็มีสิทธิรวมกลุ่มง่ายขึ้นอย่างชัดเจนเห็นภาพ เช่น ตั้งพรรคการเมืองของแรงงานได้ มีนโยบายชัดเจนเป็นสังคมนิยมหรือเสรีนิยมก็ได้ การกำหนดนโยบายอย่างเข้มข้น  เรียกร้องให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจริง ซึ่งขณะนี้เสื้อแดงเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างเข้มข้น จนกล่าวได้ว่ามีความก้าวหน้าแต่ยังก้าวไปไม่สุด เพราะติดที่ความหลากหลายทางชนชั้นนั่นเอง ทางที่จะเปลี่ยนแปลงได้ก็คือต้องนำทฤษฎีการเมืองเข้ามาเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้การต่อสู้ทำได้แค่เรื่องเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ เมื่อไรสำเร็จก็รู้สึกดี เมื่อไรพ่ายแพ้ก็ท้อถอย แต่ใช้ทฤษฎีเข้ามาอธิบายอธิบายว่า แพ้เพราะอะไร ชนะเพราะอะไร

นอกจากนี้การชุมนุมทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการรำลึกความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อนหรืออื่นๆ ก็ต้องมีข้อเรียกร้องชัดเจนด้วย ทั้งการต่อต้านการฆ่าประชาชน การปล่อยตัวทักทาการเมือง และนำฆาตกรสั่งฆ่าประชาชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้

 

"เสื้อแดงต้องไปให้ไกลกว่าการปกป้องรัฐบาลรายวัน"

ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักวิชาการประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม ผู้ที่เมื่อ 3 ปีที่แล้วร่วมชุมนุมในเวทีรอบราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุติการสลายการชุมนุม วิจารณ์การเคลื่อนไหวของเสื้อแดง 3 ปีหลังสลายการชุมนุมว่า

“..หน้าที่ของนักคิดในขบวนการเสื้อแดงก็ต้องคิดว่าระบอบประชาธิปไตยในเชิงอุดมคติเป็นอย่างไร เพื่อที่ว่าจะได้ผลักดันให้ขบวนการไปให้ถึงมากกว่าการถกเถียงในเรื่องรายวัน เพราะเอาเข้าจริงคนที่ถกเถียงเรื่องรายวันได้ดีที่สุดคือนักการเมือง”  เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

ด้านหนึ่งขบวนการเสื้อแดงเป็นขบวนการที่ต้องการจะปกป้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยนอกจากด้านการปกป้องแล้วอีกด้านหนึ่งคือหน้าที่ในการขยายความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถ้ามองในแง่ของการปกป้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเอาเข้าจริงขบวนการเสื้อแดงไม่ได้มีบทบาทในการปกป้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยตัวเอง เพราะรัฐบาลสามารถอยู่ได้ด้วยนโยบาย ที่มีการดำเนินการต่อรองกับกลุ่มต่างๆ ชนชั้นนำ รวมถึงฝ่ายอำมาตย์ด้วย เพราะฉะนั้นเสื้อแดงจึงไม่มีบทบาทในด้านนี้เพราะในความเป็นจริงรัฐบาลและชนชั้นนำดำเนินการปกป้องเองอยู่แล้ว

หากมองอีกด้านหนึ่งว่าขบวนการเสื้อแดงขยายความคิดเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมมากน้อยแค่ไหนนั้น คิดว่ายังคงมีความหลากหลาย แต่ด้านหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือคนเสื้อแดงจำนวนมากยังไม่มีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพที่มากขึ้น เพราะกลายเป็นว่าขบวนการเสื้อแดงจมอยู่กับการปกป้องรัฐบาลหรือนโยบายของรัฐบาลมากกว่าขับเคลื่อนเพื่อสร้างแนวร่วมในวงกว้าง หรือสร้างความเข้าใจหรือปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มอื่นที่ไม่ได้เป็นกลุ่มที่เชียร์รัฐบาล เช่น กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่สะท้อนว่าไม่มีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น

และหากมองในหมู่ปัญญาชนนักคิด นักวิชาการที่อยู่ฝ่ายเสื้อแดงจำนวนมากไม่ได้ทำหน้าที่ขยายความคิดเรื่องประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน หรือการถกเถียงอย่างมาก เพราะถ้าดูการถกเถียงของหมู่ปัญญาชนนักวิชาการเหล่านี้ก็จะมุ่งถกเถียงในส่วนของตัวปรากฏการณ์และการปกป้องนโยบายของรัฐบาล มากกว่าที่จะพูดถึงหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ ขยายความคิดความเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร เรื่องเสรีนิยมคืออะไร จะเห็นว่าขบวนการเสื้อแดงในรอบหลายปีที่ผ่านมาไม่ได้มีส่วนในการผลักดันขยายสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยในภาพรวมและหลักการจริงๆ สิ่งที่ทำได้ก็คือการปกป้องรัฐบาลและนโยบายของรัฐบาลมากกว่า

ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการที่จะให้คนกลุ่มต่างๆ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หรือใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม ดังนั้นหากต้องการทำให้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอยู่ได้จริงๆนั้นต้องพูดไปสู่การถกเถียงเรื่องหลักการว่าด้วยการสร้างสังคมที่ดี เพราะประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจมันยังไม่ไปไกลไปกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือชนชั้นนำที่อยู่ในรัฐสภา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเชียร์คือเชียร์ผลประโยชน์ของชนชั้นนำผ่านระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งในที่สุดมันจะกลับมาทำลายหลักการเรื่องความเท่าเทียมเรื่องเสรีภาพจริงๆของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นสิ่งที่อยากให้เสื้อแดงขยายคือการขยายไปพูดเรื่องประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจหรือเรื่องอื่นๆที่ไปไกลกว่าการปกป้องรัฐบาลรายวัน

ปัญญาชนที่อยู่ในขบวนการเสื้อแดงมีลักษณะที่ไม่จริงจังกับการถกเถียงจริงๆ ปัญญาชนวุ่นอยู่กับการถกเถียงปกป้องนโยบายของรัฐบาลแบบรายวัน สิ่งที่เขาถกเถียงคือถกเถียงปรากฏการณ์แบบรายวัน ไม่ได้ถกเถียงเชิงหลักการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นหน้าที่ของนักคิดในขบวนการเสื้อแดงก็ต้องคิดว่าระบอบประชาธิปไตยในเชิงอุดมคติเป็นอย่างไร เพื่อที่ว่าจะได้ผลักดันให้ขบวนการไปให้ถึงมากกว่าการถกเถียงในเรื่องรายวัน เพราะเอาเข้าจริงคนที่ถกเถียงเรื่องรายวันได้ดีที่สุดคือนักการเมือง

"ถ้าภาคประชาชนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ขบวนก็จะถูกย่อยสลาย"

สุริยันต์ ทองหนูเอียด เป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และแกนนำพันธมิตรภาคเหนือ ซึ่งเขามองว่าการเคลื่อนไหวในประเด็นก้าวหน้ายังไม่มีให้เห็นนักภายหลังจากการเรียกร้องประชาธิปไตย:

ข้อเรียกร้องที่มองว่าเป็นความก้าวหน้าของคนเสื้อ แดง เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องปัญหาโครงสร้าง เรื่องความยากจน ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเลยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา

การนำของคนเสื้อแดงผูกติดกับนักการเมืองไทยรักไทย แกนนำก็นำโดย นปช.ทำให้กลุ่มคนที่ต้องการทำงานในเชิงก้าวหน้าไม่มีพื้นที่ ถ้ามีก็เป็นพื้นที่ทางเลือก ไม่ได้เป็นกระแสหลัก แล้วก็มีแนวโน้มว่าคนที่มีอำนาจอยากจะสลายการรวมตัวของคนเสื้อแดง ไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความเข้มแข็ง หากพูดถึงโรงเรียนการเมืองของ นปช.ก็ผูกติดอยู่กับแกนนำเพียงไม่กี่คน ไม่ได้เป็นการสร้างหลักสูตรความรู้ทางการเมือง ประชาธิปไตย และมีแกนนำที่เป็นดาราชูโรงเพียงไม่กี่คน

หากมองการชำระประวัติศาสตร์ ที่คนเสื้อแดงเรียกร้องจะมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการช่วยเหลือญาติและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ซึ่งอาจเป็นผู้บริสุทธิ์บางส่วน และมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่สังคมอาจยังเคลือบแคลงสงสัยแต่การรวมกลุ่มเป็นคณะกรรมการเหมือนเช่นกรณีญาติวีรชนจากเหตุการณ์พฤษภา 35 ในส่วนของคนเสื้อแดงไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวจัดตั้งในลักษณะนั้น และเหมือนกับว่าต่างคนต่างช่วยเหลือตัวเองมากกว่า รวมไปถึงในเรื่องมิติของการต่อสู้ทางคดี

ทั้งๆ ที่มีทิศทาง หรือแนวทางการต่อสู่ในขบวนการกันอยู่แล้ว ไม่ว่าคดีมันจะหนักแค่ไหน และเราก็รู้ว่านี่เป็นคดีการเมือง ยิ่งฝ่ายที่เขาต่อสู้ เขามีอำนาจรัฐ ก็ควรจะมีกระบวนการที่ทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมในเรื่องการประกันตัวได้ง่ายกว่านี้ ซึ่งตรงนี้ปมเรื่องคดีเขาไม่มายุ่งเลย อ้างว่าเป็นอำนาจศาล ทั้งที่ความจริงมีกระบวนการที่จะประกันตัวได้อยู่แล้ว ตรงนี้ไม่อยากยกตัวอย่างถึงพันธมิตรเพราะเป็นคนละเรื่องกัน และตรงนี้ไม่ใช่การแทรกแซงแต่เป็นการใช้สิทธิตามที่มีอยู่แล้ว

ถ้าถามว่ามันไปกระทบเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรบ้าง คือตอนที่เขาเคลื่อนไหวและพูดเรื่อง 2 มาตรฐาน และเรื่องความเหลี่ยมล้ำนั้น ไม่ได้พูดกันอย่างเอาจริงเอาจังในระดับนำ แต่ว่ากลายเป็นกระแส

ในส่วนกระบวนการยุติธรรมหากจะปรับปรุงก็ต้องมาดูว่าส่วนไหนที่มันต้องแก้ เช่น ในชั้นตำรวจ ถ้าเมื่อไหร่ตำรวจขึ้นตรงกับฝ่ายการเมือง ตำรวจก็ถูกแทรกแซง ซึ่งชัดเจนแล้วการที่ตำรวจบอกว่า “ได้ดีเพราะพี่ให้” แต่คนเสื้อแดงก็ไม่ได้คิดที่จะไปปฏิรูปตรงนั้นเลย ส่วนในชั้นอัยการที่มีอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุลกับพนักงานสอบสวนก็ไม่มีการเรียกร้องให้อัยการใช้ดุลยพินิจโดยอิสระ ส่วนมากก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลอย่างชัดเจน สำหรับในชั้นศาลหากจะปรับปรุงก็ต้องดูว่าปัญหาของศาลคืออะไร เช่น จำนวนองค์คณะ ผู้พิพากษาน้อยไป กระบวนการในการดำเนินคดีล่าช้า หรือเรื่องของกระบวนการให้ประกันตัว แม้แต่เรื่องกระบวนการหลังจากที่พิจารณาคดีไปแล้ว ที่ว่าคดีเบาๆ ไม่ควรอยู่ในคุก หรือคดีที่ไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นอาชญากร เป็นความพลั้งเผลอ ซึ่งในต่างประเทศก็มีมาตรการมากมายที่จะทำให้คนออกจากคุก ไม่ถูกกักขัง

ตรงนี้ก็เห็นเลยว่าคนเสื้อแดงพูด แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการที่ชัดเจนว่าจะนำเอาเรื่องนี้ไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งๆ ที่ในคนเสื้อแดงเองก็มีทั้งทนาย อดีตผู้พิพากษา และตำรวจหลายๆ คน แต่เป็นเรื่องของการนำเอาไปเป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนบางคน ซึ่งเราก็รู้ว่าหลายครั้งก็จะไปตรงกับประเด็นว่าคุณทักษิณถูกกลั่นแกล้งโดยกระบวนการยุติธรรม และเอาเรื่องคุณทักษิณเป็นหลักที่จะให้ได้รับความเป็นธรรมคนเดียว อันนี้คือปัญหา แล้วมันตอบไม่ได้ว่าคนที่เข้าร่วมเขาจะได้อะไร

ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้มีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำในมิติความยากจนที่มันห่างออกไป เช่น มิติของการเข้าถึงทรัพยากรที่คนจนมันเข้าไม่ถึง หรือทิศทางการพัฒนาที่คนจนกลายเป็นเหยื่อ จึงกลายเป็นการนำเอาเรื่องความเหลื่อมล้ำไปเป็นคำขวัญ เพื่อที่จะดึงคนเข้ามาร่วม หรือสร้างความชอบธรรมเฉพาะหน้า แต่ว่าในเชิงของการนำเอามาปฏิบัติในระยะยาวกลับไม่มี ยกตัวอย่างการชุมนุมของพีมูฟ (ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม) ที่ข้างทำเนียบซึ่งก็ไม่มีการลงไปสนับสนุนหรือส่งเสริม

ในขณะที่หากเป็นการชุมนุมของคนเสื้อแดงก็จะมีการบอกว่าอย่าเพิ่งชุมนุม เพราะรัฐบาลกำลังอยู่ในอำนาจ เดี๋ยวจะกลายเป็นเครื่องมือของอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมันดูแล้วตลก หรือหากเป็นกลุ่มอื่นที่เป็นคนจนแต่สมมติว่าเป็นคนละฝั่งกันก็จะถูกมองว่าพวกนี้เมื่อก่อนมันอยู่คนละสีกับเรา เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ

นี่คือปัญหาที่เจอ และมันก็นำไปสู่ความซับซ้อนที่มวลชนคนเสื้อแดงอยากให้มีความเปลี่ยนแปลง หรือส่วนที่ก้าวหน้าไม่รู้จะไปทางไหน ก็กลายเป็นแย่งกันไปมา บางคนก็พุ่งตรงไปเรื่องเดียวเอาแต่เรื่องสถาบัน บางคนก็มุ่งตรงแต่เรื่องการเมือง บางคนก็มุ่งตรงเรื่องกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นคำถามว่าแล้วประเทศได้อะไรจากการทำงานแบบนี้ เพราะความยากจนยังมีอยู่ กระบวนการยุติธรรมที่บอกว่าไม่เป็นธรรมหรือว่ามันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันก็ไม่ได้รับการปฏิรูป กลายเป็นการหยิบเอาเรื่องที่มันเป็นปัญหาไปเป็นเครื่องมือ มากกว่าการแก้ไขให้มันเป็นไปอย่างที่เรียกร้องต้องการ

คนจนก็กลายเป็นว่าลงทุนในการต่อสู้ สุดท้ายมันก็เหมือนกับไม่มีความหวังว่าจะได้รับการแก้ปัญหา แต่ก็ต้องไปยอมรับนโยบาย ซึ่งประชาชนก็มีสิทธิเห็นต่างจากรัฐได้ นโยบายบางอันเราก็ไม่เห็นด้วย

คนเสื้อแดงต้องยืนอยู่ในมิติของการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ ถ้าบอกว่าจะเป็นภาคประชาชนในเชิงของการตรวจสอบ แต่ถ้าภาคประชาชนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองขบวนก็จะถูกย่อยสลาย มันเป็นไปตามยุคสมัย ทุกครั้งที่ประชาชนตื่นตัวและเติบโตทางการเมือง เมื่อเขาจะเข้าไปตรวจสอบก็จะถูกอำนาจรัฐย่อยสลาย แต่จะย่อยสลายแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับยุคสมัยเท่านั้น บางครั้งก็ใช้ความรุนแรง บางครั้งก็ใช้ความละมุนละม่อมซึ่งก็ทำให้ประชาชนไม่มีพลังในการต่อรอง

"ไม่มีอภิปรายอย่างจริงจังเรื่องนโยบายสาธารณะ แม้แต่ในส่วนคนเสื้อแดงที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางความคิด"

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ทำงานด้านประชาสังคมในตำแหน่งรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และแม้องค์กรพัฒนาเอกชนไทยจำนวนไม่น้อยได้ไหลไปกับกระแสต้านทักษิณจนถึงขั้นที่บางส่วนก็เห็นดีกับการรัฐประหาร แต่เธอหาได้อยู่ในกระแสเดียวกัน ในระยะเวลาที่ผ่านมา เธอยินดีกับชัยชนะของการเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ในประเด็นโดยสายงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและฐานทรัพยากรเธอเห็นว่าการอภิปรายและมีส่วนร่วมกับนโยบายขนาดใหญ่ ยังไม่เกิดขึ้น:

การลุกขึ้นต่อสู้ (Rising) ในช่วงปี 53 ของคนเสื้อแดง มันหมายถึง การที่ประชาชนเติบโตจากความเปลี่ยนแปลงในชนบท ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ โครงสร้างอาชีพ การเมือง การเข้าถึงทรัพยากร และอีกหลายๆ เรื่อง จนทำให้เกิด Rising เพราะมันเกิดความไม่พอใจจนถึงที่สุดจากความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่สั่งสมมา ซึ่งเชื่อได้ว่าไม่ใช่เรื่องของการซื้อ

จากตรงนั้นได้สร้างความหวังว่ามวลชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว และมวลชนได้ใช้เครื่องมือคือการโหวต การใช้สิทธิออกเสียงของตัวเอง รวมทั้งการปฏิบัติการทางตรง เช่น การชุมนุมยึดพื้นที่ หรือการสู้แบบยอมตาย แม้จะยอมให้แกนนำกล่อมอยู่บ้าง แต่โดยอุดมการณ์สามารถรวมคนมาชุมนุมได้เป็นเรือนแสนนั้นยอมไม่ธรรมดา ซึ่งมันคือสิ่งที่สะท้อนว่า เขามีสำนึกของการต่อสู้ ท้าทาย แต่ไม่รู้ว่าตั้งคำถามหรือเปล่า แล้วมันก็ได้หายไปเลยหลังจากหมดยุคการต่อสู้ และจากนั้นก็เหลือแต่ภาวะของการอุ้มกันไป อุ้มกันมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

เรื่องการชนะการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เมื่อชนะแล้วขบวนการทุกอย่างมันหยุดลง มันไม่มีการให้การศึกษามวลชนต่อมา ทั้งนี้ การได้ชื่อว่าชนะแล้ว สิ่งที่คุณชนะคือคุณสามารถทำให้เกิดการเลือกตั้งได้ เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ ซึ่งเราก็ยินดีด้วย รวมทั้งยินดีกับการปราศรัยของคุณยิ่งลักษณ์ที่ เมืองอูลันบาตอ ของมองโกเลียที่พูดได้อย่างตรงไปตรงมาว่าครอบครัวของเธอคือส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้น และกระบวนการถกเถียงก็ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอเป็นเหยื่ออย่างไร และคนอื่นๆ เป็นเหยื่อเช่นเดียวกันหรือไม่

เมื่อพ้นจากยุค Rising ตอนนี้เข้าสู่ยุครัฐบาลเพื่อไทย และกระบวนการทางนโยบายก็เดินหน้าไปตามครรลอง แต่โจทย์ของนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ หรือปัญญาชนที่บอกว่าตัวเองก้าวหน้านั้นไม่น่าจะใช้แค่ตรงนี้ เมื่อคำถามคือมวลชนจะยกระดับไปสู่การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนา ฯลฯ

เห็นด้วยว่าสิ่งที่ต้องผ่านในขั้นต้นคือการต้องเลือกเองได้ อย่างน้อยคือต้องเลือกรัฐบาลของตนเองได้ ไม่ควรมีใครที่จะมามีความสามารถในการยุบพรรค ยุบแล้วยุบอีก แต่หลังจากนั้นมันก็ควรจะมีมาตรการทางสังคมซึ่งไม่ใช่อย่างที่เราเป็นอยู่ในตอนนี้ ที่ปรากฏการณ์ คือ ‘มึงด่า กูด่ากลับ’ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่ประเทืองปัญญา

หากพูดถึงภาพประชาธิปไตยที่เราอยากเห็น มันก็คือเรามีสิทธิ์เลือกในทางการเมือง และเราควรจะมีสิทธิ์มีส่วนในการกำหนดนโยบาย ทั้งในกระบวนการโหวต หรือการถกเถียง ดีเบต (Debate) นโยบายสาธารณะในทุกระดับ ซึ่งบรรยากาศอย่างนี้ควรจะสร้างให้เกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยน แต่ที่ผ่านมาไม่เห็นแนวโน้มเลย และกลับแย่ขึ้นเพราะมันกลับไปสู่บรรยากาศการ Defence เหลือง-แดงแบบเดิมไม่มีผิด

ยกตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณี ‘ปลอด ประสพ’ (ที่ห้ามการชุมนุมประท้วง) คนเสื้อแดงสามารถตั้งคำถามได้โดยไม่จำเป็นต้องถามหาเซเล็บ ถามหาคนที่มาคิดแทนคุณ คุณสามารถคิดสรุปและเชื่อในพลังความเป็นประชาชนของตัวเอง ซึ่งส่วนตัวมีความเชื่อในพลังของประชาชนที่มีไดนามิคอยู่ในตัว

ถึงทุกวันนี้ประเด็นที่มี คือ การไม่มีการอภิปรายอย่างจริงจัง (Real Debate) เรื่องนโยบายสาธารณะแม้แต่ในส่วนคนเสื้อแดงที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางความคิด เมื่อนึกถึงขบวนการ Liberal Democracy (ประชาธิปไตยเสรีนิยม) องค์ประกอบคือการต้องมีเรียลดีเบตในเรื่องนโยบายสาธารณะ หากคุณเชื่อมั่นใน Liberal Democracy เรื่องการเลือกตั้ง ซึ่งเราก็เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการให้ใครมาเล่นชักใย ต้องมาช่วยกันสร้างให้เรียลดีเบตเกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่การนั่งถล่มกันไปมาเหมือนทุกวันนี้

เมื่อมีคนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับโครงการและแผนงานต่างๆ ของรัฐบาล จะเรียกว่าประชานิยมหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นภาคประชาชนดั่งเดิมที่ดูโบราณ วิธีการถามอาจจะมีปัญหาแต่ก็มีสาระและความรู้อยู่ในนั้น แต่กลับถูกปัดออกไปหมดเลย ไม่ถูกรับฟัง และถูกตั้งข้อสังเกตว่าทำไมรัฐบาลนี้ถึงตั้งคำถาม แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ตั้งคำถาม

ยอมรับว่าเอ็นจีโอที่ค่อนข้างเหลืองหรือกึ่งๆ เหลืองที่วิจารณ์การคอรัปชั่นนั้น วิจารณ์แบบมีดับเบิลสแตนดาร์ดจริง แต่รัฐบาลเพื่อไทยก็มีเรื่องที่สังคมต้องตรวจสอบ

ขณะนี้มีหลายเรื่องที่ต้องดีเบตกันในเชิงทิศทางของการพัฒนา โครงการขนาดใหญ่อย่างการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ก็มีโครงการต่างๆ ซ้อนอยู่มากมาย แต่แล้วก็มีคนลุกขึ้นมาบอกว่า ‘ถ้าค้านแล้วล้มทั้งโครงการมันไม่ได้’ ‘ต้องมีการเชื่อมต่ออาเซียน’ ซึ่งเราไม่ได้ขวางการเชื่อมต่ออาเซียน มันเป็นคนละประเด็น

ในเรื่องการคมนาคม รถไฟรางคู่เป็นสิ่งที่ดี ประหยัดพลังงาน ตรงเวลา ค่อยๆ ว่ากันไปทีละชิ้น แล้วค่อยๆ ดีเบตกัน ให้ประชาชนที่จะได้รับประโยชน์ตามที่อ้างถึงมาร่วมถกกันด้วย เพราะประชาชนไม่มีใครอยากดักดาน แต่ที่ผ่านมามันไม่ได้ถูกคุยอย่างนั้น ส่วนคนที่ค้านก็กลายเป็นอีกขั้วหนึ่งคือไม่เอาทุนนิยม ก็ไปพอเพียง ซึ่งชาวบ้านไม่ใช่ ชาวบ้านเขามีการปรับตัวตลอดเวลา ลอจิกแบบนี้นำมาใช้ดีเบตกันเพื่อโต้แย้งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
 
ยกตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณี ‘คุณปลอดประสพ’ (ประชาไท-กรณีที่ห้ามการชุมนุมประท้วง) คนเสื้อแดงสามารถตั้งคำถามได้โดยไม่จำเป็นต้องถามหาเซเลบ ถามหาคนที่มาคิดแทนคุณ คุณสามารถคิดสรุปและเชื่อในพลังความเป็นประชาชนของตัวเอง ซึ่งส่วนตัวแล้วมีความเชื่อในพลังของประชาชนที่มีไดนามิคอยู่ในตัว
 

"หากอยากให้การต่อสู้ถึงเป้าหมาย สูญเสียน้อยที่สุด การรวมกันอย่างมีเอกภาพก็ย่อมดีที่สุด แต่จริงๆ อาจไม่เป็นอย่างนั้น"

สุดา รังกุพันธุ์ เป็นนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เธอมีบทบาทในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับคนเสื้อแดง ทั้งก่อนจะมีการชุมนุมใหญ่ และหลังการสลายการชุมนุม ปัจจุบันนอกเหนือจากการจัดรายการโทรทัศน์เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มปฏิญญาหญ้าศาลเรียกร้องสิทธิให้กับนักโทษทางการเมืองและผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม:

การเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนเสื้อแดงอาจแบ่งได้เป็นสองช่วง ช่วงแรก คือ หลังสลายการชุมนุม ช่วงนั้นคนเสื้อแดงถูกจำกัดด้วยการปิดกั้นอย่างมากโดยเฉพาะการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างต่อเนื่อง เข้มงวดและใช้แบบ 2 มาตรฐาน แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐอย่างค่อนข้างชัดเจน แสดงออกตรงไปตรงมา เป้าหมายชัดเจน

ช่วงที่สอง เมื่อได้รัฐบาลที่คนเสื้อแดงสนับสนุนแล้ว หลังจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล สถานการณ์ที่ปรากฏก็อยู่ในภาวะที่เรียกว่า dilemma หรือทางสองแพ่ง อันหนึ่งต้องการรักษากลไกประชาธิปไตยหรือรัฐบาลไว้ได้นานที่สุดหรือครบวาระ แต่ขณะเดียวกันปัญหาที่ประชาชนได้ถูกละเมิดสิทธิภายในช่วงปี 52-53 อย่างรุนแรง แต่การชดเชย การฟื้นฟูก็เป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้าและมองว่ายังไม่เพียงพอ เพราะถูกจับจ้องโดยฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดต่อมาอยู่แล้วที่ต้องเยียวยาความเสียหายให้ประชาชนที่ถูกกระทำจากรัฐ คนจึงเริ่มมีความรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของรัฐบาลที่พยายามรักษาระยะห่างกับคนเสื้อแดง แต่ก็ออกเรียกร้องได้ไม่เต็มที่เพราะติดกับดักที่พยายามจะยึดอยู่ในเป้าหมายการรักษากลไกประชาธิปไตย จึงต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับสภาพนี้

อีกฝ่ายหนึ่ง คือ ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และเป็นแนวร่วมกับคนเสื้อแดง พวกเขาเหล่านี้ไม่ต้องการให้มีการเรียกร้องประเด็นการ เยียวยา การนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุม เพราะมองว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นการเปิดจุดอ่อนให้รัฐบาล ถูกโจมตี ทำให้ขบวนการแตกออกเป็นสองฝ่าย

กลุ่มที่เป็นองค์กรนำที่สำคัญ คือ นปช. มีแนวทางที่ชัดเจนว่าใช้ยุทธศาสตร์สองขา ขาหนึ่งคือพรรคการเมืองที่มีนโยบายเพื่อประชาชน เป็นประชาธิปไตย อีกขาคือ มวลชน แนวทางในการทำงานด้านมวลชนของแกนนำนปช.ค่อนข้างสอดคล้องรับไปกับนโยบายรัฐบาลมากกว่าที่จะเรียกร้องหรือคัดค้านในประเด็นบางประเด็นที่อาจไม่เป็นประโยชน์กับคนเสื้อแดง แม้นปช.จะเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม แต่ไม่เคยออกมานำมวลชนเรียกร้องในประเด็นนี้ ก็เห็นได้ว่า เป็นลักษณะที่เหมือนจะลดพลังของการขับเคลื่อนในงานมวลชนลงไป

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าภารกิจในการโค่นล้มระบอบอำมาตย์ที่ถูกชูขึ้นมานานแล้วไม่เสร็จสิ้น ปัญหาที่ชัดเจนอย่างยิ่งคืออำนาจของฝ่ายตุลาการ กระบวนการยุติธรรมที่มีสองมาตรฐาน รัฐบาลไม่สามารถทำให้กลไกของอำนาจตุลาการทำเพื่อประชาชนใช้ดุลยพินิจที่อยู่บนหลักประชาธิปไตยได้ การต่อสู้ในแนวรบเรื่องอำนาจตุลาการเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ซับซ้อน สุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุมคุมขังเสียเองและ ตรงนี้ก็ไมได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหลักของฝ่ายประชาชน

ประเด็นที่จะเป็นรอยร้าวมากขึ้นคือ พ.ร.บ.ปรองดองที่ชะงักไปหลังจากพันธมิตรฯ ออกมาต่อต้าน หากรัฐบาลมีการให้การสนับสนุนในทางใดทางหนึ่ง อาจจะทำให้เกิดการแตกแยกมากขึ้น ขณะนี้ก็มีกระแสข่าวที่จะนำ พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับรองนายกฯ เฉลิมเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ มีการล่ารายชื่อของเสียงรับรองจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้มากถึง 149 คน น่ากังวลว่าถ้าพ.ร.บ. ปรองดองกลับมาอีกครั้งสถานการณ์ก็ไม่ต่างจากเดิม นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ไม่ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับวิฤตความขัดแย้งอย่างไร เราห่วงที่สุดคือ กรณีของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกองทัพที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถ้ารัฐบาลสนับสนุนจะแตกแยกใหญ่อีกครั้ง เพราะคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้จะคืนความเป็นธรรมกับประชาชนได้ และหวังว่าจะมีการสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษ ที่นำโดยวรชัย เหมะ ซึ่งนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทุกสีเสื้อ เป็นข้อเสนอที่หลายฝ่ายพอยอมรับได้โดยที่ไม่มีการคัดค้านอย่างรุนแรง

หากอยากให้การต่อสู้ถึงเป้าหมาย สูญเสียน้อยที่สุด การรวมกันอย่างมีเอกภาพก็ย่อมดีที่สุด แต่จริงๆ อาจไม่เป็นอย่างนั้น ขณะนี้ชัดเจนว่า มีการแตกกลุ่มย่อยๆ อย่างชัดเจน มีอุดมการณ์ที่แยกย่อยลงมาในรายละเอียด ตามแต่ ldeology ของแต่ละกลุ่มว่าเปิดรับหลักสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคแค่ไหน บางกลุ่มอยากเห็นขั้นสมบูรณ์ไม่ว่าประเด็นความหลากหลายทางเพศ ประเด็นศาสนา ฯลฯ แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งก็อาจมองกว่าในภาวะของการต่อสู้เขาไม่ได้มองเห็นความสำคัญในประเด็นนั้น พร้อมใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิคนอื่น ตราบใดที่เขาไม่ได้มาเป็นพวกเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์ วิจารณ์ฝ่ายศัตรูได้ แต่วิจารณ์ฝ่ายเดียวกันจะทำให้เสถียรภาพไม่มั่นคง การคิดอย่างนี้ยังปรากฏอยู่มาก การผลักดันสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ที่ผู้มีพลังการสื่อสารเยอะๆ และแกนนำ แต่การพยายามจะโน้มน้าวให้เขาเห็นความสำคัญ ก็เหมือนเป็นการแตกไลน์ออกไปจากประเด็นหลักที่เขาสนใจอยู่ และเขาอาจมองแบบหวาดระแวงได้ง่ายๆ ว่า ถ้าปกป้องประเด็นนี้ก็เหมืนปกป้องบุคคล และเมื่อปกป้องบุคคลก็ไม่ใช่พวกเดียวกัน ความเป็นพวกเดียวกันมันแน่นมาก อาจเป็นเพราะเขาคงรู้สึกว่าถูกแบ่งแยกออกจากสังคมระดับนำของอีลีตมานานมาก และเมื่อวาทกรรมไพร่อำมาตย์มันชัดมาก ก็เลยเป็นแบบนี้ การอยู่ในขบวนการกับคนเสื้อแดงต้องจับจังหวะ อารม มวลชนพอสมควรว่าเขามีความพร้อมไปในทิศทางเดียวกับเราหรือยัง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles