หลังพรรคฝ่ายค้านมาเลเซียไม่พอใจผลการเลือกตั้งที่แม้ฝ่ายค้านชนะคะแนนรวม แต่กลับได้ที่นั่ง ส.ส. น้อยกว่ารัฐบาล เพราะเขตเลือกตั้งมีขนาดไม่เท่ากันนั้น ล่าสุด รมว.มหาดไทยมาเลเซีย เขียนบทความลง นสพ. ระบุใครที่จงรักภักดีต่อมาเลเซีย ควรยอมรับระบบการเมืองของประเทศนี้ ถ้าจะใช้รูปแบบเลือกตั้งแบบอื่นก็ให้ย้ายไปอยู่ประเทศอื่น
อะหมัด ซาฮิด ฮามิดี (AHMAD ZAHID HAMIDI) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนล่าสุดของมาเลเซีย ภาพนี้ถ่ายในเดือนสิงหาคมปี 2553 สมัยที่อะหมัด ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และเข้าพบอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย (ที่มาของภาพ: Peerapat Wimolrungkarat/The Office of the Prime Minister of Thailand/Wikipedia)
มาเลเซียกินีรายงานเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า รัฐมนตรีมหาดไทยคนใหม่ของมาเลเซียกล่าวกับพรรคฝ่ายค้านว่าจะ "ย้ายไปอยู่ที่อื่น"ก็ได้ ถ้ารู้สึกไม่พอใจกับระบบการเลือกตั้งของประเทศ ซึ่งในการเลือกตั้ง 5 พ.ค. ที่ผ่านมา พรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional - BN) ได้ ส.ส. 133 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (Pakatan Rakyat PR) ซึ่งได้คะแนนเสียงรวมหรือป็อบปูลาร์โหวตร้อยละ 51.78 ได้ที่นั่ง ส.ส. 89 ที่นั่ง
ทั้งนี้มาเลเซียกินี อ้างถึงบทความของอะหมัด ซาฮิด ฮามิดี (AHMAD ZAHID HAMIDI) ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อูตูซันซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาล ซาฮิดได้เรียกการชุมนุมหลังการเลือกตั้งของผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านว่าเป็นการรวมตัวกันที่ผิดกฎหมาย และเขียนด้วยว่า ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) และพรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) ได้สร้างความสับสนให้กับชาวจีนรุ่นหนุ่มสาว และผู้สนับสนุนที่ไม่ลืมหูลืมตา โดยบอกให้พวกเขาสวมเสื้อดำประท้วงผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ที่พรรคฝ่ายค้านชนะผลคะแนนรวมหรือป็อบปูลาร์โหวต
บทความของซาฮิดระบุด้วยว่า การรวมตัวกันที่ผิดกฎหมายนี้ เพื่อซ่อนข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้เห็นแย้งในผลการเลือกตั้งที่รัฐปีนัง สลังงอร์ และกลันตัน "ถ้าเป็นเรื่องจริงว่าพรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงข้างมาก วิธีนับแบบนี้ก็ถูกใช้เพื่อปลุกปั่น ... วิธีนับคะแนนของพรรคฝ่ายค้านเช่นนี้ ถูกใช้ในประเทศที่เลือกประมุขของประเทศและพรรคการเมืองผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น"
เขากล่าวในบทความว่ามาเลเซียไม่ได้ใช้รูปแบบการเลือกตั้งที่รับรองคะแนน "ป็อบปูลาร์โหวต"ขณะที่ประเทศใช้ระบบ "Westminster System"ที่ผู้ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับการเลือกตั้ง (first past the post) อย่างที่ประเทศในเครือจักรภพใช้ บทความในซาฮิดกล่าวต่อว่า ด้วยระบบนี้ ผู้ลงคะแนนจะเลือกผู้แทนของพวกเขาจากพรรคการเมือง และผู้ชนะก็ควรจะเป็นพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก
"ถ้าคนกลุ่มนี้ (หมายถึงพรรคฝ่ายค้าน) ต้องการใช้ระบบอื่นที่ใช้การลงคะแนนรวมอย่างที่ใช้ในประเทศแบบสาธารณรัฐ พวกเขาก็ควรย้ายไปอยู่ประเทศอื่น เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตามความเชื่อทางการเมืองของพวกเขา"ซาฮิดกล่าวผ่านบทความที่ลงในอูตูซาน
ใครก็ตามที่จงรักภักดีต่อมาเลเซีย ควรที่จะยอมรับระบบการเมืองที่ประเทศนี้ใช้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของระบบรัฐบาลที่มี ซึ่งยึดมั่นในรัฐธรรมนูญแบบสหพันธรัฐ
การรวมตัวประท้วงแบบผิดกฎหมาย ซึ่งเดินสายจัดแบบโรดโชว์ของพรรคฝ่ายค้านนั้นเป็นเพียงการหนีออกจากความจริงของพรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องการซ่อนข้อเท็จจริงว่าพวกเขาล้มเหลวที่จะเอาชนะการเลือกตั้ง
"พรรคฝ่ายค้านมีท่าทีมั่นใจเกินไป ต่อการสนับสนุนของผู้ลงคะแนน และผู้สนับสนุนเหล่านี้ถูกปลุกปั่นโดยหลายประเด็น รวมทั้งคำสัญญาจากพรรคฝ่ายค้านที่พวกเขาไม่สามารถทำได้"ซาฮิดกล่าวในบทความด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ในรอบหลายปีมานี้ ในมาเลเซียมีการวิจารณ์เรื่องระบบเลือกตั้ง รวมทั้งการบิดเบือนเขตเลือกตั้งและการโกงการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตที่พรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง เฉลี่ยแล้ว 1 เขตเลือกตั้ง มักจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าเขตเลือกตั้งของพรรครัฐบาล โดยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 นี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่พรรคฝ่ายค้านชนะเฉลี่ยอยู่ที่เขตเลือกตั้งละ 77,655 คน ขณะที่เขตเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายรัฐบาลชนะ ค่าเฉลี่ยของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ที่ 46,510 คน
ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย พรรครัฐบาลได้ที่นั่ง 133 ที่นั่ง คะแนนเสียงรวมอยู่ที่ 5.24 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 48.22 ส่วนพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่ง 89 ที่นั่ง ได้คะแนนเสียงรวมอยู่ที่ 5.62 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 51.78
สำหรับพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ"หรือ BN ครองอำนาจในมาเลเซียนับตั้งแต่ได้เอกราชเมื่อ พ.ศ. 2510 อย่างไรก็ตามแม้จะชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังสุด พรรครัฐบาลได้สูญเสียการเป็นเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่ง ส.ส. เพิ่มมากขึ้น และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดพรรครัฐบาลแม้จะยังคงได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด แต่พรรคฝ่ายค้านได้รับคะแนนเสียงรวมมากกว่าพรรครัฐบาลเป็นครั้งแรก