อดีตเลขาธิการ สมช. เบิกความในฐานะพยานโจทก์ คดีเสื้อแดงก่อการร้าย ปี 53 เชื่อมีกลุ่มกองกำลังที่ใช้อาวุธเป็นชายชุดดำอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งมีทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในการดูแลของ ‘เสธ.แดง’ ชี้ตลอดการชุมนุมมีกลุ่มคนใช้ M79, M67, M26, RPG และ M16 คุกคามฝ่ายตรงข้ามกับ นปช. และพรรคพลังประชาชน
ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช.
16 พ.ค. 56 - ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการ Online รายงานว่า ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (16 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำ 2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. กับพวกรวม 24 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย,ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, และฝ่าฝืน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค. 2553 ต่อเนื่องกัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา
โดยวันนี้ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พยานโจทก์ เบิกความต่อจากครั้งที่แล้วว่า ช่วงที่กลุ่ม นปช.เรียกร้องให้รัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภานั้นได้มีการเจรจากันระหว่างตัวแทน นปช.และตัวแทนของรัฐบาลจำนวน 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากแกนนำ นปช.ต้องการให้รัฐบาลยุบสภาทันที ขณะที่รัฐบาลเสนอว่าจะยุบสภาภายใน 9-10 เดือน ส่วนตัวแทนที่ แกนนำ นปช.ก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจได้ในทันที โดยเชื่อว่าผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้การชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 เป็นการชุมนุมที่ต่อเนื่องจากเดือน เม.ย. 2552 ซึ่งหวังผลอย่างชัดเจนที่จะล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้ได้ เชื่อว่าสืบเนื่องมาจาก รัฐบาลที่ พ.ต.ท.ทักษิณสนับสนุนแพ้การโหวตเสียงในสภาฯ และ ปี 2551 พ.ต.ท.ทักษิณถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 2 ปี ในคดีจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ และวันที่ 26 ก.พ. 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท
โดยภายหลังการเจรจาระหว่าง นปช.และรัฐบาลไม่ได้ข้อยุติ กลุ่ม นปช.ก็มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตั้งเวทีบริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2553 จากนั้นวันที่ 3 เม.ย. จึงเคลื่อนไปเปิดเวทีที่แยกราชประสงค์ เป็นการเปิดเวทีคู่ขนานกันโดยมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมจำนวนมาก
ขณะเดียวกันก็กลุ่ม นปช.ก็มีการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ตลอดมา โดยเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ได้นำมวลชนคนเสื้อแดงไปปิดล้อมรัฐสภา ซึ่งขณะนั้นมีการประชุมสภาอยู่ และมีการบุกเข้าไปปลดอาวุธของเจ้าหน้าที่ ที่ประจำการอยู่ภายในอาคารรัฐสภาและมีการคุกคาม จนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และส.ส.อีกหลายคนต้องหนีออกทางด้านหลังรัฐสภา
อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. คือมีคนกลุ่มหนึ่งใช้อาวุธคุกคามต่อสถานที่ องค์กร และสถาบันที่อยู่ตรงข้ามกับ นปช. และพรรคพลังประชาชน โดยเกิดขึ้นตลอดช่วงการชุมนุม มีทั้งการใช้อาวุธสงครามเช่น ระเบิดเอ็ม 79, ระเบิดเอ็ม 67, ระเบิดเอ็ม 26, อาร์พีจี และปืนเอ็ม 16 เช่นเหตุการณ์คนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 9 เข้าไปยังห้องทำงาน ของ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. และรองผอ.กอ.รมน. ถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้ คนร้ายยิงจรวดอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม ขว้างระเบิดเอ็ม 67 เข้าไปที่หน้าบ้านพักนายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งขณะนั้นเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ยังมีการยิงอาวุธปืนเข้าใส่ ธนาคารกรุงเทพ หลายสาขา ซึ่งกลุ่ม นปช.เชื่อว่าธนคารกรุงเทพเป็นผู้สนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่กลุ่ม นปช.ได้ต่อต้านกลุ่มอำมาตย์รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีการยิงระเบิดเอ็ม 79 และอาวุธปืนเข้าไปในสถานที่ราชการต่างๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงการยิงระเบิดเข้าไปในกระทรวงสาธารณสุขซึ่งรัฐบาลใช้เป็นสถานที่ประชุม ครม.นอกสถานที่ และมีการเคลื่อนไหวของกองกำลังไม่ทราบฝ่ายคุกคามต่อเป้าหมายที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่ม นปช.
นายถวิลเบิกความต่อว่า ช่วง นปช.เคลื่อนไหวชุมนุมนั้น ทางสำนักงานนายกรัฐมนตรี เคยยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้มีคำสั่งให้ นปช.ยุติการชุมนุมที่ราชประสงค์ ซึ่งศาลมีคำวินิจฉัยว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีการปิดเส้นทางการจราจร กระทบกับการใช้ชีวิตปกติของประชาชน ขัดต่อความมั่นคงและเสรีภาพของประชาชน เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลได้ยกคำร้องคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ขณะนั้นรัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีอำนาจทางกฎหมายที่จะดำเนินการได้อยู่แล้ว และวันที่ 23 เม.ย. 2553 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้รัฐบาลสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า มาตรการปิดล้อมการชุมนุมของรัฐบาลนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และมีอำนาจกระทำได้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะคุ้มครองผู้ร้อง
นายถวิลเบิกความว่า ภายหลังการบุกสภาของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 นั้น รัฐบาลเห็นว่าสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นรัฐบาลจึงได้ ประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีข้อกำหนดต่าง ๆ เช่นห้ามการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามเข้าไปใช้สถานที่หรืออาคารที่กำหนด ห้ามชุมนุมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลบางแห่ง และบางอำเภอในจ.อยุธยาด้วย แต่การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ก็ยังไม่ยุติ กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อวันที่ 8-9 เม.ย. 2553 กลุ่มผู้ชุมนุมได้บุกเข้าไปในสถานีดาวเทียมไทยคม ตั้งอยู่ที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เพื่อไม่ให้ตัดสัญญาณสถานีโทรทัศน์พีเพิลแชลแนล ซึ่งขณะนั้น กลุ่ม นปช.ได้ใช้เป็นเครื่องมือ นัดหมายการชุมนุม เผยแพร่และยุยงปลุกปั่นผู้ชุมนุม โดยกลุ่ม นปช.สามารถฝ่าด่านทหารที่รักษาการอยู่ และเข้าไปในสถานีได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารต้องถอนกำลังออกมา โดยมีทหารบาดเจ็บหลายนาย
และเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ศอฉ.จึงได้ออกมาตรการขอคืนพื้นที่บริเวณราชดำเนิน เนื่องกลุ่ม นปช.ใช้พื้นที่จำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ร่วมชุมนุม โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดเส้นทางการจราจรบนสะพานพระปิ่นเกล้าและสะพานพระราม 8 ให้ใช้สัญจรได้ เนื่องจากได้รับร้องเรียนจากประชาชนว่าได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งได้ใช้กำลังทหารเป็นหลักในการผลักดัน แต่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ทั้งนี้ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติ ที่รายงานมายัง ศอฉ. ว่าการผลักดันกลุ่ม นปช. เริ่มตั้งแต่ช่วงสาย ของวันที่ 10 เม.ย. โดยเคลียร์พื้นที่และผลักดันผู้ชุมนุมจากแยกมิสกวันไปให้ไปอยู่บริเวณแยกกองทัพบก แต่ถูกต่อต้านจากกลุ่ม นปช. ที่เคลื่อนไหวมาขัดขวางอยู่ที่หน้ากองทัพบก โดยแกนนำคือ นายขวัญชัย ไพรพนา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ เกราะ โล่ กระบอง เป็นเครื่องมือในการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม และทราบภายหลังว่า มีประชาชนถูกยิงด้วยอาวุธปืนเสียชีวิต 1 คนที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่มีการผลักดันกลุ่มนปช. อย่างไรก็ตามมาตรการผลักดันดังกล่าวไม่สำเร็จ เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมนปช.ขัดขวาง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย รัฐบาลจึงประกาศยกเลิก จากนั้นจึงมีการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ที่ถนนราชดำเนิน แต่ครั้งนี้มีการต่อต้านจากกลุ่มผู้ใช้อาวุธสงคราม เป็นเหตุการณ์ที่มีทหารเสียชีวิต 5 นาย ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 21 คน ทหารบาดเจ็บประมาณ 300 นาย ผู้ชุมนุมบาดเจ็บประมาณ 500 คน สาเหตุที่ทหารบาดเจ็บจำนวนมากเนื่องจากมีการใช้อาวุธจริง และเห็นว่าการสูญเสียครั้งนี้ยิ่งกว่าการต่อสู้ในสนามรบ
ต่อมาในช่วงบ่าย นายถวิลเบิกความต่อว่า ตนเชื่อว่ามีกลุ่มกองกำลังที่ใช้อาวุธเป็นชายชุดดำอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในการดูแลของพลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ. แดง และก็มีบางกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของเสธแดง และจากการข่าวเชื่อว่ามีการฝึกการใช้อาวุธของกองกำลังในต่างจังหวัดและในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน และจากการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บในวันที่ 10 เม.ย.นั้นเชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะการปรากฏตัวของชายชุดดำ อีกทั้งยังมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้รายงานข่าวว่าในช่วงเวลา 17.30 น.พบชายชุดดำ5คนพร้อมอาวุธสงครามปืน AK47 และเครื่องยิงระเบิด M79 บริเวณ ถ.ตะนาว สี่แยกคอกวัว และก็มีรายงานว่าพบ เสธ.แดง ปรากฏตัวอยู่บริเวณนั้นอีกด้วย
อีกทั้งในช่วงเวลาที่มีการแย่งอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารจากฝีมือของมวลชนนปช.บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า นั้นก็มีรายงานว่าพบนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก แกนนำ นปช. ปรากฏตัวอยู่ในกลุ่มมวลชนด้วย เเละหลังจากนั้นก็มีการนำอาวุธปืนที่แย่งได้จากเจ้าหน้าที่ทหารไปโชว์ที่เวทีการชุมนุมของ นปช.ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้มีนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. และนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ปรึกษาทางกฎหมาย นปช. ในฐานะเป็นตัวแทนของสหภาพรัฐสภา สากลหรือไอพียู ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิเสรีภาพของสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมรับฟังการสืบพยานในครั้งนี้ด้วย โดยนายโรเบิร์ตกล่าวว่า การเข้าร่วมรับฟังการสืบ พยานคดีนี้เพราะส่วนตัวมีความกังวลในเรื่องของความยุติธรรมและกระบวนการของศาลไทยในการไต่สวน และสืบพยาน เนื่องจากคดีนี้ในองค์กรระหว่างประเทศถือเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง