ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง แนะหามาตรการรับมือบาทแข็ง เชียร์ 'แบงก์ชาติ'แทรกค่าบาท ระหว่างยังไม่ตัดสินใจใช้มาตรการคุมเงินไหลเข้า
(16 พ.ค.56) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในเวทีราชดำเนินเสวนา “บาทแข็ง!!! นโยบายการเงิน การคลังที่ควรจะเป็น” ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกีบสถาบันอิสรา ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เงินทุนจากต่างประเทศอาจไหลเข้ามากดดันให้ค่าเงินบาทไทยกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเงินเยนที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งในเวลานี้คนพูดกันเสมอว่า รถไฟได้ออกจากสถานีโตเกียวแล้ว รอว่าจะมาถึงประเทศไทยเมื่อไหร่ ดังนั้น ธปท.ควรหามาตรการในการรับมือ
สำหรับเครื่องมือที่ ธปท.สามารถนำมาใช้ในการดูแลค่าเงินบาทได้นั้นมี 3 หลัก คือ การแทรกแซงในตลาดเงิน, การลดดอกเบี้ยนโยบาย และการออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งในความเห็นส่วนตัวมองว่าการแทรกแซงตลาดเงินเหมาะสมสุดในกรณีที่ ธปท. ยังไม่ออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย
อย่างไรก็ดี เครื่องมือที่นายธีระชัย เห็นว่าเหมาะสม และตรงจุดที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาเงินทุนที่ไหลเข้าจนทำให้ค่าเงินบาทแข็ง คือ การออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า ซึ่งตรงนี้นอกจากจะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว ยังลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย
ส่วนเครื่องมือเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย นั้น เขากล่าวว่า เป็นหมากกล ถ้าใช้ไม่ดีอาจสร้างปัญหาให้ระบบเศรษฐกิจได้ ดังนั้น การจะใช้เครื่องมือดังกล่าวจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างแท้จริง เพราะดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเครื่องมือที่คุมอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอายุ 1 วัน ในขณะที่ดอกเบี้ยตลาดเงินมีหลายรุ่นมากตั้งแต่ 1 วันไปจนถึง 47 ปี
สำหรับข้อเสนอที่ว่าให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้านั้น นายธีระชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าคิดว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะถ้าดูเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรนั้น 71% เข้าในรุ่นที่อายุเกิน 1 ปี ดังนั้นการลดดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้า กลับไปเพิ่มความเสี่ยงเรื่องฟองสบู่ เครื่องมือในเรื่องดอกเบี้ยจึงถือเป็นหมากกลที่ต้องระวัง
ขณะที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 พ.ค.นี้ อดีตรมว.คลัง ตั้งความหวังเอาไว้ว่า กนง.จะยึดหลักการในการดูภาพรวมเศรษฐกิจ เพื่อตัดสินใจคุมปริมาณเงินที่เหมาะสมในระบบเศรษฐกิจ หาก กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวควรต้องเพิ่มปริมาณเงินเข้าระบบ ก็อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงมาได้ แต่หาก กนง.เห็นว่าสัญญาณการชะลอตัวไม่ได้ชัดเจน ก็อาจยังไม่ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็เป็นได้
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วิธีที่จะลดการแข็งค่าของเงินบาทให้ได้ผลมากที่สุด คือ ต้องแสดงให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งทำได้โดยรัฐบาลและธปท.ต้องถอยคนละก้าว โดย ธปท.ควรต้องยอมลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25-0.5% พร้อมทั้งนำมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายมาใช้
“การลดดอกเบี้ยอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่จำเป็นต้องลด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเงินจะไหลเข้ามาตลอด จึงควรต้องลดเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติรู้ว่าเราเริ่มเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหานี้ เพียงแต่นอกจากลดดอกเบี้ยแล้วยังต้องหามาตรการอื่นมารองรับด้วย ทั้งการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมทั้งการนำมาตรการด้าน Macro Prudential (การกำกับดูแลผ่านระบบสถาบันการเงิน) ขึ้นมาเพื่อป้องกันฟองสบู่ด้วย” นายพิชัย กล่าว
เขากล่าวด้วยว่า นอกจากการหาวิธีแก้ปัญหาเงินบาทระยะสั้นแล้ว จำเป็นต้องมองภาพในระยะยาวด้วยว่า มีวิธีใดบ้างที่จะนำเงินทุนที่ไหลเข้ามาเหล่านี้ไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ ธปท.ควรต้องนำมาคิด
**สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3219:-q--q&catid=32:rachdmenin-talk&Itemid=25