15 พ.ค.56 นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีการประชุมบอร์ดองค์การเภสัชกรรมในวันศุกร์ที่ 17 พ.ค.นี้มีวาระสำคัญจะปลด นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.ว่า ได้ยินข่าวนี้เช่นกันว่าเป็นใบสั่งทางการเมือง โดยบอร์ดจะใช้วิธีเลี่ยงให้ออกโดยจ่ายเงินจ้างออกเพื่อไม่ให้มีปัญหาการฟ้องร้อง ซึ่งสังคมคงต้องช่วยกันตั้งคำถามกับบอร์ด อภ. โดยเฉพาะประธานบอร์ด นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี และ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่ากำลังทำอะไรกับองค์การเภสัชกรรม
“เรากำลังตั้งคำถามกับฝ่ายการเมืองที่ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือตอบแทนผลประโยชน์พรรคพวก ทำให้รัฐวิสาหกิจที่สำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเสียความเป็นอิสระ บ่อนทำลายศักยภาพขององค์การเภสัชฯที่เป็นเสาหลักของความมั่นคงทางยาของประเทศ สังคมไทยจะทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือต่างตอบแทนทางการเมือง ให้กับผู้มีอุปการะคุณของนักการเมือง โดยที่ไม่ได้มองเรื่องความสามารถ เราตั้งคำถามถึง นพ.พิพัฒน์ ประธานบอร์ด เป็นข้าราชการเกษียณ ที่เผอิญ เข้ามาตามวังวนนี้ และกำลังจะเอาผลงานคุณความดีในชีวิตราชการที่ผ่านมา มาเป็นส่วนหนึ่งของการ บ่อนเซาะทำลายความมั่นคงทางยาของประเทศ ที่หมอพิพัฒน์เคยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงทางยานั้น การเร่งรีบดำเนินการที่อาจจะเกิดขึ้น ในการประชุมบอร์ดวันศุกร์ที่จะถึงนี้ เป็นสิ่งชี้วัดที่สำคัญ ที่จะพิสูจน์ ธรรมาภิบาลในการทำงานของ บอร์ด อภ.ในการนำของ หมอพิพัฒน์” นายนิมิตร์ กล่าว
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ความพยายามทำลายองค์การเภสัชกรรมทั้งในฐานะองค์กรที่ผลิตยาชื่อสามัญหลักของประเทศ และทำลายภาพพจน์ของยาชื่อสามัญของรัฐมนตรีสาธารณสุขและคณะ มีความสอดคล้องอย่างมากกับความต้องการของสหภาพยุโรปในการเจรจาเอฟทีเอ ที่ส่งสัญญาณว่า ต้องการยกเลิกระเบียบการจัดซื้อพัสดุ ในการเจรจาหัวข้อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) และการพยายามทำให้ยาชื่อสามัญผนวกเข้าไปในนิยามยาปลอม ทั้งๆที่ไม่ใช่
“เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปแพลมออกมาว่า ต้องการยกเลิกระเบียบการจัดซื้อพัสดุ ในการเจรจาหัวข้อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) และการพยายามทำให้ยาชื่อสามัญถูกผนวกเข้าไปในนิยามยาปลอม ทั้งๆที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย และไม่ใช่หน้าที่ของ อย.ที่ต้องไล่จับยาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย.มีหน้าที่ดูแลเรื่องคุณภาพยาเท่านั้น เห็นชัดเลยว่า ต้องการทำลายผู้ผลิตยาชื่อสามัญ ซึ่งองค์การเภสัชเป็นผู้ผลิตยาชื่อสามัญรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และที่ผ่านมาผลงานขององค์การเภสัชฯโดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เพิ่มอำนาจต่อรองกับบริษัทยาข้ามชาติได้อย่างมาก จนยา วัคซีน และวัสดุเภสัชภัณฑ์ของบริษัทยาข้ามชาติต้องลดราคาลงอย่างมาก มีส่วนเพิ่มศักยภาพให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแลประชาชนได้ ดังนั้น ภาคประชาชนจึงต้องออกมาติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือการทำลายความมั่นคงของยาและระบบหลักประสุขภาพแห่งชาติ ไม่อยากคิดว่านี่เป็นเรื่องบังเอิญตรงกันกับบริษัทยาข้ามชาติ เราขอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะท่านอาจไม่รู้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพหรือ 30 บาท ที่พรรคของท่านสร้างมานั้นกำลังถูกทำลาย” นางสาวสารี กล่าว