Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ชาตกาลปรีดี นักวิชาการร่วมถก “เค้าโครงเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยสมบูรณ์”

$
0
0

 

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 56 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาเรื่อง “เค้าโครงเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยสมบูรณ์” เนื่องในวันชาตกาลปรีดี พนมยงค์ ประจําปี 2556 มีวิทยากร 2 คนได้แก่ รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ผู้ดำเนินรายการคือ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ ศิษย์เก่า และผู้สนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ เปิดประเด็นถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร มาเป็นระบอบประชาธิปไตยว่า มีความพยายามจะกระจายอำนาจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อให้ราษฎรมีเสรีภาพครอบครองปัจจัยการผลิตอย่างเท่าเทียม ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ จนนำไปสู่ลักษณะเศรษฐกิจแบบชาตินิยมในยุคจอมพลป.พิบูลสงคราม แต่ก็กล่าวได้ว่าการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยุคนี้พยายามจะเริ่มสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจก่อน

ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล กล่าวถึง เค้าโครงเศรษฐกิจ 2476 กับประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยอธิบายถึงเค้าโครงเศรษฐกิจ ของปรีดี พนมยงค์ว่า เป็นแบบจำลองหรือแผนแม่บทเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของรัฐบาล วางรากฐานจัดระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นเพียงโครงร่างที่จะนำมาถกเถียงกันในรายละเอียดเพิ่มอีก ปรีดีเชื่อในแนวคิดที่ว่าทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย เพราะต้องการช่วยเหลือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่รับภาระในการผลิต นั่นคือ ชาวนาและเกษตรกร ใช้หลักวิชามาบำรุงความสุขของราษฎร หลักวิชาดังกล่าว ว่าด้วยความมีเสรีภาพ เสมอภาคและภารดรภาพระหว่างมนุษย์ ให้มนุษย์อยู่ร่วมกันประกอบกิจการได้ โดยรัฐจะมีบทบาททางเศรษฐกิจในช่วงแรกและสนับสนุนให้ราษฎรพึ่งพาตัวเองได้เป็นสำคัญ จนเกิดเป็นรัฐสวัสดิการที่ราษฎรอยู่ร่วมกันแบบเป็นพี่เป็นน้อง

ในด้านแนวคิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ดร.ฐาปนันท์ กล่าวว่า ปรีดีให้ความสำคัญว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ว่าต้องประกอบด้วย ประชาธิปไตยทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนต้องมีทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย

ดร.ปริญญากล่าวว่า ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของปรีดีจึงไม่ใช่แค่บริบทของการเมือง แต่ต้องมีความเสมอภาคกันก่อน แล้วจึงมีเสรีในการหารายได้ เช่น ต้องได้ค่าแรงวันละ 300 บาทเท่ากันก่อน จากนั้นใครทำกี่วันก็ได้ผลตามที่ทำ ไม่ใช่ใครทำสิบวันก็ต้องเฉลี่ยรายได้ให้แก่คนที่ทำเพียงวันเดียว ปรีดีจึงไม่ใช่คอมมิวนิสต์ดังที่เคยถูกกล่าวหา

 รศ.แล เห็นว่าเค้าโครงเศรษฐกิจเป็นแผนการเปลี่ยนแปลงสังคมในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่เป็นแต่โครงการลอยๆ เพราะมีปฏิกิริยาตอบโต้ตามมามากมาย ฉะนั้นต้องดูว่าเค้าโครงนี้สร้างผลกระทบต่อใคร ทำให้ใครเกิดความหวั่นเกรง มีแนวโน้มจะเสียผลประโยชน์ อาจจะต้องกลับไปดูพระราชวิจารณ์ ส่วนประเด็นที่ปรีดีถูกโจมตีมากที่สุดในแผนนี้ คือข้อเสนอปฏิรูปที่ดิน และตั้งแต่ในอดีตจนถึงวันนี้ข้อเสนอนี้ก็ยังเป็นประเด็นอ่อนไหวและไม่เคยทำได้เลย

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรสิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นว่า เมื่อพูดถึงเค้าโครงเศรษฐกิจ ต้องพูดถึงบริบททางประวัติศาสตร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์การเมืองของไทย หรือของโลก เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมเค้าโครงเศรษฐกิจจึงเป็นไปไม่ได้ เริ่มจากปีเกิดของปรีดี ในปีค.ศ.1900 สิบปีต่อมารัชกาลที่5 สวรรคต ปีถัดมามีการปฏิวัติซุนยัดเซน อีกสิบกว่าปีต่อมาปรีดีอยู่ที่ปารีส ย่อมได้รับแนวคิดเสรีภาพ เสมอภาค และภารดรภาพมา บริบทของโลกในตอนนั้น ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในอังกฤษกำลังมีปัญหา ดังนั้นเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของโซเวียตย่อมผงาดขึ้นมา และยังมีฟาสซิสม์ขึ้นมาเผชิญกันด้วย ถ้าจะทำความเข้าใจระบบโลกและเข้าใจอาจารย์ปรีดีจึงต้องมองตรงนี้ด้วยให้เห็นภาพรวมทั้งหมด

ต่อข้อเสนอการปฏิรูปที่ดิน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แสดงความไม่เห็นด้วย โดยชี้ว่าจากความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่7 กับคณะราษฎรและปรีดีพนมยงค์ ต้องถือว่ารัชกาลที่7 เป็นฝ่ายผิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ปรีดีและคณะราษฎรเสนอมาจะต้องถูกเสมอไป เช่นเดียวกับในปัจจุบันทั้งฝ่ายที่คิดว่าตัวเองสู้เพื่อประชาธิปไตยและฝ่ายที่ต่อต้านประชาธิปไตยก็ตาม เมื่อเลือกอยู่ฝ่ายใดก็มักมองว่าฝ่ายที่ตนเลือกถูกเสมอ นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองไทย กับปรีดีก็เช่นกันมีคนสนับสนุนว่าถูกทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้วมีประเด็นที่เป็นปัญหามาก นั่นคือเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่พูดถึงกันวันนี้ เท่าที่ได้ศึกษามา การปฏิรูปที่ดินไม่ได้มีอยู่ในเค้าโครงนี้เลย แต่หัวใจของเค้าโครงคือการรวมชาวนาเอกชน ทำให้กรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชนสูญสลายไปต่างหาก ซึ่งก็อาจมีผลต่อเจ้าที่ดิน แต่ก็ไม่มาก ตนเห็นว่าการเอานามารวมกันนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะทรัพยากรของประเทศไม่เอื้ออำนวย จึงไม่ควรจะทำ เมื่อเสนอออกไปแล้ว ฝ่ายเจ้าก็ตกใจว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วก็กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้ากับคณะราษฎรที่รุนแรงที่สุดในเวลานั้น แต่ในความเห็นตน ปรีดีไม่ใช่คอมมิวนิสต์  แต่ซ้ายกว่าคอมมิวนิสต์เสียอีก เมื่อนำไปเปรียบเทียบบอลเชวิกก็ยังไม่เคยเสนอให้รวมหมู่ชาวนา

อย่างไรก็ตาม รศ.แล ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เป็นเพราะความไม่ชัดเจนของเค้าโครงเศรษฐกิจนี่เอง ทำให้ถูกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนำไปตีความและโยนความผิดให้คณะราษฎรได้ จนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองทั้งที่ไม่ใช่แผนเศรษฐกิจที่จริงจังเลย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles