กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชนประจำปีที่แล้วของไทย ชี้ปัญหาละเมิดจากการใช้กฎหมายพิเศษ ซ้อมทรมาน จำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก เรือนจำแน่นไม่ถูกสุขลักษณะ
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี 2555 ของประเทศไทย ซึ่งได้บันทึกปัญหาสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการใช้กฎหมายพิเศษ การซ้อมทรมานและสังหารผู้ต้องสงสัยในภาคใต้ การจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออก ปัญหาเรือนจำที่แน่นขนัดและไม่ถูกสุขลักษณะ
เรือนจำแน่นขนัด แหล่งแพร่โรคระบาด
สำหรับสภาพเรือนจำ รายงานระบุว่า เรือนจำของไทยมีผู้ต้องขังหญิงประมาณร้อยละ 15 และผู้ต้องขัลเยาวชนร้อยละ 1 โดยเรือนจำสภาพที่แน่นขนัดเกินไป เรือนจำทั้งหมดของไทยที่มีศักยภาพที่จะรองรับนักโทษได้ ราว 209,000 คน แต่กลับมีนักโทษคุมขังอยู่ราว 248,000 คน ทำให้ที่นอนไม่เพียงพอแก่ผู้ต้องขัง และยังขาดแคลนยารักษาโรคที่จำเป็นแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งรายงานระบุว่า "เป็นปัญหาที่ร้ายแรง"นอกจากนี้โรคระบาดยังแพร่กระจายทั่วไปอย่างรวดเร็วในเรือนจำ
สถิติจากสำนักงานสอบสวนและนิติการ กระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า ในระหว่างเดือนตุลาคม 2554-กันยายน 2555 มีผู้เสียชีวิตในระหว่างการคุมขังถึง 1,026 คน โดยเจ้าหน้าที่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเป็นสาเหตุธรรมชาติ รายงานยังได้ระบุถึงกรณีการเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพกุล ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างเป็นผู้ต้องขังในคดีที่เขาถูกตัดสินจำคุกจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเวลา 20 ปี ด้วย
นอกจากนี้ยังระบุว่า ในเรือนจำไทย มักคุมขังผู้ต้องขังก่อนการพิจารณาคดีไว้รวมกับนักโทษที่ถูกตัดสินคดีแล้ว คิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 27 ของประชากรในเรือนจำทั้งหมด และในส่วนของศูนย์คุมขังผู้อพยพ รายงานชี้ว่า เจ้าหน้าที่มักคุมขังผู้อพยพเพศชายและหญิง รวมถึงเยาวชนอายุมากกว่า 14 ปีไว้ด้วยกัน มีรายงานว่ามีการบังคับใช้แรงงานผู้อพยพและการรีดไถจากผู้คุมขังด้วย
รายงานชี้ม.112 เป็นอุปสรรคในการแสดงออกและรายงานข่าวเกี่ยวกับสถาบัน
ในประเด็นเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ รายงานระบุถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพูดถึงหรือรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากรัฐไทยมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ แม้แต่สื่อมวลชนต่างประเทศ ที่สามารถทำงานในประเทศไทยได้ค่อนข้างอิสระ ก็ต้องระมัดระวังหรือไม่รายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รายงานได้ระบุถึงกรณีการสั่งห้ามขายนิตยสารอีโคโนมิสต์เดือนเมษายนปีที่แล้ว เนื่องจากมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นฯ นอกจากนี้ ในสามจังหวัดภายแดนภาคใต้ที่ยังมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ก็ชี้ว่าทำให้เสรีภาพในการายงานข่าวลดลงด้วย
รายงานได้ระบุถึงกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ ที่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 11 ปี จากการตีพิมพ์บทความที่ทางการพิจารณาว่าละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นฯ และกรณีของเอกชัย หงส์กังวาล ที่ถูกตัดสินจำคุก 3 ปี 6 เดือน จากการขายซีดีสารคดีของช่องโทรทัศน์ ABC ของออสเตรเลียและเอกสารวิกิลีกส์
รัฐบาลเซนเซอร์เสรีภาพออนไลน์ด้วยพ.ร.บ.คอมพ์
ด้านเสรีภาพอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย รายงานชี้ว่า รัฐบาลเซ็นเซอร์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตด้วยการใช้กฎหมาย เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และมีการขออำนาจศาลปิดกั้นเว็บไซต์หลายพันแห่ง รายงานอ้างข้อมูลจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
การกระทำความผิดทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ในปี 2554 มีการฟ้องร้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ 776 คดี และดำเนินคดีจำนวน 442 คดี ซึ่งสูงขึ้นมากหากเทียบกับปี 2552 ซึ่งมี 47 คดี และในปี 2553 ซึ่งมี 285 คดี
รายงานได้อ้างสถิติเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นจากไอลอว์(โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำวิจัยเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ว่ามียูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นในปีที่แล้วจำนวน 21,000 ยูอาร์แอล ซึ่งร้อยละ 80 เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ถูกพิจารณาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยตั้งแต่พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ถูกบังคับใช้ในปี 2550 มียูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นทั้งหมดจำนวน 102,000 ยูอาร์แอล ซึ่งร้อยละ 70 เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ถูกพิจารณาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
นอกจากนี้ยังได้อ้างกรณีต่างๆ ที่ถูกตัดสินจำคุกจากกฎหมายดังกล่าวด้วย เช่น กรณีของสุรภักดิ์ ภูไชยแสง โปรแกรมเมอร์ที่ถูกดำเนินคดีปีที่แล้ว แต่ถูกยกฟ้องในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรณีของธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ออกแบบเว็บไซต์นปช. ยูเอสเอ (ในรายงานระบุว่าเป็นเว็บมาสเตอร์) ที่ถูกตัดสินจำคุกในเดือนมี.ค. 2554 เป็นเวลา 13 ปี กรณีของอำพล ตั้งนพกุล ชายวัย 62 ปีที่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งเสียชีวิตลงในเรือนจำในเวลาต่อมา และกรณีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท (ในรายงานระบุว่าเป็นเว็บมาสเตอร์) ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน แต่รอลงอาญา
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวยังกล่าวถึงปัญหาอื่นด้วย ที่เด่นชัดได้แก่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการสังหาร การซ้อมทรมาน และการจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก และพ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐยังลอยนวลจากการกระทำความผิดด้วย
ที่มา: www.humanrights.gov