Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เหตุใดผู้หญิงอินเดีย ถึงถูกโจมตีในโซเชียลมีเดีย

$
0
0

การคุกคามทางเพศและทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ในอินเดียลามเข้ามาในโลกอินเตอร์เน็ต เช่น ขู่ว่าจะรุมโทรม หรือตามหาข้อมูลคนในครอบครัวมาเผยแพร่ และเหยื่อการคุกคามเหล่านี้มักจะเป็นผู้หญิงที่แสดงความเห็นทางการเมืองหรือด้านความเชื่อศาสนา

 

สำนักข่าว BBC รายงานเรื่องผู้หญิงในอินเดียมักจะถูกกล่าวโจมตีในโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงกรณีของ ซาการิกา โกศ ผู้ประกาศข่าวชื่อดังในรายการข่าว CNN-IBN และเป็นผู้เขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ชั้นนำในอินเดียถูกกล่าวโจมตีและคุกคามผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 177,000 คนด้วยคำขู่ว่าจะเปลื้องผ้าและรุมข่มขืน รวมถึงมีการข่มขู่ด้วยการหาชื่อและรายละเอียดของลูกสาวเธอไปโพสต์ในทวิตเตอร์

ซาการิกา กล่าวถึงการที่ลูกสาวเธอถูกข่มขู่ว่า มันเป็นเรื่องน่ารังเกียจมาก สองสามวันหลังจากนั้นเธอต้องไปรับไปส่งลูกเธอเองแทนการใช้ขนส่งมวลชนเนื่องจากความกลัว

"ถ้าพวกเขาว่ากล่าวฉันในแง่ความเป็นนักข่าวก็ไม่เป็นไร แต่การที่พวกเขาใช้วาจาในเชิงเหยียดหยามทางเพศ ทำให้ฉันโกรธมาก ในตอนแรกฉันก็โต้ตอบกลับไป แต่มันก็จะทำให้มีการคุกคามเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น"ซาการิกากล่าว

ซาการิกาเปิดเผยว่าผู้หญิงในอินเดียที่ถูกคุกคามผ่านทวิตเตอร์ มักจะเป็นคนที่มีแนวคิดเสรีนิยมหรือฆราวาสนิยม เธอบอกอีกว่า ผู้คุกคามเป็นกลุ่มชาตินิยมฝ่ายขวาที่รู้สึกโกรธเมื่อผู้หญิงพูดแสดงความคิดเห็นออกมา พวกเขาถึงขั้นสร้างคำใหม่ขึ้นมาเรียกพวกเธอคือคำว่าซิกคิวลาร์ หรือ "พวกป่วยไข้" (sickular ล้อเลียนคำว่า secular ที่หมายถึงฆราวาสนิยม)

ซาการิกาบอกว่าเธอจำเป็นต้องเลิกแสดงความเห็นลงในทวิตเตอร์ "ฉันทำแค่การนำเสนอรายการและเผยแพร่ข้อมูล แต่ว่าฉันก็ยังโต้ตอบ (รีทวิต) ข้อความที่คุกคามกลับไป เพราะฉันคิดว่าจำเป็นต้องแสดงให้เห็นความคระหนักในสิ่งที่นักข่าวสตรีต้องพบเจอ คุณจะทำอะไรได้มากกว่านั้นอีก"

กาวิตา กฤชนัน นักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีที่มีชื่อเสียงในอินเดียก็ถูกกล่าวโจมตีเช่นกัน ขณะที่เธอกล่าวถึงเรื่องความรุนแรงต่อสตรีผ่านระบบแช็ทออนไลน์ของเว็บไซต์ rediff.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวชั้นนำของอินเดีย

"เริ่มต้นมาก็ดี ฉันได้ตอบคำถามที่น่าสนใจสองสามคำถาม แล้วจากนั้นก็มีคนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า @RAPIST โพสท์คอมเมนต์ในเชิงคุกคาม เขาถามฉันว่าเขาจะมาข่มขื่นเธอโดยสวมถุงยางได้อย่างไร"กาวิตากล่าว

กาวิตาตัดสินใจออกจากการสนทนาครั้งนั้นหลังจากที่การคุกคามดำเนินต่อไป เธอบอกว่าเธอคิดว่าตัวเองเป็น 'คนหนังหนา'ที่สามารถตอบคำถามยากๆ พร้อมกับรับมือการคุกคามได้ แต่สำหรับเธอแล้วในกรณีนี้ถือเป็นการคุกคามทางเพศ

"สิ่งที่ทำให้ฉันโกรธคือการที่ Rediff ไม่สามารถทำให้ผู้มาเยือนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยได้ การพูดคุยไม่มีการกลั่นกรอง หรือผู้ที่ทำตัวคุกคามก็ไม่ถูกบล็อก"

Rediff ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ ต่อ BBC อย่างไรก็ตามพวกเขาได้โพสท์ข้อมูลการแช็ทที่ถูกดัดแปลงแล้วบนเว็บไซต์ โพสท์ที่เป็นข้อความในเชิงคุกคามถูกลบออก และมีการขอโทษกาวิตา

ผู้ใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คในอินเดียมีมากกว่า 90 ล้านคน และมีผู้หญิงใช้อยู่จำนวนมาก การสะกดรอยตามและการรังแกข่มเหงทางอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องปกติ

มีนา กานดาซามี ผู้เป็นนักเขียนและนักกิจกรรม ตัดสินใจไปพบตำรวจเมื่อเธอถูกคุกคามทางเพศบนอินเตอร์เน็ต

เมื่อปีที่แล้ว (2012) เธอเขียนทวิตเกี่ยวกับเทศกาลกินเนื้อวัวที่มหาวิทยาลัยในเมืองไฮเดอราบัด หลังจากนั้นเธอก็ถูกข่มขู่ว่าจะข่มขืนหมู่พร้อมถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ จะเผาเธอทั้งเป็น และจะใช้น้ำกรดโจมตี

ชาวฮินดูซึ่งเชื่อว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และการทานเนื้อวัวเป็นสิ่งต้องห้ามได้ปะทะกับกลุ่มดาลิท กลุ่มชนชั้นล่างผู้ที่เคยถูกเรียกว่าจัณฑาล ซึ่งเป็นผู้จัดงานดังกล่าวขึ้น

มีนาเปิดเผยว่าเธอได้รับข้อความทวิตเตอร์ 30-50 ข้อความในช่วงหลายวัน จากที่มีคนโพสท์ทวิตเตอร์ราว 800 ข้อความภายใน 2-3 ชั่วโมงในช่วงที่มีเทศกาล

มีนาเชื่อว่าชายชาวอินเดียหลายคนทำเพื่อโต้ตอบโพสท์ที่เธอวิพากษ์วิจารณ์เรื่องระบบชนชั้นวรรณะของแนวคิดชาตินิยมแบบฮินดู

"ฉันถูกข่มขู่ใช้ความรุนแรงแม้กระทั่งนอกโลกอินเตอร์เน็ต จากคนที่ไม่ชอบข้อเขียนของฉัน ไม่ชอบแนวคิดการเมืองของฉัน หนังสือของฉันถูกเผา ฉันรู้สึกว่าความเจ็บปวดนั้นจริงและลึกกว่าสิ่งที่มาจากการกลั่นแกล้งและคุกคามของกลุ่มคนนิรนาม"มีนากล่าว

เค ใจชังการ์ ครูสอนวิชาอาชญวิทยาที่เคยศึกษาเรื่องการข่มเหงรังแก การลอบสะกดรอยตาม และการเหยียดหยามผู้หญิงทางอินเตอร์เน็ตกล่าวว่า "ความคิดแบบปิตาธิปไตยมีในอินเตอร์เน็ตเต็มไปหมด"

"ผู้ชายไม่ชอบให้ผู้หญิงพูดตอบกลับ คนสาธารณะที่แสดงความเห็นอย่างจริงจังจะถูกกลั่นแกล้งและบีบบังคับให้ออฟไลน์ไป"เค ใจชังการ์ กล่าว

ใจชังการ์ ผู้เคยให้คำปรึกษาผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตกล่าวว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในอินเดียส่วนใหญ่เป็นผู้ชายเก็บตัวที่ค้นพลว่าเว็บไซต์เป็นพื้นที่ที่พวกเขาสามารถเปิดเผยความคิดได้อย่างอิสระและอย่างเป็นนิรนาม

"คนเหล่านี้อาจจะเป็นคนที่มีอาชีพซึ่งเป็นที่เคารพ อย่างเช่น แพทย์ ทนายความ หรืออาจารย์ ในโลกความจริง แต่เมื่อเขาเข้าสู่โลกออนไลน์ เขาก็แสดงด้านมืดออกมา"ใจชังการ์ กล่าว

เดบาราตี ฮัลดาร์ ผู้ช่วยของใจชังการ์กล่าวว่าผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบในโลกออนไลน์มักจะไม่ค่อยไปหาตำรวจ แต่มักจะพยายามทำให้ข้อความน่ารังเกียจถูกลบออกไปซึ่งไม่ได้ง่ายนัก

ในกฏหมายของอินเดียเกี่ยวกับเรื่องนี้มีระบุไว้ในมาตราที่ 66A ของกฏหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวห้ามการส่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตในเชิงยั่วยุและลามกอนาจาร แต่ในขณะเดียวกันกฏหมายฉบับนี้กลับถูกรัฐนำมาใช้ในการปราบปรามผู้ต่อต้านในปัจจุบัน และในขณะเดียวกัน เดบาราตี บอกว่าผู้หญิงที่ถูกกล่าวข่มเหงทางเพศผ่านอินเตอร์เน็ตมักจะไม่สามารถทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการตามกฏหมายใดๆ ก็ตามต่อผู้ที่กล่าวข่มเหงได้

"ในหลายๆ ครั้ง เมื่อฉันสนับสนุนให้ผู้หญิงไปหาตำรวจ พวกเธอจะกลับมาแล้วบอกฉันว่าการร้องเรียนของพวกเธอถูกเพิกเฉยว่าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่พวกตำรวจก็บอกเธอว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย"

เดบาราตี มีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐควรทำคดีจริงจังมากขึ้นและฟ้องผู้กระทำผิดภายใต้กฏหมายไอทีมาตรา 66A แต่เธอก็บอกอีกว่าแค่การฟ้องผู้กระทำผิดภายใต้กฏหมายที่มีอยู่ในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศแต่อย่างเดียวก็ยังเป็นแค่เรื่องริมขอบในการแก้ปัญหาการคุกคามสตรีซึ่งมีหนทางอีกยาวไกล


เรียบเรียงจาก

Why are Indian women being attacked on social media?, BBC, 08-05-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles