นักวิชาการสื่อให้ความเห็นต่อการออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่องบริการสาธารณะ ชี้ยังไม่พร้อม ไม่ต้องรีบให้ เตือน กสทช. อย่าลืมหัวใจการปฏิรูปสื่อ แนะสำรวจความต้องการของประชาชนคนดูก่อน
(26 มี.ค.56) สำนักงาน กสทช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น “การปฏิรูปสื่อในทีวีดิจิตอลสาธารณะ : รูปแบบที่ควรจะเป็น” ณ โรงแรมเซนจูรี่ มีนักวิชากรจากสายนิเทศศาสตร์ และสายเศรษฐศาสตร์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยน
สุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของแนวคิดจัดสรรคลื่นทีวีใหม่ในช่องดิจิตอลสำหรับบริการสาธารณะ ซึ่งเบื้องต้นบอร์ด กสท.ตีความว่าจะไม่ได้เป็นเหมือนไทยพีบีเอส แต่เป็นทีวีสาธารณะซึ่งอิงจาก พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ 51 เป็นสำคัญ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้หลายประการ และได้คัดค้านไว้ตั้งแต่ปี 51 แล้ว แต่เมื่อมีหน้าที่บังคับใช้ก็ต้องใช้ไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ข้อขัดแย้งในสังคมขณะนี้คือลำพังเกณฑ์ใน พ.ร.บ.ฯ นั้นเพียงพอหรือไม่
สุภิญญา กล่าวว่า เมื่อเช้าที่ผ่านมา บอร์ด กสท.มีมติ 3:2 ว่าจะแบ่งช่องบริการสาธารณะ 12 ช่องในเชิงเนื้อหา แต่ไม่ได้แบ่งในเชิงความเป็นเจ้าของ ซึ่งส่วนตัวอยากให้แบ่งด้วย ขณะที่เกณฑ์การประกวดหรือ beauty contest ตอนนี้ก็ยังไม่มีการลงรายละเอียด
สุภิญญา กล่าวว่า จากมติบอร์ด กสท. ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง จะเหลือ 8 ช่องเป็นช่องใหม่ เนื่องจากจะแบ่ง 4 ช่องให้กับผู้ประกอบการรายเดิม คือ ช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส ได้ใช้ออกอากาศคู่ขนานไปจนกว่าจะยุติ สำหรับไทยพีบีเอสนั้นขอ 2 ช่อง โดยอาจทำช่องเยาวชนและครอบครัวด้วยแต่มีเงื่อนไขว่าจะคืนอนาล็อกให้ กสทช.เมื่อไหร่ ขณะที่ช่อง 5 และ 11 ไม่มีเงื่อนไขว่าจะคืนเมื่อไหร่ ทั้งยังได้สิทธิทดลองออกอากาศดิจิตอลไปจนกว่าอนาล็อกจะยุติด้วย ซึ่งตนเองและ ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช.อีกคน ไม่เห็นด้วย และมองว่าควรใช้โอกาสนี้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองให้ช่อง 5 และ 11 มีการเปลี่ยนแปลง
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญกับการจัดตั้งองค์กรของช่องเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่ดูเพียงเนื้อหาอย่างเดียว นอกจากนี้ ถามไปยัง กสทช.ว่าทำไมต้องรีบแจก แรงกดดันมาจากไหน หากไม่พร้อมยังไม่ต้องให้ได้หรือไม่ เพราะการแจกเท่ากับเราปล่อยให้โครงสร้างเก่าเดินหน้าและขยายพื้นที่ออกไปอีก สุดท้าย โครงสร้างเก่าก็ไม่เปลี่ยนเลย
ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า จากมติเมื่อเช้า อาจทำให้ทีวีสาธารณะกลายเป็นโทรทัศน์ของภาครัฐไปเลย พร้อมยกตัวอย่างว่าที่ผ่านมา ช่องไทยพีบีเอสได้งบประมาณจากภาษีเหล้าบุหรี่ปีละเกือบสองพันล้านบาท ยังเกือบไม่รอด ผังรายการเปลี่ยนบ่อย เรทติ้งต่ำ มาโชคดีตอนเหตุการณ์ไม่ปกติปี 53 เรทติ้งจึงขึ้นมา ทั้งยังมีความพยายามเอาแบบฟรีทีวีช่องอื่น ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ไม่สนองเจตนารมณ์ทีวีสาธารณะอย่างชัดเจน หากจะแบ่งทีวีสาธารณะเป็น 12 ช่องตามมติ มองว่าเหมือนลงทุนมหาศาล ที่จะผลิต 12 ช่องที่ไม่มีคนดู ขณะที่เทรนด์โทรทัศน์ก็ลดความนิยมลง คนหันไปใช้โซเชียลมีเดีย แต่กลับมาเพิ่มช่องแบบช่อง 11 หรือไทยพีบีเอสเพิ่ม กำหนดสเปกแบบนี้ จะเสียเงินมหาศาล
เขากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผู้ที่จะได้สัมปทานยังต้องจ่ายค่าใช้บริการโครงข่าย ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ภาคเอกชนที่จะทำงานสาธารณประโยชน์จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่รอด จะอยู่ได้ต้องใช้งบของรัฐอย่างเดียว พร้อมชี้ว่า ไทยพีบีเอสยังต้องมีงบ สสส.อุ้ม หากมีอีก 12 ช่อง จะทำอย่างไร จะมีปัญหาตามมาแน่นอน ทั้งนี้ ย้ำด้วยว่า การล็อกสเปกแบบนี้ จะเป็นการเอื้อกับราชการ จนไม่เกิดทีวีสาธารณะอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าชะลอหรือค่อยๆ ให้ จะดีกว่าออกมาทีเดียว
สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธาน
สุวรรณา กล่าวต่อว่า กสทช.พยายามทำทีวีดิจิตอลโดยไม่คำนึงถึงการปฏิรูปสื่อ ซึ่งเป็นหัวใจของกฎหมายต่างๆ รวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ มองว่า โรดแมปดิจิตอลจะช้า เพราะจะเกิดการฟ้องร้องขึ้น ที่ผ่านมาใช้เวลา 10 ปีเพื่อมี กสทช. แต่ กสทช.มา จัดสรรสื่อใช้เวลาไม่เกินสามเดือน ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทบโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งประเทศ ทั้งนี้ เสนอว่า กสทช.จะต้องเปิดรับฟังความเห็น ตามกฎหมายที่ระบุว่าเรื่องใดที่กระทบกับความเป็นธรรมในการประกอบกิจการและสังคมในวงกว้าง กสทช.ต้องรับฟังความคิดเห็นด้วย
นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของ กสทช.คือการปฏิปสื่อ แต่ตอนนี้ กสทช. กำลังทำตัวเหมือนคนมีทรัพย์สมบัติ โดยลืมนึกถึงเป้าหมายว่าแจกเพื่ออะไร ต้องบรรลุอะไร ทั้งนี้ เห็นว่าไม่ควรรีบร้อนแจก พร้อมเสนอด้วยว่า กสทช.ควรทำสำรวจว่าคนดูอยากดูอะไรในช่องบริการสาธารณะทั้งหลาย เพื่อให้การตัดสินใจมีฐาน เป็นดุลพินิจที่ชอบ ที่อยู่บนข้อมูลเชิงประจักษ์
สุภิญญา กล่าวว่า จากการพูดคุยสรุปได้ 5 ประเด็นหลัก ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุม กสท.ในวันจันทร์หน้า (1 เม.ย.) ดังนี้
1.ผู้ประกอบการรายเดิม (ช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส) ไม่ควรได้สิทธิออกอากาศคลื่นดิจิตอลคู่ขนานจนกว่าอนาล็อกจะยุติ โดยไม่ปรับตัว
2. ต้องสร้างเกณฑ์ตรวจสอบ "หน้าที่"และ "ความจำเป็น"ของผู้ประกอบการรายเดิม หน่วยงานรัฐและองค์กรต่างๆ ที่ขอเข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงโครงสร้างความเป็นเจ้าของ
3. จัดทำคำนิยาม "บริการสาธารณะ"และเนื้อหาประเภทต่างๆ ให้ชัดเจน
4. แต่ละช่องต้องเสนอโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจน ที่สะท้อนความเป็นกลาง เป็นอิสระจากภาคการเมือง
5. ต้องมีเกณฑ์การประกวด beauty contest ที่ชัดเจน และเปิดให้ประชาชนประชาพิจารณ์