แถลงการณ์ ปชป. ระบุปี 53 มีการชุมนุมที่มีกองกำลังติดอาวุธ ก่อการร้ายต่อสู้ จนท. รัฐบาล ปชป. จึงได้นำประเทศกลับสู่ภาวะปกติด้วยกลไกต่างๆ ภายในขอบเขตกฎหมาย และยุบสภาเพื่อความปรองดอง "จาตุรนต์ ฉายแสง"เขียนบทความโต้ "ประชาธิปัตย์ยังไงก็เป็นประชาธิปัตย์อยู่นั่นแหละ"
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ได้เผยแพร่
"แถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ ต่อ กรณี "ปาฐกถามองโกเลีย""เพื่อชี้แจงหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมประชาคมประชาธิปไตย เมื่อ 29 เม.ย. ที่อูลานบาตอ ประเทศมองโกเลีย โดยยืนยันว่าการบริหารราชการของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น แก้ไขกฎหมายเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจ แทรกแซงองค์กรอิสระ ใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ประชาชนไม่พอใจและประท้วง ขณะที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการเผชิญหน้า และได้ตัดสินใจยุบสภา
ในแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปไตยไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้แต่ระบุเป็น "ฝ่ายทหารได้เข้าแทรกแซงในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2549 และแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนชั่วคราว"และยืนยันในแถลงการณ์ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ได้ให้ความเห็นชอบ
ในแถลงการณกล่าวด้วยว่า ที่นายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจาก "สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจำนวนหนึ่งที่เคยสนับสนุนพรรคพลังประชาชน ได้ตัดสินใจลงคะแนนในสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"ส่วนในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์สภาพการเมืองไทยมีการเผชิญหน้าและมีความรุนแรง เนื่องจากแนวทางแก้ว 3 ประการ "พรรค คนเสื้อแดง กองกำลังติดอาวุธ"ของทักษิณ ชินวัตร สำหรับรายละเอียดมีดังนี้
000
แถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์
นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2475 ประเทศไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยและอุปสรรคต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีประชาชนชาวไทยก็ไม่เคยหมดความหวังและไม่ท้อถอยในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง
ในการกล่าวสุนทรพจน์ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในที่ประชุมประชาคมประชาธิปไตย ณ เมืองอูลัน บาตอ ประเทศมองโกเลีย ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวติติงต่อกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศว่ามีการถดถอยและเสื่อมลง โดยอ้างว่าตัวเธอ พี่ชายของเธอ และครอบครัวของเธอเป็นผู้ปกป้องคุณค่าของประชาธิปไตยและยังกล่าวว่าฝั่งของเธอนั้นเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยกล่าวหาว่ามีกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยดำรงอยู่ภายในประเทศไทย
โดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นที่ประจักษ์กันทั่วไปว่าครอบครัวนายกรัฐมนตรี และโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น ร่ำรวยขึ้นมาจากการได้รับสัมปทานการสื่อสารในอดีตจากรัฐบาลที่นำโดยกลุ่มของทหารจากเหตุการณ์ปฏิวัติในปี พ.ศ. 2534 ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าสู่เวทีการเมืองและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2544 – 2549 การบริหารราชการแผ่นดินของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น เต็มไปด้วยการทุจริต คอร์รัปชั่น มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจ นโยบายการทำสงครามยาเสพติด ซึ่งก่อให้เกิดการฆาตกรรมเกินขอบเขตกฎหมายหรือ “การฆ่าตัดตอน” หลายพันศพ รวมทั้งนโยบาย “กำปั้นเหล็ก” ต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เป็นหลักฐานของการขาดเป็นประชาธิปไตย
วิธีการบริหารบ้านเมืองโดยการใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ ถ่วงดุล รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง และพวกพ้อง นำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชนจนการประท้วงลุกลามออกสู่ท้องถนน และรัฐบาลในขณะนั้นกลับสนับสนุนให้มีสถานการณ์การเผชิญหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจยุบสภาและในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ฝ่ายทหารได้เข้าแทรกแซงในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2549 และแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนชั่วคราว ต่อมาก็มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนได้ให้ความเห็นชอบต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2550 ในการลงประชามติซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย การเลือกตั้งทั่วไปจึงได้เกิดขึ้น
นายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชนที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สนับสนุนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และเป็นนายกรัฐมนตรีในต้นปีพ.ศ. 2551 จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อต่อสู้ต่อคดีทุจริต และไม่นานก่อนที่จะถึงการตัดสินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราวและมิได้กลับมาสู่ประเทศไทยจนกระทั่งปัจจุบัน โดยศาลได้พิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 2 ปีในคดีดังกล่าว
นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่ง จากการกระทำซึ่งขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และแม้ว่านายสมัคร สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก แต่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณกลับเป็นผู้ที่ได้รับการลงคะแนนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ตลอดมาทั้งนายสมัครและนายสมชายมีความพยายามที่จะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถเดินทางกลับสู่ประเทศไทยอย่างพ้นผิด และปราศจากมลทินทุกประการ เรื่องดังกล่าวเป็นชนวนก่อให้เกิดการประท้วงบนท้องถนนขึ้นอีกครั้ง หลังจากนั้นนายสมชาย ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะพรรคพลังประชาชนถูกยุบในข้อหาทุจริตในการเลือกตั้งและในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจำนวนหนึ่งที่เคยสนับสนุนพรรคพลังประชาชน ได้ตัดสินใจลงคะแนนในสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2553 โดยในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ สภาพการเมืองไทยมีการเผชิญหน้า และมีความรุนแรง สืบเนื่องมาจากแนวทางแก้ว 3 ประการ ของพ.ต.ท.ทักษิณและกลุ่มผู้สนับสนุน คือ พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง และกองกำลังติดอาวุธ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้นก็ได้มีส่วนร่วมในการประท้วงกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาให้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ใช่เป็นไปตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การชุมนุมได้มีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานของผู้อื่น และยังมีกองกำลังที่เรียกว่า “ชายชุดดำ” ใช้อาวุธสงคราม เช่น ลูกระเบิด M67 M79 และอาวุธสงครามต่างชนิด แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการกระทำเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับถ้อยแถลงของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าการประท้วงในปีพ.ศ. 2553 นั้นเป็นไปเพื่อประชาธิปไตยและเป็นไปในแนวทางของสันติวิธี แต่ควรจะเรียกว่าเป็นการชุมนุมที่มีกองกำลังติดอาวุธ ก่อการร้ายต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ฝ่ายรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้นำประเทศกลับสู่ภาวะปกติด้วยกลไกต่างๆ ภายในขอบเขตของกฎหมาย
ผู้เสียชีวิต 91 คนที่นางสาวยิ่งลักษณ์ระบุนั้น มีทั้งข้าราชการ ทหาร และตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษากฎหมายและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และผู้ประท้วงหลายคนถูกเข่นฆ่าด้วยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ และขณะนี้กระบวนการยุติธรรมของประเทศ ก็ได้มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาก่อการร้ายจากเหตุการณ์ดังกล่าว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่เพื่อเป็นการแสดงออกต่อความปรองดอง ในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2554
นางสาวยิ่งลักษณ์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประเทศไทยมีความเสถียรภาพและมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แต่นางสาวยิ่งลักษณ์กลับทำหน้าที่ด้วยการรับคำสั่งจากพี่ชาย และหลีกเลี่ยงการทำหน้าที่อย่างเช่นการเข้าร่วมการประชุมรัฐสภา นางสาวยิ่งลักษณ์และพ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงดำเนินการอย่างไม่ลดละ ที่จะรวบอำนาจรัฐ และพยายามลดความน่าเชื่อถือขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ ฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีกลุ่มมวลชนของรัฐบาลที่เรียกว่ากลุ่มคนเสื้อแดงยังได้มีพฤติกรรมคุกคาม ข่มขู่ องค์กรตุลาการ ภาคประชาชน พรรคการเมือง และสื่อมวลชนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อคุกคามฝ่ายตรงข้าม ด้วยพฤติกรรมดังกล่าว นางสาวยิ่งลักษณ์จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้กล่าวประนามผู้อื่นว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย
พรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดต่อหลักการว่าด้วยเสรีประชาธิปไตย ทั้งชายและหญิงควรจะได้รับความเคารพในสิทธิ การแสดงออกอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีความคิดทางการเมืองในฝ่ายของเสียงข้างมากหรือไม่ก็ตาม
การประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดง และการคุกคามต่อองค์กรภาคประชาสังคมและผู้ที่เห็นต่าง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการบ่อนทำลายสิทธิ เสรีภาพทางการเมือง และความหวังของประชาชนชาวไทย โดยที่การตระหนักและการเล็งเห็นการคุกคามต่างๆ ต่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยประชาชนคนไทย และมิตรสหายในประชาคมโลกเท่านั้น เราจึงจะสามารถร่วมกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาธิปไตยของประเทศมีความยั่งยืนสืบไป
000
ขณะเดียวกัน ภายหลังการเผยแพร่แถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ในวันนี้ (9 พ.ค.) จาตุรนต์ ฉายแสง ได้เขียนบทความ "แถลงการณ์ที่สูญเปล่า : ประชาธิปัตย์ขนานแท้จริงๆ"โดยระบุว่า "แถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ฉบับนี้ไม่น่าจะทำความเสียหายให้เกิดแก่นายกรัฐมนตรีแต่เท่าใด ถ้าจะเกิดความเสียหาย ก็คงจะเป็นความเสียหายต่อประเทศชาติ ซึ่งก็ยังน้อยกว่าที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำมาก่อนหน้านี้มากนัก ผู้ที่เสียหายมากที่สุดจากการออกแถลงการณ์ฉบับนี้น่าจะได้แก่พรรคประชาธิปัตย์และผู้นำพรรคคือคุณอภิสิทธิ์นั่นเอง"(อ่านบทความของจาตุรนต์ ที่นี่)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai