การกำจัดชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) ถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระดับโลก - ตามที่สะท้อนในกฎบัตรสหประชาชาติข้อที่เจ็ด - เรียกร้องในประชาคมทั้งระดับภูมิภาคและนานาชาติต้องหามาตรการร่วมกันเพื่อหยุดยั้งวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมและสรรค์สร้างกระบวนการอยู่ร่วมกันของชุมชนทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย บทความชิ้นนี้มุ่งอธิบายสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การ “กำจัดชาติพันธุ์” ในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า โดยเปรียบเทียบกับการกำจัดชาติพันธุ์ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ในอดีตสมาพันธรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย และสุดท้ายเสนอว่าการยับยั้งมิให้การกำจัดชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ขยายตัวควรเป็น “ความรับผิดชอบ” ของประชาคมอาเซียนอย่างไร
ความรุนแรงในรัฐยะไข่กำลังกลายเป็นสงครามกำจัดชาติพันธุ์?
รายงานสถานการณ์โดยกลุ่มเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) ฉบับล่าสุดระบุว่าความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชุมชนพุทธและมุสลิมในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ถึงจุดที่ฝ่ายหลังกำลังตกเป็นเหยื่อการกำจัดชาติพันธุ์ ความรุนแรงระลอกล่าสุดระหว่างชุมชนพุทธและมุสลิมในรัฐยะไข่ปะทุขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว ชายชาวโรฮิงญาถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงชาวพุทธในรัฐยะไข่ จากนั้นสองชุมชนถึงจุดแตกหัก เกิดการปะทะจลาจล ฆ่าสังหาร รวมถึงเผาทำลายบ้านเรือนจากทั้งฝ่ายชุมชนพุทธชาวยะไข่และชาวมุสลิมโรฮิงญา เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหากไม่นิ่งเฉยต่อการปะทะกัน ก็เข้าช่วยเหลือชาวพุทธทำร้ายชาวมุสลิม และในอาทิตย์ที่สองของเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการปราบปรามทั้งผู้ก่อจลาจลและชาวบ้านโรฮิงญาทั่วไป เหตุการณ์ปะทะส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นราว 100,000 คน ในจำนวนนี้คาดว่าเป็นชาวมุสลิมโรฮิงญาประมาณ 75,000 คน ความรุนแรงระหว่างสองชุมชนปะทุขึ้นอีกครั้งช่วงวันที่ 21-24 เดือนตุลาคม คราวนี้การก่อจลาจล ทำร้าย สังหาร และทำลายบ้านเรือนชาวโรฮิงญาเป็นแบบแผนระบบมากขึ้น มีรายงานว่าชาวมุสลิมโรฮิงญาเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงราว 70-80 คน ในจำนวนนี้ 28 คนเป็นเด็ก ในการโจมตีระลอกเดือนพฤศจิกายน ปรากฏหลักฐานว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศ (รวมถึงข่มขืน) หญิงชาวโรฮิงญา และในเดือนถัดมายอดผู้อพยพชาวโรฮิงญาสูงเป็นประวัติการณ์ ชาวโรฮิงญา 13,000 คนมุ่งหน้าไปยังมาเลเซีย ส่วนอีก 7,000 คนออกเรือมายังประเทศไทย ทว่าหลายร้อยชีวิตล้มหายตายจากขณะเดินเรือหนีภัยความรุนแรง ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคม กลุ่มชาวพุทธในเมืองเมกติลาไล่รื้อถอน ทำลายข้าวของ ที่พักอาศัยและร้านค้าของชาวมุสลิม รวมถึงมีการใช้ความรุนแรงต่อตัวบุคคลจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 40 ราย
ในทางกฏหมายระหว่างประเทศ เหตุปะทะ-สังหารในรัฐยะไข่ถือเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” (crimes against humanity) และจัดว่าเป็น “การกำจัดชาติพันธุ์” หลายคนอาจแย้งว่าเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ยังไม่ถึงขั้นสังหารหมู่ดังที่เกิดกับชาวยิวในเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หรือที่รวันดาในปีค.ศ. 1994 เพียงเพราะ “เลข” ผู้เสียชีวิตยังถือว่า “ต่ำ” - ราว 200 คน จากเหตุการณ์รุนแรงหลายระลอก – กระนั้นก็ดีตัวชี้วัดว่าเหตุการณ์ใดเข้าข่ายอาชกรรมต่อมนุษยชาติและการกำจัดชาติพันธุ์หรือไม่ มิใช่เพียงตัวเลขเท่านั้น แต่ยังรวมถึง “วิธีการ” ที่ใช้เพื่อกำจัดชุมชนทางวัฒนธรรมหนึ่ง อันส่งผลทั้งในปัจจุบันและ “อนาคต” ให้ชุมชนทางวัฒนธรรมนั้นสูญสิ้น โดยเฉพาะในกรณีการกำจัดชาติพันธุ์ สมาชิกในชุมชนทางวัฒนธรรมต้องถูกบังคับให้ออกจากดินแดนหนึ่งซึ่งกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงอ้างกรรมสิทธิ์ (โดยอาจอาศัยฐานประวัติศาสตร์ที่อ้างความชอบธรรมของกลุ่มต่อการเรียกร้องดินแดนนั้นคืน) ในรัฐยะไข่ เหตุที่ทำให้เชื่อว่าชุมชนพุทธและนักการเมืองท้องถิ่นกำลังดำเนินแคมเปญที่อาจนำไปสู่การกำจัดชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา ได้แก่;
แคมเปญต่อต้านมุสลิมกระตุ้นให้ประชาชนลุกขึ้นโจมตี ทำร้าย สังหารชาวมุสลิม โดยมีการจัดตั้งจากรัฐอย่างจำกัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ความรุนแรงที่ชาวโรฮิงญาประสบต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่เข้าพันตูในสงครามกับรัฐบาลทหารพม่ามาหลายทศวรรษ “สงครามต่อต้านการก่อการ” (counter-insurgency warfare) โดยมากมีรัฐบาลทหารเป็นคู่กรณีหลัก และดังนั้นการระดมสรรพกำลังมาจากกลไกของรัฐ
ปรากฎการใช้วิธีการทำร้าย-สังหารชนิดที่มุ่งสร้างความหวาดกลัวให้ชาวมุสลิมโรฮิงญา เช่นการใช้มีดหรือของมีคมอื่นๆ ฟันตามร่างกาย การข่มขืนอย่างเป็นระบบ เผาบ้านเรือน ร้านค้า ศาสนสถาน แต่วิธีการที่ปรากฏทั่วไปคือการโดดเดี่ยวชุมชนโรฮิงญามิให้เข้าถึงน้ำ อาหาร หยูกยา หรือเครื่องสาธารณูปโภคอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอื่นๆ รวมถึงการขัดขวางองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมิให้ทำงานได้ มาตรการเหล่านี้มุ่งหมายบังคับเหยื่อให้ย้ายออกจากพื้นที่
รัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุนแคมเปญกำจัดชาติพันธุ์ โดยหลายครั้งเจาะจงยิงชาวบ้านโรฮิงญาระหว่างเหตุจลาจล รวมถึงสังหารชาวบ้านที่ขัดขืนมาตรการบังคับย้ายออกจากพื้นที่ แม้ไม่ปรากฎหลักฐานชี้ชัดว่ารัฐบาลกลางพม่า “ขยิบตา” ให้กลุ่มท้องถิ่น ทว่าการนิ่งเฉย ไม่พยายามหยุดยั้งแคมเปญกำจัดชาติพันธุ์ เท่ากับอำนวยให้การทำร้าย-สังหาร ราบรื่นขึ้น
ทว่าความเกลียดชังนี้มีที่มาจากความกลัว “คนอื่น” (xenophobia) นับแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารพม่าดำเนินนโยบายกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์ และผลิตโฆษณาชวนเชื่อที่หล่อเลี้ยงความหวาดกลัวของชาวพุทธต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่น โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ความกลัวเช่นนี้เป็นเหตุให้ชุมชนพุทธเห็นว่าการติดอาวุธเพื่อ “ป้องกันตนเอง” หรือกระทั่งการสังหาร ทำร้ายชาวโรฮิงญาชอบธรรม (เช่น ความเชื่อที่ว่าชาวโรฮิงญาทั้งหมดเป็นผู้ก่อการร้าย ซ่องสุมอาวุธไว้ในมัสยิด และมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอัลดออิดะห์)
มีการประชาสัมพันธ์แคมเปญที่สร้างกระแสต่อต้าน เกลียดชังชาวมุสลิมโรฮิงในหมู่ชาวพุทธ แคมเปญเหล่านี้ฟังน่าเชื่อถือเพราะอาศัยอคติทางชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ (เช่น ชาวโรฮิงญามาจากบังคลาเทศ ไม่ใช่ชาวพม่าดั้งเดิม – ทั้งที่คนหนุ่มสาวชาวโรฮิงญาเกิดและเติบโตในประเทศ หรือข้ออ้างที่ว่าชาวมุสลิมพยายามครอบครองประเทศพม่าและบังคับให้ชาวพุทธหันมานับถือศาสนาอิสลาม) อีกทั้งได้คณะสงฆ์ช่วยป่าวประกาศประชาสัมพันธ์ (นำโดยกลุ่ม 969) และนักการเมืองท้องถิ่นสนับสนุน (พรรค Nationalities Development Party ซึ่งครองที่นั่งในรัฐสภาพม่าถึง 18 ที่นั่ง จาก 45 ที่นั่ง) แคมเปญนี้นำไปสู่การสร้างมติร่วมภายในชุมชนพุทธเพื่อ “ขับไล่” และยิ่งไปกว่านั้น “กำจัด” ชาวโรฮิงญาออกไปจากพม่า เช่น “Arakan Ethnic Cleansing Programme ระบุขั้นตอนต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างชุมชนบริสุทธิ์ที่ปราศจากชาวมุสลิมโรฮิงญา
ประสบการณ์ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา
สถานการณ์การชาวโรฮิงญาในพม่าใกล้เคียงกับจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์กำจัดชาติพันธุ์ชาวมุสลิมในบอสเนียฯ ระหว่างปีค.ศ. 1992-1995 รัฐบาลเซอร์เบียสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธชาวเซริ์บชนกลุ่มน้อยในบอสเนียฯ เข้ายึดครองดินแดนที่รัฐบาลเซอร์เบียอ้างว่าควรเป็นของชาวเซริ์บ เช่นเดียวกับกรณีรัฐยะไข่ การอ้างเช่นนี้พัฒนามาจากอคติทางประวัติศาสตร์ที่ว่าชาวบอสเนียนมุสลิมเคยเป็นชาวเซริ์บ นับถือศาสนาคริสต์ นิกายออธอดอกซ์ ทว่าเมื่ออาณาจักรออตโตมันยึดครองคาบสมุทรบอลข่านเมื่อคริสศตวรรษที่ 14 บอสเนียฯและเซอร์เบียตกเป็นอาณานิคมของอาณาจักรออตโตมัน ขณะที่ชาวเซริ์บในเซอร์เบียต่อต้านการครอบงำทางวัฒนธรรมของชาวเตริ์กและยังคงอัตลักษณ์ทางศาสนาของตนไว้ได้ ชาวเซริ์บในบอสเนียฯ ถูกกล่าวหาว่าสยบยอม และเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อนายพลเซริ์บนายหนึ่งเข้ายึดเมืองหลวงของบอสเนียฯ ในปีค.ศ. 1992 ประกาศว่าตนได้มา “ปลดปล่อย” บอสเนียจากจักรวรรดิออตโตมัน (ทั้งอาณาจักรออตโตมันได้ล่มสลายและกลายเป็นประเทศตุรกีตั้งเมื่อต้นคริสตศตววรษที่ 20 แล้ว) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาระกิจของกองกำลังชาวเซริ์บคือการทำให้ดินแดนบอสเนีย “บริสุทธิ์” อีกครั้งด้วยการชำระล้าง (cleanse) พื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยให้เป็ของชาวเซริ์บ โดยทำผลักดันชาวมุสลิมบอสเนียนออกจากพื้นที่ด้วยวิธีการต่างๆ
มาตรการ “กวาดล้าง” ชาวบอสเนียนดำเนินอย่างเป็นระบบ กองกำลังเซริ์บมักโจมตีพื้นที่ที่ตนพยายามยึดครองโดยยิงระเบิดวิถีไกลเข้าไปในชุมชนบอสเนียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนขวัญผวาและเริ่มอพยพออกจากพื้นที่ เมื่อกองกำลังเข้ายึดชุมชนดำเนินการตัดน้ำตัดไฟ ตัดช่องทางลำเลียงอาหารและยาจากหน่วยงานบรรเทาภัยของสหประชาชาติ “ปัญญาชน” ผู้นำศาสนา และการเมืองท้องถิ่นชาวมุสลิมบอสเนียนถูกหมายหัวฆ่า เพื่อกำจัดชนชั้นที่เป็นฐานกำลังของสังคม ชาวเซริ์บที่พยายามช่วยเหลือชาวบอสเนียนก็ถูกทำร้ายสังหารไม่ต่างกันด้วยโทษฐาน “ทรยศ” หญิงชาวมุสลิมถูกข่มขืน กองกำลังอ้างว่าเพื่อขัดขวางการสืบเผ่าพันธุ์ของชาวบอสเนียน เหตุสังหารที่รุนแรงที่สุดคือกรณีเซรเบรนิซา ที่ชายชาวมุสลิมถูกเลือกออกจากกลุ่มชาวบ้านบอสเนียนทั้งหมดในเซรเบรนิซา เพื่อยิงทิ้ง เหยื่อที่เสียชีวิตจากการสังหารหมู่ภายในวันเดียวมีจำนวนมากถึง 8,000 คน ส่วนที่เหลือเสียชีวิตระหว่างเดินทางหนีออกจากพื้นที่เป็นระยะทางพันกิโลเมตร เพราะไม่มีน้ำ อาหาร และยาติดตัวไปด้วย เมื่อเซอร์เบียตัดสินใจลงนามใข้อตกลงหยุดยิง Dayton ปรากฏว่าแคมเปญกำจัดชาติพันธุ์เกือบบรรลุเป้าหมาย โดยมีผู้เสียชีวิตมากถึง 215,000 คน ในจำนวนนี้ 160,000 คนเป็นชาวมุสลิมบอสเนียน ตัวเลขเหยื่อข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศอยู่ที่ราว 20,000 ถึง 50,000 ผู้พลัดถิ่นทั้งมุสลิมบอสเนียน เซริ์บ และโครแอต รวมกันราว 2.2 ล้านคน
แม้ขณะนี้สถานการณ์ในรัฐยะไข่ยังไม่เข้าขั้นบอสเนียฯ เมื่อปีค.ศ. 1995 แต่หากยังปล่อยให้แคมเปญกำจัดชาติพันธุ์ดำเนินต่อไป การสังหาร-ทำร้าย และผลักดันให้ชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศย่อมเกิดขึ้นเป็นระลอกอย่างต่อเนื่องดังที่ปรากฎแนวโน้มตั้งแต่ปีกลาย เราอาจได้เห็น “บอสเนียฯ” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่สมาชิกประชาคมแห่งนี้ซึ่งกำลังพยายามรังสรรค์วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย มิอาจเปลี่ยนแปลงชะตากรรมได้ เมื่อการณ์ล่วงเลยจนสายเกินแก้
“ความรับผิดชอบ” ของประชาคมอาเซียน
บรรทัดฐานใหม่ในการเมืองระหว่างประเทศเรียกร้องให้สังคมนานาชาติหยุดยั้งอาชกรรมต่อมนุษยชาติและการจำจัดชาติพันธุ์ หากรัฐล้มเหลวในการทำหน้าที่พื้นฐานคือรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่พลเมืองตนอย่างถ้วนหน้า บรรทัดฐานนี้เน้นย้ำว่าขณะที่รัฐต่างๆ ยังควรเคารพอำนาจอธิปไตยกันและกันด้วยการไม่แทรกแซงการเมืองภายใน แต่อธิปไตยไม่ควรกลายเป็น “ใบสั่ง” อนุญาตให้รัฐเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชน หรือกระทั่งเป็นผู้ลงมือเสียเอง เมื่อใดที่อธิปไตยเปลี่ยนใบสั่งฆ่า เมื่อนั้นประชาคมนานาชาติย่อมอาศัยสิทธิเข้าแทรกแซงเพื่อหยุดยั้งการกำจัดชาติพันธุ์ได้ เราเห็นปฏิบัติการแทรกแซงเพื่อ “ปกป้อง” ชีวิตพลเรือนในหลายพื้นที่ (โซมาเลีย บอสเนียฯ โคโซโว ลิเบีย ซูดาน เยเมน และล่าสุดมาลี เป็นต้น) ทว่าปฏิบัติการเช่นนี้ไม่ใคร่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ในทางหนึ่งนี่เป็นผลมาจากหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในที่ผู้นำรัฐในภูมิภาคนี้ยึดมั่นจนกลายเป็นมนตราของกลุ่มอาเซียน ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุดที่บูรไน ปัญหาความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญายังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องว่าหลักการไม่แทรกแซงยังเป็นหัวใจหลักของความสัมพันธ์ในกลุ่ม ในอีกทาง เหตุที่ไม่มีการแทรกแซงด้านมนุษยธรรมในเอเชียอาคเนย์นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุด (ยกเว้นกรณีติมอร์ตะวันออก) อาจเป็นเพราะประชาคมแห่งนี้พัฒนาศักยภาพในการร่วมบรรเทาวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติร่วมกันได้ในระดับหนึ่ง กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ควรลืมศักยภาพนี้ของตน ยิ่งไปกว่านั้นควรเผื่อแผ่ความร่วมมือนี้ไปให้ไกลกว่าระดับรัฐ เพราะท้ายที่สุดแล้วประชาคมอาเซียนประกอบด้วยผู้คนซึ่งในหลายสถานการณ์แสดงความเห็นอกเห็นใจ สงสารต่อความทุกข์ร้อนของเพื่อนมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงพรมแดนแผนที่ ประชาคมคือชุมชนที่ผู้คนช่วยเหลือกันและรับผิดชอบต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมชุมชน