Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เมื่อปืนจากเครื่องพิมพ์สามมิตินำมาใช้ยิงได้จริง

$
0
0

กลุ่มดีเฟน ดิสทริบิวเต็ด ประกอบปืนชื่อลิเบอร์เรเตอร์จากชิ้นส่วนที่สร้างจากเครื่องพิมพ์สามมิติและนำมาทดลองยิงได้จริง ท่ามกลางการถกเถียงเรื่องการใช้อาวุธปืนในสหรัฐฯ หลังเกิดเหตุยิงเด็กนักเรียนเมื่อปลายปีที่แล้ว และนักกิจกรรมควบคุมการใช้ปืนก็กังวลว่าเทคโนโลยีอาจจะถูกนำมาใช้ในทางที่ไม่ดี

สำนักข่าว BBC รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าปืนที่สร้างมาจากเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติถูกนำมาทดลองยิงประสบความสำเร็จ โดยกลุ่มที่ชื่อว่าดีเฟน ดิสทริบิวเต็ด (Defense Distributed) ซึ่งเป็นกลุ่มในสหรัฐฯ ที่มุ่งสนับสนุนเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลด้านการประกอบปืน พวกเราเรียกตัวเองว่าเป็น ไพเรทเบย์แห่งการพิมพ์สามมิติ (Pirate Bay of 3D Printing)

กลุ่มเหล่านี้ใช้เวลาหนึ่งปีในการพยายามสร้างอาวุธและได้ถูกนำมาทดสอบเป็นผลสำเร็จที่สนามยิงปืนในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พวกเขาเปิดเผยอีกว่าจะมีการนำพิมพ์เขียวของอาวุธปืนเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต ปืนตัวดังกล่าวมีชื่อลิเบอร์เรเตอร์ (Liberator) สร้างจากพลาสติกที่พิมพ์โดยเครื่องพิมพ์สามมิติ

เครื่องพิมพ์สามมิติทำงานโดยวิธีการวางวัตถุดิบลงไปเป็นชั้นๆ เพื่อประกอบเป็นรูปร่าง วัตถุดิบมีตั้งแต่พลาสติก, เซรามิค ไปจนถึงโลหะ บริษัทผลิตชิ้นส่วนอาศัยเทคโนโลยีนี้ในการสร้างต้นแบบชิ้นส่วนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ในตอนนี้เครื่องพิมพ์สามมิติเริ่มสามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยราคาที่ถูกลง สำนักข่าว The Independent เปิดเผยว่าปืนลิเบอร์เรเตอร์ที่ถูกผลิตซ้ำจากพิมพ์เขียวจะไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ เนื่องจากไม่มีหมายเลขสินค้าและใบเสร็จ

กลุ่มดีเฟน ดิสทริบิวเต็ด (Defense Distributed) ก่อตั้งเมื่อปี 2012 โดย โคดี วิลสัน นักศึกษากฏหมายอายุ 25 ปีจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสผู้เรียกตัวเองว่าเป็น 'นักอนาธิปไตยโลกไซเบอร์' (crypto-anarchist) โคดีกล่าวต่อ BBC ว่า "มีหลายประเทศในโลกนี้ที่ไม่อนุญาตให้คุณมีอาวุธในครอบครอง แต่เทคโนโลยีทำให้คุณมีมันได้ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับพวกนักการเมืองอีกต่อไป"

เมื่อ BBC ถามโคดีว่า เขาได้สำนึกบ้างหรือไม่ว่าปืนอาจจะตกไปอยู่ในมือของใคร โคดีตอบว่า "ผมรู้ดีว่าาเครื่องมือนี้อาจจะถูกนำไปใช้ทำร้ายคนอื่น แต่มันก็เป็นเครื่องมือที่ทำเช่นนั้นอยู่แล้วเพราะมันคือปืน ...ผมไม่คิดว่านั่นเป็นเหตุผลที่ผมจะไม่ทำมัน หรือเป็นเหตุผลที่ผมจะไม่นำมันออกมา"

ขณะเดียวกันกลุ่มนักกิจกรรมควบคุมการใช้อาวุธปืนแสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าว โดยเกรงว่าการผลิตอาวุธอาจจะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดี

วิเตอร์เรีย เบนส์ จากศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์ของหน่วยงานตำรวจยุโรป (Europol) กล่าวว่า แม้ในปัจจุบันอาชญากรจะยังใช้วิธีการเดิมในการเสาะหาอาวุธ แต่ถ้าหากเทคโนโลยีนี้เข้าถึงผู้ใช้ง่ายขึ้นและราคาถูกลง ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยง

กลุ่มดีเฟน ดิสทริบิวเต็ด ของโคดี ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานควบคุมแอลกอฮอลล์ ยาสูบ และอาวุธปืนของสหรัฐฯ (the Bureau of Alcohol, Tobacco, Firearms and Explosives หรือ ATF) ให้ผลิตและขายอาวุธดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ดอนนา เซลเลอร์ จากองค์กร ATF ก็บอกว่า 'ปืน'ที่ถูกพิมพ์ออกมาแบบสามมิติเป็นสิ่งถูกกฏหมาย ตราบใดที่ไม่อยู่ในข่ายต้องห้ามตามกฏหมายอาวุธปืนของสหรัฐฯ (National Firearms Act) เช่นปืนอัตโนมัติ

"ในสหรัฐฯ บุคคลสามารถประกอบอาวุธปืนไว้ใช้เองได้ อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจผลิตและซื้อขายอาวุธปืนต้องมีใบอนุญาต"ดอนนา เซลเลอร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศสหรัฐฯ อยู่ในช่วงที่มีการถกเถียงกันเรื่องกฏหมายควบคุมอาวุธปืน หลังจากเกิดเหตุคนร้ายบุกยิงคนในโรงเรียนประถมแซนดี้ฮุก ในรัฐคอนเน็กทิคัต พิมพ์เขียวของอาวุธปืนก็ถูกถอดออกจากระบบค้นหาของเว็บไซต์ บัญชีรายชื่อของกลุ่มผู้ผลิตในเว็บไซต์เรี่ยไรทุนถูกกักกันไว้ และสตราตาซิสผู้ผลิตเครื่องพิมพ์สามมิติก็ปฏิเสธไม่อนุญาตให้กลุ่มนำเครื่องเขาไปใช้

สมาชิกกลุ่มชาวนิวยอร์กต่อต้านความรุนแรงจากอาวุธปืนกล่าวเตือนว่า "อาวุธปืนนี้อาจจะตกไปอยู่ในมือของคนที่ไม่เหมาะสม เช่นอาชญากร, คนป่วยทางจิตอย่างหนัก, คนที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือแม้แต่เด็ก"

เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติเคยถูกกลุ่มองค์กรอาชญากรรมบางองค์กรนำไปใช้สร้างตัวอ่านบัตรที่เรียกว่า 'สคิมเมอร์'และใช้สอดลงไปในเครื่องธนาคาร

องค์กรบังคับใช้กฏหมายหลายแห่งทั่วโลกเริ่มมีผู้คนคอยจับตาอาชญากรรมทางไซเบอร์และเฝ้าระวังเทคโนโลยีอย่างเครื่องพิมพ์สามมิติ

สตีฟ อิสราเอล ส.ส. พรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ต้องการให้ระบุเรื่องการสั่งห้ามวัตถุดิบของปืนจากเครื่องพิมพ์สามมิติลงไปในกฏหมายอาวุธปืนที่ไม่สามารถตรวจสอบพบ (Undetectable Firearms Act) ซึ่งเป็นกฏหมายที่พูดถึงการสั่งห้ามการครอบอาวุธใดๆ ก็ตามที่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยเครื่องตรวจจับโลหะหรือเครื่องเอ็กซเรย์


เรียบเรียงจาก

Working gun made with 3D printer, BBC, 06-05-2013


Working gun can be made by anyone using a 3D printer, The Independent, 06-05-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles