Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24 - 30 กันยายน 2557

$
0
0

สถาบันอนาคตไทยศึกษาชี้ 7 สาเหตุที่ประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ำ  เสนอทางออกด้วยการพัฒนาคลัสเตอร์ในภูมิภาค

สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้เปิดเผยผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับประสิทธิภาพแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันซึ่งพบว่า ความสามารถในการแข่งขันของไทยต่ำกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนเล็กน้อย แต่ยังตามหลังอีกหลายประเทศ เมื่อเทียบกันในภูมิภาค เนื่องจากต้นทุนแรงงานต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นเร็ว และแซงประเทศเพื่อนบ้านในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถ้าเราดูที่ต้นทุนค่าจ้างต่อหน่วย (Unit Labor Cost) ของไทย จะพบว่าต้นทุนสูงขึ้นจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วราว 3% ในขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคมีต้นทุนถูกลง (อินโดนีเซียลดลง 12%, ฟิลิปปินส์ลดลง 26%) เพราะประสิทธิภาพแรงงานของไทยที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก (2% ต่อปี) เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย (3%) เวียดนาม( 4%) และจีน (10%)

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการลงทุนในประเทศที่ต่ำ ไม่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่จะเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ (Move up value chain) แรงงานมีระดับการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ไม่ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจ อีกหลายสาเหตุเป็นเรื่องของโครงสร้างตลาดแรงงาน เพราะแรงงานส่วนใหญ่นั้นยังคงอยู่ในภาคเกษตรที่เป็นภาคที่มีประสิทธิภาพแรงงานต่ำสุด ส่วนแรงงานที่ย้ายออกจากภาคเกษตรนั้น เข้าสู่ภาคบริการที่มีประสิทธิภาพแรงงานเพียงครึ่งหนึ่งของภาคอุตสาหกรรม มิหนำซ้ำพอย้ายออกมาก็อยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็กกว่า 10 คน มาเป็นลูกจ้างรายวัน หรือรายชิ้น มีมนุษย์เงินเดือนในภาคเอกชนเพียง 1 ใน 6 ของกำลังแรงงาน

ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาตามสาเหตุที่ว่ามา ก็ทำได้โดยการเพิ่มงบลงทุนภาครัฐ ปรับปรุงคุณภาพการศึกษา สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ซึ่งการแก้ปัญหาแบบนี้เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงกันมานานแล้วแต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเมื่อแก้ปัญหาในระดับประเทศคือการขาดการบูรณาการ ขาดความร่วมมือ การมองปัญหาเป็นไซโล จึงควรเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน และการบูรณาการได้ง่ายขึ้น เนื่องจากความรู้จักคุ้นเคยของแต่ละฝ่ายซึ่งต่างก็อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และทุกฝ่ายน่าจะเห็นประโยชน์ร่วมกันที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนกว่า วิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือการสร้างและพัฒนาคลัสเตอร์ใหม่ในภูมิภาค”

การพัฒนาคลัสเตอร์ในภูมิภาคนั้นมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ อย่าง rubber valley ในเมืองซิงเตา ประเทศจีนก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง โคงการนี้ช่วยกระตุ้นการลงทุนจากรัฐและเอกชนเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังเกิดความร่วมมือระหว่างเอกชน กับสถาบันการศึกษาในการผลิต/ฝึกอบรมบุคคลากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ยางพารามากกว่า 3,000 คนต่อปี รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์วิจัย และแล็บเพื่อรองรับการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตยางในท้องถิ่นได้

(สถาบันอนาคตไทยศึกษา, 24-9-2557)

'ปานเทพ'เตรียมเฉ่ง จนท.รัฐ เอี่ยวหลอกคนไทยเป็นแรงงานทาส

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตมีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรู้เห็นในการหลอกลวงแรงงานไทยไปเป็นทาสบนเรือประมงที่อินโดนีเซีย ว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ร้องต่อป.ป.ช.ให้ตรวจสอบในกรณีดังกล่าว แต่หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจริงถือเป็นการกระทำผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องดังกล่าวนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจ มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา นายปานเทพ กล่าวว่า หากเป็นการตั้งข้อสังเกตของนายกรัฐมนตรีตามที่เป็นข่าว และเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ป.ป.ช.ก็สามารถหยิบยกเข้าหารือในที่ประชุม ป.ป.ช.ได้ โดยสามารถนำเข้าหารือได้ทันทีในสัปดาห์หน้า แต่ถ้ามีผู้ร้องเรียนเข้าม ก็จะยิ่งเป็นการดี

(ไทยรัฐ, 24-9-2557)

ชี้ภาคเกษตร-ปศุสัตว์ พึ่งแรงงานต่างด้าวมากสุด เสี่ยงรับผลกระทบ

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยร่วมกันว่า จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรของไทย ที่แรงงานภาคเกษตรที่มีอยู่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงงานภาคการเกษตรวัยหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช ค่าจ้างแรงงาน ซึ่งต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิต และทดแทนแรงงานของไทย

ทั้งนี้ ได้ทำให้ประสบปัญหาในการจัดการแรงงานภาคการเกษตร โดยเฉพาะการจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาลและมาเช้าเย็นกลับ ยังไม่สามารถกำหนดเป็นกฎกระทรวงได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้การใช้แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรเป็นแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย หรือไม่ได้จดทะเบียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ มีการลักลอบเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน การเดินทางเข้าออกสามารถทำได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม พบว่า สถานการณ์แรงงานต่างด้าว ณ เดือน ส.ค. 2557 คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน ทั่วราชอาณาจักร มีจำนวนทั้งสิ้น 1.56 ล้านคน จำแนกตามลักษณะการเข้าเมืองได้ 2 ประเภท ดังนี้ 1. แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย 1.54 ล้านคน 2. แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวมาเช้า-เย็นกลับ 2.77 หมื่นคน ซึ่งที่ผ่านมา คสช. ได้ออกประกาศตั้งศูนย์ขึ้นทะเบียน ออกใบอนุญาตเข้าเมืองและการทำงานให้แรงงานต่างด้าวจากกัมพูชา เมียนมาร์ และลาว  พร้อมขยายระยะเวลาทำการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ถึงวันที่ 31 ต.ค.2557 เพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศ โดยตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.-22 ก.ย. 2557 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.08 ล้านคน

สำหรับกิจการที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กิจการก่อสร้าง จำนวน 327,151 คน เกษตรและปศุสัตว์ จำนวน 158,157 คน การให้บริการต่างๆ 91,931 คน และงานประเภทอื่นๆ 509,510 คน ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น คาดว่า ผู้ประกอบการมีความต้องการแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวน 1.08 ล้านคน จากเดิมที่มีอยู่ 1.56 ล้านคน ดังนั้น ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ หากมีแรงงานต่างด้าวเพิ่มเข้ามาในภาคการผลิต จะส่งผลกระทบทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิต รวม 252,810.21 ล้านบาท โดยภาคเกษตรกรรม มีมูลค่า 27,233.71 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.77 ของภาคการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ ภาคปศุสัตว์ได้รับผลกระทบมากที่สุด มูลค่า 3,448.67 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ผักและผลไม้ อ้อย และข้าว ตามลำดับ

(ไทยรัฐ, 25-9-2557)

สปส.ไม่สนข้อเสนอ คสรท.แนะปรับเกณฑ์จ้างงาน 5 จ.ชายแดน ชี้ที่วางไว้รอบคอบดีแล้ว

ประธาน คสรท. แนะ สปส. ปรับเกณฑ์โครงการจ้างงานเขตพัฒนาพิเศษ  5 จังหวัดชายแดนใต้ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้สถานประกอบการ  ผู้ประกันตนเท่ากัน   เพิ่มดอกเงินฝาก สปส. มากกว่าร้อยละ 1  เลขาธิการ สปส. ยันวางเกณฑ์รอบคอบ ไม่ใช่ผู้ปล่อยกู้ ชี้ดอกเบี้ยผู้ประกันตนสูงกว่า เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำ  หากเกิดหนี้สูญไม่กระทบกองทุน
       
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดโครงการสนับสนุนการจ้างงานเขตพัฒนาพิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท ว่า เห็นด้วยกับการที่ สปส. ดำเนินโครงการนี้เพราะผู้ประกันตนได้รับประโยชน์  แต่อยากให้พิจารณาธนาคารที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องไม่เป็นธนาคารที่มีปัญหาขาดทุน รวมทั้งควรปรับเกณฑ์ปล่อยกู้จากที่ธนาคารปล่อยกู้ให้แก่สถานประกอบการรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี  และผู้ประกันตนรายละไม่เกิน 150,000 บาท คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งทั้งสองกลุ่มควรคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 เท่ากัน รวมทั้ง สปส. ควรได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่ร่วมโครงการอยู่ที่ร้อยละ 2 ไม่ใช่แค่ร้อยละ 1
       
นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สปส. กำหนดหลักเกณฑ์มาอย่างรอบคอบแล้วโดยโครงการนี้ทำมาแล้ว  5 ปี และผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด สปส. ซึ่งมีทั้งตัวแทนฝ่ายรัฐ นายจ้างและลูกจ้าง โดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ได้ขอให้ขยายโครงการอีก 5 ปี ดังนั้น บอร์ด สปส. จึงให้ดำเนินโครงการต่อ  ซึ่งธนาคารที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่มีปัญหาขาดทุน
       
เลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดผู้ประกอบการไม่เกินร้อยละ  5 ต่อปี ผู้ประกันตนร้อยละ    6 ต่อปี  เพราะผู้ประกอบการมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ขณะที่ผู้ประกันตนบางรายไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน   ธนาคารต้องพิจารณาจากยอดเงินสะสมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ   ดังนั้น   ผู้ประกันตนจึงความมั่นคงน้อยกว่าและ  5  จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่เสี่ยง  ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่ สปส. ได้ร้อยละ 1 ไม่ถือว่าต่ำเกินไปเพราะบางธนาคารให้ต่ำกว่าร้อยละ1ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า สปส. ไม่ใช่ผู้ปล่อยกู้เพียงแต่นำเงินกองทุนประกันสังคมมาฝากไว้กับธนาคารที่ร่วมโครงการตามยอดเงินที่ธนาคารปล่อยกู้ ดังนั้น ผู้ที่แบกรับความเสี่ยง คือ ธนาคารที่ปล่อยกู้ หากเกิดกรณีหนี้สูญทางธนาคารก็ต้องรับผิดชอบเอง ส่วนเงินกองทุนประกันสังคมที่ฝากไว้นั้นยังอยู่ครบ ไม่มีการนำเงินไปหักชำระหนี้แทนสถานประกอบการหรือผู้ประกันตน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-9-2557)

6 ปีหลอกแรงงานลงเรือ 128 คน เหตุ "ไต๋กง"ขาดลูกน้อง

(30 ก.ย.) ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล เจ้าหน้าที่ทีมผู้สำรวจแรงงานลูกเรือประมง ศูนย์ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือลูกเรือ ของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) กล่าวในการเสวนา การช่วยเหลือลูกเรือไทยและข้ามชาติ "ตกเรือ"ณ เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย:คนตกเรือ ค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ลูกเรือประมงหรือไม่? ว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2549-2557 มีแรงงานเรือประมงร้องเรียนมูลนิธิแอลพีเอ็น 128คนแยกเป็นคนพม่า 112คนและคนไทย 16 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้วเป็นคนพม่า30คนและคนไทย 9คน โดยรายล่าสุดได้รับร้องเรียนเดือนส.ค.2557 ถูกทำร้ายกระทบระบบประสาทและแขนขวาพิการแต่ได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างแค่5 พันบาท นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเหลือแรงงานประมงในโซมาเลีย 38 คนแยกเป็นพม่า 22 คน ลาว1คน กัมพูชา 1คนและคนไทย14คน
       
น.ส.ปฏิมา กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ที่ตรวจสอบและช่วยเหลือแรงงานประมงที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย มีแรงงานมาขอความช่วยเหลือขอกลับประเทศแยกเป็นคนไทย 10 คน และพม่า 19 คน ซึ่งในส่วนคนไทยคาดว่าถูกหลอกลงเรือ 3คน แรงงานบางส่วนสมัครใจไปแต่ทำงานบนเรือไม่ไหว อยากกลับประเทศก่อนกำหนด 3 ปีแต่กลับ จึงหลบหนีขึ้นฝั่ง และพบปัญหาหลายกรณีเช่น แรงงานถูกเอกสารและหนังสือคนประจำเรือ(ซีแมน-บุ๊ก)ถูกหัวหน้าคนงานยึดไว้ การปลอมและสวมสิทธิ์ซีแมนบุ๊กชื่อคนไทยแต่หน้าตาต่างชาติ บางส่วนถูกขังในห้องน้ำถึง 5วันต้องประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอินโดนีเซียเข้าช่วยเหลือ ทั้งนี้ มูลนิธิจึงประสาน ตม. หน่วยงานรัฐ เอกชนในอินโดนีเซีย รวมทั้งกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงานของไทยให้การช่วยเหลือพาแรงงานกลับไทย
       
นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิแอลพีเอ็น กล่าวว่า กรมการกงสุลจะพาแรงงานประมงไทยในอินโดนีเซียกลับไทยมาก่อน 6คนในเร็วๆนี้และมูลนิธิกำลังช่วยเหลือแรงงานประมงชาวพม่าที่ทำงานบนเรือประมงไทย 18คน ซึ่งอยากให้หน่วยงานภาครัฐทำงานเชิงรุกและบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งเร่งแก่ปัญหาซีแมนบุ๊กปลอมและการสวมสิทธิ์ซีแมนบุ๊ก และประสานผู้ประกอบการเรือประมงนอกน่านน้ำไทยจัดอบรมแรงงานก่อนไปทำงาน
       
นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ กรรมการบริหารสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีเรือประมงนอกน่านน้ำไทยของไทยซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมทำประมงที่เกาะอัมบนกว่า 200 ลำและภายใน 90 วันเรือต้องเข้าท่าตามกฎหมายของอินโดนีเซีย เรือประมงนอกน่านน้ำไทยส่วนใหญ่ใช้แรงงานโดยไม่มีการค้ามนุษย์ ซึ่งนายจ้างเสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าดำเนินการเอกสาร จ่ายเงินเดือนล่วงหน้ารวมกว่า 5 หมื่นบาทต่อคน โดยในจำนวนนี้เป็นค่านายหน้าจัดหาแรงงาน2หมื่นบาท มีเอกสารและหลักฐานรับรอง ทั้งนี้ ปัญหาการหลอกคนมาทำงานบนเรือประมงยังคงมีอยู่โดยเกิดจากไต๋กงหรือหัวหน้าคนงานใหม่ที่ไม่มีบารมี ไม่มีลูกน้องเก่า จึงใช้นายหน้าซึ่งหาแรงงานโดยหลอกคนมาจากสถานที่สาธารณะเช่น สถานีขนส่งหมอชิต สถานีรถไฟหัวลำโพง สนามหลวง จึงอยากให้หน่วยรัฐ เอกชนแก้ปัญหานี้ซึ่งสมาคมพร้อมร่วมมือแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานควรไปตั้งโต๊ะรับสมัครงานที่สถานีขนส่งหมอชิต สถานีรถไฟหัวลำโพง รวมทั้งให้แรงงานประมงได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมและบริษัทขนส่งต้องดูแลอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการหลอกทำงานบนเรือประมง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30-9-2557)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles