Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

กรรมการสิทธิฯ เสนอ คสช.หยุดไล่คนออกจากป่า ชี้เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน

$
0
0

คณะอนุกรรมการที่ดินและป่าและคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน กสม.ทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช.เสนอยุติปฏิบัติการแผนแม่บทป่าไม้ปี 57 หยุดไล่คนออกจากป่า ชี้ที่ผ่านมา จนท.ไล่ชาวบ้านอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน

30 ก.ย.2557 คณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำหนังสือเสนอความเห็นถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีเจ้าหน้าที่อ้างคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 เข้าดำเนินการขับไล่ บุกยึด และรื้อทำลายทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าในหลายจังหวัด

ในหนังสือระบุว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบกรณีดังกล่าวจำนวน 18 คำร้อง จากผู้อยู่อาศัยและทำกินมาในพื้นที่ก่อนมีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ไม่มีตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านว่าพื้นที่เหล่านั้นได้แก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานรัฐที่ผ่านมาอย่างไร อยู่ในขั้นตอนใด รวมทั้งไม่มีการแยกแยะลักษณะของการกระทำ และเข้าข่ายผู้บุกรุกรายใหญ่ตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนดหรือไม่ นอกจากนี้ ยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและร่วมตัดสินใจ

โดยทั้งนี้ ในหนังสือระบุว่า การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ขัดต่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ข้อ 2.1 ที่ระบุว่า “การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมๆ นั้น ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป”

ในหนังสือระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯ พบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมาอาจเข้าข่ายการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

“จากการตรวจสอบได้พบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จัดทำโดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2557 และการปฏิบัติการตามแผนแม่บทดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมานั้น มีปัญหาของการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน”

สำหรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน กสม.ที่มีต่อ หัวหน้า คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อธิบดีกรมป่าไม้ และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่มีกรณีร้องเรียนต่อ กสม. โดยระบุความเห็นและข้อเสนอเบื้องต้น ดังนี้

1. ความเห็น

1.1 กระบวนการจัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และกระบวนการจัดทำแผนการปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทดังกล่าว ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ครบถ้วนรอบด้านอย่างเพียงพอ เช่น ภาคประชาสังคม นักวิชาการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว

การขาดการมีส่วนร่วมดังกล่าว ส่งผลให้การกำหนดวิธีการปฏิบัติงานตามแผนแม่บทฯ ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องขาดการพิจารณา “ทางเลือก” อื่นที่อาจบรรลุเป้าหมายสำคัญของแผนแม่บทฯ ได้แก่ การพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี ได้เช่นกัน นอกจากการมุ่งเน้นวิธีการไล่รื้อชุมชนเพื่อยึดคืนพื้นที่ป่าเพียงอย่างเดียว    ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย และยังรวมถึงขาดการพิจารณาทางเลือกของเทคโนโลยี เครื่องมือ และหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการตามแผน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือในการตรวจพิสูจน์สิทธิของชุมชนในพื้นที่ป่า เช่น แผนที่ต่างๆ ที่ต้องอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับการพิจารณาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชนนั้นด้วย มิใช่มุ่งเน้นแต่เพียงการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว

1.2 การปฏิบัติการที่ผ่านมาตามแผนแม่บทดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการกลั่นกรองและแยกแยะความแตกต่างของพื้นที่ที่มีบริบทความเป็นมาของปัญหา รวมทั้งวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน และไม่มีความชัดเจนในการกำหนดลักษณะการกระทำและผู้กระทำว่าลักษณะใดที่เข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดรายใหญ่ที่มีเจตนาในทางการค้าหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตน และลักษณะใดเป็นการกระทำเพื่อการดำรงชีวิตตามประเพณีวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ นอกจากนี้หลายพื้นที่ตามกรณีร้องเรียนได้ผ่านตรวจพิสูจน์และการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นจากรัฐบาลในอดีตและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลานาน แต่การปฏิบัติการโดยไม่แยกแยะกลั่นกรองตามกรณีร้องเรียนดังกล่าว ได้ทำให้สภาพปัญหากลับไปมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น และความขัดแย้งก็มีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย

1.3 เกิดปัญหาความไม่ประสานสอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทที่มีไม่ต่ำกว่า 25 หน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานระหว่างหน่วยงานในระดับนโยบายหรือระดับส่วนกลาง กับหน่วยงานในระดับปฏิบัติการหรือในระดับพื้นที่ ส่งผลให้การปฏิบัติการของหน่วยงานในระดับพื้นที่ อาจปฏิบัติการไปโดยขาดความเข้าใจและละเลยต่อการยึดกุมหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน ที่ควรจะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติการที่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย อาทิ พบว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ต่อชุมชนในพื้นที่ป่าหลายพื้นที่ทางภาคใต้ เช่น การไล่รื้อชุมชน การจับกุมดำเนินคดี และการตัดต้นยางพาราหรือการทำลายทรัพย์สินของราษฎรนั้น เป็นการดำเนินการไปก่อนที่การจัดทำแผนปฏิบัติการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามแผนแม่บทฯ จะแล้วเสร็จ ทั้งที่จากการพิจารณาเบื้องต้นต่อร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวของกรมอุทยานฯ นั้น มีขั้นตอนและกระบวนการที่พอจะถือได้ว่า เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในขณะที่การปฏิบัติการที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วในบางพื้นที่นั้นมีลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน

2. ข้อเสนอ

เพื่อป้องกันผลกระทบและความขัดแย้งที่อาจมีความรุนแรงมากขึ้นจนอาจกลายเป็นสาเหตุปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อราษฎร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติหรือชะลอการปฏิบัติการในพื้นที่ตามแผนแม่บทฯ เอาไว้ก่อน และให้เริ่มต้นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจต่อแผนแม่บทฯ และแผนการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทดังกล่าว


 

AttachmentSize
ต่อกรณีที่ดินป่าไม้.pdf81.61 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles