29 ก.ย.2557 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการติดตามประเด็นเศรษฐกิจไทย (Thammasat Economic Focus) ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุกเดือน ในครั้งแรกนี้นำเสนอเรื่อง "นโยบายเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลใหม่: อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ"โดยมีวิทยากรเป็นคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มธ. นำเสนอแนวนโยบายในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการคลัง, นโยบายการเกษตร, นโยบายพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน, นโยบายการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม, นโยบายกระจายอำนาจ มีผู้ดำเนินรายการคือ ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
ประชาไทเก็บความมานำเสนอ
นโยบายการคลัง : การใช้จ่ายภาครัและภาษี
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์
ข้อเสนอแนะ สิ่งที่รัฐบาลควรทำ
ด้านรายรับ | ด้านรายจ่าย |
1.เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาลให้มากขึ้น เป็นมาตรการที่ควรดำเนินการมานานแล้ว แต่ควรคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายภาษีของประชาชนควบคู่กันด้วย | 1.เร่งรัดการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของรัฐบาล เนื่องจากภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าศักยภาพแท้จริง |
2.สนับสนุนการนำภาษีมรดกมาใช้ แต่ไม่ใช่มาตรการภาษีที่เร่งด่วน นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังว่าอัตราที่กำหนดไม่ควรเป็นภาระของประชาชนมากเกินไป หากออกแบบไม่ดีจะส่งผลให้แทนที่จะเป็นการส่งเสริมการออมของประเทศ จะกลายเป็นการกระตุ้นไม่ให้เกิดการออม | 2.การพิจารณาประเภทรายจ่ายเพื่อเป้าหมายแก้ไขความเหลื่อมล้ำควรมีความชัดเจนและตรงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง มองถึงประโยชน์ของผู้รับมากกว่าการทำแบบเหวี่ยงแหครอคลุมทั้งหมด |
3.พิจารณาการขยายการลดหย่อนต่างๆ สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อาทิ การลดหย่อนค่าใช้จ่ายที่ร้อยละ 40 ของเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ไม่เกิน 60,000 บาท) เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระรายจ่ายของประชาชน | 3.นำเป้าหมายสัมฤทธิผลการทำหน้าที่ของหน่วยงาน (key performances) ที่ไม่ใช่ผลสำเร็จของการทำหน้าที่ (Process) มาใช้ในการพิจารณาตัดลดงบประมาณฟุ่มเฟือย |
4.ควรพิจารณาการยกเลิกหรือเลิกลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่อยู่ในระบบภาษีที่ควรมีเพดานจำกัด เช่น LTF เพราะเป็นประโยชน์กับผู้มีรายได้ระดับกลางถึงสูง มากกว่าช่วยผู้มีรายได้น้อย | 4.พิจารณานำกฎหมาย พ.ร.บ.การเงินการคลัง พ.ศ..... ที่เคยยกร่างมาใช้เพื่อเป็นการวางรากฐานกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลังของภาครัฐในระยะยาว |
5. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างควรได้รับความสำคัญมากกว่าที่เป็น เรียกว่าเร่งด่วนกว่าภาษีแบบอื่นๆ เพราะจะทำให้โครงสร้างภาษีของไทยชัดเจนขึ้นและเป็นเครื่องมือ หรือกลไกบริหารจัดการที่ดินของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาของท้องถิ่น โดยรายได้จากการจัดเก็บภาษีเป็นทรัพยากรสำคัญให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปพัฒนาพื้นที่ |
|
6.หากนำการคืนภาษีเงินโอนเพื่อผู้มีรายได้น้อย (Negative income tax) มาใช้จริง ต้องมีการกำกับตรวจสอบผู้ได้รับประโยชน์อย่างจริงจัง หากไม่มีระบบการจัดการที่ดี นโยบายนี้จะเป็นภาระของรัฐบาลในการติดตาม |
|
7. ควรพิจารณาสิทธิพิเศษการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ควบคู่กับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล |
|
8.ควรพิจารณาการนำกฎหมายมาตรการการคลังสิ่งแวดล้อมมาใช้เพื่อกำกับธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสังคม |
|
9.การพิจารณาภาษีที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการไทยให้ลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม AEC ที่นำไปสู่การแก้ไขรายละเอียดของกฎหมายภาษีเพื่อป้องกันการโอนราคา (transfer pricing) ที่อาจเกิดจากช่องว่างของการเก็บภาษีที่แตกต่างกันระหว่างประเทศ |
|
10.เมื่อมีการนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ ต้องมีการพัฒนาศักยภาพการจัดเก็บภาษีที่ดินที่มอให้แก่ อปท. |
|
ข้อเสนอปฏิรูปการบริหารราชการ |
1.ปรับการทำหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนการทำงาน เพิ่มโอกาสเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐบาลมากขึ้น |
2.ลดภาระภาคเอกชนจากกฎระเบียบราชการที่ไม่จำเป็น |
3.กำหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ หรือ KPIs แท้จริงจากการทำหน้าที่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้าง accountability ของหน่วยงานที่ต้องเชื่อมโยงกลับสู่การใช้ทรัพยากรของประเทศ ทั้งที่อยู่ในรูปของงบประมาณ และไม่ใช่งบประมาณ |
นโยบายกระจายอำนาจ
ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์
ข้อเสนอแนะสิ่งที่รัฐบาลควรทำ และ ไม่ควรทำ
สิ่งที่ไม่ควรทำ | สิ่งที่ควรทำ |
1.ชะลอการกระจายอำนาจ หรือ ลดระดับการกระจายอำนาจ | 1.เพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารท้องถิ่น -แก้กฎหมายที่กำหนดจำนวนผู้เข้าชื่อสำหรับการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นและการเข้าชื่อเสนอเทศบัญญัติโดยประชาชนให้น้อยลง -ผลักดันการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดงบประมาณของ อปท. |
2. แช่แข็งการเลือกตั้งต่อไป โดยการระงับการเลือกตั้ง > แต่งตั้งข้าราชการแทน > อปท.ไม่ต้องรับผิดชอบต่อพื้นที่ เพราะแนวทางนี้ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน | 2.ลดอำนาจควบคุม อปท.ของกระทรวงมหาดไทย และเปลี่ยนวิธีกำกับตรวจสอบในแง่กระบวนการ ให้เป็นกำกับในแง่มาตรฐานภาระหน้าที่ -นายอำเภอและผู้ว่าฯ มีอำนาจกำกับควบคุม อปท.อย่างกว้างขวางทั้งอำนาจระงับการปฏิบัติงานของนายก อบต. อำนาจยุบสภาและปลดผู้บริหารของอบต. -งบประมาณประจำปีของ อบต.ต้องผ่านการอนุมัติของนายอำเภอ ทั้งที่ผ่านการพิจารณาของสภา อบต. แล้ว |
| 3.จัดสรรงบฯ แบบใหม่โดยใช้ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่เป็นตัวตั้ง ปฏิรูปวิธีการจัดสรรงบประมาณสู่ อปท. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่กำหนดให้พื้นที่ที่ยากจนที่สุดได้รับเงินอุดหนุนมากที่สุด จะช่วยลดอำนาจอัตวินิจฉัยของผู้มีอำนาจส่วนกลางในการกำหนดว่า อปท.ใดจะได้งบประมาณมากน้อยเพียงใด อันเป็นบ่อเกิดของการใช้เส้นสายในการ “วิ่งงบ” |
| 4.ลดสัดส่วนงบอุดหนุนเฉพาะกิจ เพิ่มสัดส่วนงบอุดหนุนทั่วไป เพื่อเพิ่มอิสระทางการคลังของท้องถิ่น -การให้ “เงินอุดหนุนทั่วไป” ทำให้ อปท.มีอิสระในการใช้จ่าย แต่ในปัจจุบันกลับมีสัดส่วนที่ลดลง -การให้ “เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ” ทำให้ อปท.ไม่มีอิสระในการใช้จ่าย เพราะถูกกำหนดมาแล้วจากรัฐบาลว่า อปท.จะต้องนำไปใช้อะไรบ้าง -นอกจากนี้เงินอุดหนุนเฉพาะกิจยังเป็นที่ซ่อนงบโครงการของรัฐบาลกลาง เช่น “เบี้ยเลี้ยงอสม.” “เบี้ยคนชรา” แต่ปัจจุบันกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ |
| 5.ยกเลิก “งบอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อพัฒนา อปท.กรณีเร่งด่วน” เนื่องจากเป็นงบฯ ที่มีเกณฑ์การจัดสรรไม่โปร่งใส เน้นงานก่อสร้าง อาจไม่ตรงความต้องการของท้องถิ่น นำไปสู่การใช้เส้นสายทางการเมือง สร้างความไม่เท่าเทียม-ไม่เป็นธรรม |
| 6.ยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาค เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสร้างรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น เมืองพิเศษ -“เสน่ห์” และความท้าทายของการกระจายอำนาจอยู่ที่การตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของท้องถิ่น ไม่จำเป็นจะต้องมีแต่เทศบาล อบต. อบจ. เท่านั้น -ควรมี “เมืองพิเศษ” มีหน้าที่พิเศษตามความต้องการของพื้นที่ เช่น เมืองพิเศษการค้าชายแดน (แม่สอด) เมืองพิเศษท่องเที่ยว (ภูเก็ต) เมืองพิเศษอุตสาหกรรม (มาบตาพุด) ฯลฯ |
นโยบายพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์
ข้อเสนอแนะนโยบายพลังงานที่ควรทำ
1.ปรับโครงสร้างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันและก๊าซให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
-ลดหรือยกเลิกการอุดหนุนก๊าซหุงต้มและ NGV
-ปรับภาษีน้ำมันดีเซลให้สูงขึ้นเพื่อให้น้ำมันดีเซลและกลุ่มน้ำมันเบนซินมีราคาใกล้เคียงกันมากขึ้น
2.เร่งตัดสินใจเรื่องแหล่งปิโตรเลียมได้แล้ว
-ควรเร่งเปิดประมูลการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยใช้ระบบสัมปทานในปัจจุบันและอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้สนใจลงทุนสามารถยื่นข้อเสนอการแบ่งปันผลผลิตแก่รัฐ (production sharing) (ปัจจุบันอยู่ที่ รัฐ 60 เอกชน 40) เพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายก็ได้
-ควรเร่งพิจารณาแนวทางในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานในพื้นที่ผลิตที่ไม่สามารถต่อระยะเวลาได้อีกตามกฎหมาย เพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างน้อย 5 ปีก่อนการสิ้นสุดสัปทาน
-ควรเร่งเจรจาหาข้อยุติกับกัมพูชาในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมบริเวณพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย
3.ส่งเสริมแหล่งพลังงานหมุนเวียน
-ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ต้นทุน และศักยภาพของวัตถุดิบในประเทศโดยมีเป้าหมายให้กิจการพลังงานหมุนเวียนสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่มีการอุดหนุนในที่สุด
4.เพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน
-เพิ่มระดับการแข่งขันในกิจการพลังงานเพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับบทบาทของ ปตท.ในกิจการท่อก๊าซและโรงกลั่นน้ำมัน
5.จัดทำแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
-ควรจัดทำแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า (Power development plan หรือ PDP) ของประเทศที่เป็นที่ยอมรับได้โดยทั่วไป
-ควรมีการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติโดยเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาดและพลังงานหมุนเวียนต่างๆ
ข้อเสนอแนะนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน
1.ลงทุนในโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง
-เน้นการลงุทนเกี่ยวกับการขนส่งทางรางและทางน้ำ รวมทั้งการเชื่อมโยงจุดผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน
-เลือกดำเนินโครงการที่มีการศึกษาในรายละเอียดแล้ว เช่น รถไฟรางคู่, รถไฟฟ้าในเขต กทม., ท่าเรือและถนนมอร์เตอร์เวย์บางแห่ง
-ควรทบทวนโครงการที่ยังไม่มีการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง
2.จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
-ควรริเริ่มแผนในการแก้ไขปัยหาน้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างเป็นระบบ
-ให้ผู้มีส่วนได้สียมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนดังกล่าว
นโยบายการเกษตร
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล (ซูซูกิ) อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์
สิ่งที่ควรทำ | สิ่งที่ไม่ควรทำ |
1.ดูแลราคาปัจจัยการผลิต โดยกำกับกติกา ลดการผูกขาดและอำนาจตลาดของผู้ขายพันธุ์ ขายปุ๋ย ขายยา ไม่ใช่โดยการอุดหนุนปัจจัยการผลิต (รัฐซื้อมาแจกหรือขายราคาถูก) เพราะนั่นเป็นช่องทางคอร์รัปชั่นและเกษตรกรได้ของคุณภาพต่ำ | 1.อย่าโฆษณาโครงการเกินจริง เพราะ “รายได้” ในโครงการของรัฐมักหมายถึง “รายรับ” ที่ลืมหักค่าใช้จ่ายของเกษตรกรและของสังคม |
2.รัฐลงทุนด้านข้อมูล, ติดตามข้อมูล และให้ข้อมูลแก่เกษตรกร ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ ครบถ้วน และเห็นแนวโน้มในอนาคตจะทำให้เกษตรกรตัดสินใจได้ดีขึ้นและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ | 2.อย่าติดกับดักนโยบายแทรกแซงราคาผลผลิต เพราะยากที่จะจัดการราคา และยากที่จะควบคุมปริมาณการผลิตและคุมราคาตลาดโลกได้ ตัวอย่างเช่น ข้าว ยางพารา |
3.ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา เน้นการเพิ่มคุณภาพผลผลิต การลดต้นทุนการผลิต และลดความเสี่ยง เช่น การพัฒนาพืชพันธุ์ดี การพัฒนาเครื่องจักรทดแทนแรงงานที่หายาก | 3.อย่ามุ่งส่งเสริมการขยายการผลิตโดยไร้ขอบเขต เพราะเมื่อผลผลิตมาก ราคาที่ไร่นาจะตกต่ำ เช่น ยางพารา |
4.พัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุนการตลาด ส่วนนี้เป็นช่องว่างที่ไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยใดเข้ามาดูแล เช่น การพัฒนาการขนส่งทางราง ระบบเก็บรักษาพืชผล การแปรรูป การพัฒนาคุณภาพความปลอดภัยด้านอาหาร คัดเกรด สินเชื่อและประกันภัย | 4.หลีกเลี่ยงนโยบายที่กระทบฐานการผลิตของเกษตรกรยากจนผู้ที่ไม่มีทางเลือกมากนัก เช่น ทำให้ไร้ที่ดินทำกิน/ ต้องอพยพ/ ดินและน้ำเสื่อมเพราะให้ตั้งโรงงานใกล้ๆ (สิทธิของผู้อยู่ก่อน) |
5. การจัดการน้ำ ต้องไม่ลืมว่าการจัดการน้ำสัมพันธ์กับการใช้ที่ดินและการเติบโตของเมือง |
|
6.พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรด้วยระบบสวัสดิการ พัฒนากลไกองค์กรการเงินฐานรากและส่งเสริมบทบาทของ อปท. ในส่วนของการจ้างให้เลิกทำนานั้น หากดูแลไม่บิดเบือนราคาผลผลิตมากเกินไป เห็นว่าคนอยากทำภาคเกษตรน้อยลงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องจ้าง ปัญหาคือ คนที่ยังอยู่ในภาคเกษตร อยากออกแต่ออกไม่ได้เพราะไม่มีทางเลือก รัฐจะดูแล จัดการอย่างไร |
|
ความเห็นต่อนโยบายโซนนิ่ง
ระบบโซนนิ่ง จะไม่ได้ผลถ้าในพื้นที่โซนนิ่งไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งระบบดังที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของเกษตรกร การจัดการน้ำ การเข้าถึงเทคโนโลยีและการตลาด (การจัดการตั้งแต่ไร่นาถึงผู้บริโภค) ดังที่กล่าวมาข้างต้น
นโยบายการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม
ผศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์
ข้อเสนอแนะทางนโยบาย : สิ่งที่รัฐควรสนับสนุน
1.การยกระดับความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต้องทำควบคู่ทั้งทางด้านกายภาพและด้านคุณภาพ (Quality Infrastructure)
-การวิจัยประยุกต์ ที่ผ่านมามีการดำเนินการอยู่แล้ว , ความร่วมมือในการทำวิจัยระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมามีการทำอยู่แล้วและต้องให้ความสำคัญ, การให้ข้อมูลข่าวสารพื้นฐาน ยังต้องเร่งยกระดับ, ศูนย์ทดสอบ (Testing Centers) มีการกล่าวถึงแต่ยังไม่ครอบคลุม เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการยกระดับคุณภาพการผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ
-ศูนย์ทดสอบ (Testing Centers) มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพขบวนการออกใบรับรองต่างๆ , การยกระดับ/พัฒนาห้องทดสอบที่กระจัดกระจายตามสถาบันการศึกษาต่างๆ และให้ใบรับรองเพื่อให้ผลการทดสอบตามห้องแล็ปเป็นที่ยอมรับในระดับสากล, ให้แรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเครื่องมือทดสอบ หรือการจัดตั้งห้องแล็ปขนาดเล็กภายในโรงงาน, พัฒนาศูนย์ทดสอบกลางในบางผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมในวงกว้างและเกิดกำลังที่ภาคเอกชนรายหนึ่งจะทำได้ด้วยตัวเอง เช่น การมีสนามทดสอบรถยนต์ภายในประเทศ เป็นต้น
2.เปิดกว้างเรื่องกิจกรรมการวิจัยและการพัฒนา หรือ R&D และนำเอาระบบแรงจูงใจทางด้านภาษีแบบขั้นบันไดมาใช้
-อย่าปิดตัวเองว่า R&D หมายถึงการประดิษฐ์ค้ดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เท่านั้น
-ควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมอื่นๆ ด้วย อาทิ กิจกรรมการนำระบบจัดการโรงงานใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, การพัฒนาในลักษณะดัดแปลง, การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน, การลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ควรมีการแยกออกจากกันระหว่างผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก
-ผู้ประกอบการขนาดกลาง (M) และขนาดเล็ก (S) มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน ดังนั้น ควรมีการแยกมาตรการที่จะบรรเทาปัญหาของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน
-นอกจากนั้นต้องระมัดระวังการยึดติดกับคำจำกัดความของ SMEs ตามพ.ร.บ.วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME หมายถึง กิจการขนาดไม่เกิน 50 คนและ 50-200 คนตามลำดับ) ซึ่งอาจทำให้มาตรการความช่วยเหลือที่ตั้งไม่ได้ถูกส่งผ่านไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ
4.บูรณาการที่นำเอาเรื่องการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ และการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ภายใต้บริบทของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
-นโยบาการส่งเสริมการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ รัฐควรให้ข้อมูลแบบที่ Law Firm ทำได้, อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการฐานการผลิตเดิมที่มีอยู่ในประเทศ, เชื่อโยงกับการจัดตั้ง Regional Operating Headquarters และเชื่อมโยงกับแนวนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน
-แนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่น่าจะมีมาตรการเสริมเพื่อป้องกันการพึ่งพาแต่แรงงานราคาถูกจากต่างชาติโดยไม่ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เช่น การทยอยปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด และมีการประกาศอย่างชัดเจน
5.นโยบายการใช้ประโยน์จาก AEC
-การใช้ประโยน์จาก AEC ควรมุ่งไปที่การค้าชายแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านในอินโดจีน โดยเฉพาะที่มีพรมแดนติดกับไทย เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกค้าศักยภาพและเป็นช่องทางการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กของไทย