Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

วิเคราะห์ 'เซลฟี่'ผ่านมุมมองประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี และจิตวิทยา

$
0
0
เราอาจจะมองว่า "เซลฟี่"เป็นเพียงภาพถ่ายเพื่อความสนุกสนานตามแฟชั่นของการใช้สมาร์ทโฟน หรืออินเทอร์เน็ต แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้ว เซลฟี่กลับเป็นเรื่องของการสะท้อนมิติทางสังคมที่มีหลากหลายปัจจัย 
 
เมื่อพูดถึง “เซลฟี่” เราอาจจะมองว่ามันเป็นเพียงแค่ภาพถ่ายที่มีคนถ่ายเพื่อความสนุกสนานตามแฟชั่นของการใช้สมาร์ทโฟน หรืออินเทอร์เน็ต แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้ว เซลฟี่กลับเป็นเรื่องของการสะท้อนมิติทางสังคมที่มีหลากหลายปัจจัย และแน่นอนว่าปัจจัยเหล่านี้ต่างมีส่วนทำให้เซลฟี่กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับทั้งความรู้สึกนึกคิด จิตใจ ของผู้ถ่ายที่ทำให้เกิดความอยากที่จะศัลยกรรมตัวเอง นำมาซึ่งการขยายตัวของอุปกรณ์ไอทีในประเภทต่างๆที่แตกแขนงแยกย่อยออกมาหลากหลาย นำมาซึ่งชื่อเสียงและงานสำหรับคนๆหนึ่ง และทำให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เองก็เคยที่จะเซลฟี่มานานแล้วก่อนหน้าที่จะมีกล้องถ่ายรูป เพียงแต่อาจจะเรียกเป็นอย่างอื่นเท่านั้น
 
“กุ๊กไก่” คือ เน็ตไอดอลที่เป็นที่รู้จักในสังคมออนไลน์คนหนึ่ง ด้วยใบหน้ารูปไข่ ควงตาเล็กเรียว แก้มแดงเล็กน้อย ผิวขาวเนียน น่ารักภายใต้เครื่องแต่งหน้าเล็กน้อย เหมาะสมกับวัย ยี่สิบต้นๆ   ในช่วงเวลาอึดใจเธอก็ยกกล้องถ่ายรูปขึ้นไว้ด้านหน้าเธอด้วยในมือข้างหนึ่ง ส่วนมืออีกข้างก็โพสต์ท่าชูสองนิ้ว “แชะ” ใช่แล้ว มันคือเซลฟี่นั่นเอง
 
กุ๊กไก่โพสต์ท่าเพื่อถ่ายเซลฟี่
 
ชญานิสา คันทา หรือ กุ๊กไก่ นักศึกษามหาวิทยาลัยพายัพ  เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในอินเทอร์เน็ต (เน็ตไอดอล) จากการเป็นคอสเพลย์เยอร์ชื่อดัง และ เป็น ดีเจ ของบริษัทเกมการีนา ซึ่งมีชื่อเป็นที่รู้จักกันในวงการว่า ดีเจ มิซากิ จัง (DJ Misaki Chan)โดยเธอได้ให้ข้อมูลในเรื่องของเซลฟี่ในมุมมองของคนที่เป็น เน็ตไอดอลว่า การเซลฟี่ได้ช่วยให้เธอนั้นเป็นที่รู้จักในวงการเกมส์และการคอสเพลย์ ประกอบกับการที่เธอได้ทำงานเป็นดีเจอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ทำให้ความโด่งดังของเธอในสังคมออนไลน์นั้นมีมากขึ้น ซึ่งนั้นทำให้เธอได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคมออนไลน์หลายอย่าง เช่น “เป็นดีเจกาลีน่า มันเกี่ยวกับเกมส์ ซึ่งมีหลายๆ เกมส์ เขาจะออดิชั่นดีเจเข้ามาเพื่อดึงดูด จะเป็นคนมีความรู้ด้านเกมส์หรือไม่ก็ได้ สำหรับดีเจในอินเทอร์เน็ต ใครที่พอมีชื่อเสียงก็จะมีมาทำงานด้านนี้”
 
รูปเซลฟี่ของกุ๊กไก่
 
หรืออย่างอย่างกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องเกมส์ “เขาเห็นว่าเราเป็นไอดอลเกมส์ก็มีคนมาถามเกี่ยวกับเรื่องอุปกรณ์การเล่นเกมส์ เลยได้มีโอกาสในการรีวิวอุปกรณ์ บริษัทเกมส์จะติดต่อมาแล้วช่วยรีวิวของที่เกี่ยวกับเกมส์ บางครั้งก็จะได้มาเป็นของ บางครั้งก็จะเป็นส่วนลด ในการตอบแทนอีกด้วย”
 
โดยการทำงานของเธอนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีการถ่ายรูปของตัวเองลงไป เธอบอกว่า เธอชอบที่จะถ่ายรูปเซลฟี่ของตัวเองมาก เพราะว่าการที่เธอถ่ายรูปเซลฟี่นั้นทำให้เธอได้สามารถที่จะเช็คตัวเองได้ว่าพร้อมสำหรับการทำงานในวันนั้นๆหรือไม่ เช็คว่ารูปร่างของตัวเองนั้นว่าอ้วน หรือ ผอม อย่างไร เพราะการทำงานของดีเจในลักษณะนี้ การแต่งกายและแต่งหน้าจะต้องมีความเหมาะสมกับงานที่ทำ การเซลฟี่ของเธอจึงถูกใช้เพื่อตรวจสอบดูว่าการแต่งกายของเธอนั้น แต่งได้เหมาะสมและดีแล้วยัง “เราแต่งตัวเสร็จเราก็จะถ่ายเก็บไว้ว่าเราแต่งตัวอย่างนี้” และ ถ้าหากว่าดีแล้วก็จะโพสต์ขึ้น   เฟซบุ๊กอีกที นอกจากนี้บางครั้งยังเป็นการบอกกับกลุ่มคนที่ติดตามงานดีเจของเธอว่าวันนี้จะมีการจัดรายกายอีกด้วยนั่นเอง
 
เซลฟี่ : ได้อะไรจากประวัติศาสตร์
 
ภาพถ่ายประเภทเซลฟี่อาจจะเป็นที่รู้จักในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะการถ่ายเซลฟี่โดยกลุ่มบุคคลผู้มีชื่อเสียง เช่น ดารานักแสดง นักการเมือง หรือแม้แต่พระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) ก็ยังเคยถ่ายเซลฟี่เช่นเดียวกัน
 
 
นี่เป็นภาพเซลฟี่ที่ถ่ายโดยวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ได้ไปเยี่ยมสำนักวาติกันกับพระสันตะปาปาฟรานซิส หลังจากนั้นมีการโพสต์ขึ้นสังคมออนไลน์เป็นภาพที่ดูแปลกตาที่พระสันตะปาปามีภาพถ่ายในลักษณะใกล้ชิดกับผู้คนมากขนาดนี้ ภาพนี้ถ่ายในช่วง กลางปี 2013 ภาพจากเอ็มคอท
 
นี่เป็นภาพเซลฟี่ที่ถูกพุดถึงมากที่สุดในสังคมออนไลน์ ในพิธีมอบรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 86 เป็นภาพถ่ายที่พิธีกรสาวเอลเลน ดีเจนเนอเรส ถ่ายภาพหมู่กับเหล่าดาราฮอลลีวูด หลังจากการโพสต์รูปดังกล่าวลงในทวิตเตอร์ มีผู้ติดตามเข้ามารีทวิตเป็นจำนวนมากที่สุดถึง 2.6 ล้านครั้งเลยทีเดียว ภาพจาก ฮอลลีวูดรีพอร์ตเตอร์
 
ในอดีตเอง สมัยก่อนที่มีกล้องถ่ายรูป มีการใช้ภาพวาดที่วาดเพื่อให้เหมือนกับตัวเองซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับภาพถ่ายเซลฟี่ในปัจจุบันเลยทีเดียว แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันในแง่ที่ว่า ผู้วาดพยายามจะประดิษฐ์ภาพของตนเองลงไปในภาพวาด (ซึ่งก็เหมือนกับปัจจุบันที่เราพยายามประดิษฐ์ภาพตัวเองด้วยการถ่ายของตัวเราเอง) เราเรียกว่า ภาพเหมือนตัวเอง (Self-portrait) นั่นเอง
 
ภาพเหมือนตัวเอง คือ  ภาพที่ถูกวาดโดยศิลปินที่ใช้ตัวเองเป็นแบบ เมื่อวาดออกมาแล้วก็จะมีลักษณะรูปร่างเหมือนกับแบบของศิลปินเอง ภาพวาดนี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance)เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีกระจกในสมัยนั้นทำให้กระจกมีคุณภาพและมีราคาที่ถูกลง ช่วยทำให้ศิลปินสามารถที่จะมองเห็นแบบและทำการวาดได้
 
 
"ภาพเหมือนของชายโพกหัวแดง"ซึ่งถูกสันนิษฐานว่า เป็นภาพเหมือนของ ยัน ฟัน ไอก์ (Jan van Eyck) จิตรกรชาวดัชธ์ ที่เขียนเมื่อ ค.ศ. 1433 โดยตัวเขาเอง ภาพจาก วิกิพีเดีย
 
นอกจากนี้ยังมีอีกสาเหตุนั่นคือ การเริ่มกลับมามีความคิดแบบมนุษยนิยมมากขึ้น จากเดิมที่ความคิดทางด้านศาสนามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อโลกทัศน์ของมนุษย์ในสมัยนั้น ทั้งนี้เป็นเพราะว่าภายหลังสงครามครูเสด (ในช่วงปลายสมัยกลาง) มีการขุดค้นเมืองโบราณของกรีก และโรมันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้องค์ความรู้ และภูมิปัญญาแบบกรีกและโรมันเริ่มกลับมาเบ่งบานในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการมากยิ่งขึ้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลอย่างยิ่งต่อศิลปะ การเน้นถึงความเป็นมนุษย์ในลักษณะที่ปัจเจกมากขึ้น ความคิดแบบมนุษยนิยม และโลกทัศน์ที่มีความสมจริง ได้หล่อหลอมให้เกิดการสร้างศิลปะที่เน้นถึงความสมจริงมากยิ่งขึ้น การวาดภาพเหมือนตนเองจึงเป็นภาพสะท้อนดังกล่าวต่อแนวคิดในสมัยนั้น
 
สิงห์ สุวรรณกิจ อาจารย์จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เสนอว่าความคิดเกี่ยวกับรูปลักษณ์และการมองภาพของตนเองในโลกตะวันตกนั้นมีความแตกต่างกันในช่วงสองเวลาอันได้แก่ ช่วงเวลาของยุคศาสนาในสมัยกลาง กับโลกในยุคสมัยใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นชุดความคิดสำคัญที่มีผลต่อความคิดเรื่องของการวาดภาพเหมือนตนเองและเซลฟี่ในปัจจุบันด้วย เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดการมองภาพตัวตนของตนเอง เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า แนวคิดดังกล่าวนั้นมีอิทธิพลต่อการถ่ายเซลฟี่ของเรา ซึ่งเราเองก็ได้รับอิทธิพลและค่านิยมการมองเช่นนี้มาจากทางตะวันตก “หากเราใช้แนวคิดของ บอริส กรอยส์ (Boris Groys) เป็นตัวตั้ง ความคิดเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนเองในโลกตะวันตกนั้นมีความแตกต่างกันในช่วงสองเวลานั้นก็คือช่วงเวลาของยุคศาสนาในสมัยกลาง กับโลกในยุคสมัยใหม่”
 
ในช่วงสมัยกลาง เรามีชุดความคิดที่ว่าเรากำลังถูกจ้องมองโดยพระเจ้าอยู่เสมอ การมองนี้เป็นการมองที่ลึกลงไปถึงระดับภายในจิตใจ และการตกแต่งตัวเรานั้นต้องถูกตกแต่เพื่อให้พระเจ้ามองเรา “อาจจะกล่าวได้ว่า ความงามในยุคกลางมิใช่ความงามที่จับต้องหรือดูแล้วรับรู้ได้ด้วยตาเปล่า แต่เป็นความงามทีจะต้องถูกมองโดยพระเจ้า หรือพูดง่ายๆคือความงามในจิตวิญญาณที่พระเจ้ากำลังมองอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นแล้วมุมมองความเป็นตนเองของเรานั้นกำลังถูกตรวจสอบโดยพระเจ้า ฉะนั้นแล้วเราจึงจำเป็นต้องขัดเงาความงามของตนเองในวิญญาณ สำหรับการเข้าสู่โลกแห่งพระเจ้า”
 
แต่ในสมัยต่อมาความคิดดังกล่าวถูกเปลี่ยนไปเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายของสังคมใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการมองมนุษย์ใหม่จากเดิมที่เราทำตัวเราให้สวยงามทางจิตใจเพื่อให้พระเจ้ามอง ไปสู่การมองมนุษย์โดยมนุษย์มากขึ้น “มนุษย์จำเป็นต้องออกแบบตนเอง (self-design)ให้มนุษย์ด้วยกันมอง อันเป็นที่มาของการเริ่มเติมแต่ตัวเองในลักษณะต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการวาดภาพเหมือนของตัวเองด้วย”
 
“ภาพเขียนตัวเอง"โดยฟินเซนต์ ฟัน โคค (Vincent Willem van Gogh) ศิลปินชาวดัชธ์ วาดในปี ค.ศ.1887 ภาพจาก วิกิพีเดีย
 
ในโลกตะวันออกเองก็มีการวาดภาพเหมือนเช่นเดียวกัน เพียงแต่จะมีคำบรรยายเกี่ยวกับภาพในลักษณะของอักษรวิจิตรบรรยายความรู้สึกเกี่ยวกับฉากที่อยู่ในภาพ ที่เห็นอยู่นี้คือภาพวาดเหมือนของ คัตสุฮิกะ โฮกุไซ (Katsushika Hokusai) จิตรกร ชาวญี่ปุ่น สันนิฐานว่าในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภาพจาก วิกิพีเดีย
 
การเซลฟี่ของกุ๊กไก่เอง ก็สามารถสะท้อนให้เห็นได้ถึงร่องรอยของชุดความคิดเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบสร้างตัวเอง เพราะการเซลฟี่ในแต่ละครั้งเองก็เป็นการประกอบสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างรูปร่างหน้าตา เครื่องแต่งหน้าทรงผม เครื่องแต่งกาย การใช้กล้องถ่ายรูปที่มีโปรแกรมตกแต่งภาพ รวมไปถึงลักษณะของการโพสต์ท่าทางต่างๆ และมุมในการถ่าย อย่างเช่น ในกิจกรรมคอสเพลย์ของกุ๊กไก่ เธอได้เซลฟี่เพื่อเป็นการตรวจสอบองค์ประกอบของเสื้อผ้า หน้าผม หรือร่างกาย ก่อนที่จะเริ่มถ่ายรูป หรือถูกถ่ายรูป “ตอนคอสเพลย์เอง เราก็ถ่ายเองเหมือนกัน ด้วยบางครั้งที่เราไปต่างจังหวัด เราก็ไม่รู้ว่าใครจะถ่ายรูปให้เราได้ เราเลยต้องถ่ายด้วยตัวเอง เพราะเราไม่รู้จักใคร ก็เลยต้องเซลฟี่เอาเอง การเซลฟี่เองมันเลยช่วยให้รู้มุมได้มากกว่า แถมยังสามารถเช็ครูปร่างตัวเอง ความพร้อมก่อนที่จะออกงาน หรือเครื่องแต่งกายได้”  ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เราเห็นว่าก่อนจะมีภาพเซลฟี่สักหนึ่งภาพจำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบสร้างตัวเอง (ในที่นี้คือการแต่งกาย หรือแต่งหน้า) และการตรวจสอบ (ตรวจสอบว่าจะใช้มุมไหนสำหรับการถ่ายรูปแล้วที่สวยที่สุด) 
 
นอกจากนี้แนวความคิดการออกแบบสร้างตัวเองนั้นเริ่มมีมิติที่ลึกซึ้งไปจนถึงระดับร่างกายมากขึ้น อย่างเช่น การศัลยกรรมตัวเองให้สวยงามมากขึ้น เพื่อให้คนที่มองเรานั้นรู้สึกได้ว่ามีความงาม เซลฟี่เองอาจจะเป็นการกระตุ้นให้การมองตัวตนของเรานั้นมีความแหลมคมมากขึ้น อยากที่จะออกแบบตัวเองให้สวยงามมากขึ้น อย่างเช่น การศัลยกรรมตัวเองให้สวยงามอีกด้วย
 
 
เซลฟี่ : กับเทคโนโลยี
 
เมื่อการผลิตกล้องถ่ายรูปเกิดขึ้น กล้องถ่ายรูปเองก็ได้ถูกใช้เพื่อการถ่ายภาพเหมือนตนเองมากขึ้น เราจึงเริ่มเห็นการสร้างภาพเหมือนของตนเองในช่วงเวลานี้ เพราะกล้องถ่ายรูปนั้นสามารถที่จะสร้าง (ถ่าย) ภาพเหมือนได้มากกว่าการวาดรูปและสะดวกกว่า โดยวิถีการถ่ายนั้นจะมีสามวิธี อันได้แก่ การถ่ายจากภาพสะท้อนจากกระจก โดยหันกล้องไปทางกระจก วิธีที่สองคือการตั้งกล้องบนสามขาและตั้งเวลา หรือใช้รีโมทคอนโทรลในการคุมชัตเตอร์ กับอีกวิธีหนึ่งคือตั้งกล้องแล้วเดินไปตั้งท่า ปล่อยให้ผู้ช่วยกดชัตเตอร์แทนให้ ซึ่งบางครั้งภาพถ่ายภาพเหมือนหลายภาพเองนั้นมีความเหมือนกับเซลฟี่ในปัจจุบันมาก 
 
แต่อย่างไรก็ตามกล้องถ่ายรูปกับการถ่ายภาพนั้นยังใช้ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ในสมัยก่อน ทำให้บุคคลที่มีภาพถ่ายหรือกล้องถ่ายรูปค่อนข้างจะมีฐานะพอสมควร จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมโดยรวมนัก ทั้งในประเทศไทยเอง หรือต่างประทศ
 
 
อีเลียซาร์ แลงแมน (Eleazar Langman) ช่างภาพชาวรัสเซีย ใช้วิถีการถ่ายภาพเงาสะท้อนของตนเองจากกาชาเคลือบนิกเกิล เป็นภาพเหมือนตนเองที่ถ่ายขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1935 ภาพจาก วิกิพีเดีย
 
 
และสามภาพต่อไปนี้ เป็นภาพที่เชื่อกันว่า เป็นภาพถ่ายแบบเซลฟี่แรกๆ ของโลก
 
ภาพเซลฟี่ของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งถ่ายตัวเองกับกระจก ในช่วง ค.ศ.1900 ภาพจากวิกิพีเดีย
 
 
ภาพถ่ายตัวเองของช่างภาพชาวอเมริกันที่ชื่อว่า โรเบิร์ต โคเมลุส (Robert Cornelius)  ในปี ค.ศ. 1839 เขาใช้วิธีการถ่ายโดยการหันกล้องเข้าหาตัวเอง และตั้งเวลาในการกดชัดเตอร์ จากนั้นจึงวิ่งไปที่ด้านหน้าเลนส์ ภาพจาก วิกิพีเดีย
 
ภาพเซลฟี่ของพระนางอนาสตเซีย นิโครเรวนา แห่งรัสเซีย (Grand Duchess Anastasia Nikolaevna) เป็นพระธิดาพระองค์เล็กของพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2  ซึ่งเป็นการถ่ายภาพตัวเองด้วยกระจก ในปี ค.ศ. 1914 ตอนพระองค์อายุ 13 ชันษา เพื่อส่งภาพไปยังพระสหายของพระองค์ภาพจาก วิกิพีเดีย
 
เมื่อมีการพัฒนากล้องถ่ายรูปในช่วงเวลาหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าปริมาณการเข้าถึงกล้องนั้นง่ายขึ้นในคนหมู่มาก จากกล้องตัวใหญ่ก็กลายเป็นกล้องที่มีขนาดเล็กลง พกพาได้ จากการใช้วิธีการบันทึกแบบฟิล์มไปสู่การบันทึกแบบดิจิตอล ทำให้เรามีโอกาสที่จะถ่ายรูปได้บ่อยขึ้นไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลกับปริมาณของรูปที่ถ่าย หรือราคา รวมไปถึงในตอนหลังมีการใส่กล้องถ่ายรูปเข้ากับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการสื่อสารที่คนเรานั้นพกพาตลอดเวลา นั้นเท่ากับว่าเราพกพากล้องถ่ายรูปไว้โดยตลอด ความสะดวกดังกล่าวได้ช่วยให้เราสามารถที่จะถ่ายภาพได้มาก และเซลฟี่ได้มากขึ้นอีกด้วย
 
รุ่งทิพย์ บล็อกเกอร์ทางด้านเครือข่ายสังคมออนไลน์ “เฟซบล็อก” (faceblog.in.th)ได้ให้ความเห็นว่าในบรรดาอุปกรณ์ที่ถูกใช้เพื่อการถ่ายเซลฟี่มากที่สุด นั่นก็คือโทรศัพท์มือถือ เพราะความง่ายของการสะดวกพกพา “คนเราใกล้กับสมาร์ทโฟน มากที่สุด (แทบจะเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวันแล้ว) ดังนั้นเวลาเราจะเซลฟี่อะไรก็มักจะใช้โทรศัพท์กันก่อน”
 
ในปัจจุบันกล้องในโทรศัพท์มือถือถูกพัฒนาเพื่อการถ่ายเซลฟี่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกล้องหน้า ที่มีความละเอียดแทบจะเท่ากับ หรือดีกว่า กล้องหลังเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Huawei Honor 3C ที่ใส่ฟังก์ชั่นสำหรับการเซลฟี่โดยเฉพาะ  เพราะมีกล้องถ่ายรูปที่มีความละเอียด 8 ล้านพิกเซล พร้อมแฟลช LED กล้องด้านหน้าความละเอียดถึง 5 ล้านพิกเซล ช่วยให้การถ่ายภาพเซลฟี่นั้นสวยงามมากยิ่งขึ้น พร้อมกับแอปพลิเคชันที่สามารถปรับแต่งใบหน้าของผู้ถ่ายให้สวยงาม พร้อมกับความสามารถในการเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตทั้ง 2 G ,3 G ,WIFI และอื่นๆ ช่วยให้การใช้อินเตอร์เน็ตนั้นมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
 
 
หรืออย่าง โทรศัพท์มือถือยีห้อ Sony Xperia C3 ที่ออกแบบกล้องโปรเซลฟี่ (PROselfies) กล้องถ่ายรูปด้านหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล พร้อมกับไฟ LED สามารถจับรายละเอียดของภาพได้ทั้งตอนกลางวันและกลางคืนอย่างชัดเจน มีองศาการรับมุมภาพถึง 80 องศา เลนส์มุมกว้างขนาด 28 มม. และยังมีแอปพลิเคชัน อื่นๆสำหรับให้การถ่ายเซลฟี่ได้สวยงามยิ่งขึ้น
 
 
สำหรับกุ๊กไก่ ผู้ที่การนำเสนอรูปร่างหน้าตาของเธอ ผ่านภาพถ่ายมีความสำคัญต่อของอาชีพของเธออย่างยิ่ง เธอใส่ใจกับการเซลฟี่มากจนลงทุนซื้อกล้องถ่ายรูปที่ถูกออกแบบมาเพื่อการเซลฟี่โดยเฉพาะ 
 
  เธอตัดสินใจลงทุนซื้อกล้อง Casio TR-35 ซึ่งมีคุณสมบัติคือ สามารถถ่ายรูปเซลฟี่ออกมาแล้วดูหน้าขาวใสเนียนกว่าเดิม แม้ว่ากล้องนี้จะราคาถึงสามหมื่นห้าพันบาท แต่เธอก็บอกว่า ผลลัพธ์ที่ได้ในการเซลฟี่นั้นคุ้มค่ามากเป็นเพราะว่า “เป็นกล้องเซลฟี่ที่ถ่ายแล้วหน้าเนียนใสมันเป็นกล้องเซลฟี่โดยตร ดูกล้องแล้วหน้าจะเนียนใส เพราะเราเซลฟี่บ่อย ถ้าใครอยากเซลฟี่สวยๆแนะนำคาสิโอ เพราะมันเปะจริง ที่เน็ตไอดอลหน้าขาวชมพู เป็นเพราะไอ้กล้องนี้”
 
 
นอกจากโทรศัพท์มือถือ และกล้องที่ออกแบบมาเพื่อเซลฟี่โดยเฉพาะแล้ว ยังมีอุปกรณ์อย่างอื่นที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้การเซลฟี่นั้นดีและสะดวกยิ่งขึ้นไปอีก อย่างเช่น กระจก เอส อี แอล เอฟ อี ซึ่งมากจากชื่อเต็มว่า อุปกรณ์ป้อนรูปภาพด้วยตัวเอง (S.E.L.F.I.E (Self Enhancing Live Feed Image Engine))  ซึ่งถูกผลิตคิดค้นและพัฒนาโดย iStrategy Labs มีวิธีการทำงานโดย เพียงแค่ให้ผู้ถ่ายยืนอยู่ด้านหน้ากระจก ระบบตรวจจับใบหน้าก็จะบอกว่าผู้ที่ถ่ายเป็นใคร ต่อจากนั้นไฟ LED นับถอยหลังก็จะสว่างขึ้น เมื่อกล้องทำงานแฟลชก็จะสว่างขึ้นเพื่อเก็บภาพ เมื่อเสร็จแล้วระบบก็จะทำการโพสต์ภาพที่ถ่ายไว้ไปยังทวิตเตอร์ของผู้ถ่ายโดยอัตโนมัติ 
 
 
นอกจากกระจกเซลฟี่ที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้ว ยังมีการพัฒนาขาติดกล้องสำหรับใช้ในการเซลฟี่ หรือ                   เซลฟี่โมโนพอด เพื่อช่วยให้การเซลฟี่สะดวกขึ้น วิธีการใช้ของมันก็คือ นำขาติดกล้องดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเหมือนกับไม้ มาติดกับสมาร์ทโฟน หรือกล้อง จากนั้นจึงใช้รีโมทขนาดเล็กกดถ่ายรูป อุปกรณ์ดังกล่าวช่วยให้มุมในการถ่ายภาพนั้นกว้างขึ้นกว่าการเซลฟี่ด้วยแขนเพียงอย่างเดียว
 
 
อีกองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้เซลฟี่เป็นที่นิยม ก็คือ การถูกแชร์ หรือ เผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ รุ่งทิพย์ กล่าวอีกว่า การขยายตัวของของสังคมออนไลน์ได้ทำให้การถ่ายรูปแบบเซลฟี่นั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้น แม้ว่าในความเป็นจริงการติดตั้งกล้องกับโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์จะมีมาก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม  “จริงๆ ก็มีเทคโนโลยีมาก่อนนะ เช่น กล้องมือถือสมัยก่อน มันก็มีกล้องหน้า แต่คุณภาพอาจจะไม่ได้ดีมาก แต่ทีนี้พอมีแหล่งให้คนเซลฟี่ เช่น โซเชียลเน็ตเวิร์ค เทคโนโลยีมันก็พัฒนาตาม เกือบจะคู่ขนานกันไป”  
 
“โซเชียลเน็ตเวิร์คมีส่วนทำให้คนอยากเซลฟี่ แล้วก็พอมันมีความต้องการของตลาด พวกฮาร์ดแวร์ (ในที่นี้ก็อาจจะไม่ใช่สมาร์ทโฟนอย่างเดียว อาจจะเป็นแท็บเล็ตหรือแม้กระทั่งแล็ปทอป) ก็พัฒนาเทคโนโลยีให้มันสอดคล้องกับความต้องการของคนพร้อมๆ กัน”
 
รุ่งทิพย์ ยังได้ให้ความเห็นว่า ในส่วนเครือข่ายสังคมออนไลน์ สถิติของการแชร์รูปลงบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มากที่สุดนั่นก็คือเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นสังคมออนไลน์ทีมีการใช้งานเป็นจำนวนมากที่สุด 
จากสถิติที่จัดทำโดย “โซเชียลอิงค์” zocialinc.com เว็บไซต์วิเคราะห์สถิติต่างๆบนโลกออนไลน์  ในปี ค.ศ. 2014 พบว่า ประเทศไทย ใช้ เฟซบุ๊ก มากเป็นอันดับ 9 ของโลก เท่ากับประเทศเยอรมนี โดยมีจำนวนผู้ใช้มากถึง 28 ล้านคน โดยคิดเป็น 42% ของประชากรทั้งประเทศไทย  ส่วนอันดับ 1 ยังเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 180 ล้านคน และคนไทยใช้ เฟซบุ๊กเพิ่มขึ้น 28 ล้านราย  ทวิตเตอร์ 4.5 ล้านราย กับอินสตราแกรมอีก  1.7 ล้านราย
 
 ความนิยมในการใช้งานในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่มีปริมาณการใช้งานจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นทั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือ อินสตราแกรม เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่านี่เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้เซลฟี่นั้นมีการขยายตัวมากขึ้น เมื่อเราย้อนมาดูว่าในกิจกรรมต่างๆในเฟซบุ๊กนั้นว่าคนไทยคืออะไร จะเห็นได้ว่ากิจกรรมหลักเกือบ ส่วนใหญ่จะเป็นการโพสต์รูปภาพถึง 57% เลยทีเดียว   เช็คอิน 33% โพสต์พร้อมลิงค์ 21% วีดีโอ 3% และที่เหลือเป็นการโพสต์สถานะ อยู่ที่ 2% ข้อมูลตรงนี้น่าจะพออนุมานได้ว่ามีปริมาณของภาพเซลฟี่นั้นพอประมาณเลยทีเดียวในเฟซบุ๊ก แต่ที่เห็นได้ชัดเจนเลยว่าภาพเซลฟี่นั้นมีการอับโหลดมากขึ้นนั่นก็คือใน อินสตราแกรม จากสถิติ คนไทยโพสต์ภาพขึ้นอินสตราแกรม มากขึ้น และเป็นภาพเซลฟี่จาก 2 ภาพต่อวัน ในปี ค.ศ. 2013 ไปเป็น 8 ภาพต่อวัน ในปี ค.ศ. 2014 นี้เอง
 
เซลฟี่ : กับความรู้สึก
 
เซลฟี่นั้นมีความสำคัญกับความคิดเรื่องของตัวตนอย่างมาก พิจารณาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษของคำว่าเซลฟี่ นั้นก็มาจากคำว่า เซลฟ์ (self) ที่แปลว่า ตัวเอง คำว่าตัวเองนี้อาจสื่อถึงความหมายเกี่ยวกับตนเองในหลายระดับ ทั้งความภูมิใจในตัวเอง (self-esteem) และตัวตนในอุดมคติ (Ideal Self) เป็นต้น
 
ภาสกร เตวิชพงศ์ อาจารย์จากสาขาวิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า  เซลฟี่นอกจากจะเป็นการถ่ายรูปด้วยตัวเองแล้ว ยังมีจุดประสงค์หลักคือ เพื่อเป็นการแบ่งปันตัวตนในอุดมคติ หรือสิ่งที่บุคคลคนหนึ่งอยากเป็นมากที่สุด หรือช่วงเวลาที่มีความสุข กับ คนในกลุ่มสังคมของเราหรือกลุ่มอ้างอิงของเรา แวดวงคนที่มีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกัน
 
ภาสกรกล่าวว่า ความเป็นตัวตน หรือเซลฟ์ นั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับบุคลรอบข้าง ซึ่งพฤติกรรมการถ่ายเซลฟี่ก็ได้รับอิทธิพลจากลักษณะของตัวตนด้วย “การที่จะบอกว่าเซลฟี่นั้นเป็นผลดีหรือเสียนั้นจะต้องต้องดูความเหมาะสมหรือความถี่ของการเซลฟี่นั้นอีกที ถ้าทำในลักษณะที่เหมาะสม เซลฟี่นั้นก็ไม่มีผลเสียหายอะไร แต่ถ้าหากการเซลฟี่นั้นมีความถี่เป็นอย่างมาก บางครั้งอาจจะนำมาซึ่งโรคที่เกี่ยวข้องกับทางจิตก็เป็นได้”
 
เขากล่าวว่า ตัวตนของเรานั้นแบ่งได้เป็นสี่ประเภท ได้แก่ประการแรก ตัวตนที่แท้จริงของเรา (real self) อันเป็นตัวตนจริงๆที่สามารถเห็นประจักษ์ได้ชัดเจน เป็นรูปแบบที่แท้จริงของตัวบุคคลนั้นๆ ซึ่งตนเองอาจจะรับรู้หรือไม่รับรู้ในเรื่องเหล่านี้ก็อาจเป็นไปได้ เช่น รูปร่าง หน้าตา สีผิว เป็นคนสวย หล่อ น่ารัก ความสามารถ ทักษะ ความถนัดในด้านต่างๆ คณิตศาสตร์ ภาษา กีฬา เป็นต้น
 
ประการที่สอง ตัวตนที่เรารับรู้ตัวเราเอง (perceived self) อันเป็นเป็นตัวตนที่เรารับรู้ตัวของเราเอง มองตนเองผ่านหลายแง่หลายมุม ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับ ตัวตนที่แท้จริงก็ได้  เช่น คนที่เห็นแก่ตัวอาจจะไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเห็นแก่ตัวก็เป็นได้
 
ประการที่สาม  ตัวตนในอุดมคติ (Ideal Self) อันเป็นเป็นตัวตนที่บุคคลอยากจะเป็น นั่นหมายถึง ตัวตนในรูปแบบที่เป็นความฝันของบุคคล หรือการยึดบุคคลอื่น ๆ มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เช่น การที่เรามีบุคคลต้นแบบที่อยากจะใช้ชีวิตตามแบบของบุคคลนั้นๆ เป็นต้น
 
ประการสุดท้าย ตัวตนที่เรารับรู้ผ่านจากคนรอบข้าง (Looking-Glass Self) เป็นตัวตนที่รับรับรู้ว่า คนอื่นๆรอบๆ ตัวเรา ในกลุ่มสังคมของตนเองที่มีปฏิสัมพันธ์อยู่นั้นว่า ภาพความเป็นตัวตนของเรา ถูกคนรอบข้างมองว่าเราเป็นอย่างไร  และเราก็มักจะปฏิบัติตนให้สอดคล้องและมีการปรุงแต่งไปตามค่านิยม หรือ ความต้องการของสังคม  ซึ่งตัวตนประเภทนี้จะมีอิทธิพลมากต่อพฤติกรรมของเรา 
 
นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังกล่าวอีกว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว จะเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ ซึ่งเรียกว่า “การเปรียบเทียบทางสังคม” เพื่อวัดว่าเรานั้นมีความเหมือนหรือมีความต่างกับคนอื่นอย่างไร เพื่อปรับเปลี่ยนตนเองไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่สังคมต้องการ และสร้างตัวตนที่เป็นที่ยอมรับของสังคม“จริงๆการเซลฟี่มันก็มีพื้นฐานมาจากความต้องการนั้น เพราะเวลาที่เราโพสต์ภาพเซลฟี่ของตนเองลงไปผ่านสังคมออนไลน์ เพื่อให้กลุ่มเพื่อนมาดูและคอมเม้นท์มันก็เป็นกลุ่มสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง  ความต้องการของมนุษย์ที่ต้องการการยอมรับจากคนรอบข้าง ทำให้เราสร้างความเป็นตัวตนของเราเองขึ้นในลักษณะที่ต้องดูดี ตรงตามลักษณะอุดมคติของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ”
 
สำหรับการเซลฟี่ เราจึงพบว่ามันมีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยให้คนถ่ายกำหนดขอบเขตของภาพให้สวยงามตามที่ต้องการได้เอง ซึ่งเขาได้กล่าวเสริมว่า “ถ้ากำหนดมุมองภาพแล้วยังดูไม่ดีพอ ก็จะมีการใช้โปรแกรมแต่งรูปนั้นให้ดูดีขึ้นตามความต้องการจนได้ ก็เพื่อที่จะให้ได้รับคำชื่นชม เป็นภาพตัวตนตามอุดมคติ และก็คือการได้รับการยอมรับจากกลุ่มสังคมของตนนั่นเอง” 
 
นอกจากนี้ การเปรียบเทียบทางสังคม นำมาสู่ความต้องการที่จะแสวงหาความภาคภูมิใจ ทั้งที่ได้จากตัวเราเองและคนรอบข้าง ปรากฏการณ์เซลฟี่นั้นเป็นภาพสะท้อนดังกล่าวของความต้องการของมนุษย์ที่ต้องการแสวงหาความภาคภูมิใจจากภาพถ่ายของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา สถานที่ที่ได้ไป หรือความประทับใจในช่วงเวลาหนึ่งๆ ภาสกรกล่าวว่า เซลฟี่ ก็คือเครื่องมือที่เราใช้เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น และทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองนั่นเอง        “ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า เรานั้นตัดผมทรงใหม่ ออกกำลังกายจนหุ่นดี หน้าตาดูดีขึ้น ได้เจอกับคนมีชื่อเสียง ถ่ายคู่กับแฟน ไปท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ และเราก็อยากจะแชร์ภาพเหล่านั้นให้กับคนอื่นได้เห็น เพื่อคาดหวังว่าจะได้รับคำชมที่ดี ความคิดเห็นดีๆหรือการกดไลค์ คอยตรวจสอบว่าเรานั้น ได้รับข้อคิดเห็นในทางบวก มากน้อยแค่ไหน ถ้าดีแล้ว เราก็จะมีแนวโน้มที่จะทำสิ่งนั้นต่อไป”
 
 การได้ยอดถูกใจสูงหรือได้รับคำชื่นชม เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถ่ายเซลฟี่เกิดความภาคภูมิใจ เสียงตอบรับ ชื่นชม นี่ยังเป็นเครื่องชี้วัดว่า ตัวตนที่เราได้สร้างขึ้นนั้นสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกับตัวตนที่คนรอบข้างในสังคมคาดหวัง  ในทางกลับกัน หากได้ยอดถูกใจน้อย หรือได้รับความเห็นในทางลบ ก็จะเป็นสิ่งที่บอกเราว่า ไม่ควรกระทำทำซ้ำอีก “ในบางครั้งการใช้เซลฟี่ที่บ่อยถี่จนเกินไปของคนบางคน อาจจะเป็นสัญญาณของคนที่เป็นโรคทางจิตประเภทหนึ่ง ที่หมกมุ่นกับการไม่พึงพอใจในรูปร่างหน้าตาของตนเองมากจนผิดปกติ บุคคลที่มีปัญหาในเรื่องนี้มีชื่อเรียกว่า Body Dysmorphic Disorder (BDD)ซึ่งเป็นความผิดปกติที่จะรู้สึกไม่พึงพอใจกับรูปร่างหน้าตาตนเองมากกว่าปกติ” 
 
เขายังได้กล่าวเพิ่มว่า ในประเทศอังกฤษ มีการวิจัยพบว่า คนที่มีความผิดปกติในกลุ่มนี้ ถึงสองในสามจะนิยมการถ่ายภาพเซลฟี่ เพราะเซลฟี่สามารถตอบโจทย์ในการที่เขาจะใช้มันในการตรวจสอบรูปร่างหน้าตาของตนเองได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ในทางกลับกันเขาเหล่านั้นก็อาจมีพฤติกรรมหมกมุ่น มีอาการไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาตนเองและใช้เซลฟี่ตลอดเวลา จนอาจเสียการเสียงาน บางกรณีถึงขึ้นหลุดจากโลกความเป็นจริง ถึงขึ้นที่ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติได้
 
จากผลการวิจัยของสถาบันการศัลยกรรมของสหรัฐอเมริกา (American Academy of Facial Plastic and Reconstructive Surgery) ในปีค.ศ. 2014 ได้ชี้ว่า 13 % ของคนที่มาทำศัลยกรรมมาจากความไม่พอใจรูปร่างใบหน้าของตัวเองในอินเตอร์เน็ต โดย 10 % ต้องการศัลยกรรมจมูก 6 % ต้องการศัลยกรรมเปลือกตา  ทั้งนี้งานวิจัยชิ้นนี้ให้เหตุผลว่า สังคมออนไลน์มีส่วนทำให้คนมีโอกาสได้เห็นหน้าตาตัวเองที่บ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน  ซึ่งทำให้เกิดความระแวงในหน้าตาของตัวเองอยู่เสมอในเวลาที่ใช้สังคมออนไลน์ว่าจะสวยหล่อหรือไม่
 
อภิสิทธิ์ มณีราม นักศึกษาและ นายแบบ อายุ 21 ปี ได้ให้ความเห็นสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ ภาสกรว่า เซลฟี่ช่วยให้เขาทราบว่า ควรโพสต์ท่าแบบไหน และวางบุคลิกแบบไหน ซึ่งเขาก็ตระหนักถึงการเซลฟี่ที่มากเกินไปว่า อาจสะท้อนถึงความกังวลและความไม่มั่นใจในตัวเอง “ผมว่าการเซลฟี่มันก็ดีนะมันทำให้เรารู้มุมกล้อง หรือมุมที่เราดูดีได้ ทำให้เรารู้ตัวเองว่าเรา ควรวาง บุคลิกแบบไหน เวลา เข้าสังคม เวลาถ่ายรูป มันเหมือนเป็นการตรวจสอบตัวเองทางหนึ่ง แต่ถ้าถามว่า มันมีผลเสียไหม ผมว่ามันมีนะ คือบางครั้งถ้าเรา เซลฟี่มากไป มันจะกลายเป็นเหมือนกังวล และทำให้เราไม่มั่นใจได้ ดังนั้นเราทำได้นะแต่เราควรรู้ลิมิตของตัวเองเมื่อเรารู้สึกไม่มั่นใจก็ควรพอ แล้ว กลับมาดูแลตัวเองแทน ให้ ตัวจริงดูดีแล้วถ้าตัวจริงดูดี ยังไงในรูปมันก็จะดูดีเอง”
 
นอกจากนี้แนวความคิดการออกแบบสร้างตัวเองนั้นเริ่มมีมิติที่ลึกซึ้งไปจนถึงระดับร่างกายมากขึ้น อย่างเช่น การศัลยกรรมตัวเองให้สวยงามมากขึ้น เพื่อให้คนที่มองเรานั้นรู้สึกได้ว่ามีความงาม เซลฟี่เองอาจจะเป็นการกระตุ้นให้การมองตัวตนของเรานั้นมีความแหลมคมมากขึ้น เห็นภาพของตัวเองได้ถี่มากขึ้นพอๆกับการส่องกระจก อย่างเช่นการทำศัลยกรรมของ หญิงสาววัย 38 ปีที่ชื่อ ทริอาน่า ลาวีย์ (Triana Lavey)จากสหรัฐอเมริกา ที่ตัดสินใจศัลยกรรมใบหน้าของตัวเองในบริเวณต่างๆ เพราะเธอต้องการให้ตัวเองดูมีหน้าตาที่สวยเข้ารูปสำหรับการเซลฟี่  นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเซลฟี่เองก็เป็นตัวกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องทำให้ตัวเองสวยเพื่อสร้างความมั่นใจต่อตนเอง 
 
กุ๊กไก่เองก็เคยคิดเหมือนกันว่า ร่างกายตัวเองนั้นมีจุดด้อยในบางแง่มุม ซึ่งบางครั้งก็ใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการหามุมที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายเซลฟี่ แต่ที่สุดแล้วเธอเองก็มีความต้องการเหมือนกันที่คิดจะทำศัลยกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงใบหน้าบางส่วนของเธอโดยเฉพาะที่ตา เพื่อให้การถ่ายภาพ หรือการทำงานดีเจในอินเทอร์เน็ตนั้นดียิ่งขึ้น เธอได้กล่าวว่า “เคยคิดจะทำตาเพราะไม่เท่ากันมันเห็นชัดเกินไป  เพราะเราทำงานเกี่ยวกับหน้ากล้องหน้าตา ยิ่งสำคัญมาก เพราะตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” 
 
แต่เธอเองก็บอกว่า การศัลยกรรมเองบางครั้งมันก็มีปัญหา แม้จะรู้สึกว่า “เราไม่ค่อยพอใจกับรูปร่างของเรา มันก็เป็นปกติ ไม่มีใครพอใจหรอก เป็นทั้งผู้หญิงผู้ชาย มันจะมีคำถามเสมอประมาณว่า ตาอย่างนี้ แขนประมาณนี้ รูปร่างหน้าจะประมาณนี้ แต่มันก็ทำไม่ได้อาจจะเป็นเรื่องเงิน พ่อแม่อาจจะไม่อนุญาต หรือเพื่อนอาจจะแอนตี้ศัลยกรรม”
 
อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวทิ้งท้ายว่าการเซลฟี่นั้นควรจะ “ไม่ต้องมากเกินไปน้อยเกินไป ถ้าทำแล้วมีความสุขไม่เดือดร้อนใครมันก็ดี แต่ถ้าหากถ่ายเซลฟี่แล้วมันไม่ดี ไม่พอใจ หรือไม่กล้าออกมาจากบ้านมันก็ไม่ดี คุณก็ลองมาเจอกล้องปกติบ้างที่ไม่ใช่เซลฟี่ เพื่อให้ดูว่าเรายอมรับภาพของตัวเองจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร อย่างนั้นแล้วใช้ชีวิตอย่างปกติดีกว่า ไม่ต้องระแวงอย่างนั้นน่าจะดีกว่า”
 

เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ และทฤษฎีทางศิลปะที่มีชื่อเสียง ชาวรัสเซีย มีผลงานที่มีชื่อเสียงคืองานเขียนที่ชื่อว่า Art power หรือ พลังของศิลปะ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: กัมปนาท เอกฉาย เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาชาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รายงานข่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการทุนเพื่อทำข่าวสืบสวนสอบสวน กลุ่มเยาวชน มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles