26 ก.ย. 2557 ตัวแทนกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เข้าร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังจากวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 1 นาย พร้อมชายฉกรรจ์อีกจำนวนหนึ่งเข้าไปในพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา พร้อมแจ้งให้ชาวบ้านเตรียมตัวย้ายออกนอกพื้นที่ภายใน 7 วัน
(อ่าน ทหารไล่รื้อชุมชนคลองไทรฯ จี้ย้ายออกใน 7 วัน–องค์กรสิทธิฯ ระหว่างประเทศ ร้อง DSI คุ้มครอง)
ตัวแทนกลุ่ม สกต.ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีมีชาวบ้านซึ่งไร้ที่ทำกินกำลังได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่งที่ 64/2557 ของคสช. ซึ่งมีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 5 พื้นที่ ประกอบด้วย ชุมชนสันติพัฒนา ชุมชนคลองไทรพัฒนา ชุมชนน้ำแดงพัฒนา ชุมชนก้าวใหม่พัฒนา และชุมชนเพิ่มทรัพย์พัฒนา โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนคลองไทร เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมาทางชาวบ้านได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งทราบชื่อว่า จ่าสิบเอกสมศักดิ์ กล่อมเอี่ยม จึงมีผู้มีอิทธิพลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่ดินในเขต ส.ป.ก. และนายหน้าค่าที่ดินร่วมขบวนมาด้วย และเมื่อชาวบ้านถามถึงหนังสือคำสั่งจาก คสช. ทางเจ้าหน้าที่ทหารก็ได้ทำท่าทางค้นหาเอกสารแต่ไม่พบ แจ้งเพียงว่าลืมนำมาด้วย
ชาวบ้านระบุว่า การเข้าร้องเรียนกับกรรมการสิทธิฯ ครั้งนี้ เพราะต้องการให้มีการยับยั้งการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และต้องการให้มีกระบวนการในการพิสูจน์สิทธิ์ในพื้นที่ที่เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจเข้ากดดันชาวบ้านโดยขาดกระบวนการตรวจสอบ พิสูจน์อย่างแท้จริง เพราะการกระทำในลักษณะนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการใช้คำสั่งทุเลาการบังคับคดีเกินขอบเขตอำนาจที่ศาลได้ให้ไว้
(ภาพข่าวเมื่อวันที่ 24 ก.ย.)
ทางด้าน นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ ได้รับเรื่องพร้อมระบุจะเร่งทำจดหมายด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานี และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(ผอ.กอ.รมน.)สุราษฏร์ธานี เพื่อชี้แจงถึงความไม่เป็นธรรมในกระบวนการดำเนินงานต่อกรณีดังกล่าว และจะเสนอแนะกระบวนการตอบสอบที่ถูกต้อง รวมถึงขอคำชี้แจ้งต่อกรณีที่ผู้มีอิทธิพลและนายหน้าค่าที่ดินเดินทางเข้าพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหาร
นพ. นิรันดร์ ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ภายหลังมีการออกคำสั่งที่ 64/2557 ของคสช. มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่กรรมการสิทธิฯ ทั้งหมด 18 กรณี โดยในแต่ละกรณีกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ทำหนังสือเสนอความเห็นต่อหัวหน้า คสช. , ผอ.กอ.รมน.,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ, อธิบดีกรมป่าไม้ และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่มีกรณีร้องเรียน
ในเบื้องต้นกรรมการสิทธิฯได้เสนอความเห็นว่า ในกระบวนการจัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และกระบวนการจัดทำแผนการปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทดังกล่าว ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ครบถ้วนรอบด้านอย่างเพียงพอ เช่นภาคประชาสังคม นักวิชาการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น และการปฏิบัติการที่ผ่านมาตามแผนแม่บทดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการกลั่นกรองและแยกแยะความแตกต่างของพื้นที่ที่มีบริบทความเป็นมาของปัญหา รวมทั้งตัววัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน และไม่มีลักษณะของการกำหนดลักษณะการกระทำและผู้กระทำว่าลักษณะใดที่เข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดรายใหญ่ที่มีเจตนาในทางการค้าหรือทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน และลักษณะใดเป็นการกระทำเพื่อการดำรงชีวิตตามประเพณีวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
นอกจากนี้กรรมการสิทธิฯ ยังเสนออีกว่า เพื่อป้องกันผลกระทบและความขัดแย้งที่อาจมีความรุนแรงมากขึ้นจนอาจกลายเป็นสาเหตุปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติหรือชะลอการปฏิบัติการในพื้นที่ตามแผนแม่บทฯ เอาไว้ก่อน และให้เริ่มต้นกรบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจต่อแผนแม่บทฯ และแผนการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทดังกล่าว
“ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ทำงานตามหน้าที่ของเรา ทำตามกฎหมายซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ได้รับรองเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ หน้าที่ของเราเมื่อมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเราก็เข้ามาดูปัญหาแล้วก็เสนอคำแนะนำให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่สามารถบังคับให้ทำตามได้ ถ้าหากในกรณีที่เขาไม่ได้ทำตามข้อเสนอ เขาก็ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเอง”นพ.นิรันดร์กล่าว
18 กรณีที่มีการร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังประกาศ คสช.
1.กรณีอุทยานแห่งชาติเขาปู่ ต.ลานข่อย อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง – ประกาศพื้นที่เขตอุทยานเขาย่าทับที่ดินทำกินของประชาชน 2.กรณีบ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ –กดดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ 3.กรณีอุทยานแห่งชาติเขาปู่ ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง- กดดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ 4.กรณีเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่ากรมหลวงชุมพร ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร - เจ้าหน้าที่เข้าตัดต้นของชาวบ้าน 5.กรณีอุทยานภูหินร่องกล้า ต.เนิ่นเพิ่ม อ.นครไทย และ ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.พิษณุโลก- เจ้าหน้าอุทยานที่ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาฟื้นฟูสภาพป่า แต่ตอนมาประชาชนที่เข้าร่วมโครงการถูกจับ 6.กรณีบ้านน้ำพิ ต.ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน – เข้ายึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่อาศัยพื้นที่ทำกินมาช้านาน 7.กรณีชุมชนซำเสี้ยว ต.บ้านหัน อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ – บังคับประชาชนออกนอกพื้นที่ ทั้งที่พื้นที่นั้นไม่ได้เป็นป่ามาก่อน 8.กรณีอุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง - กดดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และดำเนินคดี 9.กรณีป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ - กดดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ 10.กรณีบ้านหน้าควน บ้านเขาพลู และบ้านป่าแก่ ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง – กดดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ 11.กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง และพื้นที่โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ต.ปงเตา ต.บ้านอ้อน ต.บ้านร้อง ต.นาแก อ.งาว จ.ลำปาง – เจ้าหน้าตัดต้นยาง ต้นปาล์มน้ำมัน และมีแผนเข้ายึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน 12.กรณีป่าทุ่งป่าคา ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน- เจ้าหน้าอ้างชาวบ้านว่ามีไม้เถื่อนและไม้ห้วงห้ามไว้ในครอบครอง เป็นเหตุให้มีการยึดไม้ที่ชาวบ้านเตรียมไปปลูกต่อเติมบ้าน 13. กรณีบ้านห้วยมะแกง ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย- ชาวบ้านโดนรุกล้ำที่ทำกิน 14.กรณีบ้านดงเย็นพัฒนา ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ –กดดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ 15.กรณีบ้านโนนเจริญ ต.กกปลาซิว อ.ภูพาน จ.สกลนคร- เข้ายึดที่ทำกินของชาวบ้าน 16.กรณีบ้านดานเม็ก ต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ – กดดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ 17.กรณีตำบลมะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ- กดดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ 18.กรณีป่าสงวนแห่งชาติดงหมู ต.อุ้มเหม้า อ.ธาตุพนม จ.นครพนม - กดดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ |