'จับเท็จดอทคอม'ดึงวาทะของคนในข่าวมาฉายให้เห็นบริบท พร้อมวิเคราะห์ข้อมูล ก่อนสรุปว่า ข้อความนั้น จริง, เท็จ, ก้ำกึ่ง หรือยังพิสูจน์ไม่ได้
26 ก.ย.2557 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกับ โอเพ่นดรีม ผู้ประกอบการสังคม จัดทำเว็บจับเท็จดอทคอมโดยเป็นโครงการแรกของโครงการ data journalism หรือวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล ของ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า
เว็บไซต์ "จับเท็จดอทคอม"ระบุว่า ก่อตั้งด้วยความมุ่งหมายที่จะร่วมเป็นส่วนเล็กๆ ในการติดตามตรวจสอบ "คำพูด"ของบุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจทางการเมือง โดยนำทักษะความเชี่ยวชาญในการสืบค้นของนักข่าวสืบสวนสอบสวน มาใช้ในการนำเสนอข้อค้นพบอย่างเป็นระบบ ผ่านการออกแบบเว็บไซต์ให้เข้าใจง่ายและสืบค้นคำพูดได้โดยสะดวก แทนที่จะปล่อยให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์สาธารณะจมหายไปในสายธารของโซเชียลมีเดียทั้งหลาย
โดยทีมงานจับเท็จจะตรวจสอบเฉพาะ "คำพูด"ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ซึ่งสามารถค้นหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้เท่านั้น ส่วนคำพูดประเภทความคิดเห็น คำสัญญา หรือคำประกาศต่างๆ นานา เกี่ยวกับอนาคตหรือความเชื่อส่วนตัว เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบเขตการทำงานของทีมงาน
นอกจากนี้ มีการเชิญชวนให้ร่วมเสนอคำพูดที่อยากให้ตรวจสอบ ตรวจสอบการทำงานของทีมงานจับเท็จเอง และเสนอแนะข้อคิดเห็นหรือติชม ผ่านการแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊ก ThaiPublica หรืออีเมล info@thaipublica.org
เบื้องต้น มีคำพูดของนักการเมืองและผู้มีบทบาททางการเมือง เช่น กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ บอกว่าทหารไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง (เท็จ), ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พูดว่ารัฐบาลการอุดหนุนราคาเบนซินจำนวนมากทำให้อัตราใช้เบนซินสูง (เท็จ), อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ บอกว่าไม่มีความคิดเข้าปราบปรามประชาชน หรือใช้ความรุนแรงกับผู้มาชุมนุม (เท็จ), สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่ดินเขายายเที่ยง ว่าไม่ได้เป็นการรุกล้ำ (เท็จ), ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุว่าจนท.ไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมที่ สภอ.ตากใบ จ.นราธิวาส (เท็จ), อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ กล่าวถึงรัฐประหารว่าไม่ได้หมายความว่าทำลายประชาธิปไตย ถ้าเกิดเป็นรัฐประหารที่ต้องการปกป้องประชาธิปไตย ทำได้ (ก้ำกึ่ง)