สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรได้โจมตีทางอากาศกลุ่มติดอาวุธไอซิสเป็นวันที่ 3 แล้วแม้จะมีการต่อต้านจากบางชาติ เช่น บราซิลและเอกวาดอร์ แต่ประชาชนชาวอิรักผู้มีความคิดเห็นต่อต้านไอซิสก็ยังคงสงสัยว่าการใช้กำลังจะสามารถกำจัดไอซิสรวมถึงแก้ปัญหาความขัดแย้งได้จริงหรือไม่
25 ก.ย. 2557 ในช่วงที่ประเทศแนวร่วมนำโดยสหรัฐฯ ใช้กองกำลังอากาศยานโจมตีเป้าหมายโรงกลั่นน้ำมันที่อยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มติดอาวุธไอซิส (ISIS) สำนักข่าวอัลจาซีราได้นำเสนออีกแง่มุมหนึ่งจากประชาชนในประเทศอิรัก ซึ่งแม้ว่าจะต่อต้านกลุ่มไอซิสแต่ก็ยังคงสงสัยว่าการเพิ่มมาตรการใช้กำลังต่อกลุ่มเหล่านี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่
ทางการสหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดฉากโจมตีโรงกลั่นน้ำมัน 12 แห่งในซีเรียในการปฏิบัติการเป็นคืนที่สาม เนื่องจากมีข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าโรงกลั่นน้ำมันทำให้กลุ่มติดอาวุธไอซิสมีรายได้ 2 ล้านดอลลาร์ (ราว 60 ล้านบาท) ต่อวัน ซึ่งนักกิจกรรมจากหน่วยงานเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรียระบุว่ามีกลุ่มติดอาวุธเสียชีวิต 14 ราย และพลเรือนเสียชีวิต 5 ราย จากปฏิบัติการในครั้งนี้
ทางด้านรัฐบาลบราซิลและเอกวาดอร์กล่าวต่อต้านปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในซีเรียที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการยกระดับความรุนแรงโดยไม่จำเป็น ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลบาชาร์ อัลอัสซาดของซีเรียแสดงท่าทีสนับสนุนปฏิบัติการของสหรัฐฯ และกลุ่มชาติพันธมิตรในอาหรับเนื่องจากรัฐบาลซีเรียเองก็กำลังสู้รบกับกลุ่มกบฏหลายกลุ่ม
แถลงการณ์จากกระทรวงต่างประเทศของเอกวาดอร์ระบุว่าการโจมตีเป้าหมายในซีเรียไม่ได้รับความยินยอมจากมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและไม่ได้มีการมอบอำนาจจากสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งมีการละเมิดอธิปไตยของรัฐซีเรีย
ประธานาธิบดีบราซิล จิลมา วานา รูเซฟ กล่าวต่อสหประชาชาติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 ก.ย.) ว่าการใช้กำลังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ได้ โดยอ้างถึง "การสังหารประชาชนชาวซีเรียอย่างเป็นระบบ"และเหตุการณ์ต่อสู้ในพื้นที่วิกฤติอื่นๆ เช่น ปาเลสไตน์ ลิเบีย และยูเครน รูเซฟยังได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าทางการบราซิลต่อต้านการสังหารและการใช้ความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายเพราะไม่เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ผล
กลุ่มติดอาวุธไอซิส หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่าไอซิล (ISIL) หรือไอเอส (IS) เป็นกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการในพื้นที่ประเทศอิรักและซีเรีย พวกเขาสามารถฉวยโอกาสยึดพื้นที่บางแห่งได้ในซีเรียและพยายามปกครองคนในพื้นที่ด้วยกฎของตนเอง ไอซิสยังเป็นกลุ่มที่แสดงความโหดเหี้ยมออกมาอย่างเปิดเผยเช่นการเผยแพร่วิดีโอสังหารตัดคอนักข่าวที่ถูกจับเป็นตัวประกัน
ยูเอ็นมีมติรับรองลงโทษลงโทษหนักผู้เข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรง
นอกจากการโจมตีทางอากาศแล้วยังมีมาตรการอื่นๆ อีกในการต่อกรกับกลุ่มไอซิส โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 ก.ย.) ประเทศสมาชิกของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้รับรองมติอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อร่างกฎหมายที่ระบุให้มีการลงโทษร้ายแรงกับประชาชนในประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงอย่างไอซิสหรือกลุ่มอัลนุสรา
กฎหมายใหม่นี้ร่างขึ้นตามหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติหมวดที่ 7 ว่าด้วยการดำเนินการเพื่อระงับภัยคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพหรือการกระทำในลักษณะรุกราน ซึ่งมีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกของยูเอ็น 193 ประเทศและให้อำนาจคณะมนตรีความมั่นคงในการบังคับใช้กฎหมายด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหรือการใช้กำลังได้
ประชาชนอิรักไม่เอาไอซิส สงสัยว่าการใช้กำลังจะแก้ปัญหาได้สำเร็จหรือไม่
สำนักข่าวอัลจาซีรานำเสนอแง่มุมจากประชาชนชาวอิรักผู้นับถืออิสลามนิกายซุนนีชื่อ ซามีห์ รัดห์วาน ชายอายุ 26 ปี โดยที่เขาและครอบครัวปักหลักอยู่ในถิ่นชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของกรุงแบกแดดซึ่งมีประชากรจำนวนมากเป็นผู้อพยพที่หลบหนีความขัดแย้งระหว่างนิกายภายในอิรัก
รัดห์วานไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มไอซิส แม้ไอซิสจะอ้างว่าได้กระทำเพื่อเรียกร้องให้กับชาวนิกายซุนนีในอิรักและประเทศใกล้เคียง เขาบอกว่าการกระทำของไอซิสเหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน "ภาพยนตร์ที่ห่วยมากๆ"แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและสร้างความทุกข์ให้กับพวกเขาจริงๆ
ครอบครัวของรัดห์วานก็เคยประสบกับความโหดเหี้ยมของกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกนิกายมาก่อน โดยที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ในขณะที่ครอบครัวเขาเดินทางไปที่ย่านชานเมืองของกรุงแบกแดด ลุงของเขาคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าในท้องถิ่นถูกกลุ่มติดอาวุธลักพาตัวไป เขาถูกปล่อยตัวออกมา 3 เดือนหลังจากนั้นเนื่องจากครอบครัวของเขาจ่ายเงินค่าไถ่ให้ ซึ่งเป็นเงินที่หยิบยืมมาจากญาติและเพื่อนฝูง
กลุ่มไอซิสได้ยึดครองพื้นที่ในเขตปกครองซึ่งมีชาวนิกายซุนนีอยู่จำนวนมากและตั้งกลุ่มตัวเองขึ้นเป็นผู้ปกครองชั่วคราว เหตุที่ไอซิสเรืองอำนาจขึ้นมาได้ส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีนูรี อัลมาลีกิในหมู่ชาวนิกายซุนนี
แต่หลังจากที่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรได้ยกระดับการตอบโต้ไอซิสด้วยการโจมตีทางอากาศต่ออิรักและซีเรียตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ชาวอิรักหลายคนรู้สึกสงสัยเช่นเดียวกับรัดห์วานว่ามาตรการใช้กำลังทางทหารจะได้ผลจริงหรือไม่
รัดห์วานบอกว่า ไอซิสก็เป็นแค่ฝ่ายหนึ่งในเกมอำนาจ ยังมีกลุ่มอื่นๆ ทั้งกลุ่มติดอาวุธและคนของรัฐบาลที่พยายามชักจูงให้ชาวนิกายซุนนีหันไปสนับสนุนไอซิส
อัลจาซีราระบุว่าแม้ว่าชนเผ่านิกายซุนนีบางกลุ่มจะเป็นสมาชิก "สภาแห่งการตื่นรู้"ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมชาวอิรักต่อต้านไอซิส แต่ก็มีชนเผ่านิกายซุนนีจำนวนมากที่ปฏิเสธจะต่อต้านไอซิส มีหลายกลุ่มที่ต้องการได้รับคำมั่นว่าถ้าพวกเขาต่อต้านไอซิสแล้วรัฐบาลถัดไปของอิรักจะให้อำนาจการควบคุมแก่ชาวนิกายซุนนีซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่
ครูอายุ 31 ปีที่ชื่อซามาน ซาลิม ผู้อาศัยอยู่ในเออบิลซึ่งมีประชากรพลัดถิ่นจากการรุกรานของไอซิสหลายหมื่นคนกล่าวว่าเขาอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันต่อสู้กับไอซิส แต่ก็ไม่คิดว่าไอซิสจะพ่ายแพ้ไปง่ายๆ หรือต่อสามารถเอาชนะด้วยกำลังอาวุธได้แต่ความขัดแย้งระหว่างนิกายซุนนี ชาวเคิร์ด กับรัฐบาลอิรักก็จะยังคงอยู่
อย่างไรก็ตามมีประชาชนผู้ที่ถูกโจมตีโดยกลุ่มไอซิสจนต้องสูญเสียบ้านเรือนและเห็นคนถูกสังหารต่อหน้าต่อตากล่าวด้วยความยินดีที่ได้รับการช่วยเหลือจากต่างชาติ
เรียบเรียงจาก
Brazil and Ecuador come out against airstrikes in Syria, Globalpost, 24-09-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/middle-east/syria/140924/brazil-ecuador-oppose-syria-airstrikes
UN approves resolution on foreign fighters, Aljazeera, 25-09-2014
http://www.aljazeera.com/news/americas/2014/09/un-approves-resolution-foreign-fighters-201492419234320219.html
Iraqis skeptical about war on ISIL, Aljazeera, 25-09-2014
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2014/09/iraqis-remain-doubtful-over-war-isil-201492495610360997.html