อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลอาญากรณีสั่งไม่ฟ้องนายอภิสิทธิ์-สุเทพ คดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ถาวร อัด อสส.ดันทุรัง แนะส่งคดีกลับดีเอสไอ
25 ก.ย.2557 นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดได้ยื่นขออุทธรณ์คดีที่ศาลมีคำสั่งไม่ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในความผิดสั่งสลายการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต
โดยอัยการสูงสุดขออุทธรณ์ในประเด็นทางข้อกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้ ได้ยื่นฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ไม่ได้ฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามกฎหมายอาญามาตรา 157
หากศาลอุทธรณ์พิจารณาสำนวนคดีเสร็จสิ้นแล้ว จะส่งหมายแจ้งนัดวันให้คู่ความทั้งสองฝ่ายรับทราบ เพื่อเดินทางมาฟังคำพิพากษาต่อไป ส่วนจะใช้ระยะเวลาเท่าใด ยังไม่สามารถระบุได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จะเสร็จสิ้นเมื่อใด
ทั้งนี้ ศาลอาญามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. และให้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีความเห็นแย้งในครั้งนั้นว่า ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้
ด้านนายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า ไม่เข้าใจเจตนาของ อสส.ที่มีคำสั่งให้อุทธรณ์คดีนี้ เพราะศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ไปแล้ว เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าการกระทำของบุคคลทั้งสองเป็นการทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ ในเวลานั้น ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยิ่งปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ที่ทางตำรวจจับกลุ่มชายชุดดำที่ใช้อาวุธสงครามในเหตุการณ์ชุมนุมปี 53 ที่ก่อการร้ายและสร้างสถานการณ์จึงเป็นเรื่องที่ศาลอาญาเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจ
นายถาวร กล่าวอีกว่า อสส. ควรฟังศาล ไม่ใช่ดันทุรังเพราะศาลย่อมเห็นขอบข่ายอำนาจของคดีของแต่ละศาล อสส.ควรยุติเรื่องนี้ โดยส่งคดีกลับไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ดีเอสไอ รื้อสำนวนคดีเพื่อสอบสวนใหม่ตามข้อเท็จจริงใหม่ที่ศาลชี้ว่าเป็นการทำหน้าที่ในตำแหน่งหลังจากนั้นจะส่งผลสรุปสำนวนคดีไปให้ ป.ป.ช. พิจารณาตามกฎหมายหาก ป.ป.ช.มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องก็ส่งให้ อสส.เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ไม่ใช่การต่อความยาวสาวความยืดเช่นนี้ โดย อสส.ควรทบทวนความเห็นในคดีนี้ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ที่มา:วอยซ์ทีวี และ ไทยรัฐออนไลน์