นักศึกษาขอนแก่น-มหาสารคาม-เพชรบรูณ์ ลงพื้นที่สังเกตการณ์กรณีพิพาทสวนป่าคอนสาร หวั่นชาวบ้านบ่อแก้ถูกไล่รื้อจากพื้นที่ทำกิน หลังครบกำหนด 30 วันประกาศจังหวัดชัยภูมิวันนี้! ด้านชาวบ้านเผยในพื้นที่ยังเงียบ มีเพียงตำรวจเข้ามาหาข้อมูล ยืนยันสู้ต่อไม่ยอมออกจากที่ทำกิน
25 ก.ย.2557 จากรณีประกาศจังหวัดชัยภูมิให้ชาวบ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพืชผลอาสิน โดยอาศัยอำนาจคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดชัยภูมิ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 เรื่อง “การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้” ครบกำหนด 30 วัน ในวันนี้ (25 ก.ย. 2557) หลังจากนั้นทางราชการจะเข้าตรวจสอบพื้นที่และดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดโดยเด็ดขาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และราชภัฏเพชรบูรณ์หลายสิบคนร่วมเดินทางลงพื้นที่ตั้งแต่เมื่อวานนี้ เพื่อสังเกตการณ์หากจะมีการไล่รื้อชาวบ้านบ่อแก้ว เนื่องจากหวั่นเกรงว่าอาจมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น หลังชาวบ้าน 6 ชุมชนในพื้นที่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ถูกไล่รื้อตามคำสั่งคำสั่งที่ 64/2557 ไปก่อนหน้านี้
ด้านนายนิด ต่อทุน ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยังคงสงบ ยังไม่มีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ แต่ชาวบ้านก็มีการจัดเวรยามเฝ้าระวังกันโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนายได้เข้ามาในชุมชนเพื่อเก็บข้อมูล โดยสอบถามว่าปัจจุบันในพื้นที่เหลือชาวบ้านอยู่กี่คน และหากให้ออกจากพื้นที่จะออกหรือไม่ ซึ่งเขาตอบว่าชาวบ้านยืนยันไม่ออกจากพื้นที่
นายนิด กล่าวด้วยว่า ปัญหาพิพาทสวนป่าคอนสารมีกระบวนการแก้ไขอยู่แล้ว ชาวบ้านต่อสู้กันมายาวนาน ที่ผ่านมามีการคุยกันถึงในระดับนโยบายในหลายรัฐบาล แต่ล้าช้าเพราะหน่วยงานราชการไม่เดินหน้า ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีการออกประกาศชาวบ้านก็ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงทางจังหวัดและเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปยื่นหนังสื่อให้แก่ คสช.ถึงเรื่องราวของสวนป่าคอนสารซึ่งก็มีการรับเรื่องไว้แล้ว
ในส่วนข้อเสนอ ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว กล่าวว่า อยากมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาทรัพยากร ตรงไนสมควรเป็นป่าก็ให้เป็นป่าต่อไป ตรงไหนเป็นไร่นาก็ให้ชาวบ้านได้ทำกินต่อไป ชาวบ้านได้ร่วมพูดคุยกันแล้วว่าจะยืนหยัดสู้ต่อไปเพื่อจะได้ทำอยู่ทำกินในพื้นที่นี้เพราะไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน
สำหรับกรณีชุมชนโคกยาวในพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งครบกำหนดไล่รื้อตามประกาศจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา นายนิด ให้ข้อมูลว่า จากการประสานงานกับแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปไล่รื้อ และชาวบ้านยังคงมีการเฝ้าระวังกันอยู่
กรณีพิพาทชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กำเนิดชุมชนบ่อแก้ว ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นการปรากฏตัวของผู้ประสบปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน ภายหลังจากที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ยึดที่ของพวกเขาไปปลูกยูคาลิปตัส เมื่อปี 2521 เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องถูกอพยพจากที่ดินทำกินเดิม บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้าง เพราะไม่มีที่ดินทำกิน ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี พวกเขาต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินเดิม แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือการข่มขู่ คุกคามจากผู้มีอิทธิพล ที่เจ้าหน้าที่อ.อ.ป.ว่าจ้างมา การจับกุมดำเนินคดีโดยยัดเยียดข้อหาร้ายแรง เช่น มีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง ในกรณีนายวัก โยธาธรรม ที่ถูกกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ ในปี พ.ศ. 2529 เป็นต้น ภายหลังปี พ.ศ. 2547 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในเขตอำเภอคอนสาร ได้รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (คอซ.)” และทำการชุมนุมที่หน้าสำนักงานสวนป่าคอนสาร ในวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งถือเป็นปฐมบทของการต่อสู้รอบใหม่ ที่ประชาชนมีรูปการจัดตั้งอย่างเป็นแบบแผน ช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2552 พวกเขาผลักดันให้เกิดกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีกลไกรัฐร่วมกับฝ่ายประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานระดับท้องถิ่น ผลปรากฏว่า ทุกกลไกดังกล่าวข้างต้น มีความเห็นตรงกันว่า “สวนป่าคอนสารปลูกสร้างทับที่ดินทำกินของประชาชน ให้ยกเลิกสวนป่าแล้วนำที่ดินมาจัดสรรแก่ผู้เดือดร้อนต่อไป” อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติจาก อ.อ.ป.แต่อย่างใด และเป็นที่มาของการเข้ายึดพื้นที่ของชาวบ้านผู้เดือดร้อนในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 สู่การทวงคืน และพลิกฟื้นผืนแผ่นดิน ปฏิบัติการเข้ายึดพื้นที่ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกว่า 200 คน ได้ปักหลักในพื้นที่พิพาท และจัดตั้ง “หมู่บ้านบ่อแก้ว” ขึ้น เพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ พร้อมกับประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว กระทั่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ในเวลาต่อมา ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม คือบทเรียนแรกสุดของชาวชุมชนบ่อแก้ว โดยในวันที่ 27กันยายน 2552 อ.อ.ป. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านรวม 31 ราย โดยโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนามโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงขอให้ศาลได้มีมีคำสั่งขับไล่จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้ ปัญหาคดีความจึงเป็นโจทก์ท้าทายในช่วงแรกของการเข้ายึดพื้นที่ นอกจากปัญหาการข่มขู่ คุกคามของเจ้าหน้าที่ที่สนธิกำลังวันละประมาณ 100 นาย ตั้งจุดตรวจรอบบริเวณชุมชนบ่อแก้ว ชาวบ้านได้ประสานงานสภาทนายความในการให้ความช่วยเหลือเรื่องคดีความ และงบประมาณช่วยเหลือในการต่อสู้คดีจากกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ปัจจุบัน สถานภาพของคดีอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฏีกา โดยศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ตามฟ้องโจทก์ และอ.อ.ป. ได้แจ้งพร้อมกับวางเงินกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการปิดหมายบังคับคดี แต่ชาวบ้านได้เคลื่อนไหวโดยการเดินเท้าทางไกลจากคอนสารถึง กทม. ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ – 16 มีนาคม 2554 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้อ.อ.ป.ถอนการบังคับคดี และเร่งประกาศพื้นที่โฉนดชุมชนในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร การเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับ อ.อ.ป. เกิดขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 2554 โดยบรรลุข้อตกลง 3 ข้อคือ อ.อ.ป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี การนำพื้นที่จำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน ให้ผู้แทนอ.อ.ป. สำนักนายกรัฐมนตรี และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน ส่วนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ให้นำข้อกำหนดของอ.อ.ป.มาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าทั้ง 3 หน่วยงานข้างต้นจะลงสำรวจพื้นที่ร่วมกัน โดยมีเนื้อที่ที่ชาวบ้านเสนอให้นำมาดำเนินการในช่วงฤดูการผลิตปี 2554 จำนวน 250 ไร่ แต่เมื่อชาวบ้านจะเข้าไปทำประโยชน์กลับมีป้ายตรวจยึด จับกุมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กระทั่งนำมาสู่สถานการณ์เผชิญหน้ากันอีกรอบหนึ่ง ในช่วงเดือน กรกฎาคม 2554 ปี พ.ศ. 2555 ชุมชนบ่อแก้วได้ยกระดับเป้าหมายไปสู่การพัฒนาระบบการผลิตในพื้นที่ชุมชน เนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ โดยกำหนดเป็น “หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์” ทั้งพื้นที่แปลงรวม และพื้นที่สิทธิการใช้ส่วนบุคคล ทั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาพลังการผลิตของสมาชิกให้สามารถพึ่งตนเองได้ จำหน่ายได้ในผลผลิตบางประเภท การฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเปรียบเทียบกับสวนป่ายูคาลิปตัสของอ.อ.ป. จะเห็นว่ามีนัยที่แตกต่างกันมาก การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความร่วมมือของคนท้องถิ่น |
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai