ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจากทั่วประเทศถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล ปักหลักชุมนุมรอยื่นเอกสาร นายกฯ ทวงการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม รอ 3 วัน ไม่ได้คำตอบ เตรียมยกระดับการชุมนุม
วันนี้ (6 พ.ค.56) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ Pmove ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูน (สคจ.) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายปฏรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยด่วน บริเวณทำเนียบรัฐบาล
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (pmove) กล่าวถึงเป้าหมายหลักในการชุมนุมครั้งนี้ว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรีจัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง 9 ปัญหาของ pmove ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ ปัญหาส่วนที่แรก คือนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อสภาก่อนการบริหารประเทศเมื่อวันที่ 23ส.ค.54 หลักๆ คือ นโยบายในด้านทรัพยากรและนโยบายด้านคุณภาพชีวิต ซึ่งนโยบายคุณภาพชีวิตพูดไว้ชัดเจนว่า จะดำเนินการเพื่อให้คนจนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง มีอาชีพที่ภูมิใจ แต่หลังจาก 2 ปีผ่านมายังไม่มีความชัดเจน
ด้านเรื่องโครงการบ้านมั่นคงซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนชุมชนเมือง รัฐบาลยังไม่อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม อีกทั้ง ยังมีการตัดงบประมาณในส่วนนี้เพื่อนำไปใช้ในแผนงานอื่นของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ปัญหาส่วนที่ 2 คือ นโยบายที่ดินและทรัพยากรซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะกระจายสิทธิ์การถือครองที่ดิน โดยใช้มาตรการภาษี นั่นหมายความว่าต้องมีการออกภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพื่อเก็บภาษีที่ดินคนที่มีที่ดินเยอะ และจะมีการจัดตั้งธนาคารที่ดินคนจนและเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นนโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร
“ตัวสถานบันบริหารจัดการองค์กรที่ดิน เป็นองค์กรมหาชนซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นในรัฐบาลที่แล้ว และมีการอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการโครงการนำร่องในพื้นที่ มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะสั่งยุบสถาบันนี้ ทั้งๆที่สถาบันนี้ยังไม่ได้ทำงานเลย ซึ่งขัดแย้งต่อนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา เพราะว่าสถาบันนี้สำคัญที่จะนำไปสู่การยกร่างกฎหมายธนาคารที่ดินในอีก 5 ปีข้างหน้า” นายประยงค์กล่าว
ที่ปรึกษา pmove กล่าวอีกว่า วันที่ 7 พ.ค.56 จะมีการไปยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการถึงนายกรัฐมนตรีในนามของ pmove เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณากำหนดวันประชุม และกำหนดแนวทางว่าแต่ละเรื่องจะมีแนวทางมีขั้นตอนอย่างไรให้ชัดเจน อย่างไรก็ตามหลังการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว จะให้เวลานายกรัฐมนตรีถึงวันที่ 9 พ.ค.56 ในการตัดสินใจ ขณะเดียวกันประชาชนที่มาร่วมชุมนุมจะมีจดหมายส่วนตัวมายื่นผ่านเจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรีด้วย
หากหลังจากยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้วไม่มีอะไรชัดเจนจะมีการกำหนดมาตรการและยกระดับการเคลื่อนไหวให้เข้มข้นมากขึ้น
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ทวงคำตอบ กฎกระทรวง ‘บ้านมั่นคงแช่แข็ง’
นางประทิน เวคะวากยานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยตามนโยบายบ้านมั่นคง ซึ่งนโยบายดังกล่าวไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างชัดเจน และโครงการนี้มีปัญหาอุปสรรคมากมายตั้งแต่เรื่องขอผัง แบบบ้าน รวมไปถึงเรื่องการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งตนเองได้รับผลกระทบจนกระทั่งไม่ได้ใบอนุญาตก่อสร้าง ทำให้ไม่มีทะเบียนบ้าน แต่บ้านของตนเองปลูกเสร็จมา 2 ปีแล้ว ซึ่งการไม่มีทะเบียนบ้านทำให้ ไม่สามารถทำทุรกรรมต่างๆได้ ลูก หลาน ไม่สามารถทำอะไรได้เลย
นางประทิน กล่าวอีกว่า หลังจากที่มีโครงการบ้านมั่นคงในเมือง การจัดการพื้นที่น้อยแต่สมาชิกเยอะ พอได้พื้นที่มาต้องมีการจัดสรรแบ่งให้ชาวบ้าน ซึ่งไม่สามารถทำตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารของเขตได้ จึงพยายามไปแก้ไขกฎกระทรวง ที่เคยบังคับว่าพื้นที่ระหว่างบ้านให้ออกไปข้างละ 2 เมตร ด้านหน้า 1.50 เมตร ด้านหลัง 2 เมตร ซึ่งถ้าบ้านมีพื้นที่ 5x9 ตารางเมตร ถ้าต้องไปแบ่งออกข้างละ 2 เมตร จะเหลือตรงกลางแค่ 1 เมตร เพราะฉะนั้นตามกฎกระทรวงที่แก้ไขแบ่งให้เหลือข้างละ 50 เซนติเมตร เช่นนี้คนที่ได้พื้นที่หน้าบ้าน 4 เมตร จะเหลือ 3.50 เมตร
“พอเราทำแบบนี้เขตยังไม่ยอมออกให้ ต้องไปแก้กฎกระทรวง กฎกระทรวงผ่อนปรนให้ แต่พอเราไปขอใบอนุญาตก่อสร้างปรากฏว่าทางเขตไม่ออกให้ โดยให้เหตุผลว่าแบบไม่ตรงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งในชุมชนสลัมบางพื้นที่ ต้องประสบปัญหาปลูกบ้านไม่ได้ โดยยื่นใบอนุญาตก่อสร้างเสร็จและมาปลูกบ้าน พอเราปลูกเสร็จก่อน ใบอนุญาตก่อสร้างไม่ออก ก็ไม่ได้ทะเบียนบ้าน ทำให้ยุ่งยาก” นางประทินชี้แจงถึงสภาพปัญหา
“มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยากเย็น ซึ่งตอนนี้มีการพูดคุยกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมา เพื่อเสนอต่อ ครม.ซึ่งอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ทางเครือข่ายต้องการเข้าไปย้ำ เพราะมันยังค้างอยู่ ไม่ส่งเรื่องกลับมา ถ้าในวันพรุ่งนี้มีการประชุมเค้าไปดึงเอกสารเข้ามา ทุกอย่างก็จบ” นางประทินกล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 7 พ.ค.56 นางประทิน ผู้ประสานงานเครือข่ายสลัม 4 ภาค จะเป็นผู้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และรอคำตอบในการแก้ไขปัญหาในวันที่ 9 พ.ค.56
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai