ตัวอย่างเพลง “ความจริงที่(อ)ยากจะบอก”
23 ก.ย.2557 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับบริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด แถลงข่าวเปิดตัวมิวสิควิดีโอ (เอ็มวี) เพลง “ความจริงที่(อ)ยากจะบอก” ที่สตูดิโอ บริษัท ป่าใหญ่ฯ
สุนทราพร เกษแก้ว ผู้จัดการโครงการ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า การทำเอ็มวีเพลง “ความจริงที่(อ)ยากจะบอก” เพื่อต้องการสร้างบรรยากาศความเข้าใจในเรื่องเอดส์ เพราะการสื่อสารเรื่องเอดส์เป็นเรื่องสำคัญ หากคนเข้าใจและยอมรับจะทำให้การสื่อสารเรื่องเอดส์ง่ายขึ้น ผู้ติดเชื้อฯ ก็ไม่ต้องคอยปิดบัง และสามารถปรึกษาหารือคนใกล้ชิดทั้งในเรื่องการป้องกัน การดูแลรักษา หรือการใช้ชีวิตในมุมอื่นๆ ได้ แต่ทั้งนี้ ความพร้อมของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการประเมินของเขา เพราะหากบอกเรื่องการมีเชื้อฯ ไปแล้วคนรังเกียจ ผู้ติดเชื้อฯ ก็ไม่อยากจะบอก
“ปัจจุบัน มีการป้องกันการติดเชื้อฯ ทำให้เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อแรกเกิดลดลง คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของเด็กที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อฯ หรือประมาณ 120 คน/ปี และเคยมีตัวเลขประมาณการณ์เด็กที่มีเชื้อฯ อายุ 0 - 19 ปี ว่ามีประมาณ 26,000 คน เอ็มวีนี้จึงตั้งใจทำเพื่อให้คนดูเห็นว่าเด็ก-เยาวชนที่ติดเชื้อฯ เหล่านี้ กำลังเติบโตขึ้นและมีชีวิตไม่ต่างจากคนอื่น ส่วนคนรอบข้างที่อาจจะรู้หรือยังไม่รู้ว่าเขามีเชื้อฯ ก็จะเห็นว่าการยอมรับและความเข้าใจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กที่มีเชื้อฯ ก้าวต่อไปข้างหน้าได้” สุนทราพร กล่าวและว่า นอกจากนี้ เอ็มวียังตั้งคำถามกับคนดูว่า ถ้ามีคนรักที่ติดเชื้อฯ เขาจะยอมรับได้ไหม ซึ่งคำตอบของคนทำก็คือ ต้องการให้เขายอมรับ และใช้ชีวิตตามปกติ ให้เหมือนเขาเป็นคนเดิม หากทำงานด้วยกันก็ไม่ควรตั้งข้อรังเกียจ หรือไล่ออก
ด้าน ชุติมา สายแสงจันทร์ คนทำงานดูแลเด็กและวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี กลุ่มเราเข้าใจ กล่าวว่า เด็กที่เขาดูแลอยู่มีหลายแบบ ทั้งมั่นใจในการมีเชื้อเอชไอวีของตัวเอง ไม่มั่นใจเลย หรือมั่นใจว่าอยู่กับเอชไอวีได้ เติบโตได้เหมือนคนทั่วไป แต่ยังคงกังวลที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ เพราะคนภายนอกอาจยังไม่เข้าใจเรื่องเอชไอวี ซึ่งส่งผลให้การอยู่ร่วมกับคนอื่นเป็นไปได้ยาก
“การทำให้เยาวชนที่มีเชื้อฯ มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง ต้องทำควบคู่กับการให้สังคมเปิดโอกาส เปิดรับความเข้าใจในเรื่องเอชไอวี เลิกตั้งข้อรังเกียจ กีดกัน เพื่อให้เอื้อต่อการพูดคุยกัน ซึ่งมันสะท้อนจากงานวิจัยล่าสุดที่พบว่า เยาวชนที่มีประสบการณ์ในการบอกคู่เรื่องเอชไอวี จะใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ได้มากกว่าคนที่ไม่เคยบอก” นางชุติมา กล่าว
ตัวแทนจากกลุ่มเราเข้าใจ ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยของยูนิเซฟพบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อฯ ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วยนั้น มีอัตราการเสียชีวิตของทุกกลุ่มลดลง ยกเว้นเพียงช่วงวัยรุ่น อายุ 15 – 19 ปี ที่ยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น ซึ่งเขามองว่า การจัดการชีวิตในช่วงวัยรุ่นยังคงสุ่มเสี่ยงในหลายเรื่อง เช่น คิดว่าไม่กินยาบ้างก็คงไม่เป็นไร หรือย้ายไปอยู่กับครอบครัวของแฟน แล้วกลัวครอบครัวรู้ ก็เลยไม่กินยา เป็นต้น ซึ่งนี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เยาวชนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
สุริยนต์ จองลีพันธ์ ผู้บริหาร บริษัท ป่าใหญ่ฯ ให้สัมภาษณ์ว่า เอ็มวีเป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้ง่าย เพราะเนื้อหาดึงดูด และมีเรื่องราวความรู้สึกที่จะทำให้คนคล้อยตามได้มาก จึงน่าจะทำให้คนรับสารได้ง่าย โดยเนื้อหาของเอ็มวีเพลงนี้ มีเนื้อหาเพื่อบอกผู้ติดเชื้อฯ ให้กล้าพูดเรื่องเอชไอวี/เอดส์กับคนที่สำคัญ แต่ไม่ใช่กับทุกคน เพราะเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปบอกกับทุกคน แต่ต้องดูว่ามีความจำเป็นหรือสำคัญหรือไม่
“พอเราคุยกับผู้ติดเชื้อฯ แล้วก็พบว่า เขาไม่บอกผลเลือดของเขาหรอก หรือถ้าบอกก็จะบอกกับบางคน โดยการประเมินก่อน ส่วนคนทั่วๆ ไปที่ดูก็จะเห็นว่า ทุกคนมีความจริงที่พูดยาก แต่การจะบอกหรือไม่บอกความจริงนั้น ให้เขาพิจารณาว่ามันมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน เพราะแม้จะเป็นความจริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะพูดได้ทุกเรื่อง บางเรื่องมันอาจเป็นเรื่องยากที่จะบอก” สุริยนต์ กล่าว
ทั้งนี้ สามารถชมมิวสิกวิดีโอเพลง “ความจริงที่(อ)ยากจะบอก” ได้พร้อมกันทั่วประเทศ ทาง www.youtube.comหรือดาวน์โหลดได้ที่ www.facebook.com/TNPplusตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน นี้ เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป