หลังจากเกิดสภาวะปี๊บระบาด เริ่มต้นด้วย "ปี๊บมหิดล” ล่าสุดเชื้อแพร่กระจายมาถึง "ปี๊บธรรมศาสตร์” และไล่ลามขึ้นภาคเหนือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะมีการจัดเสวนาเสรีภาพทางวิชาการ โดยชื่อหัวข้อว่า “ปี๊บ” ดูเหมือน ว่า “ปี๊บ” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่ถูกหยิบจับเอามาใช้ในการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย
ประชาไทได้มีโอกาสสัมภาษณ์วิโรจน์ อาลี ถึงเหตุผลของของการคลุมปี๊บ จุดยืนต่อเสรีภาพทางวิชาการ และทัศนะคติจุดมุ่งหมายของการเป็นมหาวิทยาลัย และดูเหมือนจะมีเหตุผลที่สำคัญ และมีอะไรมีมากไปกว่า "งั่ง"
“ผมผิดหวังกับจุดยืนของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเรื่องนี้มากผมสมควร
แล้วมันก็กลับมาทำให้ผมตั้งคำถามถึง ความสำคัญของมหาวิทยาลัยในการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งมันเป็นพื้นที่ของการใช้เหตุใช้ผล พื้นที่ของการให้ความรู้ และมันพื้นที่ที่จะให้เราโต้เถียงกันได้
แก้ไขความขัดแย้งกันด้วยหลักการที่วางอยู่บนเหตุและผล
ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลกเขาให้ความสำคัญที่จะรักษาสภาวะศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้เอาไว้”
ประชาไท: สาเหตุของการคลุมปี๊บครั้งนี้คืออะไรครับ
วิโรจน์:คืออย่างนี้ครับ หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผมก็รออยู่ว่าทางผู้บริหารจะออกมาแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง ต่อประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ แต่ที่นี้คือตอบที่ได้จากท่านอาจารย์สมคิดก็คือ ผมโดนว่าจากทุกทาง นักศึกษาอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ก็ว่าผม ที่สนช. ทหารก็ว่าผมทำไมไม่จัดการดูแลเรื่องนี้ให้ดี อะไรทำนองนี้ พอผมได้ฟังคอมเม้นตอนนั้นผมก็รู้สึกหงุดหงิดน่ะ ผมก็เลยโพสต์ลงไปในเฟซบุ๊กว่าใครมีปี๊บเอามาให้ผมด้วย แล้วนักศึกษาเขาก็เอามาให้จริงๆ (หัวเราะ) ผมก็เอามาสวม ซึ่งก็ถึงว่าเป็นลักษณะของการเคลื่อนไหว อารยะขัดขืนแบบหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงว่าผมผิดหวังกับจุดยืนของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเรื่องนี้มากผมสมควร แล้วมันก็กลับมาทำให้ผมตั้งคำถามถึง ความสำคัญของมหาวิทยาลัยในการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมันเป็นพื้นที่ของการใช้เหตุใช้ผล พื้นที่ของการให้ความรู้ และมันพื้นที่ที่จะให้เราโต้เถียงกันได้ แก้ไขความขัดแย้งกันด้วยหลักการที่วางอยู่บนเหตุและผล ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลกเขาให้ความสำคัญที่จะรักษาสภาวะศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้เอาไว้ แต่ที่นี่ผมกลับรู้สึกว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับไม่ได้มีจุดยืนที่จะปกป้องเรื่องนี้เลย การพูดออกมาของท่านอาจารย์สมคิดก็คือการสับสนในจุดยืนของตัวเองว่าต้องรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่ของการให้ความรู้ หรือต้องรักษาไว้ซึ่งตำแหน่ง หรือบทบาทของตัวเองในฐานะสมาชิก สนช.
ประชาไท: แล้วสิ่งที่ต้องการบอกกับผู้บริหารในครั้งนี้คืออะไรครับ
วิโรจน์: ก็อยากให้ท่านอาจารย์ แถลงจุดยืนที่ชัดเจนมานิดหนึ่ง หรือถ้าเลือกได้ ก็อยากให้ท่านตัดสินใจเอาว่าท่านจะอยู่เป็นอธิการบดีต่อไปในฐานะที่เราเลือกท่าน ก็คือว่าอาจารย์สมคิดการมาจากการเลือกตั้งนะครับ แม้จะมีกระบวนการสรรหาแต่เราก็ได้มีการลงเสียงให้ท่าน แล้วเราก็คาดหวังว่าท่านจะบริหารและรักษาคุณค่าของมหาวิทยาลัยไว้ด้วย แต่ถ้าท่านไม่มีจุดยืนในเรื่องนี้ เราก็อยากให้ท่านตัดสินใจเอา ถ้ามันเป็นผลประโยชน์มากกว่าที่ท่านจะทำได้กับการเข้าไปอยู่กับสนช. ก็ให้ท่านตัดสินใจเอาว่าจะอยู่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่อไป หรือจะเข้าไปทำงานแบบ Full time
ประชาไท : อาจารย์คิดว่าอย่างไร เพราะในขณะเดียวกัน มีงานเสวนาวิชาการซึ่งเรื่องการเมืองอยู่ด้วยกลับสามารถจัดได้ แต่ห้องเรียนประชาธิปไตย หรืองานเสวนาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลับถูกยกเลิก
วิโรจน์ : ผมว่าอันนี้เป็นประเด็นของขีดจำกัด ของเส้นที่พยายามจะขีดขึ้นมาว่าอะไรเป็นการเมือง อะไรไม่เป็นการเมือง ผมคิดว่าอันนี้มันยังไม่มีความชัดเจน เมื่อมันยังไม่มีความชัดเจน ทางฝ่ายนักศึกษาก็คิดว่ามันไม่ใช่การเมืองเท่าไหร่ มันเป็น approach แบบวิชาการล้วนๆ แต่ทางฝ่ายผู้มีอำนาจอาจจะไม่ถูกใจ ฝ่ายที่ดูแลเรื่องความมั่นคงอยู่อะไรทำนองนั้น ในส่วนนี้เราก็คิดว่าต้องการความชัดเจนด้วย อะไรที่ท่านคิดว่าเป็นการเมือง อะไรที่คิดว่าจัดได้จัดไม่ได้ ควรจะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นด้วย
ประชาไท: ถ้าพูดแบบนี้ได้ไหมว่า งานเสวนาส่วนมากที่สามารถจัดได้แล้วมีการแตะประเด็นทางการเมือง ส่วนมากจะมีลักษณะที่เป็นไปในทางเดียวกับคสช.หรือเปล่าครับ
วิโรจน์:ผมก็คิดว่าอย่างนั้น ถ้าไม่โน้มเอียงไปทางคสช. ก็ต้องหลุดประเด็นออกไปเลย คือไม่มีการพูดถึงคสช.เลย ซึ่งนั้นผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่เค้าต้องการ ส่วนตัวเราก็คิดการกระทำในลักษณะนี้ คือมันกำลังทำให้พลังของมหาวิทยาลัย แวดวงความรู้ หรือคำอธิบาย การทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่างๆ มันไม่สามารถทำงานได้ เป็นแบบนี้ต่อไปมันก็เหนื่อยเหมือนกัน
ประชาไท: แล้วอย่างนี้พื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือใครก็ตาม เรายังพอจะมีพื้นที่แบบนี้อยู่หรือไม่
วิโรจน์: คือผมคิดว่า มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นปราการด้านสุดท้าย ซึ่งผมก็คาดหวังว่ามันจะเป็นพื้นที่ที่เราจะใช้เหตุผล ใช้มุมมองทางวิชาการตอบคำถามที่เป็นข้อสงสัยต่อสังคม หรืออธิบายปรากฏการณ์อะไรบางอย่างในสังคมอะไรทำนองนี้ ก็คือถ้าดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์รังสิต ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ามหาวิทยาลัย ไม่มีพื้นที่ตรงนั้นอยู่แล้วก็ได้
ประชาไท: ถ้าเป็นอย่างนั้น นี่คือบรรทัดฐานใหม่ ของเสรีภาพทางวิชาการ ภายใต้การควบคุมของคสช. เลยหรือไม่
วิโรจน์:อาจจะไม่ถึงขนาดนั้นนะ เราก็ตอบไม่ได้ว่าสภาวะแบบนี้มันจะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ คือทุกครั้งทางเจ้าหน้าที่เขาก็พยายามอธิบายว่าช่วงนี้ขอความร่วมมือก่อน แต่มันก็ไม่น่าจะถาวรในความรู้สึกของผม แต่ประเด็นคือมันจะเปิดเมื่อไหร่ มันหยุดได้ไหมเรื่องประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการ ซึ่งสำหรับผมมันหยุดไม่ได้ไง เพราะถ้าหยุดพื้นที่ตรงนี้ไป มหาวิทยาลัยมันก็ไม่มีประโยชน์ ห้องเรียนมันก็ไม่มีความหมาย ถ้าไม่สามารถจัดเสวนาให้ทุกคนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งมันก็ไม่ได้มีอะไร ทุกคนก็อาจจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ซึ่งก็อาจจะมีการตั้งคำถาม มีการแสดงความคิดเห็นนิดหน่อยแล้วทุกคนก็กลับบ้านน่ะ (หัวเราะ) ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราควรจะรักษาไว้ เพราะผลกระทบในทางการเมือง ในแง่ของความมั่นคงมันแทบจะไม่มีเลย น้อยมาก
000
ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นของวิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งยังคงยืนยันถึงจุดยืน และคุณค่าของการเป็นมหาวิทยาลัย อันเป็นสถานที่ของการใช้เหตุผล ให้ความรู้กับสังคม และควรจะเป็นพื้นที่ที่ควรจะรักษาไว้ พร้อมทั้งตั้งคำถามไปยังคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่าจุดยืนต่อการเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยของพวกท่านคืออะไร ซึ่งนี่คงเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ ถึงที่มาที่ไป เรื่องของการคลุมปี๊บได้ดีพอสมควร
ปกติเราคลุมปี๊บเพราะความอับอาย แต่วันนี้เราคลุมปี๊บเพราะเราต้องการต่อสู้อย่างสันติ ส่วนเรื่อง ใครจะ “’งั่ง” หรือไม่คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านตัดสินเอาเอง อย่างน้อยๆ ก็ด้วยเสรีภาพทางความคิดของท่าน