21 ก.ย. 2557 องค์กรสิทธิแรงงานในสหรัฐฯ ระบุว่ามีการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซีย โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกขูดรีดค่านายหน้าหนักตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางที่มาเลเซีย
เมื่อกลางเดือนกันยายน 2014 ที่ผ่านมา Verité องค์กรด้านสิทธิแรงงานที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลวิจัย"Forced Labor in the Production of Electronic Goods in Malaysia: A Comprehensive Study of Scope and Characteristics"ความยาว 244 หน้า ระบุว่าคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มาเลเซียเกือบร้อยละ 28 ตกอยู่ในสภาพยากลำบากไม่ต่างจากทาสแรงงาน ทั้งสภาพการจ้างงานและสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย รวมทั้งถูกขูดรีดจากค่านายหน้าโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านของมาเลเซีย
ทั้งนี้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซียมีแรงงานงานทั้งชายและหญิงจากอินโดนีเซีย, เนปาล, อินเดีย, เวียดนาม, บังกลาเทศ และพม่า เกือบประมาณ 1 ใน 3 จากจำนวนคนงานทั้งหมดในอุตสาหกรรม 350,000 คน
จากการสัมภาษณ์คนงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ 501 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ กว่าร้อยละ 94 ระบุว่าพวกเขาถูกนายจ้างยึดพาสปอร์ตไว้ ร้อยละ 71 ระบุว่าไม่มีทางที่นายจ้างจะคืนพาสปอร์ตให้พวกเขาอย่างแน่นอน
โดยแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยังต้องจ่ายค่านายหน้าจัดหางานทั้งประเทศต้นทางและปลายทางที่มาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกินกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสภาพที่เป็นหนี้ และบ่อยครั้งนายหน้ามักจะหลอกลวงเรื่องสภาพการทำงาน อัตราเงินเดือนและสวัสดิการ ซ้ำร้ายกว่านั้นเมื่อมาถึงมาเลเซียพวกเขากลับพบว่าไม่มีงานให้ทำ และต้องหางานใหม่ที่ต้องจ่ายค่านายหน้าอีกครั้ง
งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จับตากระบวนการผลิตสินค้าในต่างประเทศที่ใช้แรงงานบังคับ เพื่อประกอบการตัดสินใจคว่ำบาตรสินค้าเหล่านั้น ทั้งนี้มาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับแบรนด์ดังระดับโลก เช่น Apple, Samsung, Sony และอื่นๆ แต่ในงานวิจัยฉบับนี้ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าแบรนด์ใดบ้างที่ใช้แรงงานทาสเหล่านั้น
อนึ่งปัญหาการกดขี่แรงงานข้ามชาติในมาเลเซียนั้นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาศูนย์สิทธิแรงงานต่างชาติจากพม่า (Myanmar Migrants Rights Centre - MMRC) ระบุว่าพนักงานชาวพม่าของบริษัทโซนี (Sony EMCs) ในประเทศมาเลเซียคนหนึ่งถูกบังคับให้เซ็นชื่อยอมรับการไล่ออก และถูกนำตัวออกจากโรงงานไปกักขังไว้ในรถก่อนนำตัวไปส่งยังที่พัก โดยพนักงานคนดังกล่าวเป็นหนึ่งใน 32 คนที่ถูกนายจ้างยึดพาสปอร์ตไว้เมื่อต้นปี 2014 โดยในครั้งนั้นฝ่ายบุคคลของบริษัทระบุว่าเป็นการรวบรวมพาสปอร์ตของพนักงานไว้เพื่อขอต่ออายุการทำงานในประเทศมาเลเซียให้แก่พนักงาน
ที่มาเรียบเรียงจาก
‘Modern slavery’ in Malaysia electronics factories
http://en.prothom-alo.com/international/news/53748/%E2%80%98Modern-slavery%E2%80%99-in-Malaysia-electronics-factories
Forced Labor in the Production of Electronic Goods in Malaysia: A Comprehensive Study of Scope and Characteristics
http://www.verite.org/sites/default/files/images/VeriteForcedLaborMalaysianElectronics2014.pdf