Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เปิดปาฐกถาครึ่งเดียวของ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ในห้องเรียนประชาธิปไตยที่ถูกยกเลิก

$
0
0

30 นาทีกับปาฐกถานิธิก่อนถูกเชิญตัวไปสถานีตำรวจทั้งลูกศิษย์-อาจารย์ นิธิพูดถึงลักษณะของเผด็จการในแง่มุมที่น่าสนใจยิ่ง เสียดายที่ไม่มี 'อนาคตของเผด็จการ' (บรรยายไม่จบ) 

เย็นวันที่ 18 ก.ย. 57 ในที่สุดห้องเรียนประชาธิปไตยครั้งที่ 2 ตอนการล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศก็ถูกจัดขึ้นอย่างทุลักทุเล บริเวณใต้อาคารบรรยายรวม 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  รังสิต ด้วยเหตุผลว่าทางมหาวิทยาลัยได้รับคำสั่งจากกองบังคับการควบคุม กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 ลงชื่อโดยพันเอก พัลลภ  เฟื่องฟู สั่งให้มหาวิทยาลัยระงับกิจกรรมดังกล่าว ต่อมาได้มีคำสั่งจากทางมหาวิทยาลัยประกาศงดใช้ห้องเรียนสำหรับการจัดกิจกรรมวิชาการ ทำให้กลุ่มผู้จัดงานตัดสินใจย้ายที่จัดลงมาบริเวณใต้อาคารเรียนในทันที ด้วยเหตุผลที่ว่า “การจัดงานเสวนาวิชาการ เป็นสิทธิเสรีภาพ ที่พึงมีในระบอบประชาธิปไตย” ก่อนจะถูกยกเลิกไปในที่สุด

สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสไปร่วมงาน ทั้งผู้ที่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยและพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยมานานแล้วก็ตาม ประชาไทขอหยิบบันทึกแบบเรียน นำเสนอโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ เนื่องจากโชคดีเล็กน้อยที่เขาสามารถกล่าวปาฐกถาได้ราว 30 นาทีก่อนตำรวจจะขอให้ยุติการจัดงาน และเชิญตัวทั้งนักศึกษาผู้จัดและอาจารย์ที่ร่วมเสวนาไปที่สถานีตำรวจ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

“ถ้าคุณยึดกุมได้แต่รัฐ คุณเป็นได้เพียงทรราชแต่ถ้าคุณยึดกุมชาติได้ด้วย
เมื่อนั้นคุณจึงสามารถเป็นเผด็จการได้”

“การรัฐประหารที่ผ่านมาในหลายๆ  ครั้งของประเทศไทย เป็นเพียงแค่การยึดรัฐ ไม่สามารถยึดชาติได้จะมีก็เพียงสองครั้งคือ รัฐประหารปี49 และรัฐประหารครั้งล่าสุดปี57  ที่มีความพยายามจะยึดชาติด้วยและเมื่อใดก็ตามที่มีความพยายามจะยึดชาติมันไม่ง่ายเหมือนการยึดดินแดน และกลไกของรัฐเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ  เพียงแค่มีปืน มีอำนาจ จะยึดเมื่อไหร่ก็สามารถยึดได้แต่กับการยึดชาตินั้นเท่ากับว่าเป็นการยึดสำนึกของคน คุณต้องยึดความหวัง ยึดความฝันของคนด้วยซึ่งมันไม่ง่าย และที่ผ่านมาในปี49 นั้นล้มเหลวเพราะไม่สามารถยึดชาติได้ แต่สำหรับปีนี้ เขาไม่ให้พูด ผมก็ไม่พูด”

 

นิยามให้ชัด เผด็จการ(dictator) คืออะไร?

แม้ว่าจุดมุ่งหมายของการพูดในวันนี้จะอยู่ที่อนาคตของเผด็จการ แต่เป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีนิยามให้ชัดเสียก่อนว่าเผด็จการหมายถึงอะไร ประเด็นแรกที่ผมฟันธงคือ เผด็จการนั้นเป็นผลผลิตจากรัฐสมัยใหม่ เพราะในรัฐโบราณมีเพียงแต่ทรราช(tyrant)เท่านั้น ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองที่มักจะทำอะไรตามอำเภอใจ โหดร้าย โหดเหี้ยม รังแกคนมาก ทรราชนี่สามารถที่จะเป็นราชาหรือไม่ใช่ราชาก็ได้ คนเหล่านี้ผมมองว่าไม่ใช่เผด็จการด้วยเหตุผล 3 ประการ

1.ในโลกสมัยโบราณ ทรราชมีอำนาจจำกัด คือขาดระบบราชการ เครื่องมือในการสื่อสารคมนาคม ขาดกองทัพประจำการ หมายความว่า อาจจะมีกองทัพอยู่แต่เป็นเพียงกองทัพเล็กๆ  ซึ่งใหญ่กว่าคนอื่น แต่คนอื่นๆ  เขาก็มีกองทัพด้วย ทำให้ทรราชไม่สามารถจะผูกขาดความรุนแรงได้ ถ้าเป็นเผด็จการแล้วไม่ผูกขาดความรุนแรงเป็นไปไม่ได้  นอกจากนี้ยังขาดกลไกอีกหลายอย่าง ที่ไม่สามารถเข้าสู่รายละเอียดในการควบคุมประชาชนได้ ฉะนั้นทรราชก็ได้แต่แสดงอำนาจอยู่กับคนใกล้ตัวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะแผลงฤทธิ์ หรือแสดงความไม่ฉลาดของตนให้ปรากฏแก่สาธารณชนได้เท่าเผด็จ โดยสรุปก็คือการที่ขาดเครื่องมือต่างๆ  นั้นไม่สามารถสร้างความสะพรึงกลัวในระดับที่กว้างขว้างได้ เพราะความสะพรึงกลัวนั้นเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของเผด็จการ ทรราชนั้นไม่ว่ามันจะเลวร้ายแค่ไหนก็แล้วแต่มันไม่สามารถสร้างความสะพรึงกลัวในระดับที่กว้างขว้างได้

2.ในระบอบปกครองของทรราช ยังมีอำนาจอื่นเหลืออยู่อีกมาก เช่น อำนาจท้องถิ่น ศาสนา ขุนนาง ประเพณี และอื่นๆ  อีกหลายประการ ซึ่งทรราชไม่มีกำลังพอที่จะไปปราบอำนาจเหล่านั้นได้ วิธีเดียวที่ทรราชจะอยู่ได้คือต้องมีการประนีประนอมกับอำนาจอื่นๆ  เหล่านั้น เพราะฉะนั้นโดยปกติราชาธิราชทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าท่านอยากจะมีอำนาจมากแค่ไหน จะเหี้ยมโหดแค่ไหนก็ตาม มันจะมีอำนาจอื่นค่อยขวางอยู่ตลอดเวลาทำให้ทรราชนั้นต้องประนีประนอมด้วย เพราะฉะนั้นเผด็จการจึงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีรัฐสมัยใหม่ เพราะมันไม่มีเครื่องมือต่างๆ  ที่ทำให้เกิดความสะพรึงกลัว

3.อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทรราชแตกต่างจากเผด็จการก็คือ ในรัฐโบราณไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาติ หรือรัฐชาติ ซึ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญมากๆ  ฉะนั้นถ้าไม่มีรัฐสมัยใหม่ ซึ่งเป็นรัฐชาติด้วย โอกาสจะเกิดเผด็จการนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะชาติไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ดินแดนและกลไกของรัฐเท่านั้น แม้จะยึดดินแดน ยึดกลไกของรัฐได้ นั่นไม่ได้หมายความว่าจะยึดชาติได้ เพราะชาติมีมากกว่าดินแดน และกลไกของรัฐ คือชาติมีสำนึกร่วมกันถึงอัตลักษณ์ของคนด้วย มีสำนึกของความคิดถึงอนาคตร่วมกันบางอย่าง ซึ่งรัฐเฉยๆ  ไม่มี  เพราะฉะนั้นเผด็จการที่แท้จริงจะต้องมีชาติอยู่ด้วย

ถ้าคุณยึดกุมได้แต่รัฐ คุณเป็นได้เพียงทรราช แต่ถ้าคุณยึดกุมชาติได้ด้วย เมื่อนั้นคุณจึงสามารถเป็นเผด็จการได้ ในขณะที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นชาติของรัฐสมัยใหม่ทั้งหลายมันไม่เท่ากัน

การจะมีสำนึกความเป็นชาติร่วมกันได้ จะต้องยอมรับเสียก่อนว่า พลเมืองทุกคนเป็นเจ้าของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ถ้ายอมรับข้อนี้ไม่ได้ นั่นหมายความว่า มีเพียงแค่รัฐที่ไร้ชาติ

สำหรับชาติไทยนั้นมีพัฒนาการความเป็นชาติที่ช้ากว่าชาติอเมริกัน ชาติฝรั่งเศส แต่เรากำลังก้าวเดินสู่ความเป็นชาติเข้าไปเรื่อยๆ จนคนเริ่มมีสำนึกในความเป็นเจ้าของประเทศมากขึ้น จากแต่เดิมที่มีเพียงศูนย์กลางที่กรุงเทพ ข้าราชการ และชนชั้นนำของประเทศ ชาวนาเกษตรกรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

และด้วยเหตุนี้ ผมมองว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาในหลายๆ ครั้งของประเทศไทย จึงเป็นเพียงแค่การยึดรัฐ ไม่สามารถยึดชาติได้ จะมีก็เพียงสองครั้งที่คือ รัฐประหารปี49 และรัฐประหารครั้งล่าสุดปี57  ที่มีความพยายามจะยึดชาติด้วย และเมื่อใดก็ตามที่มีความพยายามจะยึดชาติ มันไม่ง่ายเหมือนการยึดดินแดนและกลไกของรัฐ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ เพียงแค่มีปืน มีอำนาจ จะยึดเมื่อไหร่ก็สามารถยึดได้ แต่กับการยึดชาตินั้นเท่ากับว่าเป็นการยึดสำนึกนึกของคน ต้องยึดความหวัง ยึดความฝันของคนด้วย ซึ่งมันไม่ง่าย และที่ผ่านมาในปี49 นั้นล้มเหลว เพราะไม่สามารถยึดชาติได้ แต่สำหรับปีนี้ เขาไม่ให้ผม ผมก็ไม่พูด

การสร้างความน่าสะพรึงกลัว เครื่องมือของเผด็จการ

“ความน่าสะพรึงกลัวของระบอบเผด็จในรัฐสมัยใหม่จึงแตกต่างจากความน่าสะพรึงกลัวของโจรหรือความน่าสะพรึงกลัวของทรราช… แต่เผด็จการในรัฐสมัยใหม่ไม่ทำแบบนั้นเหตุผลสำคัญก็เพราะจุดมุ่งหมายของการสร้างความน่าสะพรึงกลัวก็คือ… Total Dominationการยึดกุมคนจนสุดจิตสุดใจ หรือยอมจำนนอย่างสุดตัว”

สิ่งที่เผด็จการสมัยใหม่ใช้เป็นเครื่องมือนั้นมีอยู่สองสิ่ง คือความน่าสะพรึงกลัว กับอุดมการณ์บางอย่างที่ทำให้ความน่าสะพรึงกลัวเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องทำงานควบคู่กันไป ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้

ความน่าสะพรึงกลัวเป็นเครื่องมือของการใช้อำนาจมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว พระเจ้าแผ่นดินในสมัยโบราณเวลาจะประหารคนนั้นไม่ได้มีวิธีการเอานักโทษเข้าไปฉีดยาแล้วปล่อยให้ตายในห้อง แต่เวลาจะประหารนักโทษท่านสั่งให้จับคนคนนั้นเข้าไปใส่ไว้ในตะกร้อแล้วให้ช้างเตะจนตาย ต่อหน้าคนหลายๆ คน ซึ่งนี่เป็นการสร้างความน่าสะพรึงกลัวในฐานที่ห้ามไม่ให้เกิดการละเมิดพระราชอำนาจ แต่กับเผด็จการในรัฐสมัยใหม่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ความน่าสะพรึงกลัวในรัฐสมัยใหม่นั้นเป็นการสร้างความน่าสะพรึงที่ไม่มีการแยกแยะ คือไม่ได้ใช้กับคนที่คิดจะล้มอำนาจเผด็จการเพียงอย่างเดียว แต่ใช้กับคนเล็กคนน้อยใช้ทั่วไปหมด เช่นคุณสวมเสื้อผิดสี คุณก็มีความผิด ซึ่งนี่เป็นความน่าสะพรึงกลัวที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของระบบเผด็จการสมัยใหม่ คือมีการทำร้าย ลงโทษคนอื่นทั่วไปหมดโดยไม่คำนึงว่าคนๆ นั้นเป็นศัตรูหรือไม่ ซึ่งในโซเวียตสมัยสตาลิน การลงโทษแบบไม่เลือกหน้าแบบนี้มีการทำกับพรรคพวกตัวเองด้วย ไม่ใช่เพราะพรรคพวกของตนจะหันกลับมาทำร้ายตัวเอง แต่ต้องทำเพราะให้ความน่าสะพรึงกลัวแพร่กระจายออกไป โดยทำให้คนรับรู้ว่าไม่มีทางรอดออกไปได้ง่ายๆ

ในส่วนต่อมา การใช้ความน่าสะพรึงกลัวของเผด็จการในรัฐสมัยใหม่นั้นมีลักษณะที่เป็นการสร้างความน่าสะพรึงกลัวคือ ต้องมีการทำลายคนจำนวนมาก เช่นสิ่งที่นาซีกระทำกับชาวยิวและชนชาติอื่นๆ …ซึ่งมันเป็นการสูญเสียจำนวนมาก และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จได้เพราะประชากรมีน้อยเกินไป ฉะนั้นจึงเป็นได้เพียงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น  นอกจากนี้แล้วการทำร้ายคนเผด็จการจะไม่ทำร้ายคนๆ เดียว แต่จะทำร้ายเครือข่ายของคนๆ นั้นด้วย ให้เกิดความทุกข์อย่างแสนสาหัสมาก เช่นในประเทศชิลีและอาร์เจนติน่า ซึ่งเคยมีการจับคนแล้วหายไปเลย โดยไม่มีใครรู้ว่าคนๆ หนึ่งหายไปไหน ซึ่งการที่หายไปเฉยๆ โดยไม่รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่หลังตายไปแล้ว ส่งผลให้คนที่เหลืออยู่ไม่สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้

ความน่าสะพรึงกลัวอีกอย่างหนึ่ง คือมันทำให้เราไม่สามารถไว้ใจใครได้ กรณีเช่นนักไวโอลีนฝีมือเอกของโลกที่ชื่อออย สตาร์ค ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลโซเวียตสมัยสตาลิน ร่วมกับเพื่อนที่เป็นนักเชลโล ชื่อรอส ทรอโพรวิชท์ วันแรกที่ทั้งสองคนไปถึงปารีสก็ได้เดินออกมาเที่ยวชมที่เมืองปารีส เมื่อมาถึงออย สตาร์ค ก็ได้สารภาพกับรอส ทรอโพรวิชท์ ว่าก่อนจะออกเดินทางมาปารีส ตนได้เขียนบทความโจมตีรอส ทรอโพรวิชท์ อย่างแหลกลาญเลย และในวันพรุ่งนี้บทความเหล่านั้นจะตีพิมพ์ แต่ทั้งสองคนก็เข้าใจกันว่าสตาลินต้องการที่จะให้ตัวรอส ทรอโพรวิชท์ออกนอกประเทศไป จึงได้สั่งให้นักดนตรีที่มีชื่อเสียงพอๆ กันเขียนบทความโจมตีรอส ทรอโพรวิชท์ สรุปก็คือความน่าสะพรึงกลัวนี้ มันกำลังทำใครคุณไม่สามารถไว้ใจใครได้ ให้คนรู้สึกถึงความอ่อนแอเมื่อรู้สึกขาดเครือข่ายโดยสิ้นเชิง  

อีกประการหนึ่งของความน่าสะพรึงกลัวของเผด็จการในโลกสมัยใหม่ คือมันทำให้คนไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ถูกเลย คนไม่สามารถคิดได้ว่าจะทำอะไรได้มากน้อยเพียงไหน ทำอะไรถึงจะถูกหรือทำอะไรถึงจะผิด สุดท้ายจึงส่งผลให้คนหลายๆ คนเซ็นเซอร์ตัวเองไปมากกว่าเส้นที่ผู้มีอำนาจได้ขีดไว้ และนี่คือประโยชน์ของความน่าสะพรึงกลัวของโลกสมัยใหม่

ทั้งหมดนี้ทำได้อย่างไร โดยสรุปก็คือเผด็จการขุดเอากิเลสที่ฝังลึกในใจมนุษย์นั้นออกมา คือมนุษย์ทุกคนเห็นแก่ตัวกันหมด พอเราวางใจใครไม่ได้ เราก็เหลือแต่ความเป็นปัจเจกคนเดียว และนั่นทำให้เราอ่อนแอถึงที่สุด

เพราะฉะนั้นความน่าสะพรึงกลัวของระบอบเผด็จการในรัฐสมัยใหม่จึงแตกต่างจากความน่าสะพรึงกลัวของโจร หรือความน่าสะพรึงกลัวของทรราช… แต่เผด็จการในรัฐสมัยใหม่ไม่ทำแบบนั้น  เหตุผลสำคัญก็เพราะจุดมุ่งหมายของการสร้างความน่าสะพรึงกลัวก็คือ… Total Domination การยึดกุมคนจนสุดจิตสุดใจ หรือยอมจำนนอย่างสุดตัว…

อุดมการณ์ที่หล่อเลี้ยงความชอบธรรมให้ความน่าสะพรึงกลัว

“เผด็จการทั่วไปทำทุกอย่างที่เหมือนกับทรราชทำคือ
พยายามหันกลับไปรื้อฟื้นระเบียบเหล่านี้ซึ่งทำให้มันไม่แตกต่างกับทรราช”

“เมื่อไรที่คุณยึดอำนาจกลายเป็นเผด็จการคุณจะรู้สึกหวั่นไหวที่ข้อมูลข่าวสารจะหลั่งไหลอย่างอิสระจากที่ต่างๆ ในโลกเข้ามาข้างในถ้าบล็อคได้คุณก็บล็อค ถ้าบล็อคไม่ได้คุณก็หาทางแก้โดยวิธีต่างๆอันนี้เป็นลักษณะที่เราพบอยู่ทั่วๆ ไป ในขณะเดียวกันคุณกลัวการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบของสังคม”

เหตุใดการสร้างความสะพรึงกลัวในลักษณะดังกล่าวจึงถูกยอมรับ  เหตุผลสำคัญคือมันมีอุดมการณ์ และอุดมการณ์ของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จทั้งหลายในโลกนั้น มันแตกต่างจากอุดมการณ์ของพวกทรราช คือพวกทรราชไหนก็ต้องมีอุดมการณ์ทั้งนั้น พระเจ้าปราสาททองยึดราชบัลลังก์จากลูกชายพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนหน้านั้นที่เป็นเด็กตัวเล็กๆ  แล้วท่านก็บอกว่า ไอ้นี้เป็นเด็กเล็กเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เล่นชนแพะชนทั้งวันแล้วบ้านเมืองจะไปได้ยังไง อุดมการณ์จะปล่อยให้ไปตกในมือเด็กเล็กๆ ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นกูยึดเองดีกว่า กูเป็นเอง นี้คืออุดมการณ์ รัชกาลที่1 ท่านก็ก็บอกว่าจะขึ้นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นี่ก็คืออุดมการณ์เหมือนกัน

แต่เผด็จการไม่ใช้อุดมการณ์แบบนี้ อุดมการณ์ของทรราชหรืออุดมการณ์ของเผด็จการที่มันไม่เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ มันเป็นอุดมการณ์ที่จะกลับไปย้อนหาอดีต อดีตที่จริงหรือไม่จริง คือการพยายามรักษาสิ่งที่เชื่อว่าดีในอดีต มีระเบียบสังคมที่ดี สงบเรียบร้อยอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ดีในอดีต เผด็จการเพื่อรักษาสิ่งที่ดีในอดีตเอาไว้ แต่เผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ใช่จะรักษาสิ่งที่ดีในอดีต แต่ต้องการสร้างสิ่งใหม่ให้แก่โลกปัจจุบันและอนาคต เช่น คอมมิวนิสต์ของโซเวียต ที่พยายามจะสร้างเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งประวัติศาสตร์มันบังคับ บ่งบอกว่ายังไงก็ไม่มีทางหนีพ้น คนที่พยายามจะหนีจะถูกกงล้อของประวัติศาสตร์ทับตาย

ฮิตเลอร์บอกว่ามันมีชนชั้นในทางชีววิทยา มีชนชั้นที่เป็นนาย ถึงยังไงชนชั้นนี้ก็เป็นนาย เผด็จการเบ็ดเสร็จต้องการสร้างคนชนิดใหม่ขึ้นมา ไม่ได้ต้องการรักษาคนดีเอาไว้ ต้องเป็นคนชนิดใหม่ถึงจะเหมาะสมที่จะอยู่ถึงโลกยุคใหม่ ในขณะที่เผด็จการทรราช เผด็จการธรรมดาจะพยายามกับไปรื้อระเบียบสังคมเก่าอยู่ตลอดเวลา อุดมการณ์ที่เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จที่จะสร้างอนาคตใหม่ มันมีพลังมากเพราะมันควบคุมอดีตควบคุมปัจจุบันควบคุมอนาคตไว้ได้ ลองคิดถึงวิธีอธิบายการต่อสู้กันทางชนชั้น ซึ่งมันอธิบายไล่ย้อนกลับไปถึงอดีตพัฒนาเป็นปัจจุบันและอนาคต อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงเป็นอื่น เป็นสิ่งที่มีพลังมาก

แน่นอน เผด็จการที่ไม่ใช่เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จไม่สามารถที่จะมีอุดมการณ์ระดับนี้ได้ ดังนั้นจึงต้องพยายามหันกลับไปยึดการรื้อฟื้นระเบียบเก่าของสังคม ระเบียบเก่าเหล่านี้ตัวเองก็ได้ประโยชน์หรือพรรคพวกตัวเองก็ได้ประโยชน์ เช่น ในแอฟริกา เผด็จการหลายแห่ง เป็นเรื่องของการต่อสู้ของชนเผ่าหลายๆ ชนเผ่า ชนเผ่าที่เคยครอบงำผลประโยชน์มากที่สุด คนในชนเผ่านี้บางคนเคยเป็นทหารและทำการยึดอำนาจได้ ชนเผ่านี้ก็พยายามยืนยันว่าจะกับไปสู่ระเบียบสังคมแบบเก่าที่มันมีความสงบสุข

ในลาตินอเมริกากองทัพร่วมมือกับพวกกระฎุมพีหรือกลุ่มคนชั้นกลางในเมืองเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของกองทัพและรักษาชนชั้นกลางเอาไว้ ก็อ้างว่าเรากับไปสู่ระเบียบที่มันสงบเรียบร้อยเหมือนเดิม ในฟิลิปปินส์กองทัพร่วมมือกับเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อรักษาตัวระเบียบสังคมที่เชื่อว่ามันดี

เผด็จการทั่วไปทำทุกอย่างที่เหมือนกับทรราชทำ คือพยายามหันกลับไปรื้อฟื้นระเบียบเหล่านี้ ซึ่งทำให้มันไม่แตกต่างกับทรราช เมื่อไรที่เราพูดถึงเผด็จการในปัจจุบัน ไม่นับฮิตเลอร์ สตาลิน เหมา เราจะนึกถึงเผด็จการที่มีลักษณะที่เป็นแบบทรราช ซึ่งเอื้อผลประโยชน์ของคนชนกลุ่มน้อย เพราะสังคมทุกสังคมในโลกมันเอื้อประโยชน์แก่ชนกลุ่มน้อยก่อนเสมอ ดังนั้นมันเป็นเผด็จการที่ตามทัศนะของผมเป็นเผด็จการที่ล้าสมัย พูดง่ายๆ คือโลกปัจจุบันไม่อนุญาตต่อเผด็จการธรรมดา แต่อาจจะอนุญาตเผด็จการแบบฮิตเลอร์ แต่เผด็จการที่ทำตัวเองเป็นทรราชเมื่อสองพันปีไปแล้วคงไม่ค่อยเอื้อเท่าไร อุดมการณ์อันเดียวที่เผด็จการทั่วไปทั้งหลายที่ไม่ใช่เผด็จการเบ็ดเสร็จมักจะทำ คือ ชาตินิยม ผมต้องเข้ามาเพื่อรักษาชาติเอาไว้ ซึ่งความเป็นชาติของเขาจะสอดคล้องกับการรื้อฟื้นระเบียบแบบเก่า เพราะว่าชาติของประเทศที่มีเผด็จการทั้งหลาย ไม่ว่าจะแอฟริกา  เอเชีย ลาตินอเมริกา มันเป็นชาติที่สร้างระเบียบสังคม ชนิดที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนจำนวนน้อยตลอดเวลา ฉะนั้นที่บอกคุณรักชาติก็คือการพยายามจะรักษาตัวระเบียบของสังคมเอาไว้ให้มันเหมือนเดิม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือพลังในชาติของโลกปัจจุบันมันอ่อนไปแล้ว มันถูกตีความได้หลายอย่าง รักชาติแบบมึง รักชาติแบบกู ฉะนั้นตัวชาตินิยมที่เฉยๆ มันจึงกลัวการไหลของข้อมูลข่าวสารที่เสรี

เมื่อไรที่คุณยึดอำนาจกลายเป็นเผด็จการ คุณจะรู้สึกหวั่นไหวที่ข้อมูลข่าวสารจะหลั่งไหลอย่างอิสระจากที่ต่างๆ ในโลกเข้ามาข้างใน ถ้าบล็อคได้คุณก็บล็อค ถ้าบล็อคไม่ได้คุณก็หาทางแก้โดยวิธีต่างๆ  อันนี้เป็นลักษณะที่เราพบอยู่ทั่วๆ ไป ในขณะเดียวกันคุณกลัวการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบของสังคม

อย่าลืมว่าตามคำนิยาม ชาติคืออะไร  ชาติก็คือสังคมนั่นเอง เพราะเราพูดถึงชาติคือ รัฐที่ยอมรับความเป็นเจ้าของประเทศที่ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นเผด็จการจะกลัวการเคลื่อนไหวของสังคมทุกรูปแบบ ไม่ว่าคุณจะเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เคลื่อนไหวในเชิงวิชาการ คุณจะรู้สึกหวั่นไหวในการเคลื่อนไหวในสังคม

เพราะชาติที่คุณยึดได้มันไม่มีในตัวสังคมที่พูดถึง ขอกลับย้อนไปย้ำสิ่งที่พูดว่า ถ้าคุณยึดได้แต่เพียงรัฐ ยึดชาติไม่ได้ เมื่อไรที่ชาติมันเริ่มแสดงตัวขึ้นมาเมื่อนั้นคุณจะหวั่นไหวกับมันอย่างมากที่สุด ที่น่าสนใจคือคุณจะทำอย่างไรกับการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ก็ต้องปราบปรามด้วยความน่าสะพรึงกลัว เหมือนกับเผด็จการเบ็ดเสร็จใช้นั่นเอง แต่ความน่าสะพรึงกลัวที่ขาดอุดมการณ์รองรับ นอกจากที่ยกตัวอย่าง ฮิตเลอร์ สตาลิน เหมา มันทำให้เผด็จการมันกลายเป็นทรราชอีก อย่าลืมว่าความน่าสะพรึงกลัวที่ฮิตเลอร์ สตาลิน ใช้ เป็นความน่าสะพรึงกลัวที่ถูกรองรับด้วยอุดมการณ์ที่คิดถึงอนาคต ไม่ใช่การกลับไปรักษาอดีต และคนจำนวนหนึ่งที่จำนวนมากพอสมควรยอมรับกับการใช้ความน่าสะพรึงกลัว แต่ถ้าเมื่อใดที่คุณใช้ความน่าสะพรึงกลัวเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง คุณก็กลายมาเป็นทรราชอย่างเก่า ซึ่งมันไม่สามารถจะอยู่ได้ มันล้าสมัยไปแล้วในโลกปัจจุบันนี้ คุณก็ต้องหันไปหาความชอบธรรมอื่นๆ เช่น การสร้างประชาธิปไตยที่สมบรูณ์ การกำจัดคอรัปชั่น การรักษาความสงบเรียบร้อย การปฏิรูปการเมือง การรักษาสถาบันศาสนา การรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ อะไรก็ตามแต่เป็นความชอบธรรมทางการเมืองซึ่งเอามาทดแทนอุดมการณ์ ซึ่งถ้าอุดมการณ์ที่เป็นการรักษาอดีตแต่เพียงอย่างเดียว มันไม่มีพลังพอที่คุณจะใช้ความน่าสะพรึงกลัวอย่างเต็มได้

อนาคตของเผด็จการ กับปัญหาที่ต้องเผชิญ บทเรียนที่ต้องยุติ

พอมาถึงเรื่องของอนาคตของเผด็จการ ประเด็นแรกที่อยากจะพูดถึงก็คือ เผด็จการที่พูดถึงเป็นเผด็จการทั่วไปไม่ใช่เผด็จการเบ็ดเสร็จ

ประเด็นที่1 มีนักวิชาการชาวต่างชาติที่พูดถึงเรื่องของความงอกงามเติบโตของประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา และเหตุผลสำคัญคือโลกาภิวัตน์ รัฐในโลกปัจจุบันไม่ใช่รัฐแบบเก่าที่พร้อมจะปิดประเทศเพื่อที่จะอยู่คนเดียว มันเป็นรัฐที่ประเทศอื่นๆ  เข้ามาแทรกวางนโยบายสาธารณะทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกตัวอย่างเช่น รถไฟความเร็วสูง เราไปคิดเพียงแต่ว่าเปิดตลาดให้จีน ซึ่งจริงๆ แล้วตลาดจีนจะสามารถใช้ประโยชน์จากการผลิตในจีน ใช้ประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูงได้เท่าไร ซึ่งยังไม่แน่ใจอาจจะแค่ขายราง ขายหัวจักรรถไฟ แต่ที่จริงรถไฟความเร็วสูงมันหมายถึงการขยายตัวของการบริโภค หรือสินค้าอื่นที่คนจำนวนมากและชนชั้นกลางจะเข้าถึงง่ายๆ  เพราะฉะนั้นพอมีรถไฟความเร็วสูง จะมีคำถามขึ้นมาว่าสินค้าจะไหลไปจีนเพียงอย่างเดียวหรือจะมีสินค้าจากโลกข้างนอกที่เจริญกว่าจีน และไหลไปทางรถไฟเข้าไปสู่คนอีสาน เหนือ ใต้ ได้เร็วมากขึ้น จึงมีความหมายเป็นนโยบายสาธารณะของประเทศไทย แต่เป็นผลประโยชน์ทั้งของจีนและประเทศอื่นๆ  ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเทศไทยอย่างเดียว

ประเด็นที่2 ปัญหาความมั่นคงด้านนโยบายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกับประเทศมหาอำนาจ สมัยสงครามเย็นความมั่นคงด้านนโยบายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขา แค่คุณวางนโยบายว่าจะต่อต้านคอมมิวนิสต์ ใครจะมาจากการเลือกตั้ง มาจากการยึดอำนาจรัฐประหารก็ได้ทั้งนั้น เพียงแค่มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในโลกปัจจุบันปัญหาความมั่นคงด้านนโยบาย มันมาจากการที่คุณต้องมีรัฐบาลทหารคอยกำกับให้เป็นนโยบายอย่างนั้นหรือเปล่า ส่วนตัวคิดว่ามันไม่ใช่แล้ว ความมั่นคงด้านนโยบายกลับเกิดขึ้นจากการต่อต้านที่มีขีดจำกัด เช่น นโยบายที่มาจากการถกเถียงโต้แย้ง จนในที่สุดสามารถผ่านออกมาได้ แต่จะเป็นนโยบายที่มั่นคงกว่า นโยบายที่มาจากเผด็จการและสามารถวางนโยบายภายใน 3 เดือน ถ้าคิดว่ามหาอำนาจต้องการความมั่นคงทางด้านนโยบายของประเทศเล็กๆ ที่กล่าวมา ผมคิดว่าประชาชนเขาน่าจะพอใจกับระบอบประชาธิปไตยมากกว่า  อันนี้ไม่เกี่ยวว่ามหาอำนาจเหล่านั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย  จีนเองนี่อย่างที่ทุกท่านทราบอยู่แล้ว ประสบปัญหาการแปลงเปลี่ยน นโยบายในพม่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำเหมือง นโยบายพลังงาน หรือแม้แต่นโยบายทางการทหาร ซึ่งครั้งกองทัพพม่าซื้อแต่อาวุธจีนตลอดเวลา ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว แต่เริ่มซื้ออาวุธฝรั่งบ้างเหมือนกัน เพราะฉะนั้นความมั่นคงด้านนโยบายจะมีความสำคัญต่อมหาอำนาจ ไม่ใช่ ฉะนั้นมหาอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงเท่านั้น แต่มหาอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่างก็ต้องการความมั่นคงทางนโยบายจากประเทศอื่นทั้งสิ้น

ประเด็นที่ 2 ที่ผมอย่างจะพูดถึงอนาคตของเผด็จการ คือผมคิดว่ารัฐชาติกำลังเปลี่ยนอาจจะไม่ถึงกับสลายลงไป แต่มันเปลี่ยนแน่ๆ  เพราะรัฐชาติในทุกวันนี้คุณต้องอยู่กับองค์กรข้ามชาติระหว่างประเทศแยะมาก ไม่ว่าจะเป็น EU ไม่ว่าจะเป็นASEAN ไม่ว่าจะเป็นFTA ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามอีกร้อยแปดพันประการ องค์กรเหล่านี้ข้อตกลงขององค์เหล่านี้ข้ามอธิปไตยของปวงชนด้วย อย่างที่ทุกท่านทราบ เช่นเรื่องEU มันข้ามกฎหมายของทุกประเทศเลยที่เป็นสมาชิกของEU เพราะมันมีกฎหมายของมันเอง เพราะฉะนั้น…………………………………

 

#########

(เจ้าหน้าที่เดินเข้ามาแจ้งนิธิโดยตรง ขอให้ยกเลิกการจัดกิจกรรม)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles