นักวิจัยเผยหลักฐานเมืองโบราณปาตานีตอนใน มีวัฒนธรรมฝรั่งมาตั้งแต่อดีต เล่าอุปสรรคของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและการรักษามรดกทางวัฒนธรรม พร้อมกับผลของการไม่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เด็กได้ศึกษา
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 15 กันยายน 2557 ณ ห้องแกรนด์ บอลล์รูม บี ชั้น 8 โรงแรมลีการ์เด้นท์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในงานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง สยาม-ปาตานี : มิติใหม่ ข้อมูลใหม่ และการจัดระบบความเข้าใจ ภายใต้ชุดโครงการความรู้ เรื่อง การประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน (ปีที่ 3) มีเวทีเสวนา เรื่อง สถานะ และ ความรู้ ที่ค้นพบใหม่: ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ปาตานี
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายศุกรีย์ สะเร็ม เลขาธิการสโมสรมลายูแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา นายนฤดล เจ๊ะแฮ ประธานกลุ่มภาคีสถาปัตยกรรมปาตานี นายณายิบ อาแวบือซานักวิจัยท้องถิ่นมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้าน รัศมินทร์ นิติธรรม ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ดำเนินรายการโดย อาจารย์โชคชัย วงษ์ตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีรายละเอียดการเสวนาดังนี้
สถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนแปลงพร้อมอำนาจ
นายนฤดล เจ๊ะแฮ ประธานกลุ่มภาคีสถาปัตยกรรมปาตานี พูดถึงประเด็นหลังปี 2475 กับสถาปัตยกรรม โดยหลังจากที่รัฐไทยส่งคนจากกรุงเทพมาปกครองปาตานีและยกเลิกการปกครองแบบกษัตริย์หรือเจ้าเมือง สิ่งตามมาด้วยก็คือสถาปัตยกรรม เพราะก่อนหน้านั้นมีสถาปัตยกรรมมากมายในพื้นที่ทั้งแบบฝรั่ง แบบจีน แบบมลายูแท้ รวมถึงแบบไทย แต่ในช่วงจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งยกเลิกสถาปัตยกรรมแบบเดิมและสร้างใหม่แบบไทยๆ ตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ศาลากลาง ศาลหลักเมือง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในอดีต หรือพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในช่วงเวลานั้น
ตัวอย่างที่มัสยิดกลางสตูลไปถึงนราธิวาส
นายนฤดล กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐไทยทำสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนคือที่จังหวัดสตูล โดยดูจากมัสยิดบังบังที่เป็นมัสยิดของคนมลายูซึ่งไม่มีแล้วในปัจจุบัน เพราะถูกทำลายทิ้งและสร้างมัสยิดกลางแห่งใหม่ขึ้นมาแทนที่ โดยมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายความเป็นมลายู นอกจากนั้นแล้วกูโบร์หรือสุสานก็ถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น และที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงจากที่คนสตูลพูดภาษามลายู 70 % ปัจจุบันเหลือคนที่พูดมลายูได้เพียงแค่ 3 หมู่บ้านเท่านั้น
นายนฤดล ชี้ให้เห็นว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เอง รัฐไทยก็พยายามที่จะทำเหมือนสตูล อย่างมัสยิดกลางยะลาหลังเก่าที่ถูกทำลาย แล้วสร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้นมาแทนที่โดยสร้างโดมมัสยิดมีลักษณะเหมือนดอกบัว จนปัจจุบันชาวบ้านมีความพยายามที่สร้างโดมอันใหม่ขึ้นมาครอบอันที่เหมือนดอกบัวดังกล่าว
นอกจากนั้น มัสยิดกลางปัตตานีที่มีการสร้างใหม่ซึ่งใหญ่กว่าหลังเดิม จนทำให้ปัจจุบันผู้คนแทบจะไม่รู้จักมัสยิดกลางหลังเก่านั่นก็คือมัสยิดรายา ส่วนที่นราธิวาสชาวบ้านมีการประท้วงไม่ให้ทำลายมัสยิดกลางหลังเดิม แต่ยินยอมให้มีการปรับปรุงต่อเติมได้
กระแสตีกลับของสถาปัตยกรรมปาตานี?
นายนฤดล กล่าวว่า ในปัจจุบันมีกระแสตีกลับที่สถาปัตยกรรมบางที่ มีลักษณะคล้ายกับสถาปัตยกรรมปาตานี เช่น ที่สนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปจนถึงสิ่งก่อสร้างในจังหวัดชุมพร เป็นต้น ส่วนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จะมีสถาปัตยกรรมแบบอาหรับเข้ามาผสมด้วย
ฉายภาพมลายูบางกอกที่สัมพันธ์กับสยาม
นายศุกรีย์ สะเร็ม เลขาธิการสโมสรมลายูแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้มุมมองการศึกษาประวัติศาสตร์มลายูผ่านภาพถ่าย ซึ่งแต่ละภาพที่เขามานำเสนอล้วนมีนัยยะของการดำเนินชีวิตของชาวมลายูในบางกอกในอดีต ไม่ว่าจะเป็นภาพของนายแช่ม พรหมยงค์ หนึ่งในคณะราษฎร (ชื่อและนามสกุลเดิมคือซำซุดดิน มุสตาฟา) หลังจากการแสดงปาฐกถา เผยแพร่หลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่หน้ามัสยิดราญา จังหวัดปัตตานี
ภาพชาวมุสลิมบางกอกหลากหลายชาติพันธุ์ในงานเมาลิดกลาง บันทึกสายตระกูลมุสลิมมลายูของชาวบ้านในพระประแดง ภาพหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงที่ปรากฏคนใส่โสร่งแบบมลายู ป้ายตัวเขียนภาษายาวี ณ มัสยิดบ้านฮ่อ จังหวัดเชียงใหม่ รูปวาดของชาวมลายูบนบานประตูพระอุโบสถวัดสระเกษ รูปชาวมลายูบางกอกนุ่งจงกระเบน หรือภาพชาวมลายูเข้าร่วมพิธีประทานเสื้อครุยในสมัย ร.6 เหล่านี้เป็นต้น ภาพต่างๆ ล้วนแล้วแต่นำเสนอวิถีและเรื่องราวของชาวมลายูที่มีความสัมพันธ์ต่อสยามปรากฏให้อยู่ ซึ่งจะสามารถเป็นฐานความรู้ให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
เมืองโบราณปาตานีตอนใน มีวัฒนธรรมฝรั่งมาตั้งแต่อดีต
นายณายิบ อาแวบือซา นักวิจัยท้องถิ่นมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เล่าถึงอีกแนวทางในการศึกษาประวัติศาสตร์มลายูปาตานี จากการเก็บข้อมูล ฟังเรื่องเล่า และเอกสารต่างๆ ซึ่งการศึกษาของเขาเน้นพื้นที่แผ่นดินปาตานีตอนใน ที่ประกอบด้วย เมืองยาลอ เมืองระแงะห์ เมืองรามันห์ เมืองเปรัค และเมืองเคดาห์ โดยที่สามเมืองแรกจะเป็นเมืองที่มีอาณาเขตทางบก มีการเดินทางด้วยช้างเป็นหลัก
ในบรรดาเมืองทั้งหมดเมื่อศึกษาก็ค้นพบถึงแผนที่เมืองรามันห์ ซึ่งมีความสำคัญ อีกทั้งมีทรัพยากรจำนวนมาก เขาเสริมว่าในช่วงที่เกิดแผนที่ขึ้นมา สยามก็มีการระบุถึงพื้นที่ทรัพยากร ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสยามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ขณะเดียวกันผลจากการศึกษายังค้นพบเมืองท้องถิ่นภายใต้แต่ละเมืองหรือเมืองบริวาร เช่น กรงปินัง ไบร์โกตาบารู บือแนรายอ เป็นต้น ภาพที่ค้นพบในระหว่างการศึกษายังเห็นถึงวัฒนธรรมแบบตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการแต่งตัวของชาวมลายูในช่วงยุคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเสริมให้เห็นถึงเหตุผลของวัฒนธรรมตะวันตกก็เนื่องมาจากคนที่เข้าไปเรียนต่อที่ปีนังแล้วรับเอาวัฒนธรรมมานั่นเอง
อุปสรรคของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและมรดกทางวัฒนธรรม
ผู้ใหญ่บ้านรัศมินทร์ นิติธรรม ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร พูดถึงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหารที่ได้ก่อตั้งมาแล้ว 4 ปี ในช่วงแรกๆ จะมีปัญหาค่อนข้างเยอะโดยเฉพาะปัญหาทางด้านทัศนคติ ไม่ว่าจะเป็นทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือแม้แต่ชาวบ้านที่มองว่าตนบ้าที่นำเงินที่เก็บรวบรวมมาสร้างพิพิธภัณฑ์
ผู้ใหญ่บ้านรัศมินทร์ มองว่าสิ่งที่ตนได้ข้อคิดจากการสร้างพิพิธภัณฑ์ คือการล้มสลายของมรดกทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาส่วนหน้าของวังระแงะเพิ่งพังลงมา ซึ่งตนได้เคลื่อนไหวให้มีการบูรณะมาแล้วกว่า 5 ปี แต่ยังไม่เป็นผล จนเมื่อตนได้ประสานไปทางสื่อกระแสหลักให้มานำเสนอข่าวจนเป็นที่สนใจของผู้คนในปัจจุบันมากขึ้น
ผลของการไม่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เด็กได้ศึกษา
ผู้ใหญ่บ้านรัศมินทร์ แสดงความเห็นว่า คนจำนวนน้อยมากที่จะรู้จักวังระแงะ (วังของเจ้าเมืองสมัยปาตานีถูกแบ่งการปกครองเป็น 7 หัวเมือง) แม้แต่ชาวนราธิวาสเองก็ตาม ผู้ใหญ่บ้านรัศมินทร์มองว่า การที่ไม่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เด็กๆ ได้ศึกษา ทำให้เด็กๆ รับข้อมูลมาจากที่ต่างๆ แตกต่างกันไป บ้างก็ดำ บ้างก็ขาว บ้างก็เทา เด็ดๆ จึงมีทัศนคติที่แตกต่างกันไป ซึ่งเขามองว่า นั่นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งการสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหารก็เพื่อสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมกัน