19 ก.ย.2557 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรียกร้องให้พักราชการนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาร้ายแรงและพิจารณาอย่างรอบคอบในการกำหนดบุคลากรให้เข้ามารับผิดชอบงานและกำกับดูแลงานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยพิจารณาแนวทางการในการทำงานที่เคารพต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชน มีแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี มีการอำนวยความเป็นธรรมต่อประชาชนและเอื้อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาติที่ยั่งยืน
ก่อนหน้านี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีคำสั่งลงวันที่ 11 มิ.ย. 2557 ให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษส่วนอนุรักษณ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ให้ไปปฏิบัติราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ ช่วยปฏิบัติราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ โดยนายนิพนธ์ โชติบาล รักษาการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เหตุผลว่า หลังจากย้ายนายชัยวัฒน์ไปอยู่ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) แล้ว แต่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรมอุทยานฯ เข้าข้างนายชัยวัฒน์ ให้ความช่วยเหลือตามที่นายชัยวัฒน์ร้องขอ ตนเองจึงปรึกษากับผู้บริหารของกรมอุทยานฯ ซึ่งได้ข้อสรุปให้ย้ายนายชัยวัฒน์ย้ายมาประจำการที่ส่วนกลางกรมอุทยานฯ กรุงเทพฯ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
รายละเอียดมีดังนี้
จดหมายเปิดผนึก
วันที่ 19 กันยายน 2557
เรื่อง ขอให้พักราชการนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร
เรียน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สืบเนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติผืนป่าสำคัญของชาติในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีการเผาทำลายบ้าน ยุ้งฉาง และข้าวของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงดั้งเดิม จนนำมาสู่กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดคือกรณี นายพอละจี รักจงเจริญ ถูกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อีก 3 นายได้ควบคุมตัวในเขตอุทยานแห่งชาติกระจาน ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 และหลังวันดังกล่าวไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลยจนถึงปัจจุบัน
องค์กรเครือข่ายดังรายชื่อท้ายหนังสือฉบับนี้ ขอนำเสนอข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาขอให้พักราชการนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ดังนี้
1. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นจำเลยในคดีอาญาที่ 380/2554 ในข้อหาจ้างวานฆ่า นายทัศน์กมล โอบอ้อม แกนนำเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ชุมชนบ้านโป่งลึก-บางกลอย ในการเรียกร้องสิทธิของชุมชนบ้านโป่งลึก-บางกลอย โดยปัจจุบันพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีได้ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดเพชรบุรี
2. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นผู้ถูกฟ้องในคดีปกครองที่ ส.58/2555 สถานะคดี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 ศาลปกครองมีคำสั่งเรียกคู่กรณี มาไต่สวนเพิ่มเติม คดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงดั้งเดิมบ้านบางกลอย-โป่งลึก ที่ถูกขับไล่ เผาบ้านและทรัพย์สิน โดยมีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าปฏิบัติการดังกล่าว จนนำมาสู่การยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเยียวยาความเสียหายและรับรองสิทธิชุมชนดั้งเดิมตามรัฐธรรมนูญ
3. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้ถูกแจ้งความกล่าวโทษ โดยกลุ่มอนุรักษ์ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นำโดย นางจินตนา แก้วขาว ต่อสำนักงานตำรวจภูธรภาค 7 ให้ดำเนินคดี กรณี นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับพวกรื้อ ทำลาย บ้านเรือนของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 โดย เรื่องดังกล่าวอยู่ในการดำเนินการตรวจสอบของสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน
4. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในฐานะหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีก 3 นาย ควบคุมตัวนายพอละจี รักจงเจริญ ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนการไต่สวนในชั้นศาล จังหวัดเพชรบุรีระบุชัดเจนว่านายพอละจีอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 17 เมษายน 2557 แต่ผู้ควบคุมตัวตามกฎหมายในที่นี่คือหัวหน้าอุทยานแห่งชาติฯ ปฏิเสธที่จะรับทราบว่ามีการควบคุมตัวอยู่ แต่กลับอ้างด้วยคำให้การของตนเองและบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในหน่วยงานเดียวกันทั้งเจ้าหน้าที่และนักศึกษาฝึกงาน ปราศจากพยานหลักฐานที่ประจักษ์ อีกทั้งพยานหลักฐานที่นำเสนอต่อศาลนั้นขัดกันและไม่มีความน่าเชื่อถือ เท่ากับว่านายพอละจีเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง แม้ว่ากฎหมายไทยจะยังไม่มีข้อหาอาญาต่อความผิดนี้ก็ตาม การปฏิเสธไม่ยอมรับว่ามีการควบคุมตัวนายพอละจีและอ้างว่ามีการปล่อยตัวไปแล้วนั้นย่อมเป็นการปกปิดชะตากรรมของนายพอละจีด้วย ดังนั้นการร้องขอให้ศาลไต่สวนตามมาตรา 90 และศาลได้ยกคำร้องของญาติจึงเป็นการกีดกั้นสิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายไม่สามารถรับรู้ถึงความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของนายพอละจี และยังไม่ใช่เป็นการที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในการหายตัวไปของนายพอละจีแต่อย่างใด ขณะนี้ผู้ร้องคือภรรยาของนายพอละจีได้ยื่นขออุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557
5. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร คดีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีการจับกุมตัวนายพอละจีในความผิดมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยไม่นำตัวส่งพนักงานสอบสวน ไม่มีการทำบันทึกจับกุมและไม่มีการทำบันทึกการปล่อยตัวผู้กระทำความผิด ปัจจุบันคดีอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.) ซึ่งที่ประชุม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.) เห็นว่าคดีมีมูล จึงมีมติรับเป็นคดี และให้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาตรวจสอบ
6. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีภาพ และคลิปวิดีโอ การแปรรูปไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งผลการสอบสวนของคณะกรรมการจากกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน และต่อมากองกำกับการภูธรจังหวัดเพชรบุรี โดย พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สุขแสวง รองผู้บังคับการ ได้ลงพื้นที่พร้อมคณะวิทยาการจังหวัดเพชรบุรี พบว่าบริเวณโดยรอบหน่วยแม่สะเรียง (กจ.10) พบการโค่นล้ม ไม้ และแปรรูปไม้ โดยใช้เลื่อยยนต์ อีกจำนวน 26 ต้น
นอกจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการหายตัวไปและการเรียกร้องสิทธิให้กับนายพอละจี รักจงเจริญนักต่อสู้ชาวกระเหรี่ยงแล้ว อีกทั้งการให้ความสำคัญกับสิทธิของชนเผ่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยในป่าก็เป็นหลักการสำคัญขององค์การสหประชาชาติและองค์การยูเนสโกด้วย ดังข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
1. คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติแห่งองค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีได้ระบุว่าในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2555 ให้รับพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีชาวกระเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถูกบังคับไล่รื้อ เผาทำลายบ้านและยุ้งข้าวไว้เป็นเรื่องเร่งด่วนและได้จัดให้มีจดหมายแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวลงวันที่ 9 มีนาคม 2555 ส่งถึงรัฐบาลไทยเพื่อต้องการทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของชาวกระเหรี่ยงในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
2. คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติแห่งองค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่ข้อสังเกตเชิงสรุปในเอกสาร CERD/C/THA/Q/1-3 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ในย่อหน้าที่ 16 มีความว่า “ในประเทศไทยกฎหมายอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่หลายฉบับส่งผลกระทบเชิงการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่า คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติยังกังวลว่าประเทศไทยไม่ขอรับฟังคำยินยอมโดยสมัครใจและล่วงหน้าก่อนที่จะมีการตัดสินใจใดใดว่าจะมีผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์หรือไม่”
3. คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งองค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีได้เผยแพร่ข้อสังเกตเชิงสรุปในเอกสารลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ในย่อหน้าที่ 14 ว่า “มีกรณีที่กล่าวหาว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนด้านต่อต้านการทุจริตและด้านสิ่งแวดล้อม และผู้ที่เป็นพยานการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีล่าสุดนายพอละจี รักจงเจริญ ... คณะกรรมการฯ เสนอให้ประเทศไทยควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหายและเพื่อการต่อสู้กับการลอยนวลพ้นผิด”
ด้วยเหตุผลทั้งความจำเป็นที่จะคงไว้ซึ่งหลักการด้านการอำนวยความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อนโยบายและการบริหารจัดการบุคคลกรของรัฐโดยเฉพาะต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาติให้เป็นสมบัติของชาติและของโลก และในขณะเดียวกันเป็นต้องเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อยู่อาศัยเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้หลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกำลังถูกเสนอชื่อเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติภายใต้กรอบของยูเนสโกเป็นอันเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยอย่างสมภาคภูมิ
องค์กรเครือข่ายดังรายชื่อท้ายหนังสือฉบับนี้ ขอให้ท่านในฐานะอธิบดีกรมอุทยานฯ พิจารณาขอเรียกร้องให้พักราชการนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาร้ายแรงและพิจารณาอย่างรอบคอบในการกำหนดบุคลากรให้เข้ามารับผิดชอบงานและกำกับดูแลงานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยพิจารณาแนวทางการในการทำงานที่เคารพต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชน มีแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี มีการอำนวยความเป็นธรรมต่อประชาชนและเอื้อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาติที่ยั่งยืน
รายนามองค์กรแนบท้าย
1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
2. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
3. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
4. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
5. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
6. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองภาคกลางบน ตะวันตก ตะวันออก
7. เครือข่ายพิทักษ์รักษ์ป่าแก่งกระจาน
8. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี
9. คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ
10. เครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม
11. เครือข่ายสืบเจตนารมณ์ 14 ตุลา 16
12. กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
13. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ ฯ บางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
14. สมาพันธ์เครือข่ายกระเหรี่ยงแห่งสยาม
15. เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ
16. ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.)
17. Pestalozzi Children's Foundation
18. มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์
19. สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย