นอกจากอุบัติเหตุ คนทำงานป่วยด้วยความดันโลหิตสูง 20% เบาหวาน 5-6% ทางเดินหายใจ 4-5%
สถิติอุบัติเหตุของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ประมวลผล ณ 30 พ.ค.2557 พบว่า ในช่วง 5 ปี ระหว่าง 2552-2556 พบกรณีทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะบางส่วน และกรณีตาย เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 99.06% ต่อปี 11.14% ต่อปี และเพิ่มขึ้น 2.27 % ต่อปี ตามลำดับ
นอกจากสถิติอุบัติเหตุแล้ว ยังพบโรครุมเร้าคนวัยทำงานมากขึ้น ทั้งจากสภาพเนื้องาน สภาวะแวดล้อมในที่ทำงาน การไม่ใส่ใจพนักงานขององค์กร และเพิกเฉยต่อการดูแลสุขภาพของ คนทำงานเอง
นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2556 ไทยมีคนวัยทำงานประมาณ 40 ล้านคน อยู่ในภาคอุตสาหกรรม 14 ล้านคน ภาคเกษตร 20 ล้านคน ภาคบริการและอื่นๆ 6 ล้านคน
มีสถานประกอบการ 2.3 ล้านแห่ง เป็นธุรกิจค้าปลีก 35% อุตสาหกรรมการผลิต 18% ธุรกิจบริการ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น 13% เหล่านี้อยู่ ในระบบประกันสังคม 14 ล้านคน จำนวนนี้มีกองทุนเงินทดแทนรองรับ 9 ล้านคน
จากสถิติพบว่าในแต่ละปีคนกลุ่มนี้จะเสียชีวิตจากการทำงานราว 500-700 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุ และ มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่มีสถิติอุบัติเหตุมากที่สุด เป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานพาหนะ ผลิตผลิตภัณฑ์ พลาสติก หลอม และกลึง
นอกจากอุบัติเหตุจากการทำงานแล้ว นพ.ปรีชา ระบุว่า คนทำงาน ยังมีอาการป่วยด้วยโรคจากการทำงานสัดส่วน 20% เป็นโรคความดันโลหิตสูง 5-6% เป็นโรคเบาหวาน 4-5% เป็นโรคจากทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด เป็นต้น โรคทางเดินหายใจส่วนใหญ่จะเกิดโดยตรงกับคนทำงานในโรงงานทอผ้า และตัดเย็บเสื้อผ้า เนื่องจากมีฝุ่นฝ้าย และใยสังเคราะห์ เป็นวัตถุดิบสำคัญ และกระตุ้นให้ เกิดโรคนี้
"ชีวิตการทำงานเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะ คนทำงานเป็นกะ จะถูกกระตุ้นให้เป็นโรคมากกว่าคนที่ทำงานตามเวลาปกติ เนื่องจากใช้ชีวิตที่ไม่ปกติ
เพื่อต้องการความสดชื่นในตอนกลางคืน เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม รวมถึงการกิน และนอนผิดเวลา ทำให้ระบบการซ่อมแซมอวัยวะเสื่อมไป"
นอกจากนี้ยังมีโรคร้ายแรงที่เกิดจากการสะสมในช่วงชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะคนทำงานที่สัมผัสแร่ใยหิน ได้แก่ คนงานก่อสร้าง คนงานในอุตสาหกรรมผลิตเบรก คลัทช์ในรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น หลังคา จากรายงานทางการแพทย์ยืนยันว่า
การสัมผัสแร่ใยหินจะมีผลต่อปอด และมีความเสี่ยงที่จะสะสม และเป็นมะเร็งเยื้อหุ้มปอดในระยะ 10-20 ปี
อีกประเภทอุตสาหกรรม คือ โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะมีสารอินทรีย์ระเหยเร็ว เช่น เบนซีน โทลูอีน ซึ่งใช้เป็นตัวทำละลาย คนทำงานมีโอกาสได้สัมผัสบ่อยครั้งจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว
นอกจากนี้คนทำงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงมาก คือ เจียหิน แกะสลักหิน หรือโรงโม่หิน เป็นต้น ที่มีโอกาสเกิดโรคซิลิโคซีส หรือโรคปอด มีอาการเบื้องต้น คือเหนื่อยง่าย และสะสมเป็นมะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในระยะ 20-30 ปี
ขณะเดียวกันยังมีบางกิจการที่คนทำงานได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนภายนอก เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากคนทำงานจะมีมาตรการป้องกัน
ขณะที่คนภายนอกมักไม่ และมีโอกาสได้รับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นที่ออกมาจากโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ตั้งในที่ที่อากาศปิดซึ่งประชาชนจะไม่รู้ล่วงหน้าว่า สภาพอากาศแต่ละวันจะเป็นอย่างไร และไม่ได้หาทางป้องกันตนเอง แต่มลภาวะที่ได้รับจะกระตุ้นการหอบหืด และทำให้ระคายเคืองผิวหนัง
"การมอนิเตอร์อากาศที่มีอุปกรณ์ไปติดตั้งตามที่ต่างๆ เช่น ชุมชนใกล้โรงไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเพียงการให้ข้อมูลประชาชนให้รู้เท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นมาตรการที่จะป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนได้"
นอกจากนี้ ยังมีโรคออฟฟิศซินโดรม(office syndrome) ซึ่งพบมากจากการทำงาน แต่มักถูกมองข้ามไป ได้แก่ โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก การถูกมองข้ามดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหา เพราะระบบการประกันจะไม่ได้มองว่าเป็นโรคจากการทำงาน และไม่ถูกรายงานว่าเป็นโรคจากการทำงาน ไม่สามารถได้รับการชดเชยจากกองทุนเงินทดแทน แต่โรคเหล่านี้ จะนำไปสู่อาการปวดศีรษะเรื้อรัง ทำให้ร่างกายไม่สดชื่น และมีปัญหาสุขภาพจิตได้
รวมไปถึงกลุ่มโรคจากการทำงานอื่นๆ ได้แก่ ผิวหนังจากการสัมผัสสารเคมี และภูมิแพ้จากสารปรอท หรือจากสภาพอากาศที่ไม่ถ่ายเท หรือมีการถ่ายเอกสารในห้องทำงานที่อากาศไม่เปิดโล่ง เป็นต้น ส่วนใหญ่มักเป็นอาคารที่มีไม่โปร่ง และมีการใช้เครื่องปรับอากาศรวม ขาดการซ่อมบำรุง
นพ.ปรีชา ระบุว่า มาตรการที่กรมควบคุมโรคดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย คือ การพัฒนาแพทย์ให้มีความชำนาญการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน กระจายไปในคลินิกโรคจากการทำงาน ที่มีการจัดตั้งตาม โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งขณะนี้มีอยู่แล้วประมาณ 90 แห่งทั่วประเทศ และจะพยายามกระจายให้มากขึ้นตามโรงพยาบาลชุมชน เน้นพื้นที่ที่มีสถานประกอบการจำนวนมาก
ขณะเดียวกันมีการทำงานเชิงรุกกระตุ้นให้สถานประกอบการเห็นความสำคัญกับสุขภาวะ และสุขภาพของพนักงาน ภายใต้โครงการต่างๆ เช่น สถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข พร้อมกับการประกวดสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศ ทำให้มีสถานประกอบการเข้าร่วมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทำให้สถานประกอบการเหล่านี้ จัดมาตรการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานดีขึ้น เช่น ตรวจสุขภาพพนักงานเป็นประจำ จัดสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล จัดอุปกรณ์ป้องกัน และดูแลความปลอดภัยในการทำงาน
รวมถึงจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม ปลอดภัย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พนักงาน เช่น จัดสถานที่สูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ ส่งเสริมการออกกำลังกาย และมีมุมพักผ่อนหย่อนใจ จัดกิจกรรมวันครอบครัว หรือตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือพนักงาน
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัจจุบันคนทำงานเริ่มความสำคัญกับสุขภาพของตนเองมากขึ้น มีการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งค่าจ้าง ผลตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ เช่น ด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น
"แต่ในภาพรวมแล้ว คนทำงานยังไม่ตระหนักมากพอ ถึงความปลอดภัย และโรคที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งหลายโรคไม่เห็นผลในวันนี้ แต่จะสะสมนับสิบปีตลอดช่วงการทำงาน เช่น มะเร็ง ดังนั้นต้องช่วยกันรณรงค์กันต่อไปทั้งให้เจ้าของกิจการเอาใจใส่คนทำงานอย่างจริงจัง หากงานมากก็หมายถึงต้องจ้างคนเพิ่ม
ส่วนคนทำงานเองก็ต้องใช้ชีวิตอย่างสมดุล มากขึ้น ทั้งงาน และชีวิตส่วนตัว ไม่เช่นนั้น ในระยะยาวเงินที่หามาได้จะหมดไปกับการ รักษาพยาบาล อย่างที่หลายๆ คนเป็นให้เรา ได้เห็นแล้ว"
'นอกจากอุบัติเหตุยังมีโรคจากการทำงาน ซึ่งการทำงานประจำวันจะกระตุ้นให้เกิดโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะคนทำงานเป็นกะ เนื่องจากมีแนวโน้มกินอาหารหวาน เพื่อต้องการความสดชื่น มีการกิน และนอนผิดเวลา ทำให้ระบบของร่างกายที่ช่วยซ่อมแซมอวัยวะเสื่อม'
(กรุงเทพธุรกิจ, 10-9-2557)
จี้ สปส.ทำความเข้าใจเก็บเงินสมทบแรงงานนอกระบบ
กรุงเทพฯ 10 ก.ย.-แรงงานนอกระบบ จี้ประกันสังคมเร่งทำความเข้าใจร้านสะดวกซื้อ หลังพบมีแรงงานนอกระบบจ่ายเงินสมทบ ม.40 ล่วงหน้า แต่ไม่มีการตัดเงินสมทบล่วงหน้าให้จนบางรายไม่สามารถใช้สิทธิได้เนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์แรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนในมาตรา 40 ของแรงงานนอกระบบเช่น ในพื้นที่ ร่มเกล้า และบึงกุ่ม ที่บางครั้งผู้ประกันตนในมาตรา 40 จ่ายเงินสมทบล่วงหน้าที่ร้านสะดวกซื้อตามที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจ้งว่าสามารถจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าได้แต่เมื่อตรวจสอบกับสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ กลับพบว่าไม่มีการจ่ายเงินล่วงหน้าเข้ามา แต่ร้านสะดวกซื้อกลับตัดเป็นเงินออมทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถใช้สิทธิกรณีประสบอันตราย เจ็บป่วยซึ่งจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ200 บาทไม่เกิน 30วันต่อปีได้ เนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ
ทั้งนี้ จึงอยากให้ สปส.เร่งทำความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิบัติในการเก็บเงินสมทบล่วงหน้ากับร้านสะดวกซื้อ พร้อมเสนอให้ใช้เครือข่ายแรงงานในพื้นที่ในการเก็บเงินสมทบ เนื่องจากจะสามารถให้ข้อมูลเรื่องการใช้สิทธิของผู้ประกันตนได้ด้วย ส่วนข้อกังวลที่เครือข่ายจะเก็บเงินสมทบแล้วไม่นำมาส่งให้ สปส.นั้น เชื่อว่า เครือข่ายแรงงานในพื้นที่มีการลงทะเบียนไว้กับเขตหรือหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีตัวตนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ตนจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในกระทรวงแรงงานในวันที่ 12 ก.ย.นี้ เพื่อให้แก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
(สำนักข่าวไทย, 10-9-2557)
แรงงานไทยถูกระงับไปเกาหลีใต้มากที่สุด
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) เปิดเผยว่า จากสถิติคนหางานเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิประจำเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีคนงานไทยไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 8,962 คน แยกเป็น ประเทศในเอเชีย 5,550 คน ในตะวันออกกลาง 2,092 คน ยุโรป 675 คน แอฟริกา 367 คน ทวีปอเมริกาเหนือ 248 คน ทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก 21 คน ทวีปอเมริกาใต้ 9 คน โดยในรอบ 1 เดือน คนหางานถูกระงับการเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) มากที่สุด รวม 233 คน รองลงมาได้แก่ ซูดาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โมซัมบิก สาเหตุที่ถูกระงับการเดินทาง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายจะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ที่มีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศมักจะถูกชักชวน หรือหลอกลวงจากนายหน้าให้เดินทางเข้าไปลักลอบทำงาน พร้อมอ้างรายได้ที่สูงเกินจริง ตลอดจนการอ้างประเทศใหม่ ๆ ที่คนหางานไม่รู้จัก หรือเป็นประเทศที่คนหางานไม่เคยไป ทำให้อยากทดลอง ส่วนใหญ่เมื่อไปแล้วไม่มีงานให้ทำ และถูกลอยแพ หรือต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ตกระกำลำบาก และบางรายต้องถูกจับกุมเนื่องจากการลักลอบทำงานเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
อธิบดี กกจ. กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานไทยเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง กกจ.จึงย้ำแรงงานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ ขอให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากเกิดปัญหาจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และควรศึกษากฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการจ้างงานในประเทศที่จะเดินทางไปทำงาน และหากมีข้อสงสัยโทรสอบถามได้ที่สายด่วน 1694
(เดลินิวส์, 10-9-2557)
เล็งตั้งสภาก่อสร้างไทย จัดระเบียบผู้รับเหมา หากทิ้งงาน มาตรฐานต่ำ ยึดใบอนุญาต
นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ และจัดตั้งรัฐบาลได้ตามกำหนด ทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจหันกลับมาลงทุนมาขึ้น โดยในส่วนของอุตสาหกรรมก่อสร้างในปีนี้ในช่วงไตรมาส 4 จะขยายตัวสูงสุด จากงานภาครัฐที่คั่งค้างอยู่หลายงาน โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 960,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีมูลค่าลงทุน 952,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ในช่วงไตรมาส 1-2 ผู้ประกอบการได้ชะลอการลงทุนลงไปเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากที่ คสช.ได้เข้ามาบริหารประเทศทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนฟื้นคืนมา
สำหรับในปีหน้า คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างสูงถึง 1 ล้านล้านบาทเป็นปีแรก ขยายตัวสูงกว่าปีนี้ประมาณ 5-6% เนื่องจากมีหลายโครงการที่ชะลอการลงทุนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จะกลับเข้ามาลงทุนในปี 2558 เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีโครงการลงทุนภาครัฐ ทั้งโครงการลงทุนปกติประจำปีงบประมาณ และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ทั้งนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมการก่อสร้างของไทย การลงทุนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ จะเป็นตัวนำภาคเอกชน ซึ่งในปีหน้าสถาบันฯ คาดว่า การลงทุนก่อสร้างจะมาจากภาครัฐเป็นหลัก มีสัดส่วนประมาณ 55% และเอกชน 45% ซึ่งสูงกว่าค่าปกติอยู่ที่ 50:50 อสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวสูงสุดจะเป็นการก่อสร้างคอนโดมิเนียมทั้งใน กทม. ที่จะมีความสูงตั้งแต่ 30 ชั้นขึ้นไป และคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดที่มีความสูง 7-8 ชั้น
นายจักรพรกล่าวว่า หากในปีหน้าอุตสาหกรรมก่อสร้างกลับมาฟื้นตัว ก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมาเหมือนในทุกๆปี จนทำให้เกิดการแย่งชิงแรงงาน แต่บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยการผลิตชิ้นส่วนต่างๆของคอนโดมิเนียมแล้วนำมาประกอบเป็นตัวตึก ซึ่งช่วยลดแรงงานได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่จากการที่สถาบันฯ ได้นำคณะผู้แทนภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยไปเยือนฟิลิปปินส์ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐของฟิลิปปินส์ได้เสนอให้ไทยนำเข้าแรงงานฟิลิปปินส์เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทย
นอกจากนี้ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยอยู่ระหว่างการผลักดันก่อตั้งสภาก่อสร้างไทย เพื่อจัดระบบอุตสาหกรรมก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน เนื่องจากในขณะนี้ผู้ที่อยากทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ก็เพียงเข้ามาจดทะเบียน ตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ได้เลย โดยไม่ต้องมีมาตรฐานใดๆรองรับ ทำให้เกิดปัญหาการทิ้งงาน หรือการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งในต่างประเทศได้ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยจากการก่อสร้างมาก ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานต่างๆที่กำหนด
สำหรับประเทศไทยล่าสุดได้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบอาชีพงานก่อสร้าง พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้ และตั้งองค์กรขึ้นมาในรูปแบบเดียวกับสภาวิศวกร และสภาสถาปนิก ซึ่งใน 2 องค์กรดังกล่าวจะดูแลในเรื่องของตัวบุคคล แต่สภาก่อสร้างไทยจะดูแลสมาชิกในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งจะเข้ามากำหนดมาตรฐานบริษัทก่อสร้าง ความปลอดภัย และจริยธรรมต่างๆ หากทำไม่ถูกต้องก็จะถูกถอนใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานก่อสร้างไทย และปกป้องผู้บริโภค
(ไทยรัฐ, 11-9-2557)
คงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทถึงปี 58
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้ทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยในที่ประชุมได้พิจารณาความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่เข้ามาเพิ่มเติมอีกกว่า 20 จังหวัด ทำให้ขณะนี้บอร์ดค่าจ้างได้รับความเห็นจากคณะอนุกรรมการฯแล้ว กว่า 70 จังหวัด โดยสรุปคณะอนุกรรมกรรมการฯเห็นว่า ควรคงค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาทไปจนถึงปี 2558 ตามมติของบอร์ดค่าจ้างที่เคยมีก่อนหน้านี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรมีอัตราเท่ากันทุกจังหวัด เพราะสภาพเศรษฐกิจและการจ้างงานแต่ละจังหวัดต่างกัน รวมทั้งการเมืองต้องไม่นำเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำมากำหนดเป็นนโยบาย โดยควรให้เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและกลไกตลาดแรงงานของประเทศ ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ บอร์ดค่าจ้างกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ ในการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างแยกเป็นรายอาชีพ
นายพีรพัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในที่ประชุมกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้รายงานผลการตรวจแรงงานในเรื่องการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีสถานประกอบการผ่านการตรวจจำนวน 33,014 แห่ง ลูกจ้างจำนวน 1,117,909 คน ซึ่งมีสถานประกอบการปฏิบัติไม่ถูกต้องจำนวน 991 แห่ง ลูกจ้างจำนวน 23,414 คน ทั้งนี้สถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง เบื้องต้นกสร.จะดำเนินการออกหนังสือแจ้งเตือน หากไม่ปฏิบัติตามจะลงโทษตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่อไป โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้กสร. ไปสำรวจในพื้นที่จังหวัดต่างๆว่า มีแรงงานฝีมือที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจำนวนเท่าใด สาขาใดบ้าง และอยู่ในระดับใด รวมทั้งมีแรงงานฝีมือในกลุ่มนี้ ที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจำนวนเท่าใด เพื่อพิจารณาหาทางช่วยเหลือต่อไป
(โลกวันนี้, 11-9-2557)
กพร.เตรียมฝึกแรงงานเพื่อนบ้าน3สัญชาติรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ
เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่โรงแรมเซนจูรี่ปาร์ค กรุงเทพฯ นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินโครงการสร้างทักษะแรงงานและวิชาชีพ 3 สัญชาติ คือ ลาว กัมพูชาและเมียนมาร์ ว่า ในปี2557 กพร.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 14 ล้านบาท จากกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ(กต.)ในการฝึกทักษะให้แก่แรงงาน 3 สัญชาติ ใน 22 จังหวัด เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ซึ่งที่ผ่านมาสามารถฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานได้จำนวน 2,400 คน ในหลักสูตรต่างๆ เช่น ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ช่างก่อสร้าง นอกจากฝึกอบรมฝีมือแล้วยังได้ส่งเสริมให้แรงงานเพื่อนบ้านเรียนรู้วัฒนธรรม รู้สิทธิต่างๆ ตามกฎหมายแรงงานของไทยและช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
นายนคร กล่าวอีกว่า โดยในปี 2558 จะดำเนินโครงการนี้ต่อไปโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกต.จำนวน 12 ล้านบาท ตั้งเป้าอบรมแรงงานให้ได้ไม่ต่ำกว่า 2,400 คน ใน 22 จังหวัดและจะเน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด คือ ตาก สระแก้ว ตราด สงขลา มุกดาหาร ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เช่นช่างก่อสร้าง เย็บผ้า โลจิสติกส์ เป็นต้น นอกจากนี้กพร.จะสำรวจความต้องการแรงงานในพื้นที่ให้มีความชัดเจน
“อีกทั้งกพร.ได้เตรียมจะแก้ไขระเบียบกพร.ว่าด้วยการเตรียมฝึกเข้าทำงานพ.ศ. 2547 ที่กำหนดให้ผู้เข้ารับการฝึกต้องมีสัญชาติไทยจึงจะได้ใบประกาศรับรอง ซึ่งจะแก้ไขให้เด็กไร้สัญชาติและแรงงานเพื่อนบ้านที่เข้าฝึกอบรมได้รับใบประกาศรับรองเช่นเดียวกับแรงงานไทยเพื่อให้สามารถเข้าทำงานได้” อธิบดีกพร.กล่าว
(มติชน, 11-9-2557)
คนงานรวมตัวร้องศูนย์ดำรงธรรมโวยผู้รับเหมาเบี้ยวค่าแรง
เมื่อวันที่ 11 ก.ย.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดศรีสะเกษ มีคนงานก่อสร้างจำนวน 25 คน นำโดยนายบุญเพ็ง พลศักดิ์ อายุ 50 ปี ได้เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากทำงานมากว่าครึ่งเดือน ไม่ได้รับเงินค่าแรง โดยมี นายสุริยา บุตรจินดา ป้องกันจังหวัดศรีสะเกษ และนางรังสินี บุญทน นิติกรชำนาญการ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมได้เรียกผู้รับเหมามาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน
นายบุญเพ็ง พลศักดิ์ กล่าวว่า พวกตนทำงานก่อสร้างที่บ้าน อยู่ที่ถนนเทพา ต.เมืองเหนือ ซึ่งเป็นบริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัด มีนายธนราช อินทร์ขำ อายุ 39 ปี เป็นผู้รับเหมา โดยตกลงกันจ่ายเงิน 15 วันต่อครั้ง พวกตนทำงานมาตั้งแต่เดือน ส.ค.57 ผู้รับเหมาจ่ายมาครั้งละหมื่นกว่าบาท แบ่งเฉลี่ยจ่ายกันให้ครบทุกคน ได้คนละไม่กี่บาท ไม่พอใช้จ่าย และพวกตนไม่ได้รับเงินมาตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2557 รวมเป็นเงิน 48,740 บาท วันนี้ได้รับการนัดหมายว่า ให้มารับเงิน พวกตนก็ไม่มาทำงาน แต่มาเพื่อรับเงินอย่างเดียว จนกระทั่งบ่ายสามโมงก็ยังไม่ได้รับ จึงพากันเดินข้ามถนนเข้ามาร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรม
นายบุญเพ็ง กล่าวต่อไปว่า วันนี้ พวกตนขอรับเงินที่เหลือ และยืนยันจะไม่กลับมาทำงานอีก โดยเงินที่เหลือถ้าจ่ายในวันนี้ ทางผู้รับเหมาจะหักไปเท่าไหร่ก็ยอมให้หัก แต่ถ้าไม่จ่ายวันนี้ก็ขอให้นัดวันมาว่าจะจ่ายวันไหน แต่ถ้าเลยวันนี้ไปจะต้องได้รับเต็มจำนวน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้เรียกนายธนราช ผู้รับเหมาให้มาเจรจาไกล่เกลี่ย ว่าจะจ่ายให้คนงานได้ในวันนี้เท่าไหร่ เพื่อให้คนงานมีเงินไปใช้จ่ายบ้าง และจะได้กลับมาทำงานต่อ แต่ทางคนงานยืนยันจะไม่กลับมาทำงานอีก เนื่องจากมีปัญหากินแหนงแคลงใจกันแล้วจึงไม่สามารถจะกลับมาทำงานร่วมกันได้อีก การเจรจาไม่เป็นที่ตกลงกัน
นายธนราช อินทร์ขำ กล่าวว่า ที่ผ่านมาช่างและคนงานทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย คืองานไม่เสร็จตรงตามกำหนดเวลา ตนส่งงานไม่ได้ จึงไม่ได้รับเงินจากผู้ว่าจ้าง ก็ไม่มีเงินมาจ่ายคนงาน ถ้ายืนยันจะขอรับเงินในวันนี้ตนก็ไม่มีจ่าย ขอนัดเป็นวันที่ 1 ต.ค.57 โดยจะนำมาจ่ายให้ทั้งหมดต่อหน้าเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม ส่วนช่าง และคนงานจะไม่ยอมกลับมาทำงานก็ไม่เป็นไร ตนจะไปหาช่างรายใหม่มาทำงานแทน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จทันภายในวันที่ 28 ก.ย.นี้ และก็จะได้รับเงินมาจ่ายให้ตามนัด จึงได้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่คนทั้งหมดจะแยกย้ายกันกลับไป
(ไทยรัฐ, 12-9-2557)
ผลสำรวจพบเด็กต่างสัญชาติในกลุ่มประเทศอาเซียน แห่เรียนอาชีวะในประเทศไทยเกือบ 4,000 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลเด็กต่างสัญชาติในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งรวมถึงชนกลุ่มน้อย เช่น แม้ว กะเหรี่ยง ที่เข้ามาเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในปีการศึกษา 2557 พบว่า มีนักเรียน นักศึกษาต่างสัญชาติ ทั้งสิ้น 3,731 คน แบ่งเป็นระดับ ปวช. 1 จำนวน 1,352 คน ปวช.2 จำนวน 756 คน และ ปวช.3 จำนวน 519 คน รวม 2,627 คน ส่วนระดับ ปวส. 1 จำนวน 615 คน ปวส.2 จำนวน 487 คน รวม 1,102 คน และระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ จำนวน 2 คน โดยกระจายเรียนอยู่ในทุกสาขาวิชา และทุกประเภทสถานศึกษา
"นักเรียน ปวช.ได้รับสิทธิ์เรียนฟรี ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ส่วน ปวส. และปริญญาตรี เเบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาต่างสัญชาติ ที่เสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาเหมือนกับนักศึกษาไทย และกลุ่มนักศึกษาทุนจากประเทศกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม"เลขาธิการ กอศ.กล่าว
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่มีเด็กต่างสัญชาติ และครูอาชีวศึกษา เข้ามาเรียน และอบรมในสถานศึกษาสังกัด สอศ. อย่างต่อเนื่องนั้น เพราะมองว่าอาชีวศึกษาไทยมีมาตรฐานสูง ทั้งนี้ เด็กต่างสัญชาติทุกคน ที่เรียนจบและได้รับวุฒิการศึกษา ปวช. ปวส. และปริญญาตรี สามารถเลือกทำงานในประเทศไทยได้ เพราะมีทักษะฝีมือเหมือนเด็กอาชีวศึกษาไทยทุกประการ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นการรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 และการดำเนินโครงการพัฒนาอาชีวศึกษาไทย ให้เป็นศูนย์กลางของอาชีวศึกษาอาเซียน หรือฮับอาเซียนได้อย่างดี
(ไทยรัฐ, 12-9-2557)
เผยพยาบาลเฝ้าโรงงานยังขาด แนะขอ รพ.รัฐหนุนเพิ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน ครั้งที่ 6/2557 ณ อาคารกระทรวงแรงงาน ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นแบบประชาพิจารณ์ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง แนวปฏิบัติในการจัดมาตรฐานที่พักอาศัยชั่วคราว สำหรับลูกจ้างในงานก่อสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยรวมทั้งการดูแลสภาพแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ โดยนำเนื้อหาของประกาศกระทรวงแรงงานฯ มาสำรวจความคิดเห็นเพื่อนำผลไปประมวลก่อนออกประกาศกระทรวงฯ ต่อไป ซึ่งมติที่ประชุมเห็นชอบให้กองสวัสดิการแรงงาน ปรับปรุงแบบประชาพิจารณ์ดังกล่าวเพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้นำระบบ Happy Workplace ซึ่งเป็นระบบที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงงานสีขาว โครงการมุมนมแม่ โครงการ Women Will เธอทำได้ด้วยอินเทอร์เน็ต ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัทกูเกิล ประเทศไทย จำกัด เพื่อให้ผู้หญิงไทยที่ขาดโอกาสทางสังคม ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มพูนความรู้ความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ในการหาความรู้และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพและหารายได้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี
"ถ้าเราดูแลทุกข์สุขของแรงงาน ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานจะเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้าง นายจ้าง หากทำงานได้ดีแทนที่นายจ้างจะเสียเงินค่ารักษาพยาบาลลูกจ้างจำนวนมาก ก็อาจเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง นอกจากนี้ จะส่งผลกับระบบแรงงานสัมพันธ์ สามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ จึงอยากให้นายจ้างให้ความสำคัญ รู้หน้าที่ รู้บทบาทของคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ แนวทางการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบกิจการ การเฝ้าระวังจากโรคที่เกิดจากการทำงานของลูกจ้าง"หม่อมหลวงปุณฑริก กล่าว
ด้าน นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป จะต้องมีเจ้าหน้าที่พยาบาลเข้าไปดูแลสุขภาพอนามัยลูกจ้างนั้น ซึ่งปัจจุบันตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 พยาบาล
ผู้มาดูแลรักษาลูกจ้างในสถานประกอบกิจการต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ประกอบกับปัจจุบันสาขาอาชีพพยาบาลเป็นสาขาขาดแคลนอย่างมาก เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่พยาบาลในสถานประกอบกิจการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ต้องประสานไปยังโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อขอสนับสนุนบุคลากรด้านพยาบาลที่มีใบประกอบวิชาชีพ มาปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ในเวลานอกราชการ เช่น 07.00 - 08.30 น. และ 16.30 - 20.30 น. ในวันทำการ หรือวันหยุดราชการ เพื่อดูแลสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง และคลี่คลายสถานการณ์การขาดแคลนบุคลากรพยาบาลในสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้ ต้องให้ค่าตอบแทน
ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
(ไทยรัฐ, 12-9-2557)
รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานลั่น 3 เดือนไม่เห็นผลงาน จะเดินไปลาออกเอง
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงกลาโหม เดินเข้าปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรกที่กระทรวงแรงงาน โดยมีนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมข้าราชการในกระทรวงที่มาคอยให้การต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง ภายหลังร่วมฟังการแถลงนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อาคารรัฐสภา
โดยเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงานตามลำดับ คือ ศาลพระพุทธชินราช ศาลพ่อแก่ ฤๅษี 108 องค์ และศาลพระพรหม ก่อนเดินเข้าห้องทำงานพร้อมนำพระพุทธเมตตาเสนานาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่กองทัพบกจัดสร้างขึ้น ประดิษฐานที่ห้องพนักงาน ก่อนเข้ารับการบรรยายสรุป ภารกิจ โครงสร้าง และเรื่องสำคัญเร่งด่วน 6 เรื่องที่ต้องดำเนินการ คือ การเตรียมการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว การป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ การเตรียมพร้อมรองรับประชาคมอาเซียน จัดระเบียบสถานประกอบกิจการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การปรับปรุงกฎหมายเร่งด่วน อาทิ การแก้ไขกฏหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทน แก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน การปฏิรูปโครงสร้างกระทรวง
พลเอกสุรศักดิ์ กล่าวก่อนเริ่มรับฟังบรรยายผลการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน ว่า อยากให้ใช้เป้าหมายเป็นตัวตั้งในการทำงานไม่ใช้ตัวกระทรวง งานใดที่คาบเกี่ยวกันกับกระทรวงอื่นก็ให้ทำงานคู่ขนาน โดย การทำงานต่อจากนี้จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกระทรวง ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข มองว่าทุกเรื่องควรขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ซึ่งแต่ละกรมจะเป็นผู้รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับกระทรวงต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ และแรงงานต่างด้าวที่ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงต่างประเทศ โดยจะมีการประเมินการทำงานทุก 3 เดือน จึงขอให้ข้าราชการทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งต้องสอดคล้องกับนโยบายหลัก 3 เรื่องของรัฐบาล ทั้งการบริหารราชการแผ่นดินด้วยความโปร่งใส การปฏิรูปประเทศ ข้าราชการต้องช่วยคิด และเดินหน้าการปฏิรูปรวมถึงสร้างความสามัคคีสมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งหากดำเนินการไปแล้ว 3 เดือน แต่กระทรวงไม่มีความคืบหน้าก็จะไปลาออกเอง
อย่างไรก็ตามจะบริหารจัดการงานของกระทรวงเป็นหลัก ส่วนงานปฏิรูปที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ได้ออกแบบให้ผู้รับผิดชอบไปดำเนินการต่อแล้ว จึงจะเป็นผู้ให้คำแนะนะมากกว่า
ส่วนการแต่งตั้งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ ส่วนตัวเห็นว่า ข้าราชการจะมีการพิจารณาตามความเหมาะสม และความอาวุโสอยู่แล้ว แต่ตนเองไม่มีอำนาจเต็มเพราะต้องผ่านความเห็นชอบสจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ส่วนตัวมองว่าคนในกระทรวงจะมีความเหมาะสมมากกว่าคนนอก
(มติชน, 12-9-2557)
แรงงานพม่าประท้วง ตัวแทนรุดเคลียร์จนคลี่คลาย
เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 13 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดเหตุแรงงานต่างด้าวชาวพม่า กว่า 100 คน เดินทางมารวมตัวชุมนุมกันที่ ถนนเลียบคลองชลประทาน ประท้วงเรียกร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยชาวพม่าอ้างว่า ก่อนหน้านี้ได้มีบริษัท รับจัดหางานสาริศา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เดินทางไปยังประเทศพม่า และทำสัญญาข้อตกลงการจ้างงาน กับบริษัทจัดหางานประเทศพม่า ว่าจ้างชาวพม่าจำนวน 224 คนให้เดินทางมาทำงานรับจ้าง เป็นคนงานทั่วไปในบริษัทแคลคอม อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย ) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคส์คอมพิวเตอร์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี โดยการว่าจ้างดังกล่าวดำเนินการภายใต้ข้อบังคับของกฏหมายและได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงานทั้ง 2 ประเทศ
ต่อมาเมื่อชาวพม่าที่ได้ทำสัญญารับว่าจ้างงาน ได้เดินทางมาที่ประเทศไทย บริษัทจัดหางานไทยได้นำเข้าพักอาศัย และจัดหาอาหารให้รับประทานปกติ แต่ปรากฏว่า เวลาล่วงมานานกว่า 1 เดือนกลับยังไม่นำคนงานทั้งหมดเข้าทำงานตามสัญญาจ้างดังกล่าว และไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้จึงสร้างความไม่พอใจให้กับชาวพม่า สอบถามเจ้าหน้าที่บริษัทจัดหางานทราบว่า กลุ่มชาวพม่าดังกล่าว ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาที่ระบุ ประกอบกับบริษัทแคลคอม มีการชะลอการรับคนงานเพิ่มเติม จึงยังไม่สามารถนำชาวพม่าดังกล่าว ส่งเข้าทำงานได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านที่พัก และอาหาร แต่ชาวพม่ากลับไม่พอใจ ที่ไม่ได้ทำงาน และรวมตัวประท้วงดังกล่าว
ด้าน น.ส.สุวรรณิสา แน่งน้อย กรรมการผู้จัดการบริษัท จัดหางาน สาริศาฯ ชี้แจงว่า เรื่องที่ให้แรงงานต้องรอนานนับเดือนนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะแรงงานชุดแรกที่มา 24 คน นั้น ได้เดินทางมาวันที่ 21 ส.ค. ส่วนอีก 200 คน รับเข้ามาจริงจำนวน 195 คน และนำเข้ามาในวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับแรงงานพม่าส่วนใหญ่ ทราบว่า กลุ่มแรงงานไม่พอใจ ตัวนายหน้าจากฝั่งพม่ามากกว่า เนื่องจากบริษัทได้ทำงานในลักษณะเอ็มโอยู จึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวโดยตรง
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานพม่า ได้เดินทางมารับฟังปัญหา และหาทางแก้ไข โดยใช้เวลาพูดคุยกับแรงงานชาวพม่ากว่า 2 ชั่วโมงเศษ จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะถามความสมัครใจจากชาวพม่าทั้งหมดที่ได้รับว่าจ้างเข้ามาทำงานที่ บ.แคลคอมประเทศไทย หากไม่สมัครใจรอการทำงานก็จะให้บริษัทจัดหางาน สาริศาฯ ผู้ทำสัญญาส่งตัวกลับประเทศพม่า แต่หากต้องการรอทำงานก็สามารถอยู่ต่อได้ ซึ่งได้รับความพอใจจากกลุ่มผู้ประท้วงชาวพม่า และแยกย้ายกลับที่พัก
(ไทยรัฐ, 14-9-2557)
"กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน"เสนอ ครม.เปลี่ยนชื่อ อ้างจำยาก-ยาวเกิน
เมื่อวันที่ 14 กันยายน นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กสร.มีแนวคิดที่จะเสนอเปลี่ยนชื่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็น กรมคุ้มครองแรงงาน ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)
เนื่องจากชื่อเดิม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือที่เรียกสั้นๆว่า กรมสวัสดิ์ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นสวัสดิการอะไร เพราะสื่อความหมายไม่ครอบคลุม
นอกจากนี้ ยังคล้ายคลึงกับชื่อของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสน
ทั้งนี้ แนวความคิดดังกล่าว อยู่ในระหว่างการสอบถามความคิดเห็นของข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และภาคประชาชน ซึ่งจากการสอบถามเบื้องต้นพบว่า ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าควรเปลี่ยนชื่อ เนื่องจากชื่อยาวจดจำยากและไม่ตรงประเด็น
อย่างไรก็ตาม หากผ่านขั้นตอนดังกล่าวแล้ว จะจัดทำร่างกฤษฎีกาเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายต่อปลัดกระทรวง เมื่อผ่านขั้นตอนดังกล่าวจะเสนอต่อครม.เพื่ออนุมัติเห็นชอบต่อไป
(มติชน, 14-9-2557)
ขอนแก่นมอบเงินช่วยแรงงานไทยกลับจากลิเบีย
นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้เร่งให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยจังหวัดขอนแก่น ที่เดินทางกลับมาจากประเทศลิเบีย ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบและภาวะสงครามภายในประเทศที่เกิดขึ้น เบื้องต้นพบแรงงานชาวขอนแก่น เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องรวม 40 ราย ขณะนี้เดินทางกลับถึงถูมิลำเนาแล้วทั้งหมด แต่เป็นการเดินทางกลับก่อนครบกำหนดระยะเวลาของสัญญาการจ้างงานทำให้ทางจังหวัดต้องให้ความช่วยเหลือด้วยการมอบเงินทุนช่วยเหลือแรงงานในเบื้องต้น 28 ราย รายละ 15,000 บาท ตามระเบียบของกระทรวงแรงงาน
รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า สำหรับ 12 ราย ที่ยังคงไม่ได้รับมอบเงินช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้นนั้น อยู่ในระหว่างการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและพิจารณาอนุมัติเบิกจ่ายช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงแรงงาน
อย่างไรก็ตาม ยังคงตรวจสอบแรงงานชาวขอนแก่นที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ที่ยังคงไม่ได้รับการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทางจังหวัดได้จัดสรรการให้ความช่วยเหลือให้ครบถ้วนทุกรายในระยะนี้
(ไอเอ็นเอ็น, 14-9-2557)
จ่อเสนอปลดล็อกสินค้า 4 ชนิดใช้แรงงานเด็กใน ก.ย.
(16 ก.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล ว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ในจังหวัดตรวจแรงงานอย่างเข้มข้น ทั้งกิจการประมงในเรือ กิจการประมงต่อเนื่อง โดยมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กในสถานประกอบการ ได้ประสานกับสถานประกอบการหากต้องการให้กสร. รับรอง ก็พร้อมร่วมกับหน่วยงานอื่นในจังหวัดในการเข้าไปตรวจประเมินและให้ใบรับรอง โดยปัจจุบันมีสถานประกอบการได้รับใบรับรองแล้ว 86 แห่ง ส่วนมากเป็นกิจการต่อเนื่องจากประมง ในจังหวัดสมุทรสาคร โรงงานน้ำตาล และอุตสาหกรรมสิ่งทอ นอกจากนี้ พยายามส่งเสริมให้เข้าร่วมแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (จีแอลพี) ที่กระทรวงแรงงาน ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และมีแผนจะขยายแนวปฏิบัตินี้ไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ
“ที่ผ่านมา มีการอบรมให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงแนวการปฏิบัติแบบจีแอลพี และเริ่มมีผู้ประกอบการสมัครเข้ามาร่วมเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีสถานประกอบการสมัครเข้ามาแล้วจำนวน 178 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทล้ง อีกทั้งจะมีการเชิญผู้ประกอบการมาร่วมจัดทำมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.) หากผ่านมาตรฐาน ทาง กสร. ก็จะออกใบรับรองให้กับสถานประกอบการเพื่อนำไปยืนยันต่อคู่ค้าว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ส่วนเรื่องที่ไทยถูกจัดอันดับการค้ามนุษย์ในระดับที่ 3 นั้น สังคมเริ่มตระหนักและหันมาช่วยกันแก้ไขคิดว่าทางสหรัฐอเมริกา เห็นถึงความตั้งใจของไทยในการแก้ปัญหาดังกล่าวและพิจารณาปรับระดับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในการประเมินครั้งต่อไป ” อธิบดี กสร. กล่าว
นายพานิช กล่าวอีกว่า ในปี 2558 กสร. มีแผนจะร่วมออกตรวจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ท่าเรือที่มีเรือเข้าเทียบท่าในแต่ละแห่ง การลงทะเบียนเรือก่อนที่จะออกทะเล ซึ่งวางแผนว่าจะออกตรวจให้ได้ 456 ครั้ง ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา มีการออกตรวจสถานประกอบการในกิจการประมงจำนวน 1,173 แห่ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องจำนวน 28,600 คน เป็นเรือประมงทะเลจำนวน 630 ลำ ผ่านการตรวจแล้ว 605 ลำ เหลืออีก 25 ลำ เนื่องจากไม่มีเอกสารประจำตัวลูกเรือและเอกสารการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตักเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
นายพานิช กล่าวด้วยว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำในวันที่เข้ามอบนโยบายให้ข้าราชการกระทรวงแรงงานในเรื่องของการแก้ปัญหาค้ามนุษย์และการปลดล็อกสินค้า ซึ่ง กสร. เตรียมเสนอขอปลดสินค้าทั้ง 4 ชนิด ในปลายเดือนกันยายนนี้ โดยคาดว่าในกลุ่มอ้อยจะสามารถปลดได้เป็นอันดับแรก รองลงมาคือสิ่งทอ ส่วนกุ้งและปลานั้นต้องใช้เวลา นอกจากนี้ จะมีการรณรงค์โดยสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของกระทรวงแรงงาน
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-9-2557)
รมว.แรงงาน วอนเปลี่ยนคำเรียก "จับกัง"เพื่อให้เกียรติผู้ใช้แรงงาน
16 ก.ย.-รมว.แรงงาน วอนเปลี่ยนคำเรียก "จับกัง"แทนผู้ใช้แรงงาน หวังให้เกียรติเนื่องจากเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พร้อมเรียกผู้บริหารทุกกรม ประชาสัมพันธ์สะท้อนภารกิจกระทรวงแรงงาน 21 ปี ที่ผ่านมาในโอกาสวันสถาปนากระทรวงปีนี้
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและปลัดกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงพร้อมทีมประชาสัมพันธ์ของทุกกรมเข้าร่วม เพื่อรับทราบนโยบายการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะเนื่องในโอกาสวันสถาปนากระทรวงแรงงานในวันที่ 23 กันยายน 2557 ที่จะครบรอบ 21 ปี ว่าที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานเพื่อประชาชนในด้านใดบ้าง และในปีที่ 22 นี้จะมีการดำเนินการในเรื่องใดต่อไป เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ยังกล่าวถึงฉายาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่เรียกว่า “จับกัง 1” นั้นส่วนตัวไม่มีปัญหาแต่อยากให้เปลี่ยนคำเรียกเพื่อให้เกียรติผู้ใช้แรงงานที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานนั้นตนยังไม่ได้ดูในรายละเอียดแต่ได้ติดตามจากสื่อมวลชน และเห็นว่าไม่มีเรื่องใดเป็นเรื่องยาก แต่ต้องหาจุดสมดุลร่วมกัน
ขณะที่การเสนอชื่อแต่งตั้งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่แทนนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายนนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้เนื่องจากเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง
(สำนักข่าวไทย, 16-9-2557)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai