พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เผยถึงการรณรงค์ค่านิยม 12 ประการ ที่เคยเสนอ เตรียมให้กระทรวงศึกษาธิการปรับให้คล้องจองท่องแทน ‘เด็กเอ๋ยเด็กดี’ พร้อมบรรจุในการสอบ
15 ก.ย.2557 ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เสนอ ‘ค่านิยม 12 ประการ’ ให้คนไทยรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน กตัญญู หาความรู้ รักษาประเพณีไทย มีวินัย มีเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ผ่านรายการ ‘คืนความสุขให้คนในชาติ’ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และต่อมากระทรวงศึกษาธิการจะเร่งนำค่านิยมหลัก 12 ประการ ไปสานต่อเป็นรูปธรรม บรรจุลงในเป้าหมายของแผนโรดแมปปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2558-2564 ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนจะนำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงค่านิยม 12 ประการในนาทีที่ 1.57 - 2.25(ที่มา :matichon tv)
วันนี้(15 ก.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เข้ารับฟังการแถลงยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหาร พ.ศ. 2558-2562 ของคณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นปี 2556 ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี ซึ่งกล่าวตอนหนึ่งถึงค่านิยม 12 ประการ ดังกล่าวว่า “สิ่งที่ผมพูดมามันแก้ไม่ได้หรอก ถ้าคนไม่มี 'ค่านิยม'ค่านิยม 12 ประการ ผมถือว่าผมเขียนมาน้อยแล้ว ความจริงคนไทยต้องมีสัก 100 ประการ เพราะว่ามันไม่ทันไง ที่ผ่านมามันแก้ไม่ทัน เดิมเขามี 10 ใช่ไหม ที่เด็กเอ๋ยเด็กน้อยอะไรนั่น ที่เราท่องๆกันอยู่ วันนี้มาใหม่แล้ว 12 ประการ ผมให้กระทรวงศึกษาไป มีคนปรับให้แล้วคล้องจอง เดี๋ยวท่องให้ได้หมด บรรจุในการสอบด้วย”
สำหรับค่านิยม 12 ประการ นั้น ประกอบด้วย
1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติในปัจจุบัน
2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม
3. กตัญญู ต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษา เล่าเรียน ทางตรงและทางอ้อม
5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม
6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน
7. เข้าใจ เรียนรู้ การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง
8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่
9. มีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่าย จำหน่าย และขยายกิจการ เมื่อมีความพร้อม โดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี
11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป ตามหลักของศาสนา
12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และต่อชาติ มากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง