มิ้นต์เส่ย มุขมนตรีเขตย่างกุ้งขึ้นบัญชีดำสื่ออิรวดีหลังรายงานเรื่องที่เขาอนุมัติเงินว่าจ้างนักธุรกิจชาวจีนที่มีความสนิทสนมให้ทำโครงการพัฒนาของรัฐ สะท้อนความพยายามปกปิดการทุจริตในประเทศเผด็จการทหาร
14 ก.ย. 2557 มุขมนตรีเขตย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ขึ้นบัญชีดำสำนักข่าวอิรวดี หลังจากที่สำนักข่าวดังกล่าวเปิดโปงข้อมูลลับที่รัฐบาลเมียนมาร์ปิดบังไว้ไม่ให้สาธารณชนทราบ
สำนักข่าวอิรวดีได้รับทราบเรื่องนี้มาจากเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างรายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวยังเสนอให้นักข่าวอิรวดีใช้นามปากกาในการระบุนามผู้รายงานข่าวสำหรับข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องปกปิดของมิ้นต์ส่วย มุขมนตรีประจำเขตย่างกุ้ง
เจ้าหน้าที่ระดับล่างเปิดเผยว่าแอบได้ยินมิ้นต์ส่วยพูดกับเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งในสภาเขตว่าเขาไม่พอใจการรายงานข่าวของอิรวดีและบอกว่าอิรวดีควรถูกขึ้นบัญชีดำเนื่องจากการเขียนวิพากษ์วิจารณ์
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 2 ก.ย. สำนักข่าวอิรวดีเผยแพร่เรื่องกรณีการเล่นพรรคเล่นพวกของมิ้นต์ส่วย จากการให้เงินว่าจ้างนักธุรกิจจีน 2 คนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเขาเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการขยายเมือง โดยเป็นการให้เงินว่าจ้างอย่างลับๆ ที่ทางบริษัทไม่ได้รับทราบเรื่องนี้ ทำให้นักการเมืองในเมียนมาร์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโปร่งใสในโครงการพัฒนาระดับใหญ่เช่นนี้
นักธุรกิจชาวจีน 2 คนชื่อเสี่ยวเซิน กับเสี่ยวเฟิง ถูกระบุในรายงานข่าวหลายฉบับว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับมิ้นต์ส่วย ซึ่งพวกเขายังได้ใช้ความใกล้ชิดกับอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในระบอบเผด็จการทหารเมียนมาร์เพื่อให้ได้รับการอนุมัติด้านธุรกิจในเรื่องอื่นๆ
หลังจากการเปิดโปงเรื่องดังกล่าว 1 สัปดาห์ สื่อและเว็บไซต์ในเมียนมาร์ก็รายงานเรื่องรัฐบาลเขตขาดความโปร่งใส ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็แสดงออกด้วยท่าทียินยอมโดยบอกว่าจะมีการใส่ใจรายละเอียดเรื่องโครงการพัฒนามากกว่านี้ โดยให้โอกาสบริษัทเอกชนทั้งหมดมีโอกาสเข้าร่วม แต่วงการธุรกิจในเมียนมาร์ก็ยังคงกังขาในเรื่องนี้
อิรวดีระบุว่าการสืบสวนของพวกเขาไม่ใช่เรื่องที่มีความเข้มข้นมากแต่ก็ถือเป็นการสะท้อนเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับท้องถิ่นของเมียนมาร์ และแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้สืบสวนลึกเข้าไปมากกว่านี้ แต่ก็มากพอจะทำให้มุขมนตรีประจำเขตรู้สึกไม่พอใจ
อิรวดีระบุว่าไม่เพียงแต่กรณีของมิ้นต์ส่วยเท่านั้น แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐของเมียนมาร์มักจะเล่นพรรคเล่นพวกด้วยการอนุมัติข้อตกลงทางธุรกิจให้กับพวกพ้องและคนใกล้ชิดในครอบครัวพวกเขา โดยในอดีตมีการปิดกั้นไม่ให้เปิดเผยเรื่องข้อตกลงเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องส่งผลกระทบต่อสมบัติสาธารณะและทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้นักธุรกิจในเมียนมาร์ยังเปิดเผยอีกว่าเสี่ยวเซินและเสี่ยวเฟิงเป็นผู้สนิทสนมกับคนใหญ่คนโตในเมียนมาร์แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก พวกเขาไม่อยู่ในรายชื่อการสั่งคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
จากการจัดอันดับขององค์กรด้านความโปร่งใสนานาชาติระบุว่าเมียนมาร์อยู่ในอันดับที่ 157 จาก 177 อันดับในดัชนีการทุจริตคอร์รัปชันในภาคส่วนของรัฐ และแม้ว่าสภาเมียนมาร์จะออกกฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชันเมื่อปีที่แล้ว (2556) แต่คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร
แม้ว่าโฆษกสภาสูงของเมียนมาร์จะให้คำมั่นตั้งแต่ในปี 2555 ว่าจะมีการสืบสวนเรื่องการใช้เงินงบประมาณของกระทรวงต่างๆ และกระตุ้นให้รัฐบาลมีปฏิบัติการในเรื่องการคอร์รัปชัน แต่หลังจากผ่านมาแล้ว 2 ปี ก็มีปฏิบัติการในเรื่องนี้น้อยมาก และแม้ว่าประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของเมียนมาร์เคยพูดเรื่องการแก้ปัญหาการทุจริตในวงราชการไว้ แต่ตัวเขาเองก็ไม่ได้ปฏิบัติตามที่กล่าวเพราะเขาไม่อนุญาตให้สื่อเปิดเผยเรื่องการคอร์รัปชันของคนระดับสูงในรัฐบาล นักข่าวที่ทำการสืบสวนก็มักจะตกเป็นเป้าเสมอ
ยกตัวอย่างในปี 2555 สภาล่างของเมียนมาร์ตรวจพบว่ารัฐมนตรี 6 กระทรวงใช้งบประมาณหลายล้านดอลลาร์ไปในทางฉ้อฉลและมีการออกรายงานตรวจสอบบัญชี แต่นักข่าวที่นำรายงานนี้มาเผยแพร่ในสื่อกลับถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาท แม้ว่าในเวลาต่อมาข้อหานี้จะถูกให้เป็นโมฆะไปแต่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดเลยที่ถูกสั่งดำเนินคดี
"ทุกวันนี้ดูเหมือนว่านักข่าวต้องเจออันตรายมากกว่าในการรายงานข่าวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันและการเล่นพรรคเล่นพวกมากกว่าการทำข่าวประเด็นการเมือง รัฐบาลเมียนมาร์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยหรือไม่ก็ได้ แต่เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขามีความลับมากมาย เป็นความลับที่พวกเขาได้ประโยชน์ ซึ่งพวกเขาไม่อยากจะเปิดเผย"อิรวดีระบุในรายงาน
เรียบเรียงจาก
The Dangers of Reporting on Nepotism, Irrawaddy, 13-09-2014
http://www.irrawaddy.org/?p=68474