10 ก.ย.2557 พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) ได้ส่งจดหมายถึงสมเด็จ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา นายทองสิง ทำมะวง นายกฯ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นายเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง นายกฯ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอช นายกฯ ไทย เรื่องข้อกังวลว่าด้วยกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ในพื้นที่ของ สปป.ลาว หวั่นผลกระทบมากมาย เรียกร้องให้ผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหลายยุติกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนดอนสะโฮงโดยทันที และจัดให้มีเวลามากขึ้นในการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำสายหลักอย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ยังเรียกร้องด้วยว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐสมาชิกจะต้องยอมรับว่า กระบวนการปรึกษาหารือแบบใดก็ตามที่ชุมชนและสาธารณชนลุ่มแม่น้ำโขงมีส่วนร่วมควรจะรวมเอาหลักเกณฑ์ต่อไปนี้เอาไว้ด้วย กล่าวคือ การปรึกษาหารือจะต้องเกิดขึ้นก่อนจะมีการตัดสินใจดำเนินโครงการ จะต้องไม่มีการก่อสร้างเกิดขึ้นและต้องไม่มีลงนามในข้อตกลงใด ๆ ระหว่างที่กระบวนการปรึกษาหารือยังไม่แล้วเสร็จ รัฐสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต้องแสดงอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของตนแต่ตั้งเริ่มกระบวนการ ในอันที่จะรับรองข้อตกลงระหว่างสี่ประเทศในการดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามการปรึกษาหารืออย่างมีส่วนร่วม และจะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ รวมถึงการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และแบบล่าสุดของโครงการ จะต้องมีการเผยแพร่ออกมาก่อนจะมีการปรึกษาหารือ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นภาษาของทุกประเทศริมฝั่งแม่น้ำ และเครื่องมือทั้งหมดที่ใช้ต้องถูกตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีความเป็นกลาง คำตอบและข้อกังวลของชุมชนและสาธารณชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ต้องถูกยกขึ้นกล่าวถึงอย่างโปร่งใสและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าความคิดเห็นเหล่านี้จะส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจในท้ายที่สุดอย่างไร เป็นต้น
รายละเอียดของจดหมายมีดังนี้
เรื่อง: ข้อกังวลว่าด้วยกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
เรา พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) ประสงค์จะแสดงความกังวลของเราต่อกระบวนการตัดสินใจว่าด้วยเรื่องเขื่อนดอนสะโฮงทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ข้อกังวลหลักของเราเกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ในขณะนี้รัฐบาลสปป.ลาว เสนอให้นำโครงการเขื่อนดอนสะโฮงเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement: PNPCA) โดยเรามีความกังวลว่า กระบวนการ PNPCA ของโครงการเขื่อนดอนสะโฮงจะไม่สามารถดำเนินการให้เป็นกระบวนการปรึกษาหารืออย่างถูกต้องและมีส่วนร่วมได้จริง อีกทั้งโครงการนี้ ยังถูกกำหนดให้ดำเนินรอยตามเส้นทางอันตรายเฉกเช่นเดียวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี อันจะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อแม่น้ำโขงและประชาชนริมฝั่งแม่น้ำ
การศึกษามากมายชี้ว่า หากมีการสร้างเขื่องดอนสะโฮง ผลกระทบอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นต่อพันธุ์ปลาและการอพยพของปลาแม่น้ำโขงตลอดทั้งลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง สิ่งนี้จะคุกคามความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของประชาชนหลายล้านคน รวมไปถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคจากความตึงเครียดที่จะเพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลเนื่องจากความล้มเหลวของความร่วมมือระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม สปป. ลาวยังคงยืนยันที่จะดำเนินการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงต่อไป แม้จะมีการเสนอให้โครงการนี้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสปป. ลาวตั้งใจที่จะดำเนินการพัฒนาโครงการต่อไป<1>รายงานข่าวล่าสุดเกี่ยวกับความคืบหน้าของการก่อสร้างที่บริเวณหัวงานเขื่อน ปรากฏออกมาในทิศทางที่สอดคล้องกับข้อกังวลที่กล่าวมา โดยในขณะที่รัฐบาลลาวอ้างว่ามีการระงับการก่อสร้างไว้ก่อน บริษัทเมเกะเฟิร์สท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้รับผิดชอบในการพัฒนาโครงการยังคงยืนยันว่าการก่อสร้างจะดำเนินต่อไป<2> การเสนอให้โครงการเขื่อนดอนสะโฮงเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้านั้น จะต้องไม่ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นหนทางในการรับรองการกระทำของสปป. ลาวว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 แต่จะต้องเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการตัดสินใจเชิงนโยบายระดับภูมิภาคอย่างสุจริต ตามเจตนารมณ์ของข้อตกลงแม่น้ำโขง
จนถึงขณะนี้ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปแล้วว่ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีนั้นล้มเหลว เนื่องจากเป็นการปรึกษาหารือที่จำกัดทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่รับฟังความคิดเห็นที่มีนัยยะสำคัญ อันรวมไปถึงเสียงจากชุมชนท้องถิ่นในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว ไทย และเวียดนามด้วย ในขณะที่หลายกลุ่มในประเทศเวียดนามและกัมพูชาได้ออกมาแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมดังกล่าว ชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบในประเทศไทยยืนยันหนักแน่นว่าไม่เคยมีการ “ปรึกษาหารือ” ในการประชุมครั้งใดที่จัดขึ้นในประเทศไทย และได้รับเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ชาวบ้านเชื่อว่ากระบวนการ PNPCA ไม่มีความชอบธรรมและจะยังคงยืนยันว่า “ไม่เอา” เขื่อนไซยะบุรีต่อไป
ชาวบ้านที่เข้าร่วมการปรึกษาหารือรายงานว่า แทบจะไม่ได้รับข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับรายละเอียดและผลกระทบของโครงการเลย การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับล่าสุดไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่มีการจัดทำการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และการออกแบบเขื่อนก็ยังไม่สมบูรณ์ ความชอบธรรมของกระบวนการทั้งหมดถูกทำลายลงเมื่อรัฐบาลลาวและไทยตัดสินใจที่จะเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี แม้จะปราศจากข้อสรุปเกี่ยวกับกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ไม่มีคำตอบใด ๆ ต่อข้อกังวลของประเทศกัมพูชาและเวียดนาม รวมถึงไม่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสี่รัฐบาลในการดำเนินโครงการดังกล่าว
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ศาลปกครองสูงสุดประเทศไทยแถลงรับคำร้องของชาวบ้านจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี พร้อมทั้งกล่าวถึงความเป็นไปได้ของผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดจากเขื่อนไซยะบุรี และเรียกร้องให้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมเพิ่มเติมในประเทศไทย<3> ข้อเสนอแนะจากทั้งประเทศกัมพูชาและเวียดนามคือต้องการให้ชะลอการตัดสินใจใด ๆ ว่าด้วยเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างจนกว่าจะมีการศึกษาที่สมบูรณ์ของคณะมนตรีของกรรมาธิการแม่น้ำโขง และมีการศึกษาในประเด็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในการประชุมสุดยอดผู้นำแม่น้ำโขงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามได้เน้นย้ำอีกครั้ง ถึงข้อเสนอแนะที่ระบุไว้ในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อปี 2553 ที่เสนอให้มีการเลื่อนการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมดบนแม่น้ำโขงสายหลักออกไป 10 ปี ข้อเสนอแนะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในอนาคตจะต้องอยู่บนพื้นฐานการศึกษาที่ครอบคลุมและมีความเข้าใจเรื่องผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด
แหล่งทุนต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงก็ได้ออกมาแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความชอบธรรมของกระบวนการ PNPCA เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลออสเตรเลียที่ให้ทุนสนับสนุนการทำกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการไซยะบุรี พร้อมทั้งการทบทวนกระบวนการดังกล่าว รวมถึงรัฐบาลเดนมาร์กด้วย เมื่อรับทราบถึงความบกพร่องของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของเขื่อนไซยะบุรี สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเองก็ได้พยายามทบทวนกระบวนการ PNPCA ในอันที่จะ “พิจารณาขยายระยะเวลาการปรึกษาหารือล่วงหน้า 6 เดือน กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า และนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันว่าด้วยการตีความกระบวนการ PNPCA ภายใต้บริบทของข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538”<4>
แม้จะมีการเสนอให้ทบทวนมากว่าหนึ่งปี ประเด็นดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งไปกว่านั้น กรณีของเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่ออนาคตของแม่น้ำโขงก็ยังถูกเสนอให้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้านี้ และมีแนวโน้มที่จะซ้ำรอยกระบวนการตัดสินใจที่ล้มเหลวของเขื่อนไซยะบุรี
ด้วยเหตุนี้ เราขอเรียกร้องให้ผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหลายยุติกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนดอนสะโฮงโดยทันที และแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของกระบวนการ PNPCA อันเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือ รวมถึงข้อตกลงของบรรดาชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และจัดให้มีเวลามากขึ้นในการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำสายหลักอย่างสมบูรณ์
เสียงของชุมชนจะต้องมาก่อน ในทุก ๆ ขั้นตอนกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง เนื่องจากจุดมุ่งของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มิได้เป็นเพื่อชุมชนท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำโขง จึงจำเป็นต้องมีความชัดเจนว่า ชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงจะมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในกระบวนการตัดสินใจได้อย่างไร และการมีส่วนร่วมดังกล่าวของพวกเขาจะส่งผลอย่างไรต่อการตัดสินใจว่าโครงการจะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ สิทธิของชุมชนในการที่จะปฏิเสธโครงการจะต้องได้รับการยอมรับ
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐสมาชิกจะต้องยอมรับว่า กระบวนการปรึกษาหารือแบบใดก็ตามที่ชุมชนและสาธารณชนลุ่มแม่น้ำโขงมีส่วนร่วมควรจะรวมเอาหลักเกณฑ์ต่อไปนี้เอาไว้ด้วย กล่าวคือ
การปรึกษาหารือจะต้องเกิดขึ้นก่อนจะมีการตัดสินใจดำเนินโครงการ จะต้องไม่มีการก่อสร้างเกิดขึ้นและต้องไม่มีลงนามในข้อตกลงใด ๆ ระหว่างที่กระบวนการปรึกษาหารือยังไม่แล้วเสร็จ
หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับการตัดสินใจเกี่ยวกับการออกแบบ ขอบเขต และขนาดของโครงการ รวมถึงการตั้งอยู่ของโครงการในระบบนิเวศที่เป็นอยู่ ต้องถูกจัดทำขึ้น และเผยแพร่ต่อสาธารณะก่อนกระบวนการปรึกษาหารือ หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ควรได้รับการปรับปรุงให้เท่าทันเหตุการณ์ อิงตามข้อมูลที่ได้รับระหว่างทำการปรึกษาหารือ
รัฐสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต้องแสดงอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของตนแต่ตั้งเริ่มกระบวนการ ในอันที่จะรับรองข้อตกลงระหว่างสี่ประเทศในการดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามการปรึกษาหารืออย่างมีส่วนร่วม
ข้อมูลที่เพียงพอ รวมถึงการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และแบบล่าสุดของโครงการ จะต้องมีการเผยแพร่ออกมาก่อนจะมีการปรึกษาหารือ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นภาษาของทุกประเทศริมฝั่งแม่น้ำ และเครื่องมือทั้งหมดที่ใช้ต้องถูกตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีความเป็นกลาง
เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติที่จะรับประกันความเหมาะสมของตัวแทนชุมชนในการเข้าร่วมปรึกษาหารือ ทุกชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงต้องได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือ ต้องมีการจัดหาทรัพยากรให้อย่างเพียงพอโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง รัฐสมาชิก และ/หรือหุ้นส่วนในการพัฒนา เพื่อช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของชุมชนต่าง ๆ และสาธารณชนริมฝั่งแม่น้ำโขง
คำตอบและข้อกังวลของชุมชนและสาธารณชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ต้องถูกยกขึ้นกล่าวถึงอย่างโปร่งใสและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าความคิดเห็นเหล่านี้จะส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจในท้ายที่สุดอย่างไร
ขั้นตอนและมาตรฐานในการปรึกษาหารือจะต้องเหมือนกันทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อรับประกันว่าข้อกังวลของทุกประเทศได้รับกล่าวถึง บันทึก และพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งอาจทำได้โดยให้มีบุคคลที่สามเป็นผู้กำกับดูแลและตรวจสอบขั้นตอนนี้
เรา พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง เชื่อว่าแม่น้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์มีความสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนของภูมิภาค เราขอเรียกร้องให้ผู้นำประเทศพิจารณาอย่างเร่งด่วนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดขึ้นในอนาคตจากเขื่อนบนแม่น้ำโขง และให้ความสำคัญ รวมถึงปกป้องสิทธิในการปรึกษาหารือและมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยเรื่องเขื่อนบนแม่น้ำโขง
ขอแสดงความนับถือ Both ENDS, The Netherlands |
Burma Rivers Network, Burma |
Child Development Center for Social and Environment in Mekong Basin, Thailand (ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง) |
Chuenchom Sangarasri Greacen, Palang Thai, Thailand |
Community Economic Development, Cambodia |
Community Resource Centre, Thailand (ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม) |
Conservation and Recovery in Lampaning River Basin Group, Nong Bua Lamphu province, Thailand (กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู) |
CRDT, Cambodia |
CSRD, Vietnam |
E-san Human Rights and Peace Information Centre, Thailand (ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอีสาน) |
Earth Rights International, USA |
EcoSun Cambodia, Cambodia |
Finnish Asiatic Society, Finland |
Fisheries Action Coalition Tea, Cambodia |
Focus on the Global South, Thailand |
GreenID, Vietnam |
Information Center for Social Justice, Thailand |
International Rivers, USA |
Living Siam River, Thailand |
Mekong Conservation Group, Pak Cham, Loei, Thailand (กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย) |
Mekong Monitor Tasmania, Australia |
Mekong People Council Network, Thailand |
Mekong Watch, Japan |
Mekong-Lanna Culture and Natural Resources Conservation Group, Chiang Rai, Thailand |
My Village, Cambodia |
Network of Thai People in Eight Mekong Provinces, Thailand |
NGO Forum, Cambodia |
NGOs Coordinating Committee, Northeastern Region, Thailand [คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน(กป.อพช.)] |
Northeast of Environment and Natural Resource Network, Thailand (เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน) |
Northeastern Rural Development, Cambodia |
Northern River Basins Network, Thailand |
PanNature, Vietnam |
People Committee for Livelihood and Community Recovery, Pak Mun, Ubonrachthanee, Thailand [คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน(ชชช.)] |
Ponlok Khmer, Cambodia |
Probe International, Canada |
Rak Chaing Karn Group, Thailand (กลุ่มรักษ์เชียงคาน) |
Right Protection Center for Natural Resource Management in Lower-Chi River, Thailand |
Tam People Association, Thailand (สมาคมคนทาม) |
Tammun Project, Thailand (โครงการทามมูน) |
Towards Ecological Recovery and Regional Alliance, Thailand |
The Law and Policy of Sustainable Development Research Center, Vietnam |
Udon Thani Environmental Conservation Group, Thailand (กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี) |
Vietnam Rivers Network, Vietnam |
WARECOD, Vietnam |
World Rainforest Movement, Uruguay |
สำเนาถึง:
คณะกรรมการร่วมและคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
แหล่งทุนของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
เลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
==========================
<1> แถลงการณ์ของสปป. ลาว จากการประชุมครั้งที่ 20 ของสภาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
<2> “เจ้าหน้าที่ลาวกับผู้พัฒนาโครงการกล่าวไม่ตรงกันว่าด้วยเรื่องความคืบหน้าของเขื่อน”, The Phnom Penh Post, 20 สิงหาคม 2557
<3> “เขื่อนไซยะบุรีจะเป็นเขื่อนแรกในจำนวน 12 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีแผนจะสร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง เป็นที่ทราบกันดีว่าโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพและปริมาณน้ำ การไหลของน้ำ ความสมดุลทางธรรมชาติของลุ่มแม่น้ำโขง และผลกระทบข้ามพรมแดนอื่นๆ ต่อประเทศริมฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนท้องถิ่นใน 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงในราชอาณาจักรไทย ซึ่งอาจต้องแบกรับผลกระทบอย่างกว้างขวางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย วิถีชีวิต หรือกระทบส่วนใด ๆ ของชุมชน” คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557
<4> การทบทวนความช่วยเหลือของประเทศเดนมาร์กต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง, 2556
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai