Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

หวั่นประกาศผู้มีอำนาจเหนือตลาดใหม่ของ กสทช. ลดระดับการคุ้มครองผู้บริโภค

$
0
0

หมอลี่หวั่นประกาศใหม่ กสทช. 2 ฉบับ เรื่องนิยามตลาดและผู้มีอำนาจเหนือตลาด ส่งผลระดับการคุ้มครองผู้บริโภคลดลง เพราะมีแนวโน้มว่าข้อกำหนดเรื่องค่าบริการโทรต้องไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์อาจไม่มีผลอีกต่อไป  และสำนักงาน กสทช. มีแนวคิดจะกำกับให้ออกโปรโมชั่นมาตรฐาน และควบคุมเฉพาะโปรมาตรฐานเพียงโปรเดียว นอกนั้นปล่อยเป็นเรื่องการแข่งขัน

10 ก.ย.2557 เร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือบอร์ด (กสทช.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง นิยามตลาดและขอบเขตตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ... และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขประกาศที่บังคับใช้อยู่เดิม ทั้งในเรื่องนิยามตลาดและหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยขณะนี้ร่างประกาศใหม่ทั้ง 2 ฉบับ อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. นำเสนอเหตุผลที่ต้องมีการปรับปรุงประกาศดังกล่าว เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโทรศัพท์มือถือ หรือบริการ 3G ทำให้ต้องปรับปรุงขอบเขตตลาดและแนวทางกำกับดูแลของ กสทช. ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบุว่า หากประกาศใหม่มีผลบังคับใช้ อาจทำให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดเดิมไม่ถูกกำกับดูแลตามประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 โดยประกาศอัตราขั้นสูงกำหนดว่า ผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดจะต้องคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที

นายประวิทย์ เปิดเผยว่า โดยหลักการแล้วเห็นด้วยว่าควรมีการปรับปรุงนิยามตลาดและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้มีอำนาจเหนือตลาดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการเติบโตของกิจการโทรคมนาคม เพียงแต่ร่างประกาศฉบับใหม่อาจทำให้ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ถูกกำกับดูแล รวมถึงในเรื่องกำกับค่าบริการ เนื่องจากขั้นตอนการกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดตามร่างประกาศฉบับใหม่ ขั้นแรกต้องประเมินสภาพตลาดก่อนว่ามีการแข่งขันมากน้อยเพียงใด หากตลาดมีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด แต่หากพบว่ามีการแข่งขันต่ำ ก็จำเป็นต้องกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยอาจตรวจสอบจากส่วนแบ่งการตลาดและปัจจัยเชิงพฤติกรรมประกอบกัน และเมื่อพบว่ามีผู้มีอำนาจเหนือตลาด กสทช. ก็จะกำหนดมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อกำกับดูแลต่อไป ซึ่งในขณะนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนว่าจะกำกับดูแลอย่างไรต่อไป

นายประวิทย์กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ตามนิยามใหม่ดังกล่าวอาจทำให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดเดิมในปัจจุบันที่ถูกกำกับดูแลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือประกาศอัตราขั้นสูง 99 สตางค์ อาจไม่เข้านิยามเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดตามประกาศใหม่ ซึ่งก็จะไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวอีกต่อไป เนื่องจากสำนักงาน กสทช. อาจยังมีข้อมูลค่าบริการด้านโทรคมนาคมไม่เพียงพอสำหรับการคำนวณการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสำหรับการวิเคราะห์ระดับความมีประสิทธิภาพของการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีปัญหาในการประเมินสภาพการแข่งขันของตลาดและผู้ประกอบการรายใดคือผู้มีอำนาจเหนือตลาด

“อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมีผู้ประกอบการไม่มากนัก ทำให้ผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรองค่อนข้างมาก ค่าบริการจึงมักมีราคาแพงและไม่สะท้อนต้นทุน การไม่มีเกณฑ์ใดๆ เพื่อจำกัดการขึ้นราคาค่าบริการย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงกันว่า การกำกับค่าบริการปลายทางประเภทเสียง 99 สตางค์เป็นแนวทางการกำกับดูแลตลาดขายปลีกที่เหมาะสมหรือไม่ และสามารถบังคับได้จริงมากน้อยเพียงใด แต่ก็ต้องยอมรับว่าแนวทางดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางที่ชัดเจนแนวทางเดียวที่ กสทช. ใช้กำกับราคาค่าบริการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากค่ายมือถือได้แบบผู้บริโภคเข้าใจง่าย คืออย่างน้อยผู้บริโภครู้ว่ากติกาคือค่าโทร 2G ต้องไม่เกิน 99 สตางค์นะ เมื่อมีการคิดเกินก็รู้ว่า บริษัททำผิดแล้วนะ และ กสทช. ไม่ปฏิบัติหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย มีการตรวจสอบได้ แต่ภายใต้แนวทางกำกับแบบใหม่ ทุกอย่างจะซับซ้อนซ่อนเงื่อนขึ้น ส่วนใดทำไม่ถูกหรือไม่ทำงาน ก็ยากจะชี้ถูกชี้ผิด” นายประวิทย์กล่าว

อนึ่ง ที่ผ่านมา กสทช. กำหนดให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) เป็นผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด แต่พบว่า บริษัททั้งสองมีการฝ่าฝืนประกาศอัตราขั้นสูง 99 สตางค์มาตลอด โดยยังคงคิดค่าโทรเกินกว่าอัตราที่กำหนด ซึ่งล่าสุด กสทช. ก็ได้กำหนดอัตราค่าปรับบริษัท AIS วันละ 1.8 แสนบาท และบริษัท DTAC วันละ 1.5 แสนบาท โดยให้มีผลบังคับนับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles