(25 มี.ค.56) ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ กทม. สุภิญญา กลางณรงค์ และ ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. ร่วมรับฟังข้อสรุปที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการณ์ "การปฏิรูปสื่อในทีวีดิจิตอลสาธารณะ: รูปแบบที่ควรจะเป็น"ที่ได้เสนอแนวทางต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ต่อการพิจารณาให้ใบอนุญาตประเภทสาธารณะ มีข้อเสนอ ดังนี้
1. กสท. ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการรายเดิม (ช่อง 5, ช่อง 11 และไทยพีบีเอส) ปรับตัวให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการสาธารณะ มิใช่ได้รับสิทธิในการออกอากาศในระบบดิจิตอลโดยอัตโนมัติ มิเช่นนั้นจะส่งผลต่อการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
2. กสท. ต้องสร้างเกณฑ์การตรวจสอบ “หน้าที่” และ “ความจำเป็น” ของผู้ประกอบการรายเดิม และหน่วยงานรัฐและองค์กรต่างๆ ที่ขอเข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงโครงสร้างความเป็นเจ้าของ
3. กสท.ต้องจัดทำคำนิยาม “บริการสาธารณะ” และเนื้อหารายการ รวมทั้งพันธกิจสำคัญในแต่ละช่องรายการให้ชัดเจน และขอให้ทบทวนการจัดกลุ่มตามวัตถุประสงค์ของทั้ง 12 ช่อง
4. กสท.ต้องคำนึงถึงความเป็นเจ้าของสำหรับภาคประชาชนเพื่อใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในทุกพื้นที่ของการประกอบกิจการ
5. กสท.ต้องกำหนดให้แต่ละช่องเสนอโครงสร้างการบริหารที่สะท้อนความเป็นอิสระจากภาคการเมืองและภาคธุรกิจ และมีแผนการจัดสรรและที่มาของงบประมาณที่ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้
6. กสท.ต้องมีเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ช่องบริการสาธารณะ (Beauty Contest) ที่ชัดเจน และผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ เนื่องจากเป็นแนวนโยบายที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ
7. กสท.ควรชะลอการพิจารณาการจัดสรรคลื่นความถี่บริการสาธารณะ 12 ช่อง จนกว่าจะสำรวจและรับความเห็นจากทุกภาคส่วนและศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ในการใช้ดุลพินิจของ กสท.
นักวิชาการที่ร่วมลงชื่อได้แก่ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อ รศ.ดร.ปิยกุล เลาวัณย์ศิริ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ผศ.ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา อังคณา พรมรักษา ม.มหาสารคาม วนิดา วินิจจะกูล ม.เนชั่น สมัชชา นิลปัทม์ มอ.ปัตตานี เวทิต ทองจันทร์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.สยาม มรรยาท อัครจันทรโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ สุวรรณา สมบัติรักษาสุข จุฬาฯ วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการสื่อ และ ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ ม.แม่โจ้