ยอดแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนแล้วกว่าล้านคน
กทม. 3 ก.ย. - แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนแล้วกว่าล้านคน ด้านอธิบดีกรมการจัดหางาน ย้ำนายจ้างดูแลแรงงานอย่างเท่าเทียม เพื่อแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของไทย
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว (วันสต็อปเซอร์วิส) ทั่วประเทศ ที่ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน –2 กันยายน 2557 ขณะนี้มีนายจ้างจำนวน 185,767 ราย พาแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามไปจดทะเบียนแล้วจำนวนทั้งสิ้น 987,217 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติจำนวน 930,179 คน ผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ 57,038 คน โดยเป็นสัญชาติกัมพูชามากที่สุด จำนวน 431,254 คน เป็นแรงงานจำนวน 407,332 คน ผู้ติดตาม จำนวน 23,922 คน รองลงมาเป็นสัญชาติพม่า 397,838 คน เป็นแรงงานจำนวน 371,726 คน ผู้ติดตามจำนวน 26,112 คน และสัญชาติลาว จำนวน 158,125 คน เป็นแรงงานจำนวน 151,121 คน ผู้ติดตามจำนวน 7,004 คน
ทั้งนี้ นายจ้างยังสามารถพาแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียนได้ ณ ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าว ควรปฏืบัติกับแรงงานอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฎิบัติ เพื่อแสดงให้ต่างประเทศเห็นว่าไทยมีความจริงใจในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ หากนายจ้างมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานมีข้อสงสัย และต้องการร้องเรียน สามารถโทรไปสอบถามได้ที่สายด่วน 1694 ทั้งภาษาอังกฤษ พม่า และกัมพูชา
(สำนักข่าวไทย, 3-9-2557)
แรงงานอุดรฯ กลับจากลิเบียรับเงินช่วยเหลือ 1.5 หมื่น/คน
(3 ก.ย.) ที่ห้องรับรองภูพระบาท ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายกอบเกียรติ กาญจนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมนางยุทธศาสตร์ ทูลกลาง หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองคนหางาน ได้เป็นตัวแทนมอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จากกรมการจัดหางาน ให้กับแรงงานที่ถูกอพยพหนีภัยสู้รบกลับจากประเทศลิเบียรอบแรกจำนวน 15 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 225,000 บาท
นางยุทธศาสตร์กล่าวว่า จากที่มีแรงงานเข้ามายื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือจำนวน 263 คน ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ขณะนี้ได้รับการอนุมัติแล้วจำนวน 15 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างรอรับการอนุมัติจากสำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โดยคาดว่าจะทยอยอนุมัติมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กรมการจัดหางานได้พิจารณาอนุมัติเงินกองทุนฯ ให้คนหางานรายละ 15,000 บาท โดยโอนเข้าบัญชีสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานี ทางสำนักงานฯ ได้สั่งจ่ายเช็คในนาม ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อมอบให้แรงงานที่ยื่นคำร้องขอรับเงินสงเคราะห์ในครั้งนี้
นายไสว เฉียบแหลม อายุ 46 ปี ชาวอำเภอประจักษ์ศิลปาคม หนึ่งในแรงงานที่ได้รับเงินกองทุนช่วยเหลือในครั้งนี้ กล่าวว่า ตนเดินทางไปทำงานประเทศลิเบียได้เพียง 1 ปี 1 เดือน โดยมีสัญญาจ้างแบบปีต่อปี แต่ต้องถูกส่งกลับก่อนครบกำหนดสัญญาจ้าง
เนื่องจากจุดที่ทำงานอยู่ใกล้พื้นที่สู้รบ และเกิดการจี้ปล้นกันอยู่ตลอดเวลา นายจ้างจึงตัดสินใจส่งแรงงานทั้งหมดกลับเพื่อเป็นการป้องกัน ทั้งนี้นายจ้างยังได้บอกกับตนเองอีกว่า ภายใน 3 เดือนนี้หากเหตุการณ์สู้รบสงบตนก็จะได้กลับเข้าไปทำงานเหมือนเดิม
“ส่วนตัวแล้วมีความคิดเห็นว่าเหตุการณ์สู้รบคงไม่สงบได้โดยเร็ว แต่ผมก็ยังมีความหวังที่จะกลับไป”
นายไสวกล่าวต่อว่า ช่วงรองานตนจะต้องกลับไปดูแลไร่นา และจะลองพยายามหางานอื่นไปก่อน รอไปทำงานต่างประเทศอีกครั้งเพราะได้ค่าแรงสูงกว่าในไทย
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-9-2557)
บอร์ด สปส.ไฟเขียวเงินลงทุนต่างประเทศ 6 หมื่นล้านบาท
(3 ก.ย.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด สปส. เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบอนุมัติให้ สปส. เงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในต่างประเทศวงเงิน 2 พันล้านเหรียดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยวงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตร โลจิสติกส์ โดยแยกเป็น 5 กองทุน ซึ่งใน 3 กองทุน มีเงินลงทุนกองทุนละ 600 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และอีก 2 กองทุน มีเงินลงทุนกองทุนละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ให้ สปส. ไปตั้งคณะกรรมการคัดเลือกบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนในด้านต่างๆ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกโดยให้ สปส. ดำเนินการคัดเลือกบริษัทที่เป็นตัวแทน สปส. ไปลงทุนต่างประเทศให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 และเริ่มนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงต้นปี 2558 ทั้งนี้ สาเหตุที่บอร์ดสปส. อนุมัติเงินลงทุนในต่างประเทศข้างต้น เพราะต้องนำเงินผลกำไรจากการลงทุนมาสะสมไว้ในกองทุนเพื่อช่วยยืดอายุกองทุนประกันสังคม เนื่องจากปีนี้เริ่มจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพทั้งเงินบำเหน็จและเงินบำนาญ ทำให้เงินกองทุนไหลออกมากขึ้น รวมทั้งนำเงินมาใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลโรคร้ายแรงให้แก่ผู้ประกันตน
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-9-2557)
ส.อ.ท.มึนแรงงานขาด3แสนคน สิ่งทอ-อาหารกระทบหนัก เผย รง.จ่อปิดกิจการเพิ่ม
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างที่จะมีความต้องการแรงงานสูง เนื่องจากประเมินว่า ในปี 2558 ภาครัฐจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนมาก ซึ่งภาพรวมเบื้องต้นประเมินสถานการณ์ภาวะแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนอีกประมาณ 2-3 แสนคน
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท.ด้านแรงงาน กล่าวว่า ในปัจจุบันการขาดแคลนแรงงานไทยเป็นปัญหารุนแรง จนทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และต้องปิดกิจการไปแล้วในปี 2556 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้กว่า 10 แห่ง แต่อาจเป็นกิจการขนาดไม่ใหญ่มากนัก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและอาหารที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานหนักสุด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างจริงจัง ก็คาดว่าในระยะต่อไปจะมีโรงงานทยอยปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานผ่านทางคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคธนาคารไทย (กกร.) ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อขอขยายสิทธิประโยชน์ด้านแรงงานแก่ผู้ประกอบการ 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ต้องการจะขอใช้แรงงานต่างด้าว ควรเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาว่าจะเปิดให้ใช้แรงงานต่างด้าวได้หรือไม่ 2.ผู้ประกอบการในปัจจุบันที่ได้รับสิทธิ์ใช้แรงงานต่างด้าวที่จะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ ขอให้บีโอไอขยายสิทธิใช้แรงงานต่างด้าวไปอีก 2 ปี และ 3.ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีนิติบุคคลครบแล้ว ขอให้สามารถใช้แรงงานต่างด้าวได้ทันที จากเดิมที่ไม่อนุญาตให้ใช้
นอกจากนี้ยังเสนอแนวทางพัฒนาแรงงานต่อให้ภาครัฐ โดยการอบรมและฝึกทักษะพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น แรงงาน 1 คน สามารถทำงานได้อย่างน้อย 1.25 คน หรือคิดเป็นประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 25% ต่อคน รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้ เนื่องจากแรงงานไทยปฏิเสธการทำงานบางประเภท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานหนัก หรือเป็นงานที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับสิ่งปฏิกูลหรือสกปรก
นายวัลลภ วิตนากร ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ทางสมาคมได้รับแจ้งจากผู้บริหาร บริษัท ไทยการ์เมนต์ เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานสิ่งทอขนาดใหญ่ของประเทศที่มีการส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก ที่แจ้งให้สมาคมทราบว่า ทางไทยการ์เมนต์เตรียมปิดกิจการโรงงานไทยการ์เมนต์ สาขาศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีพื้นที่กว่า 100 ไร่ และมีแรงงานร่วม 2,000 คน ในสิ้นเดือน ก.ย.2557 นี้ เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง หลังจากที่ผ่านมามีแรงงานในสาขาแห่งนี้กว่า 2,000 คน เริ่มทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเหลือแรงงานอยู่เพียง 800 คน ขณะที่ทางโรงงานเองยังหาแรงงานใหม่ทดแทนได้น้อยมาก ทั้งยังประสบปัญหาแรงงานที่รับเข้ามาใหม่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาฝีมืออีกมาก ส่งผลกระทบต่อการรับคำสั่งซื้อ หรือออเดอร์ที่เข้ามาแล้วบริษัทไม่สามารถผลิตได้ทันตามกำหนดเวลา ทำให้ต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
(ไทยโพสต์, 4-9-2557)
ชง รบ.นำเข้าแรงงาน 1 แสนคน กังวลเกิดปัญหาขาดแคลน ขอออเดอร์คนงานอิเหนา
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาแก้ปัญหาแรงงานส่งผลให้ปัญหาแรงงานลดน้อยลง แต่เชื่อว่าหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น จะส่งผลให้มีความต้องการแรงงานในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เมื่อภาครัฐมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ความต้องการแรงงานในภาคก่อสร้างจะมากขึ้น อาจขยายไปถึงระดับวิศวกร
"ปัจจุบันมีแรงงานในภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ราว 700,000 คน ซึ่งยังเพียงพอรับกับงานก่อสร้างในปัจจุบัน แต่มองว่าควรมีการนำเข้าแรงงานเพื่อสำรองไว้อีก 80,000-100,000 คน เพื่อรองรับการขยายการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน"นายอธิปกล่าว
นายอธิปกล่าวว่า ขณะนี้ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ คือ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทยและสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย อยู่ระหว่างการทำหนังสือยื่นต่ออธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รองรับความต้องการแรงงานในอนาคต เมื่อมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การขยายการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ส่งผลให้ความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น
นายอธิปกล่าวถึงรายละเอียดที่จะเสนอ คือห้ามแรงงานต่างด้าวเปลี่ยนนายจ้างเอง เพราะที่ผ่านมา เมื่อนายจ้างนำแรงงานเข้ามาอย่างถูกกฎหมายต้องมีค่าใช้จ่าย แต่แรงงานมักหนีไปหาแหล่งที่ได้ค่าแรงสูงกว่า ส่งผลกระทบกับนายจ้างเดิม ดังนั้น หากแรงงานต้องการเปลี่ยนนายจ้าง ต้องให้นายจ้างยินยอม และส่งกลับประเทศ เพื่อให้นายจ้างใหม่เข้าสู่กระบวนการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย หรือนายจ้างเดิมส่งต่อแรงงานให้นายจ้างใหม่และมีการจ่ายผลตอบแทนในการส่งต่อแรงงานอย่างเหมาะสม
นายอธิปกล่าวว่า ควรอนุญาตให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตในจังหวัดเดียวกันได้ แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายให้สามารถขออนุญาตใช้แรงงาน โดยให้ระบุได้ 4-5 สถานที่ในการขออนุญาตครั้งเดียว แต่ผู้ประกอบการยังประสบปัญหา เพราะการเคลื่อนย้ายแรงงานยังจำกัดเฉพาะพื้นที่ แต่หากสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้เสรีในจังหวัดเดียวกัน ผู้ประกอบการจะสามารถวางแผนการลงทุนได้มากขึ้น กระทรวงแรงงานและภาครัฐควรมีการพิจารณาเพิ่มแหล่งนำเข้าแรงงาน จากเดิมที่เป็นประเทศที่อยู่ติดกับชายแดนไทย อาจขยายเพิ่มเติม อินโดนีเซีย ซึ่งยังมีแรงงานเหลือและค่าแรงมีราคาถูก โดยอาจนำเข้าในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการนำเข้าแรงงาน
(ประชาชาติธุรกิจ, 6-9-2557)
ลูกจ้างชั่วคราวสธ.วอน รมว.สธ.คนใหม่เห็นใจคุณภาพชีวิต
นายโอสถ สุวรรณเศวต รองประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวว่า จากนโยบายกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ยกระดับลูกจ้างชั่วคราวกว่า 150,000 คน เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) นั้น โดยระบุว่าจะเพิ่มสิทธิสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะค่าตอบแทนให้สูงขึ้นตามค่าครองชีพในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น แทบไม่มีการขึ้นเงินเดือนเลย โดยหากขึ้นเงินเดือนก็ขึ้นตกปีละไม่เกิน 100-200 บาท แม้ที่ผ่านมาเคยร้องผู้บริหาร สธ.ให้ช่วยเหลือ ก็ไม่เคยช่วยอะไร จนต้องเข้าขอความเป็นธรรมกับทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
โดยล่าสุดทราบว่าจะเรียกเจรจาทั้งสองฝ่าย คือ ตัวแทนลูกจ้างชั่วคราว และผู้บริหาร สธ.เพื่อให้ได้ข้อยุติของเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ตนอยากขอให้ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คนใหม่ให้ความสำคัญกับลูกจ้างชั่วคราวด้วย แม้จะไม่ใช่ข้าราชการประจำ แต่ก็เป็นบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานมานาน อยากให้ช่วยเหลือในเรื่องสิทธิสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นค่าตอบแทน ซึ่งที่ผ่านมามีการกำหนดค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (Pay for Performance) แต่อย่าลืมว่า การประเมินลูกจ้างชั่วคราวไม่เหมือนกับบุคลากรสาธารณสุขที่เป็นข้าราชการ เพราะพวกตนถูกประเมินถึง 3 ครั้ง แต่บุคลากรทั่วไปไม่เกิน 2 ครั้ง จนเกิดคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงปฏิบัติไม่เหมือนกัน และเมื่อมีการประเมินแล้วก็ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนอยู่ดี บางคนอาจได้รับเงินเดือนขึ้นแต่ก็ไม่มาก ไม่เป็นไปตามค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งไม่มีมาตรฐานหรืออะไรที่รับประกันคุณภาพชีวิตของพวกตนเลย
(มติชน, 7-9-2557)
เผยโครงการการศึกษาทวิภาคีไทย–เยอรมัน มีเงินเดือนบันทึกประวัติการทำงานเป็นระบบ
นายพงษ์ศักดิ์ จักษุเวช ประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทย และ ประธานบริษัท บี.กริม เทรดดิ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยถึง โครงการการศึกษาทวิภาคีไทย-เยอรมัน (GermanThai Dual Excellence Education) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บี.กริม เพาเวอร์ ผู้ผลิตไฟฟ้า SPP รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ร่วมกับ หอการค้าเยอรมัน-ไทย และ สถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมอาชีวศึกษา และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ (GIZ) มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานฝืมืออย่างหนัก ที่มีแนวโน้มจะเลวร้ายลง และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อมีการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอนาคต หากระบบการศึกษาไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบรับกับอุปสงค์ของอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานโยบายของภาครัฐมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทำให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาการอาชีวศึกษาลดจำนวนลง หลักสูตรการเรียนสายอาชีวะก็เน้นภาคทฤษฎีที่คล้ายกับระบบการศึกษาสายสามัญมากขึ้น โดยละเลยภาคปฏิบัติซึ่งเป็นจุดเด่นของระบบอาชีวศึกษา และเป็นสิ่งที่สถานประกอบการต้องการ ระบบการศึกษาแบบทวิภาคีของเยอรมัน คือ ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างอุปสงค์กับอุปทานด้านแรงงานในตลาดได้อย่างตรงจุดที่สุด โดยผสมผสานการศึกษาในวิทยาลัยอาชีวศึกษาและการสร้างประสบการณ์การทำงานจริงจากสถานประกอบการซึ่งแบ่งหลักสูตรออกเป็นภาคทฤษฎี (College based learning) 40% และภาคปฏิบัติ(Company based learning) 60% นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนและฝึกอาชีพตามหลักสูตรที่ปรับใช้จากหลักสูตรมาตรฐานของเยอรมัน โดยมีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นผู้ชำนาญงานในสถานประกอบการเป็นผู้ให้ความรู้และฝึกหัดอาชีพควบคู่กับการเรียนภาคทฤษฎีในวิทยาลัย โดยสถานประกอบการสามารถเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ของนักเรียนให้ตรงต่อความต้องการของตลาด ระหว่างการฝึกอาชีพ ผู้เรียนจะต้องบันทึกรายงานการปฏิบัติงานในสมุดคู่มือต่อครูฝึกและครูนิเทศก็เพื่อการพิจารณาผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนการเรียนและการฝึกอาชีพ ที่สำคัญผู้เรียนจะได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเช่นเดียวกับพนักงานในบริษัท และเมื่อครบกำหนดตามแผนการฝึกวิชาชีพเป็นเวลา 2 ปี ผู้เรียนจะต้องสอบมาตรฐานฝีมือ โดยคณะกรรมการร่วมระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษาเป็นผู้กำหนด ซึ่งเมื่อสอบผ่านผู้เรียนจะได้รับวุฒิบัตรการประเมินมาตรฐานวิชาชีพ, วุฒิบัตรการฝึกอาชีพจากสถานประกอบการ และการรับรองมาตรฐานเยอรมันจากหอการค้าเยอรมัน-ไทยในแต่ละสาขาอาชีพ รวมถึงมีโอกาสรับการบรรจุเข้าทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการก้าวสู่เส้นทางอาชีพกับบริษัททั้งไทยและต่างประเทศอีกด้วย
(แนวหน้า, 8-9-2557)
จ่อปลดล็อกเด็กไร้สัญชาติได้ใบประกาศรับรองผ่านฝึกอบรม
นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวถึงกรณีเด็กไร้สัญชาติร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติว่าเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพกับสถาบันและศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ศพจ.) แล้วไม่ได้รับใบประกาศรับรองผ่านการอบรม เนื่องจากขัดต่อระเบียบ กพร. ว่าด้วยการเตรียมฝึกเข้าทำงาน พ.ศ. 2547 ในหมวด 1 ข้อ 8 ที่กำหนดให้ผู้เข้ารับฝึกอบรมต้องมีสัญชาติไทยว่า ตนได้รับทราบรายละเอียดในเรื่องนี้แล้ว โดยระเบียบข้างต้นออกในปี 2547 ซึ่งการดูแลของภาครัฐยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงเด็กไร้สัญชาติมากนัก ดังนั้น ตนจะนำปัญหานี้เข้าหารือในคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายของ กพร. เพื่อให้พิจารณาแก้ไขเนื้อหาระเบียบให้เด็กไร้สัญชาติมีโอกาสได้รับงบประมาณสนับสนุนในการฝึกอบรมอาชีพ และใบประกาศรับรองผ่านการฝึกอบรมเพื่อจะได้มีโอกาสมีงานทำตามอาชีพที่เข้าอบรม นอกจากนี้ จะพิจารณาด้วยว่ายังมีระเบียบหรือกฎหมายใดของ กพร. ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าอบรมอาชีพของเด็กไร้สัญชาติอีกหรือไม่จะได้นำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ คาดว่าการแก้ไขระเบียบ กพร. ข้างต้นจะแล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นตนจะลงนามในร่างระเบียบฉบับแก้ไขโดยเร็วที่สุด
อธิบดี กพร. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน จะแจ้งไปยังสถาบันและศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานในจังหวัดต่างๆ ของ กพร. ให้ไปตรวจสอบว่ามีเด็กไร้สัญชาติที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพกับศูนย์ฯแล้วไม่ได้ใบประกาศรับรองผ่านการฝึกอบรมอาชีพมีจำนวนกี่คนและจะหาวิธีช่วยเหลือเยียวยาเด็กไร้สัญชาติกลุ่มนี้ เช่น อาจจะให้เข้ารับการทดสอบฝีมือเพื่อยืนยันว่าผ่านอบรมมาแล้วจริงแล้วให้ใบประกาศรับรอง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนจะหารือกับหน่วยงานของ กพร. ที่ดูแลรับผิดชอบว่าจะใช้วิธีการใดจึงจะเหมาะสมและจะช่วยเหลือเยียวยาหลังจากที่มีการแก้ไขระเบียบ กพร. เรียบร้อยแล้ว
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-9-2557)
คาด 5 สินค้าไทยอาจไม่หลุดบัญชีใช้แรงงานเด็ก
กาญจนบุรี 8 ก.ย.-พาณิชย์คาด 5 สินค้าไทยอาจไม่หลุดบัญชีใช้แรงงานเด็กฯ ของกระทรวงแรงงานสหรัฐต้นเดือนตุลาคมนี้ เตรียมยื่นเอกสารรายงานความคืบหน้าแก้ปัญหาค้ามนุษย์ให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐเดือนมีนาคม 2558 หวังปลดไทยออกจาก Tier 3
น.ส.ปานจิตต์ พิศวง รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจัดให้สินค้าไทย 5 รายการ คือ กุ้ง ปลา อ้อย เครื่องนุ่งห่ม และสื่อลามก อยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับอย่างเลวร้าย ว่าล่าสุด กระทรวงแรงงานของไทยอยู่ระหว่างร่วมกับผู้ประกอบการจัดทำเอกสารเพื่อยื่นขอปลดสินค้าดังกล่าว โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะประกาศผลการพิจารณาต้นเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถปลดออกได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาหลายประเทศ เช่น บราซิล กว่าจะหลุดออกจากบัญชีนี้ต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี แต่ไทยเพิ่งดำเนินการเรื่องนี้เป็นปีแรก
“กระทรวงแรงงานสหรัฐปรับเปลี่ยนระยะเวลาการออกประกาศใหม่เป็นทุก ๆ 2 ปี หรือจะประกาศอีกครั้งเดือนตุลาคม 2559 การที่สินค้าไทยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีดังกล่าว ก็ไม่มีผลกระทบให้หน่วยงานราชการสหรัฐต้องยกเลิกการนำเข้าจากไทยแน่นอน” น.ส.ปานจิตต์ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาแรงงานไทย ภายหลังจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจัดให้ไทยอยู่ในระดับ 3 (Tier3) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2557 (TIP Report) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด เพราะไม่มีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ โดยขณะนี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานของประเทศไทย เพื่อรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหา ก่อนที่จะยื่นให้กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐพิจารณาเดือนมีนาคม 2558 ใช้ประกอบการพิจารณาปลดไทยออกจากบัญชี Tier 3 ในการเผยแพร่ TIP Report ประจำปี 2558 ประมาณเดือนมิถุนายน 2558
ทั้งนี้ ไทยมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างมาก เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คชส.) เป็นห่วงเรื่องนี้และให้ความสำคัญอย่างมาก โดยมีการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อให้การขึ้นทะเบียนเป็นระบบมากขึ้นและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้ายในกิจการ มีการดูแลแรงงานประมงนอกน่านน้ำ จดทะเบียนเรือประมงอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีมาตรการป้องกัน ปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดและช่วยเหลือแรงงานอย่างเข้มข้น มีการเผยแพร่ข้อมูลการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย มีมาตรฐานในการใช้แรงงานมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ดำเนินการด้านมาตรฐานแรงงานตามที่ลูกค้าในประเทศต่าง ๆ กำหนดอยู่แล้ว เพราะหากไม่ดำเนินการตามที่ลูกค้ากำหนดก็จะไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ และไทยมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาแรงงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้หลุดจาก Tier 3 แต่เพื่อยืนยันว่าไทยไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีการค้ามนุษย์ อย่างที่ถูกกล่าวหา เพราะผู้ประกอบการที่จะส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ต้องมีมาตรฐานแรงงานตามที่ลูกค้าต่างประเทศกำหนดอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ลูกค้าบางประเทศชะลอการนำเข้าอาหารทะเลจากไทยในช่วงก่อนหน้านี้นั้น ขณะนี้คำสั่งซื้อเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยอยู่ในบัญชี Tier 3 ตามกฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ของสหรัฐให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐสามารถใช้มาตรการตอบโต้ไทยด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ด้านการค้า เช่น การตัดความช่วยเหลือด้านการศึกษา หรือวัฒนธรรม เป็นต้น ภายใน 90 วัน ภายหลังจากการเผยแพร่รายงาน TIP Report ไปแล้ว และจะครบกำหนด 90 วันประมาณเดือนตุลาคมนี้ ขณะนี้สำนักงานพาณิชย์ไทยในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐ กำลังติดตามการออกมาตรการอย่างใกล้ชิดต่อไป
(สำนักข่าวไทย, 8-9-2557)
สอศ.จ่อชง ศธ.แก้ปม ขาดครู-ยกอาชีวะไทยเป็นฮับอาเซียน
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมเสนอ 2 ประเด็นสำคัญต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่ การแก้ไขปัญหาขาดแคลนครู ซึ่งเรื้อรังมาหลายปี เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไม่ได้รับการจัดสรรอัตราบรรจุครูอย่างเพียงพอ ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการรับครูจ้างสอนแทน ซึ่งขณะนี้ สอศ. มีข้าราชการครู 14,486 คน เป็นลูกจ้างที่วิทยาลัยจ้างเพื่อทำหน้าที่สอน 7,781 คน เป็นบุคลากรสายสนับสนุน 5,677 คน และเป็นลูกจ้างที่วิทยาลัยจ้างเพื่อทำหน้าที่สายสนับสนุน ประมาณ 10,000 คน โดยบางวิทยาลัยมีข้าราชการครูแค่ 9 คน แต่มีครูจ้างสอนกว่า 10 คน อีกทั้งครูจ้างสอนเหล่านี้ก็มีสถานภาพที่ไม่มั่นคง ไม่มีสวัสดิการ และไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนเลย
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาขาดแคลนครูเริ่มขึ้นเมื่อปี 2539 ที่มีนโยบายขยายให้เปิดอาชีวศึกษาอำเภอ หรือวิทยาลัยการอาชีพ ซึ่งรัฐอนุมัติอาคาร และครุภัณฑ์ให้ แต่ไม่จัดสรรอัตราบรรจุครูมาด้วย ทำให้ต้องเกลี่ยครูจากวิทยาลัยอื่น จึงเกิดปัญหาขาดแคลนสะสมมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวิทยาลัยการอาชีพมีทั้งสิ้น 90 แห่ง หากไม่มีครูจ้างสอน สอศ.ต้องลดจำนวนรับนักเรียน นักศึกษาลงครึ่งหนึ่ง แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากประเทศยังต้องการแรงงานทักษะที่สูงมาก ทำให้ สอศ.ต้องเสนอของบประมาณ เพื่อจ้างลูกจ้างชั่วคราว ประมาณ 18,000 อัตรา ส่วนในระยะยาวจะเสนอขอกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ 14,564 คน แบ่งเป็น พนักงานราชการครู 10,000 คน พนักงานราชการสายสนับสนุนการสอน 4,564 คน ให้กับทุกวิทยาลัย และจะขออัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 1,409 อัตรา ให้สถาบันการอาชีวศึกษาด้วย
ทั้งนี้ สอศ. ได้คำนวณสัดส่วนครูต่อผู้เรียนที่เหมาะสมตามเกณฑ์ไว้แล้ว พบว่า จะต้องมีครูทั้งหมด 15,973 คน ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 เป็นปีแรกที่ สอศ.ได้งบประมาณสำหรับครูจ้างสอน 370 คน และครูธุรการอีกจำนวนหนึ่ง แต่หากได้รับเพิ่มเติมก็จะวางแผนแก้ไขปัญหาขาดครูระยะยาวได้
ขณะที่ประเด็นที่ 2 ได้แก่ การเสนอขออนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อยกระดับมาตรฐานอาชีวศึกษาไทย สร้างความเข้มแข็งอาชีวศึกษาอาเซียน โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นฮับอาชีวศึกษาอาเซียน มีแผนดำเนินการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ สนองนโยบายความต้องการกำลังคนของประเทศด้านอาชีวศึกษา และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ การดำเนินงานจะมี 2 ส่วน คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีวศึกษาไทยเพื่อความเป็นผู้นำ และดำเนินการเพื่อให้อาชีวศึกษาไทยเป็นฮับของอาชีวะอาเซียน
(ไทยรัฐ, 9-9-2557)
สมาคม รปภ.จ่อผลักดันมาตรฐานอาชีพยาม เผยพบต่างด้าวเข้าทำงานเกลื่อน
นายวัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ประธานสากลสมาคมรปภ.ภาคพื้นเอเชีย จ่อผลักดันมาตรฐานอาชีพยามรักษาความปลอดภัยให้เป็นแรงงานมีฝีมือ เนื่องจากพบผู้ประกอบอาชีพยามจำนวนมากไม่ผ่านการตรวจประวัติอาชญากรรมหรือการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อีกทั้งยังมีแรงงานต่างด้าวหันมาประกอบอาชีพนี้จำนวนมาก
(ครอบครัวข่าว, 9-9-2557)
กกจ.เตรียมสร้างอาชีพให้ทหารก่อนปลดประจำการ
9 ก.ย.-กรมการจัดหางาน (กกจ.) เตรียมแนะแนวอาชีพ ให้ทหารกองประจำการในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างรายได้หลังปลดประจำการ
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า กกจ.เตรียมจัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพให้กับทหารกองประจำการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 2,865 นาย ระหว่างวันที่ 24-25 กันยายน 2557 ณ สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับทหารที่ใกล้จะปลดประจำการ ได้รู้และเข้าใจว่าตนเองมีความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานด่านใดบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง และ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ภายในงานยังมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการหางานทำ สถานการณ์ตลาดแรงงานในประเทศและสถานการณ์ตลาดแรงงานต่างประเทศ การรับสมัครงานโดยเชิญนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบการมารับสมัครงานและสัมภาษณ์งานโดยตรง รวมทั้งการแนะแนวอาชีพโดยจัดวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการประกอบอาชีพ แหล่งเงินทุน และแหล่งฝึกอบรม การสาธิตประกอบอาชีพอิสระ วันละ 10 อาชีพ รวม 2 วัน 20 อาชีพ
(สำนักข่าวไทย, 9-9-2557)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai