ม.ฟาฏอนี จัดประชุมวิชาการนานาชาติ เสนอบทความแนวทางอิสลามสายกลาง แนวทางของประชาชาติที่ดีเลิศสู่สังคมสันติสุขและประชาคมอาเซียน ชี้หากเข้าใจสามารถอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้
9 ก.ย.2557 เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จัดโครงการสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติเรื่อง “แนวทางสายกลาง : แนวทางของประชาชาติที่ดีเลิศสู่สังคมสันติสุขและประชาคมอาเซียน” ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2557 ที่หอประชุมวันมูหะมัดนอร์ มะทา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จ.ยะลา มีการบรรยายพิเศษของนักวิชาการด้านอิสลามศึกษา และการนำเสนอบทความทางวิชาการ 15 ชิ้น ทั้งจากในและต่างประเทศ มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก
วันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวในพิธีเปิดว่า แนวคิดอิสลามสายกลางมีในอิสลามอยู่แล้ว มุสลิมล้วนแล้วแต่เดินตามแนวทางของท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ในอิสลามนั้นมีทั้งอิมาน (หลักศรัทธา) ที่เป็นเสมือนกับหลักการ ทฤษฎีที่ระบุไว้ และทำให้เกิดรูปธรรมด้วยอามาล (หลักปฏิบัติ) หากศรัทธาอย่างเดียวแล้วไม่ปฏิบัติก็ไม่มีผล ดังเช่นที่ระบุในคัมภีร์อัลกุรอ่านว่า “บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบความดีทั้งหลาย...” ฉะนั้นในอิสลามนั้นมีความสมดุลของแนวทางที่มุสลิมจะต้องนำไปปฏิบัติและกระจายสู่ชุมชนออกไป
ภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมว่า หลักการที่ดีจะไม่เกิดผลหากไม่มีการปฏิบัติที่ดีด้วยเช่นกัน ศอ.บต. มีนโยบายในการรณรงค์สนับสนุนให้จังหวัดชายแดนใต้ ยึดถือหลักความดี 9 ประการ เช่น ความกตัญญู วินัย ความสะอาด ความซื่อสัตย์ การตรงต่อเวลา เป็นต้น เหล่านี้ล้วนปรากฏเป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานของทุกศาสนา หากแต่จำเป็นต้องให้สังคมร่วมกันรณรงค์ให้นำหลักเกณฑ์เหล่านี้มาปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน และขอชื่นชมถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยฟาฏอนีที่จะเป็นอีกส่วนในการผลิตคนที่ดีเพื่อพัฒนาสามจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป
ผศ.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “อัลวะสะฏียะห์”หรือแนวทางสายกลาง ซึ่งเป็นแนวคิดที่รัฐบาลคูเวตให้การสนับสนุนเพื่อเผยแพร่และทำความเข้าใจมุมมองที่เป็นกลางของอิสลามในบริบทของโลก ที่มองว่าอิสลามนั้นมีแต่ความรุนแรง
“ความเป็นแนวทางสายกลางนั้นเป็นจิตวิญญาณและแบบอย่างจากที่ท่านนบีมูฮัมมัด และเหล่าผู้ติดตามของท่านได้ทำเอาไว้เป็นแบบอย่างแล้ว สอดคล้องกับมีคูลัยฟฺ บิน มูษีบ อัลอูซัยนะห์ รองปลัดกระทรวงฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ประสานงานและกิจการฮัจญ์ กระทรวงศาสนสมบัติและกิจกการอิสลาม ของประเทศคูเวต ที่ได้ระบุถึงความจำเป็นของโลกมุสลิมในการทำความเข้าใจแนวคิดทางสายกลางในอิสลาม เนื่องจากแนวคิดจะส่งผลต่อการกระทำ”
“หากเข้าใจแนวทางสันติแห่งอิสลามแล้ว จะเข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้เช่นเดียวกัน รัฐบาลคูเวตจึงมีความพยายามที่จะสนับสนุนการทำความเข้าใจต่อแนวคิดนี้ให้กระจายออกไปมากยิ่งขึ้น” อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าว
จากนั้น H E Dr.Mutlaq Rashid Al Qarawi.รองผู้อำนวยการสถาบันวาซอตียะห์ ประจำประเทศคูเวต กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ วิธีการของวะสะฏียะหฺและการประยุกต์ใช้ในคูเวต และมาตรฐานของอุมมะหฺ วาสาตหฺ โดยที่ปรึกษากระทรวงศาสนสมบัติและกิจกการอิสลาม ประเทศคูเวต
สำหรับในวันที่ 8-9 กันยายนนี้ จะมีการนำเสนอบทความทางวิชาการของนักวิชาการจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ตุรกี และไทย โดยจะนำเสนอเนื้อหาแนวทางสายกลางและสันติวิธีของอิสลามในรูปแบบต่างๆ
ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยฟาฏอนีได้เปิดอาคารเทคโนโลยีสารสนเทศคูเวต สำนักวิทยบริการ โดยมี คูลัยฟฺ บิน มูษีบ อัลอูซัยนะห์ รองปลัดกระทรวงฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ประสานงานและกิจการฮัจญ์ กระทรวงศาสนสมบัติและกิจกการอิสลาม ของประเทศคูเวตเป็นประธาน โดยได้รับงบประมาณก่อสร้างจากรัฐบาลคูเวต เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาระดับอุดมศึกษาของมุสลิมในประเทศไทยและภูมิภาคด้วย