สมาพันธ์วิทยุโทรทัศน์ ยอมรับทีวีดิจิตอลอาการหนัก แม้เตรียมเริ่มแจกคูปองแลกกล่องรับสัญญาณ เม็ดเงินโฆษณาต่ำกว่าเป้า คนไทยยังนิยมดูทีวีดาวเทียมประมาณร้อยละ 70 อยู่
6 ก.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่าต้องยอมรับว่าเมื่อ คสช.อนุมัติจ่ายคูปองเพื่อแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลในราคา 690 บาท จากที่กลุ่มเรียกร้องในราคา 1,000 บาท ต่อไปจะเห็นภาพความวุ่นวายในการแลกกล่องรับสัญญาณ เพราะหากต้องดูทีวีดิจิตอลได้อย่างชัดเจน ชาวบ้านต้องออกเงินเองในการซื้อเสาก้างปลาขนาดเล็กเพื่อต่อสายออกไปนอกบ้าน ในราคา 300-500 บาท จึงเป็นภาระเพิ่มขึ้นอีกสำหรับรายย่อย
“หากแจกคูปองในราคา 690 บาท เมื่อแถมเสารับสัญญาณคงมีคุณภาพไม่เต็มที่ในที่สุดจะดูทีวีไม่ได้ จึงมีปัญหาต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอล ดังนั้น กสทช.อาจต้องหาทางชดเชยเสาก้างปลาเพื่อรับสัญญาณเพิ่มเติม เพราะได้เงินจากการประมูลทีวีดิจิตอลไปแล้ว จึงควรนำมาใช้ประโยชน์เพื่อภารกิจทีวีดิจิตอลอย่างทั่วถึงไม่ใช่นำส่งเข้าคลังเป็นหลัก” นางจำนรรค์ กล่าว
นอกจากนี้ ควรตั้งจุดรับแลกคูปองให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง อีกทั้งควรทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ รวมทั้งวิธีการติดตั้งหรือชี้แจงด้วยแนวทางต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงทีวีดิจิตอลได้อย่างสมบูรณ์
นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่า แม้ในปีนี้เศรษฐกิจชะลอตัวและเป็นช่วงเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าไปสู่ทีวีดิจิตอล คาดเม็ดเงินโฆษณาทั้งระบบในปีนี้ทั้งวงการทีวี วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ จะขยายตัวประมาณร้อยละ 6 หรือเป็นเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกมียอดเงินโฆษณาประมาณ 72,487 ล้านบาท จึงน่าจะทำได้ตามเป้าหมาย เพราะยอดเงินโฆษณาจากเดือนมิถุนายนเพียง 1,364 ล้านบาท กระโดดมาเป็น 2,592 ล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม และขณะนี้สัดส่วนผู้ชมทีวีดาวเทียมประมาณร้อยละ 70 ของผู้ชมทั้งประเทศ อีกร้อยละ 30 รับชมผ่านเสาอากาศก้างปลาและหนวดกุ้ง
“เม็ดเงินโฆษณาเดือนกรกฎาคม ของทีวีดาวเทียมมียอด 4,714 ล้านบาท ใกล้เคียงกับทีวีดิติจิตอลที่ 4,757 ล้านบาท และแม้ว่า กสทช.จะเริ่มแจกคูปองแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตอล 15 ก.ย.นี้ คาดเม็ดเงินของดิจิตอลก็ไม่เพิ่มขึ้น เพราะกว่าจะเริ่มการแลกกล่องคงปลายปี ขณะที่เอเยนซี่โฆษณาได้วางแผนซื้อสนับสนุนรายการทีวีไปหมดแล้วในปีนี้” นางวรรณี กล่าว
ส่วนเม็ดเงินโฆษณาใหม่ก็จะเริ่มนปี 2558 ประกอบกับเมื่อรัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายด้านเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 4-4.5 จะส่งผลกำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ธุรกิจโฆษณาจะขยายตัวตามผู้ชมทีวีในการเลือกซื้อสินค้า จึงคาดว่าปีหน้าเม็ดเงินโฆษณาจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 6-8
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ทีวีดิจิตอลขยายตัวตามการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อก คงต้องใช้เวลาในการปรับตัว 5-6 ปี ผู้ผลิตช่องรายการจึงต้องวางตัวเองเลือกกลุ่มผู้ชมให้ชัดเจน เช่น ช่องของแกรมมี่ มีละคร เกมโชว์ ช่องอาร์เอสมีดนตรี รายการวัยรุ่น, ไทยรัฐทีวีมีสาระข่าว หากรายอื่นไม่ปรับตัวจะอยู่ลำบาก ต้องสร้างรายการที่ดึงผู้ชมให้เข้ามาให้มากที่สุด แล้วค่อยนำรายการอื่นข้างเคียงเข้ามาเพิ่ม เพราะการพิจารณาเลือกลงโฆษณาจะไปตามกลุ่มผู้ชม
“ช่วงแรกของทีวีดิจิตอล แต่ละช่องอาจต้องกัดฟันแบกรับภาระไปก่อน เพราะหากรายการขาดคุณภาพจะไม่มีรายได้เข้าไปสนับสนุนรายการ และโฆษณารายการสินค้ายังไม่หนีไปจากฟรีทีวีช่องเดิม” นางวรรณี กล่าว
นางวรรณีกล่าวด้วยว่า การติดตั้งจานดาวเทียมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะคนต้องการดูละครที่มีความชัด ดังนั้น หากปี 2558 การสร้างโครงข่ายทีวีดิจิตอลครอบคลุมได้ถึงร้อยละ 95 ของพื้นที่ทั้งหมด ก็จะช่วยให้ผู้ชมเข้าถึงทีวีดิจิตอลได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของ กสทช.ที่ต้องมั่นคงชัดเจนรู้จักอุตสาหกรรมทีวีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อย่างถ่องแท้ เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอดได้ และต้องเร่งทำประชาชนสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าถึงทีวีดิจิตอลได้อย่างทั่วถึง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai